“รสชาติกาแฟและรสชาติชีวิต” ของ ลุงยีวัย 80 ปี เจ้าของสวนกาแฟอาราบิก้าโกยี จังหวัดกาญจนบุรี

“ที่นี่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่นี่ต้องเดินทางฝ่าป่า ขึ้นเขา นานกว่า 3 ชั่วโมง บนเส้นทางที่อาจทำให้ช่วงล่างรถพังได้”

“แต่เมื่อมาถึง ที่นี่ลุงมีอากาศบริสุทธิ์ในอุณหภูมิ 15 องศา ตลอดทั้งปี แบบไม่ต้องไปไกลถึงภาคเหนือ ลุงมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพราะตั้งอยู่ใกล้ป่าต้นน้ำ ลุงมีพืชผักหมุนเวียนไว้กินใช้ มีไก่ไข่มากกว่า 100 ตัว และที่พิเศษสุดๆ คือลุงมีกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแบบออร์แกนิก 100% ที่ลุงปลูกเองได้มาตรฐานไม่แพ้สายพันธุ์ทางภาคเหนือเลย ถึงแม้จะปลูกอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ก็ตาม”

มนุษย์ต่างวัยพาทุกคนเดินทางไป จ.กาญจนบุรี อ.ทองผาภูมิ ที่บ้านคลิตี้ เพื่อไป พบกับ ลุงยี- ปราโมทย์ ติลกมนกุล วัย 80 ปี ณ ‘บ้านสวนลุงยี แหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าภาคกลาง’ เพื่อถอดสูตรชีวิตในช่วงบั้นปลายของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟวัยเกษียณคนนี้ ที่อดีตเคยประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต จากชีวิตที่เคยทำธุรกิจค้าขาย ที่ต่างประเทศ มีการงานที่ประสบความสำเร็จ แต่ท้ายที่สุดลุงยีกลับเลือกกลับมาใช้ชีวิตปลีกวิเวกที่กลางป่านี้คนเดียว

ลุงยีให้เหตุผลว่า

“เพราะถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีวันที่สงบเรียบง่าย ห่างไกลจากความอยากได้อยากมีทั้งหลาย แล้วกลับมาตั้งใจดูแลร่างกายให้แข็งแรงที่สุด” เมื่อคิดได้ดังนั้น ในวัยที่ เกือบ 60 ปี ลุงยีจึงตั้งใจเก็บเงินก้อนสุดท้ายกลับมาประเทศไทย และเริ่มต้นอาชีพใหม่บนพื้นที่ 30 ไร่ ที่ จ.กาญจนบุรี นี้ด้วยตัวคนเดียว

จุดเริ่มต้นของชีวิตที่เปลี่ยนไป เพราะ ‘หัวใจ’ ไม่แข็งแรงเหมือนอย่างเคย

“ลุงหายใจไม่ออก แค่เดินไม่กี่ก้าวก็เจ็บแปลบขึ้นมาที่หน้าอก จนล้มลงไปกองกับพื้นตรงนั้นเลย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตลุงเปลี่ยนไปตลอดกาล

“ชีวิตก่อนหน้านี้ลุงโชคดีมากที่มีเพื่อนชวนไปทำงานไกลถึงต่างประเทศ (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ตั้งแต่หนุ่มๆ ลุงทำงานค้าขายอยู่ที่นั่น จนตัวเองได้มีโอกาสเติบโตเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย เป็นเจ้าของตลาดขนาดกลาง และค้าขายทุกอย่างที่สามารถขายได้ที่ต่างประเทศ ชีวิตลุงผูกติดอยู่กับการคิดถึง การลงทุน กำไร และผลประโยชน์ค่าตอบแทน ลุงทำอยู่ที่นั่นไปเรื่อยๆ จนเวลาผ่านไป 30 ปีอย่างรวดเร็ว

