เรียนรู้ชีวิตผ่านการลืม : ลูกชายแปลกหน้าของพ่อผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

ภาพจำทั้งหมดเกี่ยวกับพ่อได้พังทลายลง เมื่อวันหนึ่งพ่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จดจำทางไปห้องน้ำในบ้านไม่ได้ หิวข้าวทุก 5 นาที แม้ว่าจะเพิ่งกินไปเมื่อครู่ และลืมเลือนชื่อของลูกๆ ทั้งสองคน บางทีพ่ออาจจะลืมไปแล้วว่าเคยมีลูก พ่อกลายเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้วิธีที่จะมีชีวิต หลังจากป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

เอ็ดดี้-พิทยา อ้มวิชา อายุ 30 ปี ดูแลพ่อวัย 61 ปี ที่กลายเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มุมมองที่มีต่อชีวิตและครอบครัวเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ราวกับว่าการสูญเสียความสามารถในการจดจำของผู้เป็นพ่อได้เบี่ยงให้เขาได้มองเห็นชีวิตในอีกมุมหนึ่ง เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเรียนรู้วิธีที่จะมีชีวิตหลังจากดูแลพ่อผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

พ่อในความทรงจำ

“เราเคยมองพ่อว่าพ่อเป็นฮีโร่มาตลอด แต่มาวันหนึ่ง เขาสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง เพราะพ่อป่วยเป็นอัลไซเมอร์ หลังจากรับรู้ว่าพ่อป่วย สิ่งแรกที่พวกเราทำคือเตรียมใจ เตรียมความรู้สึกว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง” เอ็ดดี้เล่าถึงการสูญเสียความสามารถในการจดจำของพ่อ แต่พ่อในความทรงจำของเขายังคงแจ่มชัด

“พ่ออยู่กับธรรมชาติมาทั้งชีวิตครับ พ่อเป็นเจ้าของสวนยาง กรีดยางตั้งแต่เช้ามืด พ่อชอบปลีกวิเวก ชอบความสงบ พ่อเป็นคนแข็งแรง เลี้ยงสัตว์หลายชนิด ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง พ่อไม่เคยมีปัญหาสุขภาพ เป็นคนแข็งแรง จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2564 พ่อขี่มอเตอร์ไซค์ไปตลาดแล้วถูกรถชน ซี่โครงและกระดูกไหปลาร้าหัก เลือดคั่ง และแตกกระจายในสมอง คุณหมอได้เจาะเพื่อทำการรักษา ตอนนั้นผมคุยกับพี่สาวว่าพ่อไม่น่ารอด” เอ็ดดี้เล่า

หลังจากแพทย์ทำการเจาะเลือดที่คั่งออกจากสมอง ก็ดูเหมือนว่าอะไรๆ จะเริ่มดีขึ้นทีละน้อย เมื่อพ่อฟื้น และอาการดีขึ้น จนมีสติ แต่เมื่อพูดคุยและสื่อสารกัน เอ็ดดี้จึงรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับพ่อ เพราะพ่อจำเขาไม่ได้

“แต่พ่อยังจำชื่อตัวเองได้ อ่านหนังสือออก แต่จำเลขที่บ้านไม่ได้ จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นคนที่ไหน พอเราเริ่มสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อ เราก็เริ่มย้อนกลับไปถามหมออีกที หมอก็วินิจฉัยอีกครั้งว่าพ่อมีภาวะอัลไซเมอร์ ทั้งจากอุบัติเหตุ และอายุที่เพิ่มขึ้น”

การจดจำคือความหมายของการดำรงอยู่ การที่ใครคนหนึ่งสูญเสียความสามารถในการจดจำ นั่นหมายความว่าเขาได้ทอดทิ้งประสบการณ์ และความทรงจำที่เคยมีร่วมกันกับคนในครอบครัว มันคือความเจ็บปวดของผู้ยังจดจำ และเป็นความว่างเปล่าของผู้ลืมเลือน

พ่อของเอ็ดดี้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ พ่อของเขาพูดวนซ้ำไปมา เพิ่งกินอาหารไป อีก 5 นาทีต่อมาก็บอกว่าหิว ห้องน้ำในบ้านได้กลายเป็นสถานที่แปลกถิ่น บางครั้งเดินไปหน้าบ้าน บางคราวเดินไปหลังบ้าน ถ้าไม่เจอห้องน้ำก็ปัสสาวะตรงนั้นเลย

