ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมดา คุยกับเชฟอาหารมังสวิรัติ ผู้ปรารถนานิพพาน

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว ที่ ‘ป้าตา’ – จำเนียร เอี่ยมเจริญ งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดและเดินสู่เส้นทางสายมังสวิรัติอย่างเต็มตัว

จะว่าไปไม่ใช่แค่เลือกที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่ป้าตายังกลายเป็นเชฟอาหารมังสวิรัติที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับเชิญให้ไปเป็นเชฟและเป็นผู้ดูแลจัดการอาหารให้กับงานอีเวนต์มากมาย เคยเดินทางไปสอนทำอาหารมังสวิรัติในหลายๆ เมืองของประเทศญี่ปุ่น มิพักต้องพูดถึงลูกศิษย์อีกหลายคนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล บินมาเรียนทำอาหารกับหญิงวัย 65 คนนี้ถึงเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าทุกเมนูล้วนแล้วแต่เป็นมังสวิรัติทั้งหมดทั้งสิ้น

นอกเหนือจากการทำและการกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ป้าตายังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สันโดษ บ้านของเธอในปัจจุบันเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในป่า ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา อาศัยโซลาร์เซลล์และสูบน้ำบ่อใช้แทน

ป้าตาให้เหตุผลว่าเธอต้องการมีชีวิตที่เบียดเบียนสิ่งรอบตัวให้น้อยที่สุด รวมทั้งต้องการอยู่ห่างไกลจากสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่จะนำพาจิตไปสู่กิเลสและความอยากได้ใคร่มี ซึ่งนั่นเป็นชีวิตที่เธอไม่พึงปรารถนา

อย่างไรก็ตามกว่าที่ชีวิตจะเดินทางมาถึงวันนี้ วันที่สงบเงียบเรียบง่ายและอยู่ห่างไกลจากวัตถุและสิ่งยั่วเร้ากิเลสทั้งหลาย ป้าตาเองก็เคยใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความอยากมาก่อน

เธออยากรวย อยากมีเงินมีทอง อยากประสบความสำเร็จ อยากในหลายๆ สิ่งอย่างที่คนทั่วไปอยากได้ ผิดกับวันนี้ที่ความปรารถนาของคุณป้าหลงเหลืออยู่เพียงสิ่งเดียว

สิ่งเดียวที่ยากเหลือเกินที่จะได้รับ สำหรับทุกชีวิตที่ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น 

โรงงานนรก

พื้นเพดั้งเดิมของ ‘ป้าตา’ – จำเนียร เอี่ยมเจริญ เป็นคนอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อนที่ไม่นานจากนั้นจะย้ายมาอยู่ที่ย่านฝั่งธน โดยพ่อของเธอประกอบอาชีพขับแท็กซี่ ขณะที่ผู้เป็นแม่ก็ขายกล้วยปิ้งเพื่อหาเลี้ยงลูกๆ ทั้งสามคนอันประกอบด้วยป้าตา พี่ชาย และพี่สาว

ในปี 2526 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ทำให้ป้าตาซึ่งเพิ่งผ่านพ้นวัยเบญจเพสได้ปีเดียว ตัดสินใจย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังย้ายภูมิลำเนาไม่นาน เธอตัดสินใจครั้งใหญ่ ด้วยการลงทุนทำโรงงานตุ๊กตาของตัวเองขึ้นมา โดยตุ๊กตาที่ทำขึ้นนั้นมีออร์เดอร์ส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งที่สหรัฐอเมริกาและที่ญี่ปุ่น

“ตอนนั้นเรามองแต่ตัวกำไร มองแต่ยอดขายยอดออร์เดอร์ พูดง่ายๆ ว่าเรามองแต่ด้านที่สวยงาม เนื่องจากเรารับออร์เดอร์เป็นล้านตัว คิดง่ายๆ แค่ว่าถ้าได้กำไรตัวละ 2 บาท เราก็ได้ 2 ล้านแล้ว แล้วเงิน 2 ล้านเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนนี่เยอะมากนะ เราคิดว่าลงทุนเป็นเจ้าของกิจการเองยังไงก็ต้องรวยแน่ๆ

