BAANBAAN CLOTHES เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีอดีตข้าราชการครูวัย 67 ปี เป็นเจ้าของ
ป้าแอ๊ด-กัลยา มั่นคง ไม่ได้มีความรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับผ้ามากนัก เธอเกิดมาในครอบครัวชาวนา ขณะที่เมื่อเติบโตขึ้นก็ประกอบอาชีพเป็นแม่พิมพ์ของชาติมาเกือบ 40 ปี ซึ่งอย่าว่าแต่จะเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า แค่คิดจะทำอะไรอย่างอื่นที่นอกเหนือจากอาชีพครู ป้าแอ๊ดเองยังนึกภาพไม่ออก
“เราไม่เคยมีความคิด ไม่เคยวางแผนเลยว่าจะทำอะไรดีกับชีวิตหลังเกษียณ คนอื่นเขาอาจคิดวางแผนกันไว้ล่วงหน้าแต่เราไม่เลย คิดแต่ว่าเกษียณแล้วฉันขอเที่ยวก่อน เพราะตอนทำงานเราไม่ค่อยได้เที่ยว คิดอยู่แค่นั้นจริงๆ ไอ้เรื่องจะมาเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า นั่งย้อมผ้าอย่างทุกวันนี้ ไม่เคยมีอยู่ในหัว”
พื้นฐานก็ไม่มี คิดก็ไม่เคยคิด แล้วอยู่ๆ มาเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่สร้างรายได้ให้เธอเป็นกอบเป็นกำหลังเกษียณได้อย่างไร
ป้าแอ๊ดบอกว่าจุดเริ่มต้นของมันไม่มีอะไรเลย นอกจากความเหงา
ความเหงาที่เดินเป็นเงาตามตัว
เมื่อความเหงากลายเป็นเงาตามตัว
หลังเกษียณป้าแอ๊ดตัดสินใจทำตามที่คิดไว้จริงๆ เธอพาลูกสาว 2 คน เดินทางไปเที่ยวเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เป็นเวลา 3 เดือน
ป้าแอ๊ดเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งเป็นลูกแท้มีชื่อว่า อาร์ท-ดังพรสวรรค์ มั่นคง อายุ 41 ปีขณะที่อีกคนเป็นลูกบุญธรรมอายุ 29 ปี ปรัศวภา ปักกลาง คือชื่อของเธอ
หลังจากไปเที่ยวออสเตรเลียเป็นเวลา 3 เดือน ลูกสาวทั้งสองเกิดอยากอยู่ใช้ชีวิตที่แดนจิงโจ้ต่อ ป้าแอ๊ดจึงต้องเดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพียงคนเดียว
“พอกลับมาเราต้องอยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำอะไรดี มีโรงเรียนจ้างให้ไปช่วยเป็นครูพี่เลี้ยง แต่อยู่ได้แค่เดือนเดียวก็ออกเพราะไม่ชินกับระบบเอกชน เนื่องจากเรารับราชการมาตลอด กลับมาก็อยู่คนเดียวอีก เหงามาก เหงาจนไม่รู้จะบรรยายยังไงเอาเป็นว่าแค่ลืมตาตื่นขึ้นมาก็เหงาทันที”
เพื่อนแก้เหงาสำหรับป้าแอ๊ดที่ดีที่สุดในเวลานั้นมีชื่อว่า หนังสือ เธอไล่อ่านหนังสือที่มีอยู่ในบ้านกระทั่งวันหนึ่งก็ไปเจอหนังสือที่บอกวิธีทำผ้ามัดย้อม ป้าแอ๊ดก็ทดลองทำตามทันที
“เราเห็นว่าสวยดี ก็ดูวิธีทำว่าเขาทำยังไง จากนั้นก็หาวัตถุดิบพวกขมิ้น ใบมะม่วง เปลือกมะพร้าว แล้วก็ไปซื้อผ้าในเมือง จากนั้นก็นำขมิ้นมาต้มใส่เกลือ แล้วก็เอาผ้าใส่ต้มทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วก็ล้างออกดูสี ทำทีละขั้นตอน ผลออกมาก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ดีที่สุด”
