การเดินทางของคู่ชีวิตวัย 72 กับความรักในรถบ้าน

การเดินทางของคู่ชีวิตวัย 72 กับความรักในรถบ้าน

หลังจากใช้เวลา 1 เดือน รถกระบะคันหนึ่งก็กลายเป็นบ้าน รถคันนี้ประกอบด้วย 1 ห้องนอน 2 เตียง ห้องน้ำภายในรถ ตู้เก็บของเอนกประสงค์ เครื่องครัวนานาชนิด ช่องแช่แข็งสำหรับเก็บเนื้อสัตว์ ระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และคู่ชีวิตวัย 72

วรวิทย์ และ จิราวรรณ กิตติเกษมวงศ์ เดินทางร่วมกันบนถนนชีวิตมากว่า 40 ปี แต่ทั้งสองใช้ชีวิตบนรถบ้านเป็นเวลากว่า 7 ปี ในบั้นปลายชีวิตที่ทั้งสองเดินทางร่วมกัน

การเดินทาง

ลุงวรวิทย์เป็นนักเดินทางที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวสไตล์แคมป์ปิ้ง กางเต๊นท์ในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมาตลอด 42 ปี “ผมชอบไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ก็ไปเกือบทุกอุทยานฯ สมัยก่อนเราก็ไปเที่ยวกับลูกคนโตที่ตอนนั้นเขายังเล็กอยู่ เต๊นท์แรกที่ผมกางเป็นเต๊นท์ลูกเสือ ตอนนี้ยังเก็บไว้อยู่ หลังจากนั้นเรามีลูกคนที่สอง และคนที่สาม เราก็ยังเที่ยวแนวนี้แต่ไม่ได้เที่ยวบ่อย เราจะไปช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์” ลุงวรวิทย์เล่า

แต่ป้าจิราวรรณนั้นต่างออกไป เธอไม่มีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวเหมือนสามี เพราะด้วยความเป็นลูกสาวคนจีน “สมัยสาวๆ ฉันไม่ค่อยได้เที่ยว เพราะเป็นลูกคนจีน พ่อแม่จะบอกว่าคนทำงานจะไปเที่ยวได้อย่างไร เราก็ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวที่ไหน นานๆ ครั้ง แม่ก็แอบให้ไปเที่ยวสักครั้งหนึ่ง พอแต่งงานกับเขา ซึ่งเป็นคนชอบเที่ยว เราก็ได้ไปเที่ยวกับเขา ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาหรอก ครั้งหนึ่งเราไปเที่ยววัดหลวงพ่อโสธร เขาถามเราว่า “วันนี้มีละครไหม” เพราะคนนิยมนำละครไปแก้บนหลวงพ่อ แต่เราไม่รู้ไง ก็บอกเขาว่า ไม่ทราบค่ะ ยังเดินไม่ทั่ว” เล่าจบ ป้าจิราวรรณหัวเราะอารมณ์ดี

หลังจากแต่งงาน ป้าจิราวรรณจึงได้เดินทางท่องเที่ยวบ้าง จนกระทั่งในวัย 72 ป้าจิราวรรณสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า “ตอนนี้ฉันเที่ยวเป็นอาชีพ” ปีที่แล้ว ทั้งสองเดินทางไปแม่ฮ่องสอน – ดอยอ่างขาง – ดอยอินทนนท์ – ปางอุ๋ง – หมู่บ้านรักไทย – ปาย – แม่สะเรียง – แม่สอด – เขาใหญ่ “ทริปนั้นก็เดือนกว่า รถบ้านจึงกลายเป็นบ้านหลังที่สองของผม” ลุงวรวิทย์เล่า

การออกทริปแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน แต่ทริปที่นานที่สุดใช้เวลา 1 เดือนกว่า สถานที่ที่ทั้งสองมักเดินทางมาใช้เวลาพักผ่อนคือเขาใหญ่ ไม่ใช่ว่าทั้งสองมีความหลังกันที่เขาใหญ่ ที่สำคัญลุงวรวิทย์ไม่ได้คุกเข่าขอป้าจิราวรรณแต่งงานที่เขาใหญ่ แต่อากาศที่เขาใหญ่เหมาะกับคนป่วยอย่างป้าจิราวรรณ