มีครั้งหนึ่ง พ่อของเขาออกจากบ้านไปโดยลำพังในช่วงเช้ามืด เอ็ดดี้ออกตามหาจนไปเจอพ่อที่โรงพัก พ่อหัวแตกเหมือนถูกตี เขาประเมินสถานการณ์ และคาดเดาว่า พ่อถูกทำร้าย เพราะพ่ออาจจะเข้าไปนอนบ้านของคนอื่น ซึ่งพ่อคิดว่าเป็นบ้านของตัวเอง

“หลังจากที่เราเจอพ่อที่โรงพัก ก็ถามว่าพ่อไปไหนมา แผลที่หัวไปโดนอะไรมา พ่อก็บอกว่าหกล้มบ้าง พอถามครั้งที่สองก็บอกว่าเดินชนประตู ถามสี่ห้ารอบก็ตอบไม่เหมือนกันสักรอบ ตอนนั้นเรายังรับมืออะไรไม่ได้ เราเจ็บปวดที่เห็นพ่อโดนทำร้าย”

ระหว่างที่เล่าถึงบาดแผลบนศีรษะของพ่อ บาดแผลในใจของเอ็ดดี้ก็ปริแตก น้ำตาไหลออกมาบ่งบอกถึงความเจ็บปวด

กระดาษโพสต์อิต กล้องวงจรปิด ปิคนิคนอกบ้าน

หลังเลิกงาน เอ็ดดี้จะมานั่งประจำการที่หลังแก้วสุรา หรือไม่ก็ชูแขนขึ้นไปพักไว้บนแฮนด์รถมอเตอร์ไซค์สไตล์ช็อปเปอร์ ออกทริปกับชาวแก๊งค์ไบค์เกอร์ เขารักวิถีของชาวสองล้อ คงคล้ายกับพ่อของเขาที่ชอบแม่น้ำและภูเขา

หลังพ่อป่วย เขายกเลิกกิจกรรมที่ทำมาทั้งชีวิต แบ่งเวลาในการดูแลพ่อสลับกับพี่สาว เพราะการที่ใครคนใดคนหนึ่งต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เต็มเวลา ย่อมกระทบกับสมาธิในการทำงาน

“เราแบ่งเวลากันดูแลพ่อคนละสัปดาห์ และถ้าให้พี่สาวดูแลฝ่ายเดียว ความเครียดสะสมจะไปตกที่พี่สาว แล้วความสามารถในการทำงาน สมาธิในการทำงาน ไหนจะภาระทางครอบครัวของพี่สาวอีก เราเลยอยากแบ่งเบาภาระตรงนั้น” เอ็ดดี้เล่า

เอ็ดดี้พาพ่อมาอยู่กับเขาที่บ้าน ซึ่งต้องจัดการบ้านใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

“ตอนที่พ่อเข้ามาอยู่ที่บ้าน พ่อจะชอบรื้อของ หยิบน้ำยาซักผ้าไฮเตอร์ หยิบผงซักฟอกมากิน ตอนนั้นผมก็ต้องเก็บของที่จะเป็นอันตราย มีด ไฟแช๊ค ผงซักฟอก เก็บให้พ้นมือพ่อ”

ชีวิตของเอ็ดดี้คือสิ่งถัดไปที่เขาต้องจัดระเบียบ

“ชีวิตของผมก่อนพ่อป่วย ผมก็ชอบสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกงาน และกลับบ้านดึกเป็นปกติ แต่หลังจากที่ผมรับพ่อมาดูแล สิ่งเดียวที่ผมคิดถึงหลังเลิกงานคือ การกลับบ้าน”

แต่เมื่อถึงเวลาที่เอ็ดดี้ต้องไปทำงาน ก็มีโจทย์ใหม่เข้ามาให้แก้ พ่อจะต้องอยู่บ้านตามลำพังในช่วงเวลาที่เขาออกไปทำงาน

