กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และอีก 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตของคนไทย ได้ออกมาเปิดเผยผลการวิจัยในหัวข้อ ‘อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576’ ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะตกอยู่ในภาวะเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว และหวาดกลัวมากขึ้น โดย 80.6% ของคนเมือง จะมีปัญาสุขภาพจิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการใช้ชีวิตในเมืองที่ทันสมัยแต่มีความวุ่นวายและแข่งขันกันตลอดเวลา กำลังบีบให้คนเมืองดูแลสุขภาพน้อยลงเรื่อย ๆ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันป้องกันเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วนที่สุด
มนุษย์ต่างวัยพาไปฟังเหตุผลว่าทำไมเมืองถึงมีส่วนกำหนดชีวิตเรามากกว่าที่คิด จาก ผศ. ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ ‘ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง’ (Urban Design and Development Center: UddC) และอาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ มองว่า เมืองจะหล่อหลอมพฤติกรรมของเราตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ จนถึงวัยชรา โดยถ้าเมืองเป็นแบบไหนก็จะผลิตคนแบบนั้นออกมา และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่า สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยส่งผลต่อสุขภาพของคนเรามากกว่าที่คิด คนในเมืองอาจกลายเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีในอนาคตได้ หากไม่เริ่มดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนนี้
“เราชอบพูดเล่น ๆ กับนักศึกษาในคลาสเรียนว่า ถ้าอนาคตคุณไม่มีแฟน สร้างครอบครัวไม่ได้ อย่าโทษตัวเองเลย แต่ให้โทษเมืองแทนที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เพราะสภาพเมืองมันบีบให้เรารีบกลับบ้าน กลับคอนโดฯ หมดเวลาไปกับการเดินทาง มีพื้นที่ให้พักผ่อนน้อย สวนสาธารณะก็อยู่ไกล มันจึงเป็นเรื่องยากที่พวกคุณจะได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ท่ามกลางเมืองใหญ่
“เมืองมันส่งผลกระทบกับเรามากกว่าที่คิดไว้เยอะ ถ้ามันมีพื้นที่สาธารณะที่เรามาเจอคนอื่นโดยไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือห้างสรรพสินค้า มันก็สร้างโอกาสพบเจอกันมากกว่าเดิม เมื่อเมืองมันมีชีวิตชีวา เราก็มีชีวิตชีวาตาม นี่เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่บอกว่าเมืองมันส่งผลต่อเรา มันหล่อหลอมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ว่าเราจะเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาวอย่างไร แล้วเราจะเป็นคนแก่แบบไหนด้วย
“ถ้าเราออกแบบเมืองให้ทุกคนเดินได้ พักผ่อนได้ มีต้นไม้สีเขียวในทุกพื้นที่ คนก็จะอยากเดิน อยากออกมาเจอกันมากขึ้น นักเรียนได้เดินมาเรียน คนทำงานรอรถประจำทางโดยไม่ต้องสูดมลพิษ มันก็จะช่วยลดความเจ็บป่วยของพลเมือง ลดความเสี่ยงที่พลเมืองจะเป็นโรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือโรคจิตเวชได้ ซึ่งมันเพิ่มโอกาสให้เรามีชีวิตในวัยชราอย่างมีคุณภาพได้”
ลึก ๆ แล้วไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ คนเราชอบเดินเสมอแหละ แต่เมืองมันต้องน่าเดินด้วย
ประเทศไทยเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) เต็มตัวแล้ว แต่ ผศ. ดร. นิรมล บอกว่า การเอาแต่สร้างทางลาดหรือลิฟต์เพิ่มขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะแค่นี้มันไม่เพียงพอที่จะทำให้คนแก่อยากออกจากบ้าน
“เมืองที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันแบบจับต้องได้ อย่างน้อยมันต้องเป็นเมืองที่เราสามารถไปไหนมาไหนโดยเดินไปเองได้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้เดินได้ 150 นาทีต่อวัน อันนี้คือเกณฑ์มาตรฐานเลยว่าเมืองที่ดีกับชีวิตคนควรเป็นอย่างไร
“ยกตัวอย่างเช่น หลายเมืองในต่างประเทศเขาก็พึ่งพาการเดิน และใช้บริการรถสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งเขาออกแบบมาอย่างดี มีทางเท้าที่เดินถึงจุดหมาย มีสวนสาธารณะอยู่ในทุกชุมชน ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้ได้ และคนรวยก็ยังอยากใช้ด้วย
“ดังนั้นถ้าจะให้เมืองของเราเหมาะสำหรับการใช้ชีวิต ต้องไม่ใช่แค่ทำทางลาดหรือแค่มีลิฟต์ แต่จำเป็นต้องเป็นเมืองที่ทำให้คนสามารถเดินไปไหนมาไหนเองได้ มีทางเดินตั้งแต่แถวบ้านพาตรงไปสู่จุดหมายอย่างปลอดภัย หรือไม่ก็พาไปยังสถานีรถประจำทางได้อย่างสะดวก มีที่ให้ปั่นจักรยานได้ มีสวนสาธารณะอยู่ใกล้บ้านเรา”
เมืองที่เราอยู่ มันต้องแก้กรรมในชีวิตให้เราได้
ความท้าทายของสังคมสูงวัยทั่วโลกตอนนี้คือ เรามีอายุยืนยาวขึ้นเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีแนวโน้มสูงที่จะมีคนอายุมากกว่า ‘100 ปี’ (ศตวรรษิกชน) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ช่วงที่เราตายช้าลงก็มีคำถามตามมาว่า เราจะมีชีวิตอย่างไรในวันที่รายได้และร่างกายถดถอยลงไปพร้อม ๆ กัน
“ลองนึกภาพว่าชีวิตบั้นปลายของเราต้องใช้ชีวิตแบบออกจากบ้านลำบาก รถติด ไม่มีทางให้เดิน จะนั่งวินมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ไหว จะเรียกแท็กซี่ก็แพงเกินไป เราคงไม่อยากอยู่ในเมืองแบบนั้นแน่ สุดท้ายก็จบที่ต้องให้ลูกหลานมาดูแล ทำให้พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอีก
“จริงอยู่ที่ตอนแก่เราต้องเจ็บป่วยด้วยโรคสักโรค แต่อย่างน้อยที่สุดเราอยากให้เมืองแก้กรรมให้เราได้ เพราะในเมื่อเราต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่แล้ว เราก็อยากให้เมืองช่วยเราแก่และตายในบรรยากาศที่ดี โดยไม่ทุกข์ทรมานจากสภาพแวดล้อมจนเกินไป เมืองมันควรจะให้เราดูแลตัวเองได้และมีช่วงเวลาให้เราได้รื่นรมย์ก่อนตาย
“ถ้าเราแก่แล้วเราไม่ได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ เราก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เพราะต่อให้เราจะแก่ ร่างกายโรยราแค่ไหน เราก็อยากใช้ชีวิตของเราเสมอ ถ้าเมืองมันเดินได้ มันมีพื้นที่สีเขียวให้มอง มีเส้นทางให้เราไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ ต่อให้ป่วยกาย แต่สุขภาพใจยังดี เราก็ยังมีจิตใจที่เบิกบานได้ เพราะเมืองมันเป็นมิตรกับเรา”
ผศ. ดร. นิรมล ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเมืองให้ ‘เดินได้ เดินดี’ (Good Walk) เป็นโครงการที่ทาง ‘ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง’ (UddC) ทุ่มเททำมาโดยตลอด ต่อเนื่องกันปีนี้เป็นปีที่ 8 ด้วยการสนับสนุนจาก ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ (สสส.) ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าเวลานี้กรุงเทพมหานครและตามเทศบาลต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญกับการเดินทางมากขึ้น โดยพื้นที่ประมาณ 60% ของกรุงเทพฯ ชั้นในสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ และเมืองสามารถเดินถึงจุดหมายปลายทางอย่างสวนสาธารณะ ที่ทำงาน โรงเรียน หรือสถานที่พักผ่อนอื่น ๆ ได้ แต่ความท้าทายคือทำให้มันน่าเดิน และมีชีวิตชีวาที่มากกว่าเดิม
ศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินี พื้นที่สำหรับสูงวัยแอ็กทิฟใจกลางกรุง
เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมือง ไปจนถึงเพิ่มโอกาสให้คนสูงวัยมีสุขภาพที่ดีและสามารถใช้ชีวิตแบบแอ็กทิฟได้ทุกวันท่ามกลางเมืองใหญ่ ‘ศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินี’ คือ ‘พื้นที่’ ที่เข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะที่นี่ออกแบบมาเพื่อให้คนเมืองทุกวัยออกมาจอยกัน รวมถึงเป็นการสนับสนุนให้คนเมืองออกมาทำกิจกรรมท่ามกลางธรรมชาติ และเพื่อเตรียมความพร้อมให้พลเมืองกลายเป็นผู้สูงอายุในเวอร์ชันที่ดีที่สุดที่ตัวเองอยากเป็นในอนาคต
ศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2478 เดิมใช้ชื่อว่า ศูนย์เยาวชนลุมพินี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินี’ ในภายหลัง เพื่อต้อนรับคนทุกวัยให้เข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้มากยิ่งขึ้น โดยที่ศูนย์มี 30 กว่ากิจกรรมไว้รองรับเด็ก ๆ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งมีตั้งแต่กิจกรรมออกกำลังกาย ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี สอนว่ายน้ำ ไปจนถึงสอนภาษาและทักษะวิชาชีพใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายคือเชิญชวนคนเมืองทุกวัยให้ออกจากบ้านมาทำกิจกรรม พบปะเพื่อนฝูง และผ่อนคลายกับชีวิตที่วุ่นวาย
ด้วยความที่สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางเมือง ทำให้ทุกคนสามารถเดินทางมาอย่างสะดวกได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในแต่ละเดือนมีคนมาใช้บริการประมาณห้าหมื่นถึงหกหมื่นคน โดยคนที่มาไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนต่างก็ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์ชีวิต เก็บค่าบริการไม่แพง และอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม ซึ่งดีกว่าการทำกิจกรรมอยู่คนเดียวที่บ้าน และไม่ว่าใครก็เดินทางมาได้สะดวก
เมืองมันต้องมีพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนทำกิจกรรมอย่างเท่าเทียมกัน
-คุณชยพล ศรีหิรัญ หัวหน้าศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินี-
คุณชยพล ศรีหิรัญ หัวหน้าศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินี บอกว่า พื้นที่นี้มองถึงความต้องการของประชาชนก่อนเสมอ เราสำรวจว่าคนแต่ละวัยที่อาศัยอยู่ในเมืองเขาอยากทำอะไรในเวลาว่างหรือหลังเลิกงาน โดยสำรวจผ่านแบบสอบถามทั้งการลงพื้นที่จริง และออนไลน์ กิจกรรมของที่นี่จึงตอบโจทย์ทางสังคม ร่างกาย และจิตใจของคนเมือง เพราะมันเอื้อให้พวกเขาได้ออกมาพบปะสังสรรค์กัน และทำให้ผู้สูงวัยที่อยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องมีลูกหลานดูแล เพราะเจ้าหน้าที่ที่นี่ดูแลพวกเขาเหมือนปู่ย่า ตายายในครอบครัว
“ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นที่นี่ ก็ต้องตอบว่าที่นี่คือสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่นี่มีทางผ่านเยอะ ทั้งรถไฟ รถเมล์ แท็กซี่ ซึ่งมันไม่ได้เดินทางมายากเลย สภาพแวดล้อมตรงนี้มันก็มีต้นไม้เยอะ ให้ประชาชนนั่งร่มรื่นได้ จึงเหมาะสำหรับทำกิจกรรมและมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ
“เป้าหมายสำคัญของที่นี่ก็คือ ต้องการให้ทุกคนได้ออกกำลังกายและสนุกกับกิจกรรมที่ตัวเองรักอย่างเท่าเทียมกัน เราไม่อยากให้เรื่องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เราอยากให้เป็นเรื่องที่ทุกคนมีเหมือนกัน
“ถ้าเกิดคนเมืองมีสุขภาพแข็งแรง ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ส่วนเหตุผลที่มีผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการมากกว่าคนกลุ่มอื่นก็เพราะตอนนี้บ้านเราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เราเลยต้องมีโครงการรองรับสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันความเหงา และการอยู่บ้านคนเดียวโดยไม่มีการโต้ตอบกับใคร ซึ่งเรามองเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาตรงนี้
“คุณไม่ต้องไปเสียเงินเยอะกับที่ไหนเลย เพราะที่นี่เราดูแลคุณไม่แพ้หน่วยงานเอกชนแน่นอน เรามีวิทยากร อาสาสมัคร และข้าราชการประจำที่เชี่ยวชาญในหลายทักษะเป็นพี่เลี้ยงทุกคน ทุกเพศทุกวัยมาได้หมด การได้ออกกำลังกายท่ามกลางความร่มรื่นมันทำให้เราคลายความเครียดจากการใช้ชีวิตได้ และถ้าเราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็มั่นใจในระดับหนึ่งได้เลยว่าตอนแก่เราจะไม่ติดเตียงแน่นอน”
เมืองต้องมีพื้นที่ที่เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองให้ผู้สูงอายุ
-‘คุณยู้ฮู’ – ดรุณี เตชะทักขิญพันธุ์ อายุ 72 ปี-
‘คุณยู้ฮู’ – ดรุณี เตชะทักขิญพันธุ์ อายุ 72 ปี คือขาประจำของที่นี่ ในอดีตเธอคือคนที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับ ‘ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน’ (SLE) ตั้งแต่อายุ 30 ปีปลาย ๆ ทำให้เธอต้องกินยาวันละอย่างน้อย 13 เม็ด แต่วันหนึ่งคุณยู้ฮูก็ตัดสินใจเลิกกินยา และปฏิเสธการรักษาแบบสารเคมีทั้งหมด เพื่อหันมาใช้วิธีออกกำลังกายอย่างจริงจังที่สวนลุมพินีแทน ซึ่งทำให้เธอรู้ว่าเมืองที่มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเธอนั้นคือยารักษาที่ดีที่สุด
“ต้องบอกว่าวัยอย่างเรามันต้องมีความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราสู้กับความเจ็บป่วยแบบลำพังที่บ้านคงยาก เมืองมันต้องมีที่ให้คนแก่ออกมาใช้ชีวิต ต้องมีพื้นที่อีกแห่งที่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองให้พวกเราได้ออกมาเจอเพื่อน ออกมาต่อสู้กับความซึมเศร้า ซึ่งก็โชคดีที่สวนลุมพินีมีพื้นที่ให้เรามาทำกิจกรรมพอดี เราเลยเริ่มมาตั้งแต่อายุ 40 ปีต้น ๆ และก็ใช้การออกกำลังเอาชนะโรคที่เป็นจนหยุดยาได้ถาวร แต่ถ้าเมืองมันไม่มีสวนสาธารณะ เราอาจต้องนั่งดูทีวีอยู่บ้านจนเสียสุขภาพ ไม่อายุยืนมาถึงตอนนี้ก็ได้
“เราชอบให้เมืองมีพื้นที่แบบนี้ บรรยากาศร่มรื่น ได้ยินเสียงน้ำไหล ได้ยินเสียงนกร้อง และมาได้สะดวก ซึ่งมันดีต่อจิตใจผู้สูงอายุแบบเรามาก ๆ ที่นี่เราชอบมาเล่นไทเก๊กกับโยคะ เพราะเรามีความสุขที่ได้อยู่ท่ามกลางสวนสีเขียว
“ตอนนี้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ไม่ต้องกลับไปกินยาเป็นสิบ ๆ เม็ดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว การมีอีกสถานที่หนึ่งให้ใช้ชีวิตได้เกือบทั้งวันนอกเหนือจากบ้าน มันสำคัญมาก นอกจากจะได้มาออกกำลังแล้ว มันยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้เป็นตัวของตัวเองยิ่งกว่าอยู่บ้านเสียอีก”
