เรียนรู้ชีวิตจากความผิดพลาด กับ แดเนียล วิวัฒน์วงศ์ นักร้องลูกทุ่งลุคอินดี้ อดีตเยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษก

เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนต่างเคยทำเรื่องผิดพลาดในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ สำหรับบางคน ความผิดพลาดอาจกลายเป็นหนามคอยทิ่มแทงใจไปทั้งชีวิต แต่บางคนเลือกที่จะใช้ความผิดพลาดให้เป็นบทเรียนที่ทำให้เข้าใจชีวิตดียิ่งขึ้น

มนุษย์ต่างวัยชวนถอดบทเรียนจากประสบการณ์ชีวิตของ ‘แดเนียล’ – วิวัฒน์วงศ์ ดูวา ชายหนุ่มวัย 25 ปี รองแชมป์อันดับ 3 จากเวทีประกวดนักร้องลูกทุ่งไมค์ทองคำ อดีตเด็กชายที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากตาเลี้ยงติดเหล้าและทำร้ายคนในครอบครัวตลอด 8 ปี สู่การตัดสินใจตอบโต้เพื่อปกป้องชีวิตคนในครอบครัวและตัวเอง จนพลั้งมือทำให้ตาเลี้ยงเสียชีวิต ซึ่งตามมาด้วยการถูกต้องโทษในวัย 17 ปี

“หากไม่มีวันวาน วันนี้ก็คงไร้ค่า” นี่เป็นข้อความที่แดเนียลเขียนไว้ในสเตตัสบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อยืนยันว่าเขาสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดและเดินหน้าทำตามความฝันในการเป็นนักร้อง จนมีผู้คนชื่นชมผลงาน รวมถึงให้กำลังใจมากมาย

ชีวิตวัยเด็กในครอบครัวที่ใช้ ‘ความรุนแรง’

ตอนเด็กๆ ครอบครัวผมก็เหมือนครอบครัวทั่วไป ฐานะปานกลาง ไม่ได้อดอยาก ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขาด ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหา จนกระทั่งวันที่พ่อเสีย นั่นคือจุดเปลี่ยนแรกในชีวิต

หลังจากที่พ่อเสียทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม ต้องย้ายมาอยู่กับยาย พอมาอยู่กับยาย สภาพแวดล้อมก็หล่อหลอมให้เป็นคนอีกแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยมีเวลาให้ด้วย แม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูผม ตอนเช้าแม่ให้เงินไปโรงเรียน แล้วนั่งรถไปโรงเรียนเอง ถึงเวลาเลิกเรียนก็กลับบ้านเอง

สักพักเริ่มมีปัญหากับครูที่โรงเรียนทำให้ไม่อยากเรียน ผมเริ่มโดดเรียน เวลาว่างไม่รู้จะทำอะไร ด้วยความที่อยากโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ลองสูบบุหรี่ ลองกินเหล้า ผมไม่ถึงกับหันไปเสพยา แต่มีเรื่องชกต่อยบ้าง จนที่บ้านรู้ว่าผมไม่ไปเรียนเลย ก็เลยลาออกจากโรงเรียนแล้วไปทำงานแทน

พอทำงานก็เริ่มรับรู้ปัญหาของที่บ้านมากขึ้น ปัญหาทุกครั้งเกิดเพราะว่าตาเลี้ยงชอบดื่มเหล้า พอดื่มก็จะทุบตียาย นอกจากทำร้ายยาย บางครั้งยังจาบจ้วงแม่ด้วยคำพูด แต๊ะอั๋งทางวาจา เคยเอ่ยปากขอนอนกับแม่ ทั้งๆ ที่เขาเป็นสามีของยาย เรารับรู้เรื่องอะไรแบบนี้มาตลอดหลายปี

บางครั้งตาเลี้ยงก็มีปัญหากับผมแม้กระทั่งท่าเดิน จำได้ว่าตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ ก็ไม่คิดหรอกว่าท่าเดินจะเหมือนนักเลงหรืออะไร แต่ตาเลี้ยงเขาหาว่าผมเดินกวน เดินเก๋า เดินเหมือนจิ๊กโก๋ อะไรหลายๆ อย่างที่เขาพูด ที่เขาดูถูก ที่เขาทำกับผม ผมเก็บมาตั้งแต่เด็กๆ และอยู่กับความรุนแรงแบบนี้มาตลอด 8 ปี

ผลจากการเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงก็คือ พอไปโรงเรียนผมก็เริ่มเอาไปใช้กับเพื่อน กับครูที่โรงเรียน เช่น ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็ใช้คำหยาบ ใช้อารมณ์ ทุกครั้งที่ผมมีปัญหา มันสะท้อนสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำไว้ โดยเห็นจากที่ตัวเราเอาไปใช้กับคนอื่น

ถามว่าสิ่งที่แสดงออกเป็นเรื่องของวัยด้วยไหม มันก็มีบ้าง แต่สำหรับผม สุดท้ายแล้วสิ่งแวดล้อมนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ ‘ชีวิตพลิกผัน’ ในวัย 17 ปี

คืนนั้นประมาณตี 2 ตาเลี้ยงเมาอาละวาด จากนั้นเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ปกติเวลาที่ตาเลี้ยงเมาแล้วทุบตียาย ผมเห็นมาตลอดว่าเขาจะไม่ใช้อาวุธหนัก จะใช้แค่มือเปล่า ใช้แขน ใช้ขา แต่คืนนั้นเขาคว้ามีดมาไล่ฟันยายและทุกคนในบ้าน ใครอยู่ใกล้โดนหมด พวกเราพยายามคุยกับเขาดีๆ ยอมอ่อนให้ ยอมไม่ต่อปากต่อคำ แต่เขาก็ไม่หยุด ผมไม่ได้แจ้งความ เพราะว่าก่อนหน้านี้ที่มีการทะเลาะกันเคยแจ้งความไปแล้วแต่ตำรวจก็ไม่มา เขาให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย เป็นเรื่องในครอบครัว

พอคุมเขาไม่อยู่ ถึงจุดหนึ่งเลยรู้สึกว่าผมโตพอที่จะปกป้องครอบครัว ปกป้องยาย ปกป้องแม่ ผมก็เลยตัดสินใจยุติความรุนแรงด้วยความรุนแรง ทางเรามีขวาน มีเหล็ก ทางเขามีมีดอีโต้ มีดปังตอเล่มใหญ่ ด้วยวุฒิภาวะของผมตอนนั้นที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันถูกหรือเปล่า รู้แค่ว่าต้องปกป้องคนที่เรารัก ก็เลยตัดสินใจตอบโต้จนเกิดการปะทะกัน

เขาล้มลง เลือดไหลเยอะมาก ผมไม่ได้คิดที่จะฆ่าเขา พอเขาล้มแล้วหมดฤทธิ์ ผมก็ตั้งใจจะพาเขาไปส่งโรงพยาบาล แต่เขาเสียเลือดมาก พอพาออกจากบ้านมาเขาก็เสียแล้ว

มันเหมือนเป็นการปกป้องตัวเองแบบอัตโนมัติ เราทำการปกปิดความผิด เขาเสียที่นนทบุรี แต่เราเอาศพไปทิ้งที่พิษณุโลก คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นนอกจากผมแล้วก็มียาย แม่ พ่อเลี้ยง แต่ว่ายายเห็นแค่เหตุการณ์ตอนปะทะกัน หลังจากนั้นยายก็ไม่ได้มายุ่งเลย

หลังจากเอาศพไปซ่อน ผมไม่มีความสุขเลยสักวัน ระแวงไปหมด บางครั้งก็หลอนไปเอง ตอนนั้นด้วยความที่ยังเด็กก็กลัวผีด้วย ในช่วง 3 เดือนแรก เป็นสภาวะที่นอนไม่ได้เลย ทุกครั้งที่อาบน้ำแล้วหลับตาก็จะเห็นภาพเขาที่มีเลือดอาบเต็มหน้า ภาพเขาติดตาไปทุกที่

ผ่านไป 6 เดือน คิดว่าคงรอดแล้ว คงไม่มีใครสืบเจอ แต่ที่จริงช่วง 6 เดือนนั้นมันคืออิสระจอมปลอม ตำรวจกองปราบปรามเขาเริ่มสืบคดีตั้งแต่ที่ญาติตาเลี้ยงไปแจ้งความ แล้วก็ตามเก็บหลักฐานมาเรื่อยๆ เช็กสัญญาณโทรศัพท์ว่าผมไปที่ไหนมาบ้างในช่วงก่อนหน้านั้น ก็เจอว่าผมไปพิษณุโลก หลังจากนั้นตำรวจก็เชิญผมไปสอบปากคำ ผมให้การทุกอย่างตรงหมด สุดท้ายก็ต้องยอมรับสารภาพแล้วไปชี้จุดที่ทิ้งศพ