“เป็น 30 ปี ที่ลุงโหมร่างกายตัวเองมากๆ ทำทุกอย่างที่คิดว่าจะทำให้ชีวิตครอบครัวเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่สะดุด แต่พอทำอย่างนั้นไปสักพักก็ถึงเวลาที่ชีวิตมันสอนเรากลับบ้าง ช่วงนั้นลุงกลับมาประเทศไทยเพราะตั้งใจและวางแผนไว้ว่าจะกลับมาเกษียณที่นี่ อยู่ๆ วันหนึ่งลุงกำลังเดินอยู่ในบ้าน ที่หน้าอกมันก็เจ็บแปลบขึ้นมา เข่าทรุดลงไปกับพื้น พอเริ่มตั้งสติได้ลุงบอกเพื่อนสนิทว่า ช่วยพาไปโรงพยาบาลที เพราะไม่ไหวจริงๆ รู้สึกว่าช่วงนี้มันเหนื่อยและเจ็บที่หน้าอกบ่อยมาก พอไปถึงโรงพยาบาลหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจตายไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ทางโรงพยาบาลใช้วิธีการรักษาด้วยการทำบอลลูนที่หัวใจ ผสมกับกินยารักษาตั้งแต่นั้นเรื่อยมา และงดเว้นการเดินทางไกลหรือกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อหัวใจทุกอย่าง

“จากเหตุการณ์นั้น ลุงจึงตัดสินใจทันทีว่าพอแล้วกับชีวิตที่วิ่งไล่บี้หาความสำเร็จไม่จบไม่สิ้น ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาดูแลร่างกายนี้ที่จะอยู่กับเราเป็นอย่างสุดท้ายให้แข็งแรงที่สุด จากวันนั้นลุงมุ่งมั่นออกกำลังกายตื่นตี 4 ครึ่งทุกวัน ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว ใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อตัวเองในเวอร์ชันที่ต้องการแค่กินอิ่ม นอนอุ่น สุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจเท่านั้น จากวันนั้นผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี กล้ามเนื้อหัวใจลุงกลับมาแล้วเกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นลุงตอนอายุ 80 ปี ที่แข็งแรงกว่าลุงตอนอายุ 70 ปี เสียอีก”

 อาชีพใหม่ของลุงยี บนพื้นที่ 30 ไร่

“เมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะกลับมาอยู่ประเทศไทย สิ่งที่ต้องคิดให้จบเพื่อวางแผนคือ ถ้ามาอยู่ที่นี่เราอยากอยู่แบบไหน เราจะทำอะไร แล้วเรามีกำลังแค่ไหนในการลงมือทำ สุดท้ายสิ่งที่ทำจะเดือดร้อนกับเงินในกระเป๋าเรามากน้อยแค่ไหน

“สรุปแล้วลุงต้องการที่ดินสักหนึ่งผืนสำหรับทำการเกษตรเพื่อเป็นกิจกรรมสำหรับออกกำลังกาย และคลายความเหงา เพราะครอบครัวลุงไม่กลับมาด้วย นอกนั้นลุงก็ต้องการแค่บ้านพักง่ายๆ ที่ใช้งบไม่เยอะ มีห้องน้ำ มีห้องครัว เพราะลุงชอบทำอาหารกินเอง ดังนั้นลุงจึงเอาเงินเก็บไปลงทุนซื้อที่ดินเป็นส่วนใหญ่ จนมาเจอที่ดินที่ จ.กาญจนบุรี อ.ทองผาภูมิ บ้านคลิตี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ คนส่วนใหญ่ที่นี่เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง บรรยากาศที่นี่แม้อยู่ในหน้าร้อนก็ยังเย็นถึง 15-25 องศา และดินก็อุดมสมบูรณ์มาก เพราะอยู่ใกล้ป่าต้นน้ำ ดังนั้นการเป็นเกษตรกรก็ดูจะไม่ลำบากมากนัก ลุงจึงเริ่มต้นชีวิตครั้งใหม่ที่นี่ทันที”

 ‘กาแฟโกยี’ แหล่งปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าออร์แกนิก 100%

