“เด็ก 10,000 คน จะเป็นออทิสติก 1 คน ครอบครัวเราเหมือนถูกรางวัลที่ 1” เรื่องราวการดูแลลูกจากช่องยูทูบ “โดโด้พาเที่ยว”

“โดโด้พาเที่ยว” คือช่องยูทูบของครอบครัวรัศมิทัตที่เกิดจากความรักและความตั้งใจของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกชายที่มีภาวะออทิสติกสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่นได้ จึงทำช่องพากิน พาเที่ยว ทำอาหาร หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตของ “โดโด้” ลูกชายคนเดียวของครอบครัวที่มีภาวะออทิสติก เพื่อให้สังคมเข้าใจและปฏิบัติกับคนที่มีความพิการเช่นนี้อย่างเหมาะสม   รวมทั้งเป็นแนวทางให้กับครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นเหมือนกับโดโด้ได้ไปนำไปปรับใช้ 

มนุษย์ต่างวัยพาไปฟังเรื่องราวของคุณพ่อปิยะ รัศมิทัต อายุ 59 ปี และคุณแม่กุลธิดา รัศมิทัต อายุ 58 ปี ครูโรงเรียนเอกชนที่มีลูกชายคนแรกและคนเดียวเป็นออทิสติก ที่เริ่มทำช่องยูทูบของครอบครัวเพื่อพาลูกชายออกไปใช้ชีวิต สร้างต้นทุนที่ดีให้เขาสามารถพึ่งพาและดูแลตัวเองได้แม้ในวันที่พ่อแม่จากไปแล้ว 

“หมอบอกว่า ‘ในเด็ก 10,000 คน จะพบเด็กที่เป็นออทิสติก 1 คน เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1’ เราก็ไม่คิดไม่ฝันว่ารางวัลที่ 1 จะมาอยู่ที่เรา” คุณแม่ของโดโด้บอก 

“เราท้องโดโด้ตอนอายุ 30 ตอนนั้นก็เตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ในบ้าน ไปหาหมอตามนัดเป็นประจำ เราจะคุยกับลูกในท้องตลอด บอกให้เขาออกมาแข็งแรงและเป็นเด็กน่ารัก วินาทีแรกที่เห็นหน้าลูก ดีใจมากที่ลูกเราออกมาแข็งแรง สมบูรณ์  น่ารัก ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าลูกจะมีความผิดปกติอะไร”

สัญญาณแรกที่ทำให้รู้ว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ 

แม่โดโด้เล่าว่า “ตอนที่ลูกอายุได้ขวบกว่า ๆ เราสังเกตว่าพัฒนาการเขาไม่เป็นไปตามวัย เลยพาลูกไปหาหมอ เราบอกหมอว่า ลูกพูดได้แล้ว แต่พูดเป็นคำ ๆ แล้วไม่ยอมพูดต่อ ชอบวิ่งไปวิ่งมา และไม่เล่นกับเด็กคนอื่น หมอได้ตรวจและประเมินพัฒนาการของโดโด้ จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าลูกเราเป็นออทิสติก นาทีนั้นเราร้องไห้ออกมาเลย เพราะเราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับเรา 

“หมอเลยบอกกับเราว่าตอนนี้ไม่ได้รักษาลูกนะ ต้องรักษาพ่อแม่ก่อน มาเริ่มต้นกันใหม่ว่าเราจะเลี้ยงลูกอย่างไร เพราะเคสออทิสติกแต่ละเคสมีความแตกต่างกัน เราไปอบรมกับหมอ แล้วนำมาสอนลูก ฝึกให้ลูกมองเรา ให้เขาสบตาเราและสื่อสารกับเราได้ พยายามสอนเขาซ้ำ ๆ ให้เขาจำได้ พาเขาไปฝึกพูดที่มูลนิธิแสงสว่างทุกสัปดาห์ พอทำกิจกรรมเสร็จ ก็พาไปเรียนวิชาการ เรียนการอ่าน การเขียน จนเขาค่อย ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น”

ยอมรับลูกอย่างที่เขาเป็นและดูแลเขาให้ดีที่สุด   

“ผมกับภรรยาตกลงกันว่าจะมีลูกแค่คนเดียว และจะดูแลเขาให้ดีที่สุด ผมไม่เสียเวลากับความเสียใจ แต่จะคิดว่าต้องทำอย่างไรต่อในวันข้างหน้า แต่ภรรยายังเสียใจอยู่ เขายังมีความหวังว่าลูกจะประสบความสำเร็จและไปได้ไกลกว่านี้