“ช่วงแรกไม่มีคนดูแลพ่อตอนที่ผมไปทำงาน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้พ่อได้กินข้าว หรือ เข้าห้องน้ำ ในวันแรกที่ให้พ่ออยู่บ้านลำพัง ผมหาวิธีการที่จะทำให้พ่ออยู่ได้ ตอนนั้นคิดออกอยู่อย่างเดียว คือเขียนโพสต์อิตแปะไว้ ผมบอกพ่อผ่านกระดาษโพสต์อิตว่า ลูกไปทำงานนะ ลูกจะกลับมาหกโมงเย็นนะ กลัวเขาไม่รู้ว่าทำไมฉันต้องอยู่คนเดียว คนอื่นไปไหนหมด ผมเตรียมทุกอย่างไว้ เตรียมจาน อาหารสำหรับมื้อเช้า และมื้อเที่ยงไว้ แปะโพสต์อิตว่านี่คืออาหารเช้านะพ่อ นี่คืออาหารเที่ยงนะ”

ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เลยสำหรับการอยู่บ้านเพียงลำพังของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่ “โพสต์อิต ที่แปะไว้ในวันนั้น ช่วยให้พ่อกินข้าวเที่ยงหมด แม้ว่าข้าวเช้าจะเหลือ อารมณ์แบบฉันจะเปิดดูก่อนว่าอะไรน่ากิน สำหรับการเข้าห้องน้ำ เราไม่ไว้ใจอยู่แล้ว เราต้องหาภาชนะรองฉี่มาไว้ใกล้ตัวพ่อ ไม่อย่างนั้น ผลคือพ่อจะฉี่ใส่โถบ้าง ฉี่ใส่ชักโครกบ้าง แล้วลืมกดน้ำ”

กระดาษโพสต์อิตช่วยสร้างการจดจำให้พ่อได้ แต่เขาต้องการสื่อสารกับพ่อแบบเรียลไทม์ เอ็ดดี้จึงติดกล้องวงจรปิดที่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เขาสามารถสื่อสารกับพ่อได้ในเวลาพักกลางวัน

“ผมติดกล้องวงจรปิดเพราะอยากสื่อสาร อยากพูดคุยกับพ่อ ไม่อยากให้เขาเหงา ผมอยากให้เขาสื่อสารกับเรา ในวันแรกๆ ที่ใช้กล้องคุยกัน เราเรียกพ่อ พ่อก็งงว่าเราเป็นใคร เราต้องบอกให้พ่อคุยตอบโต้กับกล้อง ซึ่งก็ได้ผลดี”

เอ็ดดี้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั่งดูข่าวโทรทัศน์ แล้วก็ร่วมกันวิเคราะห์ข่าว เพื่อเรียกความคุ้นชินเดิมๆ ของพ่อให้คืนกลับมา ความคุ้นชินที่พ่อเคยจดจำได้ว่า เขาคือลูกชายของพ่อ

“เราพยายามเปิดหนังเปิดข่าว แล้วนั่งอยู่ข้างๆ พ่อ ชวนพ่อวิเคราะห์ข่าว โดยปกติผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้ มานั่งวิเคราะห์ข่าว แต่ผมไม่อยากให้เขารู้สึกเหงา หรือโดดเดี่ยว เลยพยายามหากิจกรรมมาทำร่วมกัน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีตาร์ให้พ่อฟัง”

เอ็ดดี้ดูแลพ่อโดยการใช้หลัก “ใจเขาใจเรา” เพราะหากให้คนที่ชอบกิจกรรม กลางแจ้ง อย่างเขาอยู่แต่ในบ้าน ชีวิตคงเหี่ยวเฉา เขาจึงพาพ่อซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ที่เขารักออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

“ผมพาพ่อไปสวนสาธารณะ ไปให้อาหารปลา ไปปิคนิ ก ที่สวนสาธารณะ ให้เขาอยู่ใกล้ธรรมชาติแบบที่พ่อเคยอยู่มาทั้งชีวิต พาพ่อไปน้ำตก พอพ่อเจอน้ำตก พ่อวิ่งเข้าไปหาน้ำตกเลย ไปหาปลา เพราะเขาถนัดหาปลาเลี้ยงชีพมาทั้งชีวิต จากที่ผมสังเกต พ่อตื่นเต้นเวลาที่ได้อยู่กับธรรมชาติ เขาไม่ต่างจากเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในร่างของผู้สูงวัย ตื่นตาตื่นใจกับน้ำตกและต้นไม้ แต่พฤติกรรมหรือการกระทำของพ่อก็จะเล่นน้ำเหมือนเด็ก แต่บางทีเดินไปไกล แล้วเหนื่อยมาก ก็จะบ่น ไม่ไปแล้ว