“เราเอาความโลภความอยากเป็นตัวตั้ง โดยไม่มองความเป็นจริงด้านอื่นเลยว่ากำลังการผลิตพอไหม ค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง แรงงานหาจากไหน สุดท้ายกลายเป็นว่ายิ่งเหนื่อย ยิ่งทำไปเรายิ่งขาดทุน”

ชิ้นส่วนและองค์ประกอบของตุ๊กตาแต่ละชิ้นไม่ได้สร้างจากที่เดียวกันทั้งหมด หัวและหน้าตาสร้างจากอีกแห่ง ร่างกายสร้างจากอีกแห่ง เสื้อผ้าตัดเย็บมาจากอีกแห่ง ก่อนนำทุกอย่างมาประกอบรวมกันที่โรงงานของป้าตา จากนั้นจึงนั่งรถไปส่งที่ท่าเรือคลองเตย แล้วส่งออกทางเรือไปยังต่างประเทศ

“ปัญหาของเรามันมาจากทุกทิศทุกทาง ทั้งเรื่องแรงงานที่มีไม่เพียงพอกับงานที่ทำอยู่ พอแรงงานการผลิตไม่พอก็กระทบกับเวลา แล้วไหนจะเรื่องต้นทุนทั้งในการส่งขนส่ง เนื่องจากชิ้นส่วนแต่ละอย่างเราแยกกันผลิต ไหนจะต้องจ้างแรงงานเพิ่มในกรณีที่ทุกอย่างเร่งรีบ เนื่องจากหากเราทำงานเสร็จไม่ทันเวลาที่กำหนดก็จะโดนปรับเงินอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากกิเลสของเรา เกิดจากความโลภความอยากได้ จนผลักให้เราทำทุกอย่างที่เกินตัว”

ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างคับขันและเร่งรีบ ป้าตาบอกว่าโรงงานของเธอแทบไม่ต่างอะไรจากโรงงานนรก ที่ให้พนักงานทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ไม่มีเวลาให้พักผ่อน ด้วยความที่มองผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง บ่อยครั้งเธอจำต้องปิดประตูโรงงาน เพื่อไม่ให้พนักงานได้กลับบ้านหรือออกไปไหนจนกว่าจะทำงานให้เสร็จ แม้ภายในใจไม่ได้อยากจะทำแบบนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ส่งผลทำให้เธอต้องกลายเป็นเจ้านายที่ไร้ความเมตตา

“เราไม่อยากทำเลย แต่ด้วยความที่กลัวงานจะเสร็จไม่ทัน ทำให้เราต้องปิดประตูโรงงานไม่ให้ทุกคนกลับบ้าน แล้วก็เอาข้าวเอาอาหารมากินกันในนั้น บางครั้งทำงานกันไม่ได้หลับได้นอนเลยก็มี พูดง่ายๆ ว่าเหมือนกับโรงงานนรกเลย”

ผลจากการอยากได้ใคร่มีและทำทุกอย่างเกินกว่ากำลังที่มีอยู่ ทำให้ธุรกิจของป้าตาเจ๊งไม่เป็นท่า จากที่เคยคิดว่าจะได้กำไร 2 ล้าน กลับกลายเป็นต้องขาดทุนและมีหนี้สินในจำนวนตัวเลขเดียวกัน กระทั่งสุดท้ายต้องขายบ้านเพื่อใช้หนี้ทั้งหมด

วินาทีนั้นป้าตาไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไรจึงจะหนีพ้นจากความทุกข์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ กระทั่งวันหนึ่งในขณะที่กำลังขับรถ เธอก็เห็นเหตุการณ์ที่กลายเป็นภาพติดตา

“เราเห็นรถคันข้างหน้าชนและทับคนตายคาที่ สภาพศพนี่เอาเป็นว่าดูไม่ได้เลย”

โชคยังดีที่ป้าตาหักพวงมาลัยเบี่ยงหลบได้ทัน แต่ภาพที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นภายในใจของเธอ

“มันทั้งสะเทือนใจ แล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจพร้อมกัน ชีวิตคนเรานี่มันอะไรกัน ยืนอยู่ดีๆ ทำไมแค่ไม่กี่วินาทีต่อมากลับตายได้เลย แล้วอย่างนี้ชีวิตเรา เราจะเกิดมาเพื่ออะไร จริงๆ แล้วชีวิตคนเราต้องการอะไรกันแน่ และพระพุทธเจ้าสอนอะไรเราบ้าง”

