เขตปลอดเด็กในเกาหลีใต้ ปรากฏการณ์ชวนตั้งคำถามถึงอคติแห่งวัยที่อาจสร้างระยะห่างทางสังคม

บ่ายวันอาทิตย์ที่แดดร่มลมตก ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศกำลังดี หลายคนเลือกใช้ช่วงเวลาวันหยุดแสนสุขแบบนี้ไปกับการอ่านหนังสือพร้อมจิบกาแฟ กินไอศกรีมหวาน ๆ เย็น ๆ คลายร้อนให้ชื่นใจ หรือชวนเเก๊งเพื่อนซี้ ไปนั่งกินขนม ถ่ายรูปลงสตอรี่น่ารัก ๆ แต่อยู่ ๆ ก็มีคุณเเม่พาลูกแฝดวัยกำลังซน 2 คน เข้ามาสั่งขนมที่เคาน์เตอร์ เสียงร้องสั่งของแข่งกันเริ่มดังขึ้น แฝดพี่วิ่งไปที่โต๊ะที่อยู่ติดประตูกระจก แฝดน้องลากแม่ไปอีกทางบอกว่าอยากนั่งตรงโซฟา ลูกค้าหลายคนที่นั่งอยู่ในร้านก่อนหน้าเป็นอันรู้ว่าบรรยากาศบ่ายวันอาทิตย์แสนสงบได้จบลงเพียงเท่านี้ แต่ถ้าคุณอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ คุณสามารถหลีกเลี่ยงความวุ่นวายแบบนี้ได้ ด้วยการเลือกไปร้านที่ติดป้าย ‘No Kids Zone’

จุดเริ่มต้นของ No Kids Zone ในประเทศเกาหลีใต้ เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2012 ที่เกิดเหตุการณ์ ‘ดราม่า’ ขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งทำน้ำแกงหกใส่เด็ก แล้วแม่เด็กโวยวายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางร้าน แต่ต่อมามีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด พบว่าเด็กวิ่งเล่นในร้านแล้วไปชนกับพนักงานเสิร์ฟเอง ทำให้กระแสทิศทางสนับสนุนเปลี่ยนจากแม่เด็กไปที่ฝั่งร้านอาหาร จากนั้นเจ้าของร้านจึงติดป้าย No Kids Zone หรือ ‘เขตห้ามเด็กเข้า’ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบให้ร้านอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการให้เด็กเข้าไปใช้บริการติดป้ายแบบนี้จนกลายเป็นความนิยมและเรื่องปกติของสังคมเกาหลีใต้ไปโดยปริยาย   

‘รักษาบรรยากาศ’ หรือ  ‘การเลือกปฏิบัติ’

เมื่อมีการติดป้าย ‘ห้ามเด็กเข้า’ ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือในโรงภาพยนตร์ ด้วยเหตุผลในการรักษาบรรยากาศโดยรวมของพื้นที่สาธารณะสำหรับลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่ ถึงแม้ช่วงแรกจะมีเสียงคัดค้านถึงความไม่เหมาะสมอยู่บ้าง แต่เมื่อทำการสำรวจก็พบว่า การติดป้าย ‘No Kids Zone’ นั้น สร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก ทั้งในกลุ่มลูกค้าทั่วไป หรือแม้แต่กลุ่มผู้ปกครองเองก็ตาม จนทำให้ร้านค้าหรือสถานที่ที่ติดป้ายเหล่านั้นมียอดขายเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ชวนตั้งคำถามว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะทำตัวไม่น่ารัก ส่งเสียงดังโวยวาย หรือวิ่งเล่นไปมาชนนั่นชนนี่โดยไม่สนใจใครในที่สาธารณะ ดังนั้น การติดป้ายแบบนี้ อาจนำมาซึ่งการสร้างวัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติทางช่วงอายุ หรือการแบ่งแยกทางเจเนอเรชัน ทำให้เกิดอคติแบบเหมารวมและสร้างระบบที่ขัดขวางหรือไม่สนับสนุนต่อการให้เด็ก ๆ ได้เติบโต และเรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ จะดีกว่าไหม หากเราเลือกมองด้วยความเข้าใจ เพราะครั้งหนึ่งเราต่างก็เคยผ่านช่วงวัยเด็กมาเหมือนกัน