ปัญหาที่พบในเวลานั้นคือ ขมิ้นที่ต้มย้อมสีไปนั้นติดไม่ทน เมื่อโดนแดดจะจางเร็วมาก เมื่อเห็นดังนั้นป้าแอ๊ดจึงเริ่มหาตำรับตำราและความรู้ที่เกี่ยวกับการทำผ้ามัดย้อมในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งติดต่อจ้างครูมาช่วยสอนเพื่อที่จะได้ย้อมผ้าได้ดีมากขึ้น
“เราเจอครูคนหนึ่งเขาอยู่สกลนคร ราคาค่าเรียนอยู่ที่ 5,000 บาท แต่เขาบอกว่าไม่มีเวลาว่างเลย พอดีว่าเขาจะเดินทางผ่านโคราชพอดี ยังไงจะแวะเอาครามมาให้ แล้วก็บอกกลวิธีว่าทำยังไงเวลาย้อมแล้วถึงติดอยู่บนผ้าเป็นปี โดยครูคิดค่าครามแค่ 3,000 บาท”
เมื่อได้ความรู้ป้าแอ๊ดทดลองทำขายทันที โดยเริ่มจากการย้อมครามเพียงสีเดียวก่อน และเพียงแค่การทดลองขายครั้งแรกก็สร้างกำไรได้เป็นเท่าตัว
“เราทำเป็นผ้าพันคอแล้วก็ลองขายเพื่อนๆ ครูที่โรงเรียนเก่า ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงมีแต่คนอยากได้อีก ลงทุน 3,000 ขายครั้งแรกได้มา 6,000 เราตกใจเลย ไม่คิดว่าจะสร้างรายได้ได้ดีขนาดนี้ หลังจากนั้นเราก็เริ่มฝึกย้อมสีอื่นๆ ขายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาลจากมะพร้าว สีเขียวจากใบมะม่วง สีชมพูจากแก่นฝาง”
อย่างไรก็ตามในเวลานั้นสินค้าของป้าแอ๊ดมีเพียงแค่ผ้าพันคออย่างเดียว รวมทั้งบางสี อาทิเช่น สีน้ำตาลจากมะพร้าวและสีเขียวจากใบมะม่วง ก็ยังไม่สวยถึงขนาดเป็นที่น่าพอใจ
หากต้องการที่จะก้าวหน้าในชีวิตหลังเกษียณมากกว่านี้มี 2 อย่างที่ป้าแอ๊ดต้องทำ
หนึ่ง หาครูสอนและเรียนรู้เรื่องการย้อมผ้าเพิ่มเติม
สอง ผลิตสินค้าออกมามากกว่าที่จะมีเพียงแค่ผ้าพันคออย่างเดียว
เสื้อผ้าไร้รูปแบบ
ในเมื่อการย้อมผ้าในบางสียังไม่เป็นที่น่าพอใจ ป้าแอ๊ดจึงเดินทางไปเรียนกับครูที่ทำผ้ามัดย้อมหลายๆ คน จนในที่สุดก็ได้ผลงานเป็นที่น่าพอใจ
ปัจจุบันป้าแอ๊ดทำผ้ามัดย้อมขายอยู่ 5 สีหลักๆ คือสีเหลืองจากมะพูด สีชมพูจากครั่ง สีน้ำตาลจากเปลือกมะพร้าว สีเปลือกมังคุดซึ่งจะออกเป็นน้ำตาลด่างๆ และสีครามที่เป็นสีออริจินัลมาตั้งแต่ดั้งเดิม
เมื่อทำการย้อมผ้าจนได้มาตรฐานแล้ว ป้าแอ๊ดก็เริ่มคิดถึงการนำผ้าที่ย้อมมาแปรรูปเป็นเสื้อ กางเกง กระโปรง ไม่ใช่มีแต่ผ้าพันคออย่างเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้มีช่องทางในการทำเงินได้มากขึ้นไปอีก