“เราอยากพาพ่อไปทำกิจกรรม ถ้าเขาได้ออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง มันน่าจะดีกว่า พ่อก็คงเหมือนเราแหละ ถ้าเราอยู่แต่บ้าน อยู่แต่กับงาน ผมก็คงเหี่ยวเฉา ถ้าได้ไปเปิดหูเปิดตาไปเที่ยว ไปสัมผัสธรรมชาติบ้าง ผมคิดว่าในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เราได้ออกไปนอกบ้าน พ่อน่าจะได้เก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ สิ่งที่เขาชอบประทับไว้ในใจ ผมมองว่ามันน่าจะเป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดกับเขาไม่มากก็น้อย”

ตอนเป็นเด็ก ลูกๆ จะรอให้ถึงวันเสาร์อาทิตย์ พ่อจะได้พาพวกเขาออกไปเที่ยวนอกบ้าน คงเช่นเดียวกับพ่อและเอ็ดดี้ในวันนี้ เขาเฝ้ามองการเติบโตของพ่อจากศูนย์ แล้วขยับขึ้นมาที่เลขหนึ่ง สอง สาม แน่นอน โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่การเข้าใจอารมณ์ และความต้องการของผู้ป่วยคือสิ่งสำคัญ

“การที่เราสังเกตเขาเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร อารมณ์แบบนี้เขาต้องการอะไร เขาอยากออกไปข้างนอก หรืออยากพักผ่อน การสังเกตช่วยทำให้เราเดาใจเขาได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เราแทบจะเดาใจเขาไม่ได้เลย”

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ทำให้ชีวิตของผู้ดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล สำหรับเอ็ดดี้ การที่ได้ดูแลพ่อ ทำให้เขารักชีวิตมากขึ้น ชีวิตที่ไม่ได้มีเพียงเขาลำพัง แต่ชีวิตคือสรรพสิ่งที่อยู่รายรอบตัวเขา

“มันทำให้ผมรู้สึกรักชีวิตมากขึ้น ทำให้เราใส่ใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้เราแบ่งความคิดแบ่งความรู้สึกกับคนอื่นมากขึ้น ทลายกำแพง และอีโก้ เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นการให้ จากเมื่อก่อนคิดว่าฉันต้องได้อะไร แต่การดูแลพ่อทำให้เรารู้จักการให้ไปโดยปริยาย ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ได้ขโมยอะไรไปจากเราเลย แต่ถ้าเราปรับความคิดไม่ได้ เราจะสูญเสียทุกอย่าง เสียเวลา เสียสุขภาพ หลังจากที่ได้ดูแลพ่อ มุมมองชีวิตของผมก็เปลี่ยนไป ผมพบว่าเราสามารถทำประโยชน์ในแต่ละวันได้มากขึ้น ใช้ชีวิตประมาทให้น้อยลงได้ รวมทั้งเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในหน้าที่การงาน หรือสิ่งต่างๆ ที่เราทำ เรามุ่งมั่นอยากทำให้ดีขึ้น”

ในบางวัน พ่อเรียกชื่อของเขาว่า “เอ็ดดี้” แล้วเขาก็หันทันที พ่อจำเขาได้ แต่วันเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต พ่อจดจำเขาไม่ได้ เราไม่รู้ว่าในโลกของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พ่อมีมุมมองต่อลูกชายแปลกหน้าคนนี้อย่างไร แต่พ่อน่าจะมองเห็นผู้ชายวัย 30 ที่มีความปรารถนาดีให้เขา

สำหรับเอ็ดดี้ เขาเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับพ่อ และไม่ว่าพ่อจะมองว่าเขาเป็นลูกชาย หรือคนแปลกหน้า ไม่ว่าพ่อจะจดจำเขาได้หรือไม่ พ่อของเขาก็ยังเป็นพ่อ ทั้งในความทรงจำดั้งเดิมที่ผ่านมาแล้ว และในอนาคตที่ทั้งสองกำลังสะสมความทรงจำใหม่ร่วมกัน

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