ปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ผิดไหมถ้าคนรุ่นใหม่จะย้ายกลับมาอยู่กับพ่อแม่

เดือนมีนาคม 2563 Sheridan Block วัย 30 ปี เพิ่งสิ้นสุดการทำงานในฐานะครูอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษให้กับผู้ลี้ภัยในเมืองมาร์เซย ประเทศฝรั่งเศส เป็นระยะเวลาหนึ่งปี เธอตัดสินใจบินกลับบ้านที่แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา เพื่ออาศัยกับปู่และย่า ซึ่งขณะนั้นปู่ของเธอกำลังพักฟื้นจากปัญหาสุขภาพพอดี

เดิมทีเธอวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือนช่วยดูแลพวกเขา ในขณะที่เธอก็จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้การศึกษาและค่าบัตรเครดิตบางส่วน ก่อนที่จะเดินทางกลับไปต่างประเทศอีกครั้ง

แต่วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ระยะเวลาของแผนการที่ตั้งใจไว้ยาวนานกว่าเดิม เธอจึงเลือกที่จะทำงานแลกกับการอยู่อาศัยบ้านปู่ย่าโดยไม่เสียค่าเช่า เช่น ช่วยขับรถส่งปู่ย่าไปยังที่นัดหมาย ทำธุระ ทำอาหาร และทำงานบ้านเป็นเวลาเกือบสองปี

“ฉันสามารถประหยัดเงินได้มากพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมด แถมยังมีเงินทุนสำหรับซื้อรถยนต์ และย้ายออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองอีกครั้ง” Block อธิบายถึงประโยชน์ทางการเงินและข้อดีของการได้กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว แม้ว่าเธอจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าวัยผู้ใหญ่ควรเป็นอย่างไร

‘บูมเมอแรงคิดส์’ คือใคร?

บูมเมอแรงคิดส์ (Boomerang Kids) เป็นศัพท์สแลงอเมริกัน หมายถึง ผู้ใหญ่หรือคนวัยหนุ่มสาวที่ย้ายกลับบ้านเพื่ออาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายหลังจากใช้ชีวิตอิสระมาระยะหนึ่งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าแรงต่ำ เงินออมต่ำ หนี้สูง การว่างงาน หรือวิกฤตการเงินโลก บางครั้งคำนี้ใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เรียกว่ารุ่นบูมเมอแรง (Boomerang Generation)

ข้อมูลรายเดือนของสำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย Pew Research Center ในปี 2559 พบว่า 15% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลอาศัยอยู่ในบ้านของพ่อแม่ และอีก 4 ปีต่อมา ตัวเลขของคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 52% โดยอิงจากการวิเคราะห์เดียวกันของศูนย์วิจัย Pew Research Center เมื่อกลางปี ​​2563 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดของสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่สิ้นสุดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2483 ในขณะที่สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนของคนโสดอายุ 20-34 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่เพิ่มขึ้นเป็น 55% ระหว่างปี 2551-2560 ตามผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Loughborough

ข้อมูลข้างต้นสวนทางกับค่านิยมของวัฒนธรรมตะวันตกที่เชื่อว่า การย้ายออกจากบ้านถือเป็นก้าวสำคัญในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากจำนวนบูมเมอแรงคิดส์ในประเทศต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดคำถามว่า ค่านิยมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นอิสระของผู้ใหญ่ยุคนี้ควรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันแน่

สาเหตุที่ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ กำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของ Sheridan Block ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘บูมเมอแรงคิดส์’ หลังจาก Block ย้ายกลับไปอยู่กับปู่ย่า เธอสังเกตเห็นว่ายังมีคนวัยเดียวกันอีกหลายคนที่เป็น ‘บูมเมอแรงคิดส์’ เหมือนกับเธอ

“ฉันพบว่ามีเพื่อนมากมาย แม้แต่ผู้ชายคนที่ฉันไปเดตด้วยก็เพิ่งย้ายจากซานฟรานซิสโกกลับมาอยู่กับแม่ของเขาที่แจ็กสันวิลล์ เพราะนั่นเป็นความจริงในตอนนี้ที่คุณต้องทำเพื่อประหยัดเงิน” เธอกล่าว

“มีแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวจะอยู่บ้านนานขึ้น เพราะทุกอย่างมีราคาแพงมาก” Joanne Hipplewith นักบำบัดโรคที่สถาบันครอบครัวบำบัดในลอนดอน กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้คนหนุ่มสาวต้องย้ายกลับบ้าน สาเหตุหลักคือค่าครองชีพที่สูงในเมืองใหญ่ รวมทั้งค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การย้ายกลับไปอยู่บ้านเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากครอบครัว ในระหว่างเตรียมตัวศึกษาต่อระดับปริญญาขั้นสูงหรือเริ่มต้นหางานทำ จึงกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น

อีกทั้งการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้เพิ่มปัจจัยสนับสนุนใหม่ เนื่องจากหลายคนที่วางแผนเดินทางไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำได้ เพราะวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกปิด รวมถึงบัณฑิตที่ต้องเลื่อนจบการศึกษา ทำให้หางานและได้งานทำล่าช้า จึงส่งผลให้ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ช้าตามไปด้วย

ช่วงเวลา ‘บูมเมอแรง’ สำหรับหลายคนเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่บางคนอาจคงอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี จนกว่าจะสามารถชำระหนี้การศึกษา เก็บเงินดาวน์ หรือหางานที่มั่นคงได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน และหนี้สินไปพร้อมๆ กัน

‘บูมเมอแรงคิดส์’ กับนิยามใหม่ของความเป็นผู้ใหญ่

การกลับบ้านหลังจากอยู่ไกลบ้านหรือหลังจบมหาวิทยาลัย อาจทำให้คนหนุ่มสาวหลายคนรู้สึกกำลังถดถอยและสูญเสียอิสรภาพที่เพิ่งได้รับมา

“คุณเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย คุณมีเพื่อน คุณกำลังทำสิ่งที่คุณต้องการจะทำ แต่มันอาจจะถูกทำลายล้างเมื่อคุณกลับมาอยู่ภายใต้กฎของคนอื่น” Hipplewith กล่าว

ภาวะบูมเมอแรงบังคับให้คนในวัย 20-30 ปี ต้องเผชิญการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นอิสระ ซึ่งอาจมาพร้อมความวิตกกังวล นอกเหนือจากความรู้สึกว่าพวกเขาถดถอยเมื่อย้ายกลับบ้าน และอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ในชีวิต

Jenna S Abetz รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่ College of Charleston สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า คนในวัย 20-30 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะแต่งงานและมีบุตรล่าช้า ซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกล้าหลังมากยิ่งขึ้น

Block ในวัย 30 ปี เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น เพราะเธอเคยคิดว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน มีบ้าน แต่งงาน มีครอบครัว พร้อมกับแผนการออมและเกษียณอายุที่มั่นคง “แต่โชคไม่ดีที่มันไม่ได้เกิดขึ้น” เธอกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์บูมเมอแรงก็มีประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน หนุ่มสาวหลายคนได้ค้นพบความสามารถที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานที่มีความหมายมากกว่างานที่ทำเพื่อหาเงินใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 บางคนเลือกงานที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ำกว่า แม้ว่าสิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางสังคม เนื่องจากบูมเมอแรงคิดส์ที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านมีโอกาสที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น ในช่วงเวลาที่แต่ก่อนพวกเขามักจะใช้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่วัยเดียวกัน “เป็นช่วงเวลาพิเศษที่ไม่คาดคิดสำหรับการสนับสนุนซึ่งกันและกันและสร้างความใกล้ชิดกับครอบครัว บางครั้งพ่อแม่ก็อยากให้ลูกๆ กลับบ้านบ้าง” Abetz กล่าว

‘การย้ายกลับบ้าน’ คือความปกติใหม่อีกครั้ง

ทั้ง Abetz และ Hipplewith เชื่อว่าบูมเมอแรงคิดส์ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่มาแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น โดยคาดการณ์ว่าผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่เนื่องจากค่าครองชีพสูงจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต “หลังจากย้ายออกไปเรียนในมหาวิทยาลัย เส้นทางชีวิตอาจจะเป็นเส้นตรงน้อยลง มันอาจจะวกกลับไปกลับมา หลังเรียนจบแล้ว คุณอาจจะกลับไปอยู่บ้านเป็นเวลาหกเดือนหรือสองสามปีก็เป็นได้” Abetz กล่าว

ในขณะที่ Hipplewith หวังว่าเมื่อกระแสบูมเมอแรงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในวัฒนธรรมตะวันตก คนหนุ่มสาวจะรู้สึกกดดันน้อยลงในการปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคม ทั้งเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัย การย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ และหางานทำ โดย Hipplewith สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวมองว่า การกลับบ้านหรืออยู่บ้านควรเป็นการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลรองรับ “เราอาจต้องเลิกเชื่อมโยงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยการย้ายออกจากบ้านพ่อแม่เพียงอย่างเดียว”

Block กล่าวว่า ปรากฏการณ์บูมเมอแรงเป็นเรื่องจริงสำหรับคนรุ่นเธอ และเชื่อว่าสิ่งนี้กำลังค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการรับรู้ของคนในสังคมและกรอบความคิดแบบเดิมทีละน้อย

“ฉันคิดว่าคนรุ่นฉันกำลังเรียนรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีเส้นทางชีวิตที่เหมือนกัน และความสำเร็จเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล วัยผู้ใหญ่สำหรับฉันคือการโตพอที่จะมีความรับผิดชอบและชำระค่าใช้จ่ายของตัวเอง ซึ่งจะต้องไม่หายไปแม้ว่าคุณจะย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้ง”

ความแตกต่างของ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ในไทยกับประเทศแถบตะวันตก

ในประเทศไทยก็มีปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ เช่นกัน แต่จะมีความแตกต่างจากประเทศแถบตะวันตก เพราะคนไทยมีแนวโน้มย้ายกลับไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มากขึ้นภายหลังจากแต่งงานมีลูก

ข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแบบนับซ้ำ (Socio-Economic Survey หรือ SES Panel) พบว่า สัดส่วนของครัวเรือนในประเทศไทย กลุ่มที่แต่งงานแล้วและมีลูกโดยอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีลูกเล็กวัย 0–5 ปี จะเพิ่มโอกาสการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ถึงร้อยละ 32–34 โดยมีสาเหตุจากความต้องการความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร และการแบ่งเบาภาระงานบ้าน

เนื่องจากในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ความช่วยเหลือจากภาครัฐด้านสถานรับเลี้ยงเด็กมีจำกัดและเวลาการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นของคุณแม่วัยทำงาน ทำให้ภาระการดูแลเด็กและงานบ้านบางส่วนต้องตกอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่จะทำให้แม่มีเวลาทำงานและเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น

ข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของหลายประเทศในเอเชีย เช่น Nakamura and Ueda (1999) ที่พบว่า ในประเทศญี่ปุ่น ผู้หญิงมีลูกอ่อนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่จะมีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30

เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของ Shen et al. (2016) ที่พบว่า ในประเทศจีน ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่มีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีจำนวนชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น 20–26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ในประเทศแถบเอเชียหรือตะวันตก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่าคุณไม่ใช่เด็กไม่เอาไหนหรือผู้ใหญ่ไม่รู้จักโต คือ การพิสูจน์ตัวเองด้วยการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและหนี้สินต่างๆ โดยไม่เบียดเบียนหรือทิ้งภาระทั้งหมดให้กับพ่อแม่ฝ่ายเดียว เมื่อคุณย้ายกลับมาอยู่ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
The adult ‘boomerang kids’ moving home to their parents https://www.bbc.com
Boomerang Children https://www.investopedia.com
ปรากฏการณ์ ‘บูมเมอแรงคิดส์’ ในไทย กับผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น https://www.salika.co
ภาพ : https://www.pexels.com

Credits

Author

  • รวีวรรณ ธีรธนาพงษ์

    Authorมนุษย์ INFJ อดีตเป็นเป็ด ปัจจุบันอยากเป็นนกอินทรี อนาคตอยากเป็นยูนิคอร์น ชอบเรียนรู้และมองหาโอกาสที่จะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ไม่สิ้นสุด

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