หญิงวัย 67 ตัดสินใจนำเสื้อมานั่งเลาะตะเข็บทีละส่วนออกมา เพื่อดูว่าผ้าที่จะนำมาทำเป็นเสื้อแต่ละตัวนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก่อนที่สุดท้ายที่สุดจะไปหาซื้อหนังสือ ’ช่างแม่สอนตัดเสื้อ’ เขียนโดย ภัทรพร อภิชิต มาอ่านดูและทดลองปฏิบัติตาม จนสุดท้ายป้าแอ๊ดก็สามารถออกแบบเสื้อผ้าได้ตามที่ตัวเองตั้งใจ เพียงแต่ว่าแพทเทิร์นและรูปร่างหน้าตาที่ออกมานั้นไม่เหมือนกับเสื้อผ้าที่คนทั่วไปใส่กัน
“เสื้อผ้าที่เราออกแบบแทบทุกตัวมีคอนเซ็ปต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ตามใจฉัน” ป้าแอ๊ดพูดพร้อมกับหัวเราะเสียงดัง
“เราคิดว่าถ้าเราใส่ได้ ลูกค้าหรือคนอื่นๆ ก็ต้องใส่ได้ เสื้อผ้าของเราก็เลยจะตัดออกมาไม่เหมือนกับตามท้องตลาดทั่วไปที่มีรูปทรงชัดเจน แต่ของเราถ้าอยากจะตัดออกมาแบบไหนเราก็ตัด เช่น บางตัวแขนสองข้างอาจจะไม่เท่ากันหรือชายเสื้อฝั่งหนึ่งอาจจะยาวกว่าอีกฝั่ง คือเราอยากจะเลือกตัดส่วนไหนหรือต่อส่วนไหนเราทำตามใจเลย”
ด้วยความที่เป็นจอมยุทธไร้รูปแบบ ไม่อิงกับรูปลักษณ์และแพตเทิร์นใดๆ ทำให้เสื้อผ้าของป้าแอ๊ดดูแปลกและสะดุดตา ต่างจากเสื้อผ้าร้านอื่นๆ ซึ่งด้วยความไม่เหมือนใครนี่เองที่ถูกอกถูกใจบรรดาลูกค้าที่ชื่นชอบในความแตกต่าง และแทบไม่มีเสื้อตัวไหนที่ตัดออกมาแล้วขายไม่ได้
“เวลาลูกค้ามาดูเสื้อที่ร้านเรา ด้วยความที่มันแปลก เราก็จะบอกให้ลูกค้าลองใส่ดูก่อนเพื่อจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบเอาให้ใส่แล้วชอบก่อนค่อยซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เวลาลองแล้วก็จะไม่ถอด จ่ายเงินแล้วใส่กลับบ้านไปเลยแทบทุกคน”
เมื่อผ้ามัดย้อมเริ่มสร้างรายได้ได้ดีมากขึ้น ป้าแอ๊ดเริ่มรู้สึกว่าทำคนเดียวต่อไปไม่ไหว เพราะไหนจะต้องย้อม ต้องตัดต้องขาย ทุกอย่างมันเหนื่อยเกินกว่าผู้หญิงวัยเกษียณจะทำอยู่คนเดียว
เธอตัดสินใจส่งผ้าพันคอที่เคยทำไปที่เมลเบิร์น และอธิบายถึงรายละเอียดของการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ก่อนชวนลูกสาวทั้งสองกลับมาทำธุรกิจที่สร้างขึ้นด้วยกัน
ทั้งอาร์ทและเป้เปิดลังผ้าพันคอออกมาดู เมื่อเห็นลวดลายและฝีมือของแม่ ทั้งสองก็มองเห็นเส้นทางว่าหากเธอกลับไปน่าจะช่วยทำให้ธุรกิจของครอบครัวก้าวหน้าไปมากกว่านี้แน่ๆ
หลังจากนั้นไม่นาน 2 สาวก็จองตั๋วเครื่องบินเมลเบิร์น-ไทยแลนด์
แตกต่างแต่ลงตัว
เมื่อได้ลูกสาวทั้งสองกลับมาช่วย ป้าแอ๊ดก็แบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบทันที
“เราให้อาร์ตมีหน้าที่ในการหาตลาด คอยโฆษณาเสื้อผ้าของเรา ประชาสัมพันธ์ชักชวนคนมาเรียนเพิ่มในกรณีที่เราทำการเปิดสอน โดยบางครั้งจะลงมาย้อมผ้าเองบ้างถ้าเกิดว่าเขาคันไม้คันมืออยากจะทำ