ตอนนั้นผมยังเป็นเยาวชนอยู่ ต้องแยกกับพ่อแม่ไปรับโทษ แม่กับพ่อเลี้ยงโดนจำคุก 8 ปี 6 เดือนเท่ากัน ยายรอลงอาญา 2 ปี ส่วนผมต้องเข้าไปฝึกอบรม 3 ปี ที่สถานพินิจฯ ในช่วงที่รอตัดสินคดีผมอยู่ที่สถานพินิจฯ นนทบุรี พอตัดสินแล้วก็ไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมฯ บ้านกรุณา จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมฯ บ้านกาญจนาภิเษก

ใช้ชีวิตบนความเชื่อว่า ‘ผมไม่ผิด’

ตอนที่ผมเดินเข้าไปในบ้านกาญจนาฯ ผมไปกับความเชื่อมั่นที่ว่า ผมไม่ผิด

ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำไปคือการปกป้องยาย ปกป้องครอบครัว เพื่อนก็บอกว่าที่ทำไปมันเป็นการป้องกันตัวนะ ผมก็เลยไม่ได้เตรียมใจว่าจะโดนอะไร หรือจะต้องติดคุก แต่พอผลตัดสินออกมาว่าผมมีความผิด มันเป็นความรู้สึกแบบ ‘อะไรวะ’ เราคิดว่าศาลยุติธรรมที่สุดแล้ว แต่ทำไมศาลไม่ยุติธรรมกับผม ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวเราเป็นฝ่ายถูกกระทำและขอเลือกที่จะตอบโต้บ้าง แต่เรากลับกลายเป็นคนผิด

พอผลออกมาเป็นแบบนั้น ผมก็คิดว่าชีวิตนี้คงเอาดีไม่ได้แล้ว ผมปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกมลสันดาน ใช้ความคิดน้อยลง เพราะรู้สึกว่าโลกนี้มันไม่แฟร์กับผมเลย ถามว่าการที่คิดแบบนั้นมันทำให้ผมเกเรไหม ก็มีบ้าง มันปั่นป่วนในใจ บางครั้งก็ฟุ้งซ่าน แต่ก็พยายามกดตัวเองไว้ ไม่ให้ปล่อยออกมา เพราะพอถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่า ถ้าอยากได้อิสรภาพก็ต้องยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้กลับคืนมา

ผมแค่อยากกลับบ้านเพราะตอนนั้นผมยังติดแม่ ผมอยากไปเยี่ยมแม่ ซึ่งแม่อยู่ในเรือนจำ แน่นอนว่าชีวิตผมตอนนั้นยังมองไม่เห็นอนาคตหรอก แต่ความคิดถึงแม่ อยากเจอแม่ ทำให้ผมต้องทำดีเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ถามว่าทำไมไม่คิดหนีไปเลย ผมก็เคยมีความคิดอยากจะหนีนะ แต่ก็คิดได้ว่ามันไม่คุ้มหรอก มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ได้สนุกเหมือนในหนัง

เปลี่ยนจากโฟกัสที่ปัญหามาเป็นทางออก

วันแรก ๆ ที่ผมมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ผมแบกทุกอย่างมา แบกความคิดเดิมๆ ว่าโลกไม่แฟร์ กฎหมายไม่ยุติธรรม มาด้วยทุกอย่างเดิมๆ หมดเลย จนผมได้เรียนรู้ว่าผมอยู่กับความเชื่อมั่นแบบนั้นมาตลอด ความเชื่อว่าผมไม่ผิด ซึ่งมันเป็นความคิดจากกรอบความคิดของผมแค่คนเดียว

พอวันหนึ่งกระบวนการความคิดที่ได้เรียนรู้จากที่นี่ทำให้ผมมองเรื่องนี้อีกแบบ ถามว่าทุกวันนี้ผมรู้สึกผิดกับการกระทำในวันนั้นไหม ผมรู้สึกผิดจริงๆ ครับ แล้วก็ยังไม่ลืม แต่ผมต้องให้อภัยตัวเองเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