ไม่ใช่เเค่ ‘เด็ก’ เท่านั้น ที่ถูกกันออกจากพื้นที่  

นอกจากการติดป้าย ‘No Kids Zone’ ยังมีป้าย ‘ No Senior Zone’ และ ‘No YouTuber’ ด้วย สาเหตุที่มีการติดป้าย No Senior Zone นั้น เพราะว่าผู้สูงอายุชอบคุยกันเสียงดัง หรือชายสูงอายุบางคนก็ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ลวนลามพนักงานในร้าน ส่วนในกรณีของ YouTuber ก็เป็นเพราะคนกลุ่มนี้อาจสร้างความอึดอัด หรือไม่สะดวกใจให้กับผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ จากการมารีวิวเสียงดัง หรือลุกเดินไปเดินมาในร้านแล้วไลฟ์สดหรือบันทึกภาพไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นบางคนเข้าไปนั่งในร้านแล้วสั่งกาแฟหรือน้ำแค่แก้วเดียว  แต่เปลี่ยนชุดเเล้วถ่ายรูปทำคอนเทนต์อยู่ครึ่งค่อนวัน เจอสถานการณ์แบบนี้ ก็ไม่แปลกที่จะทำให้เจ้าของร้านไม่อยากต้อนรับ แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นชนวนให้เกิดการแบ่งแยกหรือกีดกันผู้คนในสังคมออกจากกันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาในภายหลังได้

หรือจำนวนประชากรที่ลดลงเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่สาธารณะที่กีดกันเด็ก

ถึงแม้ว่ากรุงโซลจะทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์และพยายามวางนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ชาวเกาหลีใต้มีลูกมากเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะเสนอเงินอุดหนุน จัดให้มีบริการรับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งสนับสนุนการรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่การที่สภาพแวดล้อมโดยรวมในสังคม รวมทั้งผู้คนในประเทศไม่ได้มีทีท่าจะสนับสนุนการสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นเด็กเลยนั้น ก็เท่ากับเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช้ทรัพยากรไปอย่างเปล่าประโยชน์

การติดป้าย No Kids Zone อาจทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจ แต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่นั้นสร้างความลำบากใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าจะพาลูกไปไหน ซึ่งจุดนี้อาจจะส่งผลให้ประชากรเด็กในเกาหลีใต้ลดลง โดยเฉพาะในปีนี้ถือเป็นปีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคม สูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วยซ้ำ เพราะคนในสังคมเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงาน หรือถ้าแต่งงานก็ไม่อยากมีลูก เพราะใช้ชีวิตลำบาก ไม่รู้จะพาลูกออกไปไหน  ดังนั้น จำนวนประชากรที่ลดลงจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่สาธารณะที่กีดกันเด็ก ๆ ออกไป ทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในทุกพื้นที่ ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้ไม่ได้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเด็ก หรือการเพิ่มจำนวนประชากรเลย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่า จริง ๆ เเล้วการติดป้ายแบ่งแยกกลุ่มคนเข้าพื้นที่แบบนี้ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเป็นการกีดกันคนบางกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด แต่หากดูตามรัฐธรรมนูญก็จะพบว่าเรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าห้ามเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ ศาสนา และเพศสภาพ ไม่มีเรื่องของอายุหรือการศึกษารวมอยู่ด้วย เเต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามว่าการติดป้ายแบบนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะถ้าเรามองเด็กเป็นเหมือนลูกหลาน เราก็จะเห็นว่าเด็กก็มีทั้งมุมที่น่ารักและไม่น่ารัก และมีพัฒนาการตามวัยของตัวเอง วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้อาจเป็นการสร้างระยะห่างหรือความขัดแย้งในสังคมด้วยซ้ำ จนนำมาสู่การเรียกร้องให้บรรจุการเลือกปฏิบัติทางช่วงอายุไว้ในกฎหมาย และคิดว่ารัฐบาลควรมีบทบาทในการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นต่าง ๆ สามารถสื่อสารกันได้ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมที่จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความปรองดองในอนาคต

การแก้ปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลง เริ่มได้ด้วยการสร้างพื้นที่ในสังคมให้เหมาะสมกับการเติบโตของเด็ก 

ด้วยเหตุผลนี้ ทาง รัฐบาลกรุงโซลจึงได้มีการนำร่องทำแคมเปญประกาศเชิญชวนร้านอาหารต่าง ๆ ให้เข้าร่วมโครงการ Seoul Kids OK Zone ขึ้น เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ร้านค้าจะได้จากการลงทะเบียนการเป็นร้านที่เหมาะสมกับเด็กคือการโปรโมตและบรรจุพิกัดร้านใน Smart Seoul Map ซึ่งเป็นแผนที่ออนไลน์ของกรุงโซล ร้านต่าง ๆ ได้ให้การตอบรับในทิศทางที่ดีมาก เพราะภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน หลังจากมีการประกาศเชิญชวนออกไป ก็มีร้านที่ได้รับเลือกให้เป็น Seoul Kids OK Zone มากถึง 349 แห่ง

สำหรับคุณสมบัติของร้านที่จะเข้าร่วมโครงการ ‘Seoul Kids OK Zone’ นั้น จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเบื้องต้น คือ สถานประกอบการควรมีพื้นที่อย่างน้อย 80 ตร.ม. มีเมนูอาหารที่เหมาะสำหรับเด็ก รสชาติไม่จัดจ้านจนเกินไป รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ จานชาม และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ต้องทำจากวัสดุที่เหมาะสม ไม่ตกแตกง่าย และก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กด้วย

ร้านที่ได้รับเลือกต่างเนรมิตร้านของตัวเองให้กลายเป็นมุมเล่นแสนสนุก พวกเขาคลุมโต๊ะด้วยกระดาษและวางดินสอสี เพื่อให้เด็ก ๆ เพลิดเพลินกับการวาดรูปเล่นระหว่างรออาหาร บางร้านมีแม้กระทั่งสไลเดอร์และจังเกิลยิมในร้าน นับเป็นอีกมิติของการตอบสนองทางการตลาดเพื่อต้อนรับกลุ่มลูกค้าครอบครัว หรือผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่สนับสนุนต่อการเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมของเด็ก ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนสังคมเกาหลีใต้ให้กลายเป็นประเทศที่สนับสนุนนโยบายการเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างแท้จริง

ถ้าเด็ก ๆ ได้เติบโตท่ามกลางความรัก พวกเขาก็จะโตไปเป็นคนที่มอบความรักให้คนอื่นได้เช่นกัน

ลองจินตนาการดูว่า หากสังคมเราไม่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ เลย ที่แห่งนั้นจะไร้สีสันและเงียบเหงาขนาดไหน เด็ก ๆ เป็นเหมือนของขวัญที่ชุบชูใจให้ผู้ใหญ่หลายบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีความรู้สึกมีคุณค่าและอยากใช้ชีวิตต่อเพื่อดูการเติบโตของลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นคนในช่วงวัยไหนก็ต่างมีความสำคัญ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เป็นระบบนิเวศในสังคมที่จะขาดใครไปไม่ได้ เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกทางช่วงอายุได้อย่างสงบสุข เพราะจริง ๆ แล้วปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางช่วงวัย แต่เกิดจากความแตกต่างทางทัศนคติ ความคิด และความเชื่อ คนทุกวัยต่างมีข้อดี-ข้อเสียของตัวเอง พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม คือ การเคารพความแตกต่าง เราไม่ควรแบ่งแยกหรือกันใครออกจากสังคม ตัดสินถูกผิด เพียงเพราะคนกลุ่มนั้นมีความคิด ความเชื่อ หรือเลือกที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างจากเรา โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมในการเติบโตอย่างเหมาะสม ต้องการพื้นที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ รวมทั้งต้องการคำแนะนำและแบบอย่างทางสังคมที่ถูกต้อง เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ให้เกียรติและเคารพทุกความแตกต่างในสังคมต่อไปในวันข้างหน้า

ขอบคุณภาพจาก  : Uofhorang

อ้างอิง :  https://medium.com/@celesteelle/the-rise-of-seoul-kids-ok-zone-for-parents-with-kids-776aad4a1438        

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