“ส่วนเป้จะทำหน้าที่ในการย้อมผ้าอย่างเดียว เรียกว่าเป็นคนทำหน้าที่หลักในการย้อมเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเราถ่ายทอดวิชาให้กับเขาหมดแล้ว ขณะที่ตัวเราจะรับหน้าที่ออกแบบและตัดชุดเป็นหลัก ทั้งเสื้อ กระโปรง กางเกง ฯลฯ ทั้งสามคนเราแบ่งหน้าที่กันชัดเจน แต่ก็สามารถแชร์ไอเดียออกความเห็นกันได้”
แม้จะมีหน้าที่หลักๆ กันชัดเจน แต่ความคิดของแต่ละคนก็ใช่ว่าจะเหมือนกันไปเสียทั้งหมด ป้าแอ๊ดยอมรับว่าเธอกับลูกๆ ทั้งสองมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะว่าไปแทบจะทะเลาะกันทุกวันด้วยซ้ำ ทว่าสิ่งเดียวที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือ ทุกอย่างจบในงานและให้ลูกค้าเป็นคนตัดสิน
“พอมาทำงานร่วมกันจริงๆ นี่ไม่ได้แค่ช่วยกันนะ แต่ยังทะเลาะกันทุกวันด้วย” ป้าแอ๊ดระเบิดเสียงหัวเราะขึ้นมาอีกรอบ
“บางทีลูกเห็นว่าเราออกแบบมาแต่ละตัว เขาบอกเลยว่าไม่น่าจะขายได้ เราบอกก็ลองดู ขายไม่ได้มันก็ไม่เน่า ไม่บูดยังเก็บไว้ขายต่อได้ หรือบางทีเราเห็นสีที่ลูกย้อมมาแล้วไม่ถูกใจ เราก็ว่าสีมันเพี้ยนนะ ย้อมแบบนี้จะขายได้เหรอ เขาก็บอกว่าลองดูเหมือนกัน สุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าใครถูกใครผิดก็คือลูกค้า ซึ่งปรากฏว่ามันก็ถูกต้องกันทั้งคู่เพราะว่าแทบไม่มีแบบไหนหรือสีไหนที่ขายไม่ได้ เราว่าเสื้อของเรามันขายได้ตรงความต่างนี่แหละ”
ป้าแอ๊ดบอกว่าความแตกต่างไม่ได้มีอยู่แต่ในกลุ่มคนสร้างงานอย่างเธอและลูกๆ เท่านั้น หากแต่มุมมองที่ต่างกันนี้มีอยู่ในกลุ่มลูกค้าด้วย ลูกค้าบางคนอาจชอบงานของผู้เป็นแม่ ขณะที่บางคนก็ชอบชิ้นงานของผู้เป็นลูก สุดท้ายก็มีคนซื้อทั้ง 2 แบบ
“เชื่อไหมเสื้อตัวเดียวกันเราแขวนใส่หุ่นไว้ ลูกค้าคนหนึ่งเดินผ่านแล้วพูดกับเพื่อน แต่เราได้ยิน เขาพูดว่าเสื้อตัวนี้เหมือนเสื้อขอทานเลย แต่หลังจากนั้นไม่ถึงนาที ลูกค้าอีกคนเดินผ่านมาแล้วจ่ายเงินซื้อเสื้อตัวเดียวกัน เขาบอกให้ถอดมาจากหุ่นให้เขาเลย ไม่ต้องลอง เหตุการณ์นี้เห็นเลยว่าลูกค้าแต่ละคนเขาก็คิดไม่เหมือนกัน ทำให้เสื้อของเราไม่ว่าจะเป็นสีไหนแบบไหน มันก็ขายได้หมด ที่สำคัญมันทำให้เรายอมรับความแตกต่างของกันและกัน ลูกยอมรับว่าการออกแบบที่แปลกๆ ของแม่สุดท้ายก็ขายได้ ขณะที่สีของลูกที่เรามองว่าเพี้ยนกลับกลายเป็นเฉดสีใหม่ที่ลูกค้าให้ความสนใจ
“สุดท้ายไม่ว่าจะทะเลาะกันยังไง ทุกอย่างจบตรงที่ขายได้ ไม่มีโกรธกัน มันกลายเป็นว่าเราทุกคนต่างก็ชนะไปด้วยกัน”
ป้าแอ๊ดยอมรับว่าโลกใบนี้อยู่ได้ด้วยความต่าง สำหรับเธอความต่างทำให้โลกน่าอยู่ ขณะที่ความเหมือนในบางครั้งก็ทำให้โลกจืดชืดไม่สมดุล
