“ที่ดินผืนนี้มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท แต่ผมเลือกที่จะเปิดเป็นโรงเรียนเพราะเชื่อว่าเด็กหนึ่งคนก็มีมูลค่ามหาศาลแล้ว” อาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอมาตยกุล วัย 72 ปี

อาจารย์เกียรติวรรณ อมาตยกุล ในวัย 72 ปี เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและคุณครูโรงเรียนอมาตยกุล ที่ก่อตั้งมานานถึง 32 ปี บนพื้นที่ 10 ไร่ ย่านบางเขนซึ่งที่ดินผืนนี้ หากนำไปสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์จะมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านบาท แต่อาจารย์เลือกที่จะเปิดเป็นโรงเรียน ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ด้วยแนวคิด “นีโอฮิวแมนนิส” ที่เน้นการพัฒนาคนด้วยวิธีการด้านบวก เพื่อที่จะ พัฒนาเด็กให้สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และมุ่งหวังที่จะให้โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียมที่ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกันซึ่งกันและกัน

ตลอดการเป็นครูมากว่า 40 ปี อาจารย์เกียรติวรรณยังไม่เคยคิดที่จะเกษียณจากการเป็นครู หรือขายที่ดินผืนนี้เลย เพราะความรักที่มีให้กับเด็กนักเรียนที่เป็นเหมือนลูกหลาน และเห็นว่าการพัฒนาเด็กให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ นั้น เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการได้เงินหลาย 100 ล้านเสียอีก

ที่ดินผืนนี้สร้างความสุขให้เด็กนักเรียน อย่างตีมูลค่าไม่ได้

โรงเรียนอมาตยกุลตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 51 ย่านบางเขน มีพื้นที่ 10 ไร่ เดิมทีเป็นที่ดินของคุณพ่ออาจารย์เกียรติวรรณ แต่ภายหลังพ่อของอาจารย์ได้ยกที่ดินให้เนื่องจากอาจารย์มีความคิดที่จะเปิดโรงเรียนซึ่งปัจจุบันเข้าปีสู่ปีที่ 32 แล้วที่โรงเรียนอมาตยกุลก่อตั้งขึ้นมา

 จุดมุ่งหมายในการเปิดโรงเรียนของอาจารย์เกียรติวรรณคือ อยากให้เด็กนักเรียนโรงเรียนนี้มีความสุข มีสุขภาพดี มีความรู้ความสามารถ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น และอยากให้นักเรียนอยากมาโรงเรียนด้วยตนเอง ไม่ใช่การถูกบังคับ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ประเมินค่าไม่ได้สำหรับอาจารย์

 “การเปิดโรงเรียนทำอะไรได้เยอะกว่ามาก แค่เด็กหนึ่งคนก็มูลค่ามหาศาลแล้ว”

 “แค่เด็ก ๆ กินผักเป็น ก็ถือว่าเพิ่มคุณค่ามากแล้ว เขาไม่ป่วย หรือป่วยน้อยลง ก็เป็นเงินไม่รู้เท่าไรแล้ว”

 “ผมอยากให้นักเรียนอยากมาโรงเรียน ไม่ใช่รอวันหยุดสุดสัปดาห์” 

โดยวิธีที่สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากมาโรงเรียนในแบบของอาจารย์เกียรติวรรณ คือการสร้างความคิดเชิงบวกและความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็กนักเรียน ผ่านการใช้ “คำพูด” ที่ให้กำลังใจ และการให้ “อิสระ” ผ่านการแต่งกาย

 “ความสำเร็จต้องเกิดจากสิ่งที่คุณได้รับจากสมอง คำพูดมีผลมาก จะให้คุณเป็นคนอย่างไรก็ได้ เก่งก็ได้ โง่ก็ได้ ฉลาดก็ได้ เป็นซึมเศร้าก็ได้ เพราะคำพูดมันฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก”

 “ครูบางคนรักเด็ก ๆ นะ แต่ใช้วิธีการไม่ค่อยถูก แทนที่จะใช้วิธีทางบวก กลับใช้วิธีการลบเยอะ”

 “ที่นี่เวลาเด็ก ๆ เดินผ่าน ผมก็จะพูดกับเขาว่า เก่ง! เยี่ยม! แจ๋ว! มีบางคนเห็นตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ผมก็พูดกับเขาว่า “มีแววอยู่ทีมชาตินะเนี่ย” ทุกวันนี้เขาก็ได้อยู่ทีมชาติไปแล้ว”