ต้องเพิ่มเส้นทางที่ผู้สูงอายุสามารถเดินทางไปเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน
-‘คุณจิ๋ม’ – ปราณี ปิ่มบุญ อายุ 75 ปี-
‘คุณจิ๋ม’ – ปราณี ปิ่มบุญ อายุ 75 ปี คือคนที่ถือคติว่าชีวิตต้องได้ทำเรื่องสนุกทุกวัน ไม่ว่าตอนนั้นเราจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม เธอจึงเลือกศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินีเป็นพื้นที่ความสุขแห่งใหม่หลังเกษียณ
“ด้วยความที่เราเป็นคนที่อยากสนุกกับชีวิตในทุก ๆ วัน เลยต้องหากิจกรรมใหม่ ๆ ให้ชีวิตเสมอ คิดไว้แล้วว่าหลังจากเกษียณ เราอยากหาที่ออกกำลัง เต้นแอโรบิก ร้องเพลง ซึ่งศูนย์สร้างสุขทุกวัยลุมพินีก็มีที่ว่าทั้งหมด เราเลยไม่ต้องไปหลายที่ เพราะทุกอย่างจบในที่นี่ที่เดียวแล้ว แถมยังได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ที่ชอบทำอะไรเหมือนกันด้วย
“เราต้องการให้เมืองมีพื้นที่ที่ผู้สูงอายุอยู่กันเองได้ ถ้าเมืองมันมีแต่ห้างให้เดิน เราคงอยู่บ้านดีกว่า เพราะไม่ชอบเดินห้าง แต่สวนสาธารณะมันอากาศปลอดโปร่ง เป็นมิตร มีสีเขียวให้มอง มีทางเท้าดี ๆ ให้เดิน ทำให้ผู้สูงอายุมาอยู่ที่นี่แทนบ้านได้
“จริง ๆ แล้วคนสูงวัยอย่างเราควรออกนอกบ้านมากกว่าอยู่บ้าน ยิ่งถ้าสถานที่ไหนเรามาด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานเราก็ควรมา อย่างที่นี่เราก็แค่เดินออกมาจากซอยบ้าน แล้วก็ขึ้นรถเมล์มา เราเลยอยากให้หลาย ๆ ที่ในเมืองมาง่ายแบบนี้ เพราะถ้าทุกเส้นทางเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เราก็สามารถไปถึงจุดหมายได้โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน ไม่ต้องเป็นภาระใคร และมันจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอย่างเรากล้าออกจากบ้านมากขึ้น”
‘พื้นที่สาธารณะ’ และ ‘พื้นที่สีเขียว’ ต้องไม่หายไปจากชีวิตคนเมือง
สุดท้ายจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ที่ไหน ธรรมชาติก็เยียวยาความเป็นอยู่และความอ่อนล้าของมนุษย์ได้ ในเว็บไซต์ของ ‘TheCityFix.com’ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองได้ระบุไว้ว่า “การสร้างพื้นที่สาธารณะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนในชุมชนนั้นเป็นอย่างแรกก่อนเสมอ และถ้าโครงการนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับคนในชุมชน พวกเขาก็จะมีตัวตน ไม่ถูกทอดทิ้งจากสังคมนั้นแน่นอน”
เพราะฉะนั้นพื้นที่สาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น และต้องไม่ใช่มีไว้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่คนทุกกลุ่มต้องสามารถมาใช้บริการได้ ในขณะที่พื้นที่สีเขียวก็ควรมีทั่วถึง ไม่ใช่กระจุกรวมอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพราะการมีสีเขียวในพื้นที่กลางแจ้งหรือกึ่งกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นในองค์กร ในสถาบันการศึกษา บนดาดฟ้าในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่ชุมชน คือสิ่งจำเป็นต่อวิถีชีวิตมนุษย์มาก
อย่าให้การพัฒนาเมืองมาทำลายพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวของคนเมืองจนสายเกินไป แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะได้อย่างยั่งยืนและยาวนานได้