ชั่วเวลาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความทุกข์ความผิดหวังจากการทำธุรกิจที่ล้มเหลวแปรเปลี่ยนเป็นความสงสัยใคร่รู้ในสงสารวัฏของชีวิต ป้าตานำสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองไปปรึกษาคนรู้จัก ก่อนที่จะได้รับคำแนะนำให้เดินทางไปพบกับภิกษุณี รุ้งเดือน นันทญาณี ที่สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธาราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งไปตลอดกาล


ยอดเชฟมังสวิรัติ

ป้าตามีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมะมากมายจากภิกษุณีรุ้งเดือน

“หลักๆ เลยท่านสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน โดยการฝึกให้เฝ้าดูลมหายใจ เมื่อเราอยู่กับปัจจุบัน ความคิดของเราก็จะไม่ฟุ้งซ่าน และไม่ตกเป็นเครื่องมือของความคิด เช่น เราทำอาหารก็ให้รู้อยู่ว่าเราทำอาหาร ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ไม่เอาความคิด ไม่เอาคนอื่นมาพาออกไปจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ นอกจากนั้นเราก็ยังได้เรียนรู้ธรรมะอีกมากมาย จากพระอาจารย์อีกหลายท่าน ซึ่งทุกๆ ท่านล้วนแล้วแต่เป็นมังสวิรัติด้วยกันทั้งสิ้น”

ป้าตาถวายตัวเป็นลูกศิษย์และทำอาหารถวายที่สำนักปฏิบัติธรรมนิโรธารามอยู่ทุกวัน การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีใครรับประทานเนื้อสัตว์ค่อยๆ ซึมซับและเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นคนที่งดเว้นการกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร และไม่ใช่เพียงแค่การลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ป้าตายังหันมาทำอาหารมังสวิรัติเลี้ยงชีพจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันป้าตาถือเป็นยอดเชฟอาหารมังสวิรัติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาหารที่ป้าตาทำแต่ละเมนู นอกจากหน้าตาจะน่ารับประทานแล้ว รสชาติยังอร่อยลิ้น จนใครหลายคนที่ได้กินแทบไม่เชื่อว่าจะมีอาหารมังสวิรัติรสเลิศแบบนี้อยู่ด้วย ป้าตาบอกว่า ตลอดเวลาที่ทำอาหารมังสวิรัติมาเกือบ 30 ปี เธอไม่เคยไปเรียนจากสถาบันสอนการทำอาหารที่ไหน ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และพรสวรรค์ที่ติดตัวมาล้วนๆ

“เราเริ่มจากการทำถวายพระภิกษุณีรุ้งเดือนและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย โดยการเรียนรู้ด้วยตัวเอง มนุษย์ทุกคนมีพรสวรรค์และของที่ติดตัวมาแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนมีหัวทางการเป็นช่าง บางคนเล่นกีฬาเก่ง วาดภาพสวย สำหรับเราก็คงเป็นเรื่องการทำอาหาร เพราะเราชอบแล้วก็คลุกคลีกับการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากต้องทำให้ที่บ้าน กิน

“การทำหรือเป็นเชฟอาหารมังสวิรัติในระยะแรกนั้นต้องบอกว่ายากมาก เนื่องจากเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจะเอาอะไรมาแทนเนื้อสัตว์โดยที่รสชาติยังคงความอร่อยไม่ต่างกัน อย่างปลาดุกผัดกะเพรากรอบเราก็จะใช้เต้าหู้แทนปลาดุก หรือในแกงเขียวหวานไก่ ตัวเนื้อไก่เราก็จะใช้เห็ดฟางแทน”

อย่างไรก็ตามป้าตาบอกว่า เมื่อเวลาผ่านไป การทำอาหารมังสวิรัตินั้นกลับมีความสะดวกสบายมากกว่า เนื่องจากไม่สกปรก ไม่เหม็นคาว ไม่ต้องสัมผัสเลือดให้เหนียวเฉอะแฉะ แถมไม่มีแมลงวันคอยกวนใจในขณะกำลังทำอาหารอยู่ หญิงวัย 65 ยังเสริมต่อด้วยว่า เคล็ดลับความอร่อยของอาหารทุกเมนูนั้นคือความใส่ใจ คิดเสียว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการทำให้คนที่รักได้กิน รวมทั้งประยุกต์ศาสตร์และศิลป์ให้เข้ากันลงตัว

“อาหารทุกจานมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์นะ ศาสตร์มันก็มีอยู่แล้วว่าวัตถุดิบหลักๆ ต้องมีอะไรบ้าง หรือขั้นตอนทั่วไปต้องทำยังไง แต่ศิลป์ก็คือการที่เราคิดครีเอตให้มันแตกต่าง เราอาจจะมีอะไรที่เราใส่เพิ่มเข้าไป หรือวิธีทำว่าจะใส่อะไรก่อน-หลังที่ไม่เหมือนคนอื่น ยกตัวอย่างแกงเขียวหวาน เราก็จะมีข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด หอม กระเทียม ไม่ต่างอะไรจากที่คนอื่นทำมากนัก เพียงแต่เราจะผัดกะทิให้มันแตกมันเป็นเหมือนน้ำมันเลย เมื่อผัดกับพริกแกงก็จะใส่เกลือแทนน้ำปลา แล้วก็น้ำตาล ใช้เห็ดฟางแทนเนื้อไก่ ใส่ยอดมะพร้าวอ่อน มะเขือเปราะ มะเขือพวง กระเจี๊ยบ ฟักเขียว แล้วเราก็จะใช้พริกขี้หนูเดือยเขียวเพื่อให้แกงออกมาเป็นสีเขียวสวยน่ากิน แต่ทีเด็ดก็คือเราจะใส่เปราะหอมลงไปด้วย เปราะหอมเป็นสมุนไพรที่ไม่ได้ให้รส แต่ให้กลิ่น ใส่แค่ปลายนิ้วก้อย แกงเขียวหวานก็จะมีกลิ่นหอมลอยออกมา ขณะเดียวกันในตอนที่แกงใกล้เสร็จก่อนจะยกลงจากเตา เราจะใส่ใบผักชีที่ปั่นเตรียมไว้กับหัวกะทิลงไปอีกครั้งเพื่อให้แกงมีความหอมและข้น

“ทุกครั้งที่ทำไม่ว่าจะถวายครูบาอาจารย์หรือทำให้ลูกค้ากิน เราจะใส่ใจและมีสติระลึกรู้อยู่ตลอด เมื่อจิตมีสติมีสมาธิ เราก็จะทำอาหารออกมาได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารหรอก แต่ใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตเลย”

สำหรับวัตถุดิบที่ป้าตาใช้ในการทำอาหารนั้นจะมาจากพืชสวนผักสวนครัวและสมุนไพรที่ปลูกไว้รอบบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ จะมีก็เพียงน้ำมันและเครื่องปรุงต่างๆ ที่ยังผลิตไม่ได้ก็จะซื้อเอา โดยอาหารของคุณป้านั้นไม่ได้มีหน้าร้าน ต้องโทร. สั่งแล้วก็ส่งเคอรี่อย่างเดียว หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องรอทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของเดือนที่ป้าตาจะลงไปเปิดร้านที่ตลาดนัดเกษียณมาร์เก็ตที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่

แม้จะทำอาหารมังสวิรัติถวายพระและไม่ได้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง กระนั้นบ้านของป้าตาก็เปิดต้อนรับเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนที่มีความสนิทสนมกันจริงๆ ซึ่งทุกครั้งคนสนิทของป้าก็มักจะชวนเพื่อนๆ มากินด้วย

เมื่อได้มาลองลิ้มชิมรสก็มักจะเล่าลือกันไปแบบปากต่อปากถึงเชฟหญิงสูงวัยคนหนึ่งที่ทำอาหารมังสวิรัติได้อร่อยเลิศรส

การเล่าลือกันไปแบบปากต่อปากนี่เองที่ทำให้ชื่อเสียงของป้าตาไม่ได้หยุดอยู่แค่ในเมืองไทย