“ที่นี่อยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ช่วงที่มาอยู่ใหม่ๆ กลางเดือนมีนาคม อุณหภูมิอยู่ที่ 8 องศา ลุงเลยตัดสินใจปลูกพืชเมืองหนาว พวกพีช พลัม ทดลองตอนนั้นเลย สุดท้ายก็ไปไม่รอด หมดเงินลงทุนไปพอสมควรกับพันธุ์ไม้ เพราะซื้อมาเยอะแบบไม่เผื่อพลาด แต่ก็ใจสู้ ค้นหาทดลองปลูกไปเรื่อยๆ จนมาเจอเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า

“ลุงได้มีโอกาสไปฟังบรรยายว่าแม้จะนิยมปลูกทางภาคเหนือ แต่ในภาคกลางก็สามารถปลูกได้ เป็นกาแฟพันธุ์เดียวกันแต่ให้คุณลักษณะของกาแฟในแต่ละพื้นที่ต่างกันออกไป เมื่อเรามีดินที่ดี น้ำดี ระดับความสูงของน้ำทะเลที่นี่ก็อยู่ที่ 700 เมตร อุณหภูมิก็หนาวมากพอจะปลูกได้ ลุงจึงเริ่มทดลองอีกครั้ง และคราวนี้มันสำเร็จ เขาไม่ตายเขาสามารถให้ผลผลิตได้ 20 ต้นแรกที่ได้เมล็ดออกมา ลุงทดลองเอาไปคั่วออกมาเป็นเมล็ดกาแฟ แล้วส่งไปให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยทดสอบคุณภาพทันที ซึ่งผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ แล้วหลังจากนั้นลุงก็ยึดอาชีพนี้เรื่อยมา

“แม้ลุงจะเป็นเกษตรกรสูงวัย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มาก แต่สิ่งที่ลุงเรียนรู้จากการทำงานค้าขายมาทั้งชีวิต คือเราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า เมล็ดกาแฟที่มาจากสวนลุงยีควรจะได้คุณภาพเทียบเท่ากับที่ไหนๆ ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามลำดับของมันไม่ลัด ไม่ผิดเพี้ยน

“เมล็ดแดงสุกได้ที่สมบูรณ์เท่านั้นที่จะเลือกนำมาแช่น้ำ แล้วคัดเมล็ดลอยน้ำที่ไม่สมบูรณ์ออกไป จากนั้นเอามาสีเปลือกออก ให้กาแฟอยู่ในกะลา และตากจนแห้งจากนั้นนำมาคัดเมล็ด เมล็ดที่สมบูรณ์ 100% เท่านั้น คั่วด้วยเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน และถึงจะมีสิทธิ์บรรจุในถุงกาแฟได้

“เมื่อเริ่มมีผลผลิต ลุงเริ่มส่งขายในร้านกาแฟเล็กๆ ในตัวเมืองกาญ ฝากให้คนรู้จักไปชิมบ้าง แจกบ้าง ก็เริ่มมีคนสนใจสั่งผลิตเมล็ดกาแฟจากสวน จากนั้นลุงเริ่มกระจายรายได้ไปให้ชุมชนรอบข้าง ลุงชวนพี่น้องชาวกระเหรี่ยงหลายครอบครัวมาทำงานนี้ด้วยกัน จากแม่ที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน พ่อที่ต้องออกไปรับจ้างไกลๆ ลุงก็ให้เขามาช่วยงานในสวน ดูแลสวนกาแฟตั้งแต่ปลูกไปจนถึงกระบวนการคั่วเสร็จสมบูรณ์

“เรื่องราวของกาแฟ มักจะมาพร้อมกับการเดินทางเสมอ เมื่อเริ่มมีเพื่อนขึ้นมาเที่ยวหามาดื่มกาแฟ เขาก็ชอบและบอกต่อคอกาแฟคนอื่นๆ จนที่นี่กลายเป็นฟาร์มสเตย์เล็กๆ ที่มีบ้านพักอยู่ 4 หลัง สำหรับคนที่อยากมาสัมผัสบรรยากาศสวนลุงยี กลายเป็นว่ามีอาชีพที่เราไม่ได้ตั้งใจเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง ก็อาศัยแรงของชาวบ้านที่นี่แหละช่วยกันต้อนรับดูแล”