“วันหนึ่งผมเลยคุยกับภรรยาว่าพรุ่งนี้จะมีพยาบาลพาเด็กคนหนึ่งมาหาเรา อายุเท่าลูกเรา เรียนเก่ง หน้าตาดี แข็งแรง สมบูรณ์ดี จะมาขอแลกกับโดโด้ เขาบอกว่าวันนั้นเราเอาเด็กมาผิดคน เขาจะเอามาคืนให้ คุณจะยอมไหม ภรรยาก็บอกกับผมว่า “ไม่ให้ ไม่ยอม” ผมเลยบอกว่าถ้าเราไม่ให้ เราก็จะต้องมีความสุขให้ได้กับลูกของเราที่เป็นแบบนี้”

วิชาชีวิต สิ่งที่พ่อแม่มอบให้เพื่อให้ลูกอยู่ได้ในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่

“แม่พาโดโด้ไปหาหมอตั้งแต่เด็ก ๆ ไปทุกเดือน เดือนละครั้ง คุณหมอจะประเมินพัฒนาการในแต่ละเดือนว่าโดโด้ทำอะไรได้ดีขึ้นบ้าง ผู้ปกครองมีความสำคัญมากในการเลี้ยงเด็กออทิสติก เริ่มจากการยอมรับลูกในเเบบที่เขาเป็น เพื่อที่จะทำให้เขามีความสุขในทุกวัน ให้เขาไปโรงเรียน ไปทำงาน กินข้าวตามปกติ ไม่ต้องอายใคร เราจะย้ำกับลูกเสมอว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นคนดีได้ เราต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด เพราะไม่มีใครจะสอนลูกได้ดีเท่ากับพ่อแม่แล้ว

“เราสอนลูกเอง ฝึกให้เขาเขียน เขาอ่านทุกวัน แต่จะเน้นเรื่องการอ่านเป็นพิเศษ ให้ลูกเราอ่านได้เหมือนเด็กปกติ เพราะถ้าเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็จะใช้ชีวิตลำบาก สอนตั้งแต่เริ่มต้น ก.ไก่ ข.ไข่ เวลาสอนลูก เราจะย้ำคิดย้ำทำ สอนทุกวันไม่เคยหยุด พยายามทำให้เขายืนด้วยตัวเองได้ วันหนึ่งถ้าไม่มีเรา เขาจะได้ไม่ลำบาก”

คุณพ่อปิยะเล่าต่อว่า “โดโด้ขี่ม้าได้ ปั่นจักรยานเองได้ โดยที่ไม่มีใครสอนเขา เขาแค่ดูเด็กคนอื่นปั่น แล้วก็ปั่นได้เอง เขาชอบร้องเพลง ฟังแค่ครั้งเดียว เขาก็ร้องตามได้  เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เราก็ไม่ได้สอน แต่เขาเรียนรู้ได้ เลือกใช้เฉพาะส่วนที่เขาสนใจได้ 

“เขาใช้ชีวิตด้วยความจำ ไม่ค่อยมีตรรกะ เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเมมโมรีแต่ไม่มีหน่วยประมวลผล เราเลยต้องสอนให้เขาจำว่าต้องทำอย่างไรแล้วเขาก็จะจำแบบนั้น เปลี่ยนไม่ได้ อย่างตำแหน่งการวางของในบ้าน อะไรเคยวางอยู่ตรงไหน ก็ต้องวางที่เดิม ถ้าเขาเคยทำอะไรเวลาไหน เขาก็จะทำแบบนั้นทุกวัน อย่างตอนเย็นเขาก็ต้องถามว่าพรุ่งนี้ไปทำงานกับพ่อใช่ไหม ถ้าเราบอกว่าไม่ใช่ เขาก็จะเปลี่ยนไปจำอีกแบบ 

“เรามอบหมายหน้าที่รับผิดชอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านให้เขา อย่างการเก็บผ้า กรอกน้ำ เราบอกแค่ครั้งเดียว เขาก็จำได้และทำแบบนั้นตามเวลาปกติ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน เขาจะเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่หยุดนิ่ง อย่างบางครั้งเขาไปเข้าห้องน้ำนอกบ้านที่ไม่เคยเข้า เขาก็จะยืนนิ่งอยู่ในห้องน้ำ เพราะทำอะไรไม่ถูก 

“เราอยากให้สังคมปฏิบัติกับเขาเหมือนคนปกติ เราไม่ได้ต้องการให้มาช่วยเหลือ หรือดูแลเขาเป็นพิเศษ แค่อยากให้ปฏิบัติกับเขาแบบคนทั่วไป”

จุดเริ่มต้นของการทำช่องโดโด้พาเที่ยว

“เราประสบปัญหาในการสื่อสารกับคนทั่วไปในสังคม เพราะเขาไม่เข้าใจคนที่เป็นออทิสติกและมักจะตั้งคำถามหรือมีข้อสงสัยต่าง ๆ อยู่ตลอด ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว คนจะมองว่าเราพาโดโด้ไปโรงเรียนทำไม เป็นแบบนี้ก็ต้องแยกออกไปเรียนที่อื่นสิ แต่เราต้องการให้เขาอยู่ในสังคมได้ปกติ เพื่อให้เขามีพัฒนาการและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