โกอินเตอร์

ป้าตาเป็นคนทำอาหารให้พ่อแม่และพี่ๆ กิน ตั้งแต่ยังเด็ก ปัจจุบันแม้จะแยกตัวออกมาใช้ชีวิตสันโดษแล้ว แต่เวลาเพื่อนๆ แวะมาหาที่บ้านก็จะต้อนรับขับสู้ด้วยการทำอาหารมังสวิรัติให้กิน

“เราเป็นคนที่มีคนรู้จักเยอะ แล้วส่วนใหญ่เขาจะอยู่ในวงการโรงแรม วงการอาหาร พอเขามากินอาหารที่บ้านเราแล้วอร่อยก็บอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก จากนั้นก็ชวนมากินกันเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งมีเพื่อนที่เขาเปิดร้านอาหารหลายสาขาในทวีปเอเชีย เขามากินแล้วก็บอกว่าที่สิงคโปร์กำลังจะมีการจัดมหกรรมอาหาร กำลังต้องการเชฟที่มีฝีมือมาร่วมงาน แล้วคนสิงคโปร์เองก็กินมังสวิรัติกันเยอะ หลังจากนั้นเขาก็ติดต่อไปยังผู้จัดงาน แล้วเจ้าของงานก็เชิญเราไปเป็นเชฟในงานดังกล่าว ซึ่งมีเชฟที่ได้รับคัดเลือกให้ไปทำงานอาหารทั้งงานเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น”

งานมหกรรมอาหารที่ป้าตาหมายถึงก็คืองาน World Gourmet S ummit 2021 ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นงานที่จัดขึ้นในโรงแรมแล้วนำเชฟยอดฝีมือที่ทางโรงแรมคัดเลือกมาทำอาหารให้ผู้ร่วมงานได้รับประทาน โดยผู้ที่จะมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสอาหารจากยอดเชฟทั้งหมด จะต้องซื้อบัตรเข้าร่วมงานในราคาที่สูงพอสมควรเลยทีเดียว

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางเชฟทั้ง 5 คนที่ได้รับคัดเลือก มีป้าตาคนเดียวเท่านั้นที่เป็นเชฟมังสวิรัติ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าฝีมือทำอาหารไม่อร่อยจริง คงยากนักที่อาหารที่ไม่ได้มีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบเช่นนี้จะผ่านการคัดเลือกให้ออกโชว์ผลงานถึงในต่างประเทศเทียบเคียงกับเชฟอาหารคนอื่นๆ ได้

นอกเหนือจากการไปโชว์ฝีมือในงาน World Gourmet Summit 2021 ที่เมืองลอดช่องแล้ว ยอดเชฟมังสวิรัติจากเมืองไทยยังเคยตระเวนเปิดสอนทำอาหารมังสวิรัติตามเมืองต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นโอกินาวะ เกียวโต ฟูกูโอกะ โตเกียว ฮอกไกโด ฯลฯ ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาที่แดนอาทิตย์อุทัยจะรู้จักและเรียกขานเธอในนาม ‘ป้าตา โอบะซัง’

“เรามีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นที่เขาสอนทำอาหารเหมือนกัน พอคุยกันเราเลยเกิดไอเดียอยากสอนการทำอาหารมังสวิรัติไทยที่ญี่ปุ่น ก็เลยลองชวนเขาว่าเราทำกันไหม จัดเป็นงานเล็กๆ ใช้พื้นที่ที่โรงเรียนของเขาที่นั่น ทำเป็นเหมือนงานวัฒนธรรม โดยมีอาหารเป็นตัวเชื่อม แล้วก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความรู้กัน เมื่อเขาเห็นด้วย เราก็ออกเดินทาง แล้วก็ตระเวนสอนในหลายๆ เมือง แทบทุกเมืองมีคนให้ความสนใจมาเรียนกับเราเป็นจำนวนมาก”

อาหารที่ป้าตาเปิดสอนมีมากมายหลายเมนู เช่น ข้าวยำสมุนไพร น้ำพริกอ่อง ขนมจีนน้ำเงี้ยว ส้มตำแคร์รอต ยำปลาดุกฟู หรือแม้กระทั่งอาหารของญี่ปุ่นเองอย่างโซบะราดซอสมะเขือเทศ ฯลฯ

หลังจากออกเดินสายไปโชว์ฝีมือในต่างประเทศ ก็ปรากฏว่ามีชาวต่างชาติมากมายที่เดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนรู้การทำอาหารมังสวิรัติจากป้าตา โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่มีอยู่จำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้จากยอดเชฟอย่างป้าตาก็คือความอร่อยของอาหาร แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ขึ้นอยู่กับเนื้อสัตว์อย่างที่เคยเข้าใจ หากแต่ขึ้นอยู่กับไอเดียการจัดการกับวัตถุดิบที่มีอยู่ให้ออกมากลมกล่อมลงตัว

ทุกอย่างสามารถอร่อยได้ และความอร่อยนั้นก็ไม่ต้องแลกมาด้วยชีวิต


คนบ้าผู้ปรารถนานิพพาน

สำหรับป้าตา อาหารที่ดีต้องเปรียบเสมือนยาบำรุงชีวิต และหากยาที่ว่านั้นมีรสชาติอร่อยด้วยก็ยิ่งเป็นการดีมากขึ้นไปอีก

“อาหารดีสำหรับเราต้องเป็นเหมือนยาบำรุงธาตุขันธ์ในเนื้อเยื่อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ต้องมีคุณค่าทางอาหารที่พอเหมาะพอดี กินแล้วต้องเป็นยา ไม่ใช่กินแล้วเป็นโรค เรื่องรสชาติเป็นเรื่องรองลงมา แต่ถ้าเป็นยาด้วยแล้วอร่อยด้วยก็ยิ่งดีเลย เท่ากับกินแล้วได้ประโยชน์ด้วย ได้รสชาติด้วย มีความสุขทั้งกาย มีความสุขทั้งใจ”

ทุกวันนี้ป้าตาพยายามทำอาหารที่ดีตามความคิดของตนไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักอาศัย โดยเมนูในแต่ละวันจะเปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันเพื่อที่จะได้คุณค่าทางอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน ไม่เพียงแต่เป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่ในหลายครั้งอาหารมังสวิรัติของป้าตายังแผ่เผื่อเจือจานไปถึงคนในชุมชนและผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งตัวเธอเองก็เชื่อว่าการทำอาหารให้คนได้กินอิ่มท้องนี้เป็นทานที่ได้อานิสงส์มากมาย รวมทั้งเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน และจุดกำเนิดแห่งกรรมดีทั้งหลายทั้งปวง

“อาหารของเราถ้าไม่ได้สั่งซื้อหรือไปกินที่ตลาดเกษียณมาร์เก็ตก็สามารถมากินที่วัดได้ทุกวัน เพราะเราจะทำเผื่อไว้อยู่แล้ว พระท่านก็ฉันมื้อเดียว แล้วมีแค่ 2 รูป ที่เหลือก็จะให้คนงาน ให้คนตาบอด แล้วก็คนแก่ติดเตียงที่อยู่แถวนี้ หรือบางครั้งถ้ามีภัยพิบัติเกิดขึ้นในชุมชน อย่างเช่นที่ผ่านมาเคยเกิดน้ำท่วมจากน้ำป่า เราก็จะทำเป็นโรงทานเลยเพื่อให้คนที่เดือดร้อนได้มากินกัน

“พระพุทธเจ้าตรัสว่าการให้อาหารเป็นทานที่ได้อานิสงส์มากมาย เนื่องจากเป็นพื้นฐานและเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง คนเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าท้องหิวต่อให้คิดดีทำดียังไงก็ทำได้ยาก คิดง่ายๆ เลยว่าถ้าพระสงฆ์หิวหรือไม่ได้กินข้าว ท่านจะเอาแรงที่ไหนไปไถ่ถอนกิเลส ยิ่งกับคนตกทุกข์ได้ยาก การทำให้เขาได้กินได้อิ่มท้องก็ยิ่งทำให้เขามีแรงมีกำลังที่จะสู้ชีวิต ความจริงแล้วการให้หรือเกื้อกูลกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น เพียงแต่ตัวเราชอบและถนัดในเรื่องการทำอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุด”

หนึ่งในวัดที่ป้าตาเดินทางไปถวายภัตตาหารทุกวันก็คือ วัดสวนสุขใจ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคุณป้าได้บริจาคที่ดินของตนอันเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นสุดท้ายที่มีอยู่สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา

“เรามีที่ดินอยู่ประมาณ 7 ไร่ เป็นที่ที่สวยมาก แต่มานั่งคิดว่าต่อให้สวยแค่ไหน ถ้ามานั่งชื่นชมอยู่คนเดียวมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แล้วสุดท้ายตายก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี ทรัพย์สมบัติเราก็มีแค่นี้ ถ้าเราเอาที่สร้างเป็นวัดยังจะเกิดประโยชน์กับผู้คนมากกว่า ถึงเอาไปขายได้เงินมาใช้ สุดท้ายก็หมดอยู่ดี”

ปัจจุบันวัดสวนสุขใจมีเนื้อที่ทั้งหมดเกินกว่า 100 ไร่แล้ว เนื่องจากมีบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านบริจาคที่ดินเพิ่มให้กับทางวัด ซึ่งป้าตาเองก็ได้สร้างบ้านอาศัยอยู่ในเขตวัดด้วย เป็นบ้านไม้ทรงไทยที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา อยู่ห่างไกลจากความสะดวกสบายทั้งปวง

“ทุกวันนี้เราเลือกที่จะอยู่อย่างสันโดษเงียบๆ ไม่ต้องวุ่นวายกับใครมาก แล้วก็พยายามรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด บ้านที่เราอยู่ก็อยู่ในป่า ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา อาศัยโซลาร์เซลล์สูบน้ำจากบ่อมาใช้แทน เราเอาแค่พออยู่ได้ ไม่ได้อยากมีอะไรมากมายเกินตัว

“มีหลายคนหาว่าเราบ้านะ ว่าทำไมไม่ไปอยู่ข้างนอกใช้ชีวิตสบายๆ เราก็ไม่ได้โกรธหรือโต้ตอบอะไรกลับไป แต่ก็คิดว่าคนเราทุกคนล้วนแล้วแต่บ้าด้วยกันทั้งนั้น บางคนบ้าของเก่า บางคนบ้ารถ บางคนบ้าเหล้า บ้าการพนัน เราเองก็บ้า แต่บ้าอย่างเรามันไม่เดือดร้อนใคร แล้วไม่ว่าใครจะว่าอะไร เราก็ยังพอใจและยินดีที่จะอยู่ในเส้นทางนี้ เส้นทางที่ไม่เบียดเบียนใคร อยู่กับธรรมะ ธรรมชาติ และความธรรมดา เป็นเส้นทางที่ทำให้ชีวิตเรามีกิเลสน้อยลง เมื่อมีกิเลส รัก โลภ โกรธ หลงน้อยลง ชีวิตของเราก็ทุกข์น้อยลงด้วย”

ที่ดินทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็บริจาค บ้านก็มีแค่พออยู่ได้ ขณะที่กิเลสก็ดูเหมือนจะน้อยลงทุกวัน คำถามที่ตามมาก็คือ มีสิ่งใดบ้างไหมที่ป้าตายังต้องการและปรารถนาในชีวิตจริงๆ

หญิงวัย 65 นิ่งคิดไปชั่วครู่ก่อนตอบกลับมาว่า แท้จริงยังมีสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะเดินทางไปถึงได้

“ถ้าถามว่าอะไรที่เป็นความปรารถนาของเราจริงๆ เราปรารถนาในมรรคผลนิพพาน เราพยายามที่จะฝึกจิตไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะไปให้ถึงให้ได้ในวันหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้เราไม่อยากกลับมาเกิดแล้ว คนเราเกิดทุกครั้ง ก็ทุกข์ทุกครั้ง หิวก็ทุกข์ เจ็บก็ทุกข์ เอาแค่ปวดท้องจะเข้าห้องน้ำก็ทุกข์ ไหนจะต้องทุกข์จากการพบพรากจากลาอีก ซึ่งถ้าไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกก็ไม่ต้องทุกข์อีก

“เรารู้และเข้าใจดีว่าไม่มีทางไปถึงง่ายๆ หรอก ยังต้องเดินทางอีกไกล หลายภพหลายชาติ แต่อย่างน้อยการที่เราตั้งเป้าหมายและพยายามที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมในตอนนี้ ก็ยังดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