 บ้านหลังสุดท้ายของลุงยี

“พอลุงได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่นานเข้าวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยน วิธีคิดก็เริ่มปรับ การกินการอยู่มันวนกลับคืนสู่ความ ธรรมชาติ ธรรมดาไปโดยปริยาย ลุงเริ่มศึกษาการปลูกพืชผักกินเองจากชาวบ้านใกล้เคียง ลุงได้รับความช่วยเหลือในการทดลองเอาไก่มาเลี้ยง ลุงทดลองทุกอย่างอย่างตั้งใจกับมันเต็ม 100 ในหนึ่งวันลุงแทบไม่ได้หยุดคิด หยุดทำเลย แต่มันเป็นการลงมือทำที่ไร้ความเครียด ไร้ความกดดันทุกอย่าง ทำเท่าที่ไหวทำเท่าที่เรากินอิ่มแค่นั้นพอ

“ที่นี่ลุงมีพืชผักกินได้รอบบ้านแบบกินทั้งปีก็ไม่หมด ทั้งเอามาทำอาหาร เอาไปแจกคนงาน เอาไปเป็นอาหารไก่ สุดท้ายยังเหลือเอาไปขายในหมู่บ้านได้เล็กน้อย แถมยังมีไก่มากกว่า 100 ตัว แต่ก่อนปล่อยอิสระแต่ตอนนี้เยอะถึงขั้นต้องเลี้ยงในระบบปิดแล้ว แต่ก็จะมีพื้นที่อิสระให้เขาได้ตากแดด ตากลม อย่างมีความสุข ถึงเวลาก็ผลิตไข่ให้เรากินอิ่มและไปขายเป็นรายได้เสริมสนุกๆ

“แถมในเดือนๆ หนึ่งยังเหลือเวลาว่างพอมานั่งคิดว่าจะทำอะไรเพิ่มดี พวกน้องๆ คนงานก็จะช่วยกันออกไอเดีย ทั้งทำน้ำตาลจากอ้อยบ้าง ทำเตาดินอบขนมปัง เรียกว่าเป็นช่วงชีวิตที่ทั้งได้ทดลอง ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่อาจจะดูธรรมดามากๆ ในสายตาคนอื่น แต่มันวิเศษมากสำหรับลุงและทุกคนที่นี่ เป็นบ้านหลังสุดท้ายที่ลุงชอบมันมากๆ”

 เมื่อชีวิตให้บทเรียนกับเรา อย่าท้อแท้ แต่ให้เรียนรู้ประโยชน์ที่ได้จากมัน

“ลุงเรียนรู้ชีวิตจากบทเรียนความผิดหวัง ความล้มเหลวมาทั้งชีวิต ความเจ็บป่วยที่ต้องเผชิญก็ทำให้ลุงหันกลับมาใส่ใจร่างกายนี้ ความล้มเหลวจากการปลูกพืชพันธุ์หลายๆ อย่าง ก็ทำให้ลุงมาเจอเมล็ดกาแฟที่สร้างอาชีพให้ลุงและชาวบ้านที่นี่ การที่ชีวิตวิ่งตามความสำเร็จจนร่างกายสู้ไม่ไหวก็ทำให้ลุงเข้าใจและอิ่มเอมกับความสงบเรียบง่ายของชีวิตตอนนี้อย่างน่ายินดี วันนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตลุงก็อยากบอกตัวเอง และทุกๆ คนว่าเรียนรู้จากมันเถอะ อย่าไปท้อหรือเสียใจเลย เพราะนี่คือชีวิตจริงที่เราต้องเรียนรู้กับมันไปจนวันสุดท้ายนั้นแหละ”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