“เราว่าโลกมันอยู่ได้ด้วยความต่างนะ เราว่าความต่างมันทำให้โลกนี้มีสีสันและสมดุล แน่นอนว่าถ้าโลกนี้มีแต่คนเลวทั้งหมดมันก็เลวร้ายไม่น่าอยู่อยู่แล้ว แต่ลองคิดกลับกัน ถ้าโลกนี้ทุกคนในโลกล้วนแต่เป็นคนดีเหมือนกันหมด ดีแบบเดียวกันเหมือนกันเป๊ะๆ เราว่ามันก็หาความบาลานซ์ไม่เจอ และน่าจะเป็นจะมีปัญหาอีกแบบเหมือนกันนะ
“ความแตกต่างนี่แหละที่ทำให้โลกสวยงาม เพียงแต่เราจะทำยังไงให้มันเป็นความแตกต่างที่ลงตัว”
รู้แบบนี้เออรี่ตั้งแต่ 50
ป้าแอ๊ดตั้งชื่อแบรนด์เสื้อผ้าของเธอว่า BAANBAAN CLOTHES
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า บ้าน เป็นคำที่ฟังดูแล้วให้ความหมายถึงความสุขและอบอุ่น หากเพิ่มเติมเข้าไปอีกคำติดกันก็หมายถึงความเรียบง่ายสบายๆ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ดูดีทั้งนั้น
ปัจจุบันร้านของป้าแอ๊ดและลูกๆ ตั้งอยู่ที่ร้านกาแฟ The Mew เขาใหญ่ นครราชสีมา โดยเป็นร้านที่อาร์ทผู้เป็นลูกสาวช่วยออกแบบและตกแต่งร้าน เจ้าของร้านจึงตอบแทนโดยการให้พื้นที่ในร้านขายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
“ทุกวันนี้เรามีความสุขกับการทำธุรกิจมาก มีรายได้เข้ามาตลอด ถึงจะมีโควิด แต่เราก็ยังมีออเดอร์จากลูกค้าประจำที่ให้การสนับสนุนอยู่เสมอ”
ป้าแอ๊ดบอกต่อว่าสิ่งที่ได้จากการทำธุรกิจผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ไม่ได้มีแค่เรื่องรายได้ที่ไหลเข้ามาเท่านั้น ที่ทำให้เธอมีความสุขและประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ หากแต่ในมุมหนึ่งมันยังทำให้ชีวิตในวัยหลังเกษียณของเธอหลุดพ้นออกจากห่วงโซ่ของความเหงาที่เคยพันธนาการเอาไว้
“จุดมุ่งหมายแรกจริงๆ ที่เราทำผ้ามัดย้อมมันไม่ใช่เรื่องของรายได้เลยนะ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเลย แต่ที่เราทำก็เพื่อให้ชีวิตมันหายเหงา ซึ่งทุกวันนี้ชีวิตเราไม่มีความเหงาแบบนั้นเหลืออยู่เลย มันไม่มีเวลาให้เหงาด้วยแหละ ยิ่งพอผ่านโควิดระลอกที่แล้ว เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำผ้าทั้งนั้น
“จากเมื่อก่อนที่แค่ลืมตาตื่นขึ้นมาก็เหงา กลายเป็นว่าตอนนี้ชีวิตเราสนุกมาก มันได้ทำสิ่งที่เราชอบและมีความสุข ขณะเดียวกันก็รู้สึกอิสระ ไม่ต้องอยู่ในกรอบใดๆ ยังคิดเลยว่า ถ้ารู้ว่าชีวิตหลังเกษียณมันดีอย่างนี้นะ เราไม่รอจนเกษียณหรอกเราเออรี่ตั้งแต่ตอนอายุ 50 แล้ว”
หญิงวัย 67 พูดพร้อมกับหัวเราะร่วนอีกครั้ง
นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันว่าการที่เจอกับผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติทำให้เธอได้เจอกับวิถีชีวิตใหม่ซึ่งนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง