เช็ก 4 โอกาส ผู้สูงวัยเสี่ยงเป็น “ซึมเศร้า”

เป็นไหมเห็นพ่อกับแม่นั่งเศร้าซึมเป็นวัน ๆ ไม่สดใส อารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง อย่าเพิ่งประมาทคิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัย เพราะจริง ๆ แล้วพ่อแม่หรือผู้สูงวัยในบ้านอาจกำลังเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า อาการป่วยทางใจที่อาจส่งผลร้ายกับชีวิต

คุยกับ ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย

“โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับวัยหนุ่มสาวเท่านั้น ในผู้สูงวัยก็เกิดขึ้นมากเช่นกัน ในผู้สูงวัยที่ป่วยจะมีอาการต่างกับวัยอื่น ๆ ที่จะไม่ดิ่ง หรือดีดชัดเจนมากนัก มันจะเป็นอารมณ์ที่ไม่ Enjoy Life หรือรู้สึกอารมณ์หม่น ๆ ไม่มีความสุขกับทุกอย่างในชีวิต ซึ่งมวลอารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลายาวนาน กว่าคนรอบข้างจะรู้ตัวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อร่ายกายและจิตใจไปมากแล้ว”

และนี่คือเช็กลิสต์ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยของผู้ใหญ่ที่เรารักได้

1. ซึมเศร้าจากการสูญเสีย ผู้สูงวัยหลายคนเริ่มถึงวัยที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ว่าพ่อแม่ คู่ครอง หรือแย่ที่สุด ๆ อาจสูญเสียลูกไปก่อนวัยอันควร หาก 3-6 เดือนแล้วยังโศกเศร้า กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ดูทีท่าว่าจะไม่ดีขึ้น ก็เรียกว่ามีความเสี่ยงจะอยู่ในภาวะซึมเศร้าแล้ว

2. ซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแแปลง เมื่อเกษียณแล้วสถานะทางสังคมอาจเปลี่ยนแปลงไป อาชีพการงานที่เคยทำทุกวันก็ไม่ได้ทำ คนที่เคยเคารพรักก็ค่อย ๆ หายไป ชีวิตว่างเปล่า อาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ แต่หากในชีวิตสามารถหางานอดิเรกที่หลากหลายทำได้ ก็จะช่วยให้ชีวิตมีค่า มีความสุข ไม่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าได้

3. ซึมเศร้าจากปัญหาสุขภาพ จากข้อมูล 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือในผู้ที่ตรวจพบโรคที่เป็นระยะสุดท้ายจะเกิดภาวะซึมเศร้า แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากเท่ากับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง NCDs เช่น เบาหวาน ความดัน โดยผู้ป่วยโรคเหล่านี้พบว่าจะมีอารมณ์เศร้า เซ็ง อยู่บ่อย ๆ เพราะความกดดัน กังวล เมื่อเบาหวานขึ้นสูง อะไรก็กินไม่ได้ ทั้งคุณหมอและลูก ๆ ก็พาลกันบ่น ทำให้ชีวิตไม่มีความสุขเป็นระยะเวลายาวนาน อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจที่แย่ลงจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้

4. ซึมเศร้าจากสูญเสียความเป็นตัวเอง ผู้สูงวัยหลายคนมีร่างกายที่เสื่อมสภาพลง ไม่แข็งแรงแบบเมื่อก่อน ทำให้ลูก ๆ ห้ามหลาย ๆ สิ่งที่อาจอันตราย เช่น ห้ามขับรถ ห้ามกินของหวาน ทำให้ความมั่นใจหายไป การตัดสินใจว่าเอาหรือไม่เอาก็ทำไม่ได้ ทำให้ชีวิตไม่มีความหมาย จนส่งผลต่อสุขภาพใจที่แย่ลงเรื่อย ๆ

“ลูก ๆ เองสามารถคอยสังเกตอาการพ่อแม่ตามเช็กลิสต์ง่าย ๆ 2 ข้อนี้ได้ ข้อแรก พ่อแม่รู้สึกไม่ Enjoy Life ชีวิตไม่มีความสุขเป็นเวลานาน มีปฎิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น และสองพ่อแม่มีอาการทางร่างกายที่ผิดปกติเยอะขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ภูมิแพ้กำเริบ เกาคันไปทั่วร่างกาย ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา ท้องแน่น ท้องเสีย ท้องผูก หลายวัน หลายสัปดาห์ติดกัน เหตุเกิดจากจิตที่เศ้ราหม่องส่งผลต่อสุขภาพ

“หากเช็กแล้วมีอาการเหล่านี้ก็ให้ลองพาพ่อแม่ไปหาหมอ ในขณะที่ลูกเองที่อยู่ใกล้ชิดก็มีหน้าที่ที่ต้องบริหารทุกอย่างให้เป็นไปตามที่พ่อแม่จะมีความสุข ทำให้เขาเห็นว่าเมื่อไรที่เขาต้องการเรา เราอยู่ตรงนี้เพื่อเขาเสมอ ดูแลโดยยึดความสุขของผู้ป่วยเป็นหลัก ถ้าเขาบอกว่าไม่ก็อย่าไปฝืน จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชีวิตมีคุณค่าให้อยู่ต่อไปได้”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