 “โรงเรียนให้อิสระในการแต่งตัวกับนักเรียน ทำให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจในตนเองมากเพียงพอ เพราะได้ใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ที่เข้ากับตัวเอง จนไม่รู้สึกขาด ในทุก ๆ วันอังคารจะเห็นว่า เด็ก ๆ จะแต่งตัวแบบพอดี ๆ ถูกกาลเทศะ เมื่อเขามีความมั่นใจในตนเองแล้ว ทุกอย่างก็ไม่ต้องพึ่งใคร อยากดีด้วยตัวเอง ตื่นแต่เช้าเพื่อมาเรียนเอง”

“ทุกวันนี้ผมใช้เงินน้อยมาก ถ้าขายที่ไปก็ไม่รู้จะใช้เงินไปกับอะไร”

เหตุผลหลักอีกหนึ่งเหตุผลที่อาจารย์เกียรติวรรณไม่คิดจะขายที่ดินที่ผืนนี้ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะอาจารย์ทราบดีว่าตนเองไม่ได้ใช้เงินมากมายอะไรในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมองเห็นคุณค่าของงานที่ทำ มากกว่าทรัพย์สินเงินทอง

“ทุกวันนี้ ผมใช้เงินไปกับ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ซื้อพันธุ์ต้นไม้ ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เด็กนักเรียนกิน อีกอย่างหนึ่งคือ ซื้อหนังสือ แค่นั้น เรื่องอื่นก็ไม่ได้ใช้ อาหารผมก็กินของโรงเรียน เสื้อผ้าก็ง่ายๆ ไม่แพง ด้านสุขภาพผมก็ไม่ป่วย 3-4 อาทิตย์ ผมจะไปวิ่งหนึ่งครั้ง ครั้งละ 7-8 กิโลเมตร ร่างกายก็แข็งแรงดี ตอนนี้อายุ 70 แต่แข็งแรงกว่าตอนอายุ 60 หรือตอนอายุ 40 อีก”

“เมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีค่า สิ่งของต่าง ๆ ก็มีค่าน้อยลง เช่น ถ้า A คิดว่าตัวเองมีค่า 30,000 ส่วน B คิดว่าตัวเองมีค่า 300 เพราะฉะนั้น B ก็จะต้องถือกระเป๋าใบละ 30,000 บาท ในขณะที่ A ถือกระเป๋าใบละ 300 ก็พอ”

“ผมมีแฟนคลับเป็นเด็กนักเรียนในโรงเรียน”

คำกล่าวนี้เป็นจริงอย่างที่สุด เพราะเมื่ออาจารย์เกียรติวรรณเดินไปที่ไหนในโรงเรียน จะมีเสียงทักทายดังขึ้นเสมอ 

“อาจารย์เกียรติวรรณ สวัสดีครับ /สวัสดีค่ะ” 

เด็กบางคนก็วิ่งเข้ามาสวัสดีอย่างใกล้ชิด บ้างก็วิ่งเข้ามากอด บ้างก็ยกมือสวัสดีอยู่ไกล ๆ หรือถึงแม้จะอยู่ห่างกันคนละตึกเรียน แต่เมื่อเห็นอาจารย์อยู่ไกล ๆ เด็ก ๆ ก็พร้อมจะส่งเสียงเรียกเพื่อทักทายอาจารย์ของพวกเขาอย่างไม่รู้สึกกลัว  ไม่ว่าจะเป็นเด็กอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมก็แสดงออกอย่างเดียวกัน ซึ่งก็เป็นผลมาจากความรักและความเอาใจใส่ที่อาจารย์มอบให้เด็ก ๆ ในทุกช่วงวัย จนทำให้เด็กนักเรียนสัมผัสได้ 

“ผมไม่มีลูก แต่ทุกคนก็เหมือนลูกเหมือนหลานของผม” 

“นักเรียนชั้นอนุบาลก็มีวิธีการแบบหนึ่ง ชั้นประถม ชั้นมัธยมก็แบบหนึ่ง ขนาดคำพูดยังต้องเปลี่ยนเลย เด็กอนุบาลพูดชมเพียงเท่านี้ก็อาจเพียงพอ แต่ถ้าพูดกับเด็กระดับมัธยมอาจต้องลงลึกมากกว่านั้น ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับแต่ละระดับชั้น ต้องใช้กระบวนการที่เข้าไปถึงใจเขามากขึ้น ยิ่งถ้าไปคลุกคลีกับเขา เราจะรู้ว่าอะไรที่เข้าถึงใจเขาได้ หาเรื่องที่เหมาะกับเขา หรือเรื่องที่เขาสนใจ เขาสนุก ถ้าเรารู้ธรรมชาติของเขา มันก็จะง่าย”  