“พาป้าคนสวยมาพักฟื้น ก็เลยอยู่นานหน่อย พออาการของเขาดีขึ้น เราก็กลับบ้าน” ลุงวรวิทย์เล่าถึงการเดินทางพาคนรักมาให้ธรรมชาติบำบัด

“พักหลังฉันป่วย แต่พอมาที่เขาใหญ่แล้วอาการดีขึ้น ช่วงนั้นเป็นมะเร็ง ก็มาอยู่ที่นี่เป็นเดือน ตอนที่ฉันเป็นโรคไตก็มาอยู่ที่นี่ มาขี่จักรยาน ออกกำลังกาย พอกลับบ้านไปโรงพยาบาล หมอถามว่าไปทำอะไรมา เพราะผลเลือดดีขึ้นเยอะเลย เราก็เลยมาบ่อยขึ้น มาแล้วสุขภาพดีขึ้น ดีกว่าอยู่ที่บ้าน” ป้าจิราวรรณเล่า

“ช่วงที่เขาเป็นโรคไต วัดค่าของไตเหลือ 23 เปอร์เซ็นต์ เขาใกล้ที่จะฟอกไตแล้วนะ พอออกจากโรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นผมพาเขามาที่เขาใหญ่เลย” ลุงวรวิทย์เล่า “ตอนนี้อาการดีขึ้นมากเลยนะ ไม่ได้กินยาเลย แต่เราคุมอาหารทุกมื้อ”

ราวกับว่าการแสดงความรักที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการทำอาหารให้คนรักกิน ลุงวรวิทย์ทำอาหารคลีนเพื่อสุขภาพให้ป้าจิราวรรณกิน ขณะที่ป้าจิราวรรณก็ทำอาหารรสที่ลุงวรวิทย์ชอบกิน ในวัย 72 ทั้งสองเขินหากต้องบอกรักผ่านคำพูด แต่อาหารทุกมื้อที่วางตรงหน้าคือคำบอกรักที่ชัดเจนและซื่อตรงที่สุด

บ้าน

รถคันนี้เหมือนบ้าน ประกอบด้วย 1 ห้องนอน 2 เตียง ห้องน้ำภายในรถ ตู้เก็บของเอนกประสงค์ที่สร้างขึ้นอยู่ข้างตัวรถ ในนั้นเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องครัวและเครื่องปรุงรสนานาชนิด ช่องแช่แข็งสำหรับเก็บเนื้อสัตว์และผัก รถคันนี้ใช้ระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

รถคันนี้สร้างมาเพื่อการเดินทางของคู่ชีวิตวัย 70 คนหนึ่งที่ป่วย โดยมีอีกคนคอยดูแล

การทำรถบ้านอยู่ในความคิดของลุงวรวิทย์มานานแล้ว การพาคนรักที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปเที่ยว น่าจะเป็นความคิดที่แปลกพอสมควร แต่ผลของการย้ายไปอยู่ในที่ที่อากาศดีกลับส่งผลดีต่อสุขภาพ การทำรถบ้านเพื่อออกเดินทางอย่างจริงจังจึงเกิดขึ้น

“ตอนที่เรายังคงเที่ยวแบบกางเต๊นท์นอน สัมภาระเราเยอะมาก เราก็พยายามหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขา เพราะว่าป้าจิราวรรณไม่แข็งแรงเหมือนเรา มีเตียง ที่นอน เต็มรถเลย เวลาเรามาเที่ยว ก็ขนสัมภาระขึ้นลงเต็มรถตลอด เราก็เหนื่อย ก็มีความคิดว่าถึงเวลาทำรถบ้านแล้ว พอทำแล้ว ก็ทำให้เขาไม่ลำบากในการเดินทาง เขาอยู่บนรถก็สุขสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวก คราวนี้ก็ชอบเที่ยวเลย” ลุงวรวิทย์เล่าถึง
การทำรถบ้านเมื่อ 7 ปีก่อน

“ช่วงนั้นเขาทำรถบ้านเสร็จ ฉันป่วยพอดี ก่อนหน้านี้เขายังช่วยลูกๆ ทำงานอยู่ ยังเป็นกำลังหลักของบ้าน แต่พอฉันป่วย เขาก็ทิ้งงานให้ลูกเลย” ป้าจิราวรรณเล่า

“ตอนนั้นอายุ 60 กว่า ถ้าไม่เที่ยวตอนนี้ แล้วเราจะไปเที่ยวกันไหวมั้ย ถ้าเราทำงานจนไม่ไหว แล้วเราคิดอยากไปเที่ยว โอกาสมันไม่มีแล้วนะ เราจะไปไหวได้อย่างไรล่ะ ถ้าจะให้ลูกพาไป ลูกก็ทำงาน ลูกก็ไม่มีเวลาพาเราไปอยู่แล้ว ผมคิดแบบนี้นะ เพราะลูกก็ทำงาน พอเราอยากไป แต่ลูกพาไปไม่ได้ เราไปโมโหลูกไม่ได้นะ เพราะเราก็รู้ว่าลูกทำงาน ผมเลยคิดว่าถ้าเรายังมีแรงอยู่ เราไปกันเองได้นะ เราใช้เวลาให้เต็มที่ ตอนแรกเขาก็ไปไม่ค่อยไหว แต่ผมดูแลเขาได้ ไปด้วยกันเถอะ จนวันที่ผมดูแลเขาไม่ได้ วันนั้นก็คือปิดจ็อบ ผมคิดแค่นี้” ลุงวรวิทย์เล่า

หลังจากที่ป้าจิราวรรณป่วย จุดประสงค์ในการเที่ยวได้เปลี่ยนมาเป็นการพักฟื้นร่างกาย ป้าจิราวรรณป่วยเป็นเบาหวาน ความดัน โรคไต มะเร็ง และเคยผ่าหัวเข่า จากคนที่เคยแข็งแรงต้องพบความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จากคนที่ไม่เคยเดินทางไปไหนไกลๆ ในบั้นปลายของชีวิต ป้าจิราวรรณได้เดินทางบนรถบ้าน ทำอาหาร พบปะผู้คน อยู่ในที่อากาศดี และมีคนรักคอยเคียงข้าง

“มาอยู่ที่เขาใหญ่ เราเจอเพื่อนเยอะ ใครก็ตามที่รู้ประวัติการป่วยไข้ของฉัน เขาก็บอกว่าเราอึดมากเลย เพราะเราเป็นคนหัวเราะ ป่วยขนาดนี้ เรายังหัวเราะ เราไปเจอป้าคนหนึ่งเขาเป็นคนธรรมะธัมโม เขาบอกเราว่า ถ้าวันที่เราไม่ไหว วันที่เราจะไปแล้ว ให้เรานึกถึงหลวงพ่อที่เขานับถือ อธิษฐานให้เราได้ไปอยู่ในที่ๆ ดีๆ เพื่อนก็ถามเราว่า ทำไมเขาพูดแบบนี้ ไม่โกรธเขาเหรอ ฉันไม่โกรธ เพราะเขาแนะนำเราในทางที่ดี เราจะไปโกรธเขาเรื่องอะไร” ป้าจิราวรรณเล่า

หลายปีก่อน ในวันที่ป้าจิราวรรณยังคงมีสุขภาพแข็งแรง อุบัติเหตุได้เกิดกับลุงจนหลังหัก ต้องนอนป่วยติดเตียงเพื่อรักษาตัว ป้าจิราวรรณเป็นคนคอยดูแลสามีจนเขากลับมาแข็งแรง กระทั่งวันหนึ่งความป่วยไข้เกิดกับเธอบ้าง และคู่ชีวิตของเธอก็ทำในสิ่งเดียวกับที่เธอเคยทำ เขาไม่ปล่อยให้คนรักอยู่ลำพัง

“เมื่อก่อนเขาเคยป่วยนอนติดเตียงนะ ถูกกิ่งไม้ฟาดตกลงมาจากที่สูงจนหลังหัก ตอนนั้นฉันยังแข็งแรง แต่เขานอนรักษาตัว ฉันก็ดูแลเขา ครั้งหนึ่งเคยไปดูหมอดู ฉันถามว่าฉันต้องดูแลเขาไปจนตายหรือเปล่า หมอดูบอกว่า ไม่ใช่ เขาต่างหากที่ต้องดูแลฉัน (หัวเราะ) ทุกวันนี้ฉันยังคิดว่าทำไมหมอดูแม่นจัง” ป้าจิราวรรณหัวเราะ เป็นเสียงหัวเราะของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอายุ 72 ปี มันฟังดูอบอุ่น และยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต

ความรัก

“ทุกข์ด้วยกัน สุขด้วยกัน ถ้าเราเลือกจะอยู่แต่ช่วงเวลาที่เขามีความสุข ความทุกข์ฉันไม่เอานะ เราก็คงไม่ได้อยู่ด้วยกันมาจนวันนี้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นกำลังใจ เราร้องไห้ด้วยกัน ผ่านเรื่องยากๆ ด้วยกันมา ประคับประคองกันมาจนได้” ในวัย 72 ลุงวรวิทย์บอกว่า ความรักไม่ได้หวือหวาเหมือนความรักในวัยหนุ่มสาวอีกแล้ว

“มันจะเรียกว่าความรักหรือเปล่าไม่รู้นะ” ป้าจิราวรรณเอ่ยขึ้นมาบ้าง “เราอยู่กันมา 43 ปีแล้ว ตั้งแต่ 7 มกราคม 2527”

เธอจำได้แม้แต่วันแรกที่อยู่ด้วยกัน แต่แอบปากแข็งบอกว่า “มันจะเรียกว่าความรักหรือเปล่าไม่รู้นะ”

“แต่มันคือความผูกพัน เรามีความผูกพัน ห่วงใยต่อกัน เราอยู่ด้วยกันจนเป็นเหมือนเพื่อน อยู่จนเป็นเพื่อนกัน” ป้าจิราวรรณบอก

ทั้งสองไม่พูดคำว่ารักเลยตลอดการให้สัมภาษณ์ แต่พฤติกรรมของทั้งสองที่ทำต่อกัน มันบอกและตะโกนคำว่ารักออกมาให้เราได้ยินอยู่แล้ว

“ผมเลือกถูก ตั้งแต่เลือกครั้งแรก ผมภูมิใจในตัวเขา เขาเก่ง ฉลาด เป็นคนตรง โมโหก็โมโหร้ายนะ ความสุขในบั้นปลายของผมก็คือการได้เดินทางโดยที่ไม่ต้องเดือนร้อนลูกๆ เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่เวลาคือสิ่งสำคัญ” ลุงวรวิทย์บอก

“ความสุขของฉันเหรอ” ป้าจิราวรรณทวนคำถาม ก่อนจะบอกว่า “ความสุขของฉันคือการได้เห็นลูกทุกคนเป็นคนดี มีครอบครัวที่ดี เราก็หมดห่วง เราได้มาอยู่มาเที่ยวในที่ที่เราถูกใจ เฮีย (ลุงวรวิทย์) เป็นคนดี ดูแลเรา แค่นี้เราก็พอใจแล้ว แล้วฉันก็มีหลานที่น่ารักมาก”

คู่ชีวิตวัย 72 เดินทาง และดูแลกันบนรถบ้าน ลูกๆ ทั้งสามของทั้งสองต่างเติบโตและมีหน้าที่การงานที่มั่นคง นี่คือช่วงเวลาสำคัญของชีวิต การได้อยู่ร่วมกับคนรักในบ้านที่ทั้งสองร่วมกันสร้าง

รถคันนี้คือบ้าน ไม่ใช่เพราะสิ่งอำนวยความสะดวก แต่คนสองคนเป็นบ้านของกันและกัน

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