กระบวนการที่พูดถึงก็อย่างเช่น ถ้าเป็นคนข้างนอกเวลาที่เขาดูหนัง เขาอาจจะดูหนังเพื่อความสนุก ดูไปก็กินป๊อปคอร์น กินขนมไปด้วย แต่ดูหนังที่บ้านกาญจนาฯ เราต้องวิเคราะห์หนัง ต้องหาที่มาที่ไปว่าพระเอกเขาทำไปแบบนี้เพราะอะไร แล้วกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าเป็นเราจะทำแบบไหน เวลาอ่านข่าวก็เหมือนกัน ต้องวิเคราะห์ข่าว เช่น สมมติว่าเราเจอสถานการณ์แบบในข่าว คือมีคนใช้ยาเสพติดแล้วคลุ้มคลั่ง ไปฆ่าคน ถ้าเราเป็นเขา เราจะตัดสินใจแบบไหน ถ้าตัดสินใจแบบเขา ก็เป็นไปตามข่าวที่เราได้เห็น ถ้าเราไม่ตัดสินใจแบบเขา มันมีทางอื่นไหม ถ้ามี มีทางไหนบ้าง

เราต้องรู้จักเรียนรู้จากสิ่งที่คนทำพลาดในสังคมแล้วเอามาเป็นครูให้กับตัวเอง หัดถาม หัดมองปัญหา หัดดูให้เห็นทางออกของปัญหา ถ้าเราฝึกแก้ปัญหาทุกวันเหมือนเรากินข้าว มันก็จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและหาทางออกที่ดีได้อัตโนมัติ

พอเริ่มเก่งในการแก้ปัญหา ผมก็เริ่มกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง หาคำตอบให้กับตัวเองว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผมทำไปวันนั้นมันผิดไหม ก็ได้คำตอบว่า ผิดครับ ผิดในเชิงกฎหมาย ผมไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินให้คนคนหนึ่งอยู่หรือตาย แต่ถามว่าทำถูกไหม ผมทำถูกแล้วที่เลือกปกป้องครอบครัว แต่ผมทำผิดวิธี คือไปฆ่าเขา ซึ่งจริงๆ มันอาจจะมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านั้น พอนึกย้อนไปว่ามันมีทางไหนบ้าง ก็คงเป็นการเลือกใช้อาวุธที่แค่ทำให้เขาสลบ ไม่ใช่ใช้อาวุธหนักที่ทำให้เขาเสียชีวิต

ทุกๆ อย่างมันเป็นบทเรียนหมดเลย ผมเสียใจ แต่วันนี้ก็ต้องขอบคุณ เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น ผมอาจจะไปพลาดทำอีกเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นก็ได้

ความผิดพลาดในอดีตไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต

วันนี้ผมได้ทำตามความฝันคือการเป็นนักร้อง

แม้ในอดีตผมจะเคยทำผิดพลาดมา แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต วันนี้ผมก็ทำสิ่งดีๆ ได้ ผมก็มีความสามารถไม่ต่างจากเด็กที่ได้เรียนโรงเรียนดีๆ

แรกๆ ผมมองว่าการออกมาโชว์ความสามารถแล้วก็ต้องถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตของตัวเองไปด้วย มันเหมือนเป็นการประจานตัวเองหรือเปล่า แต่ผมก็มองว่าเราเคยสร้างรอยด่างให้กับสังคม ถ้าวันหนึ่งเรื่องของเราจะมีประโยชน์กับสังคมบ้าง บางครั้งเราก็ต้องยอม เพราะอย่างน้อยมันก็ไม่เสียเปล่า ดีกว่าเราเอามันมานอนกอดไว้เหมือนคนขี้แพ้

ผมผ่านบททดสอบของชีวิตมาแล้วครั้งหนึ่ง บททดสอบต่อไปคือ ‘ครอบครัว’

ตอนนี้ลูกผมอายุ 10 เดือนแล้ว การมีลูกทำให้ผมเห็นอะไรบางอย่าง เช่น ถ้าเราไม่ชอบอะไรที่พ่อกับแม่ทำกับเราตอนเด็ก เราก็อย่าส่งต่อให้เขา แล้วเขาก็ไม่ต้องมาสานฝันให้พ่อ ไม่ต้องทำในสิ่งที่พ่ออยากให้เป็น ผมอยากให้เขามีชีวิตที่เขาเลือกเอง ถ้าวันหนึ่งเขาโตมาแล้วไม่อยากเรียน ผมก็จะไม่บังคับ แต่ถ้าอยากเรียน ผมก็จะส่งเสียให้ถึงที่สุด

ขออย่างเดียวคือ อย่าทำตัวเป็นภาระสังคมก็พอ 

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