อาจารย์เล่าเพิ่มเติมว่า “บางครั้งมีเด็กเยอะมากที่อยากจะทักทายอาจารย์ แต่คุยใกล้ ๆ ได้ไม่หมด ก็จะมีเพียงแต่รอยยิ้มและนิ้วโป้ง 1 นิ้ว ที่ชูขึ้น ส่งให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่ไกลออกไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ทุกคน “แจ๋ว!” มาก

 

ฝันอยากให้พื้นที่แห่งนี้ ทุกคนเท่าเทียม

ด้วยความที่โรงเรียนอมาตยกุล เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ช่วงวัยที่แตกต่างกันตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น นับเป็นความท้าทายที่ทำให้อาจารย์เองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเด็กทุกระดับชั้น 

“นักเรียนทุกคน ‘เท่าเทียมกัน’ รวมไปถึง ครู เจ้าหน้าที่ หรือระดับผู้บริหาร ต่างก็มีความเป็นมนุษย์เท่ากับนักเรียน เด็กนักเรียนที่นี่ ไม่ต้องปักชื่อ ไม่มีสิทธิพิเศษ ไม่มีเงินใต้โต๊ะ ไม่มีอะไรทั้งนั้น รวยแค่ไหนก็ต้องช่วยเหลือคนอื่น เกื้อกูลกัน และอยากให้เห็นความอิสระของนักเรียนผ่านการใส่ชุดไปรเวท” 

“ที่นี่คนทุกระดับต้องได้เจอกัน ไม่มีชนชั้น มีความเหลื่อมล้ำน้อย ไม่มีครูกับเด็ก เด็กทำ ครูก็ต้องทำด้วย ทำทุกอย่าง ถ้าอยากให้เด็กกินผัก ก็ต้องกินด้วย ถ้าครูอยากให้นักเรียนวิ่ง ครูก็ต้องวิ่งด้วย จะนั่งรถเบนซ์มาเรียน หรือ นั่งมอเตอร์ไซค์มาเรียนก็ได้แต่ ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ ทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าสังคมไทยความเหลื่อมล้ำน้อย ทุกคนเท่าเทียมกัน บ้านเมืองเราก็คงสงบสุข” 

“ความฝันของผมคือ อยากให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อคนในสังคมจะมีความสุข แบบปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก คือช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือก่อน จึงจะเป็นสังคมที่ยุติธรรม และทุกคนเท่าเทียมกัน” 

“ซึ่งคนที่จะเป็นปลาใหญ่ได้ก็ต้องมีความคิดบวกกับตัวเอง อยากที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และร่างกายแข็งแรงก่อน จึงจะช่วยเหลือผู้อื่นได้”

“ความสุข” สิ่งที่ทำให้ยังไปต่อ

“การทำให้คนอื่นมีความสุข เราก็สุขด้วย…”  

การพัฒนาให้นักเรียนคนหนึ่งเติบโตอย่างดี เป็นแรงจูงใจและแรงผลักดันให้อาจารย์ยังคงมุ่งมั่นกับอาชีพครูแบบไม่เคยคิดจะหยุดพัก ถึงแม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม แต่อาจารย์ยังคงรักในสิ่งที่ทำ และยังตั้งใจจะทำเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนต่อไปเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข

“ อายุ 72 ก็พูดว่า 27 ต้องเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียน ผมวิ่ง 10 กิโล ดื่มน้ำเยอะ ๆ กินโยเกิร์ตทุกวัน กินผักสด ผลไม้ และไม่กินเนื้อสัตว์”

“ผมยังไม่เคยคิดจะเกษียณนะ ยังมีความฝันอีกตั้งเยอะ  ยังอยากเผยแพร่สิ่งดี ๆ ต่อไปอีกเยอะ ๆ ยังไม่เคยมีความรู้สึกอยากเลิก เพราะยังเห็นว่ามันดีขึ้นไปเรื่อย ๆ”

 “ถ้าปิดโรงเรียนไปก็ไม่รู้จะมีเด็กที่ป่วยอีกเท่าไหร่ จะมีเด็กที่ใช้ความรุนแรงอีกเท่าไหร่” 

 “แนวคิดของผมคือ มันต้องทำงานไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต…”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