“วันหนึ่งเราเปิดยูทูบและคิดว่าเราน่าจะทำอะไรแบบนี้บ้าง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้เลย เราแค่อยากเล่าเรื่องราวของลูกเรา ครอบครัวของเรา เพราะอยากให้คนรู้จักโดโด้เยอะ ๆ วันหนึ่งถ้าลูกเราเกิดพลัดหลง หรือในอนาคตเราไม่อยู่กับเขาแล้ว จะได้มีคนรู้จัก หรือช่วยเหลือเขา เราเลยมาคิดต่อว่าแล้วจะทำคอนเทนต์อะไรคนถึงจะมาดู ด้วยความที่ผมกับภรรยาทำกับข้าวเป็นทั้งคู่และชอบไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ก็เลยทำเรื่องพวกนี้ “ลุยครัว พาทัวร์ กินเที่ยว” เล่าผ่านการใช้ชีวิตของโดโด้

“ผมพอมีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีอยู่บ้าง ด้วยความที่เป็นครู ก็ต้องพัฒนาตัวเอง และเรียนรู้ตลอดชีวิต ผมทำช่องให้เหมือนกับบันทึกชีวิตประจำวันของครอบครัว บางครั้งผู้ติดตามแนะนำเราให้ไปที่นั่นที่นี่ เราก็ไปตามคำแนะนำของเขา ผมจะตัดคลิปลงวันละ 2 คลิป ตอนเช้าเป็นคลิปพาเที่ยว ส่วนตอนบ่ายสามเป็นคลิปทำอาหาร 

“คลิปที่มียอดวิวสูงในช่องของเราจะเป็นคลิปให้ความรู้เรื่องการทำกับข้าว สูตรอาหาร วิธีการทำ พอทำเสร็จ ก็นำมารับประทานกันในครอบครัว ซึ่งเป็นคลิปที่มีประโยชน์ บางคนดูแล้วเขาสามารถเอาไปสร้างอาชีพได้ ทำให้มีคนเข้ามาดูอยู่ตลอด 

“ผมทำช่องนี้โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องออทิสติกเลย เเต่ก็ตั้งใจสื่อสารให้คนทั่วไปได้เห็นการใช้ชีวิตของโดโด้ เพื่อให้สังคมเข้าใจคนที่เป็นแบบโดโด้มากขึ้น เราแค่พาเขาออกไปใช้ชีวิต เพราะถ้าเราขังเขาไว้ ไม่สอนเขา ฝึกเขา พัฒนาเขาให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เขาก็จะมีแต่สัญชาตญาณ และเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เพราะเขาไม่มีโอกาสได้เห็นโลกภายนอก

“ทุกวันนี้โดโด้ไปทำงานกับผมทุกวัน เพราะตอนนี้วัยของเขาคือวัยทำงานก็ต้องไปทำงาน เขาจะได้เห็นว่าคนอื่นทำอะไรกันบ้าง อะไรที่เขาทำได้ ก็ให้เขาได้ลองทำ เขาไปทำงานแบบไม่มีเงินเดือน แต่เขาบอกว่าเขาเป็นยูทูบเบอร์ เป็นเจ้าของช่องโดโด้พาเที่ยว”

พัฒนาการของลูกเป็นของขวัญที่ดีที่สุดในชีวิตของพ่อแม่ 

คุณแม่กุลธิดาเล่าเสริมว่า “ตอนไปหาหมอครั้งล่าสุด หมอบอกกับแม่ว่าโดโด้มาไกลมาก หมอไม่คิดว่าโดโด้จะมาไกลขนาดนี้ จะมีคนเป็นแสน ๆ คนรู้จักเขา ตัวหมอเองก็ยังดูทุกวันว่าพัฒนาการของโดโด้เป็นอย่างไร ทำอะไรได้เอง โดยไม่ต้องบอก หรือบอกแค่ครั้งเดียว โดโด้ทำได้ขนาดนี้เก่งมากแล้ว หมอภูมิใจในตัวโดโด้มาก เพราะหมอดูแลเขามาตั้งแต่ 1 ขวบ 8 เดือน จนทุกวันนี้โดโด้อายุจะครบ 27 ปีแล้ว 

“หมอคิดว่าพวกเราเป็นครอบครัวตัวอย่างที่จะนำไปบอกครอบครัวอื่น ๆ ที่มีลูกเป็นออทิสติกได้ว่าไม่ต้องอาย เราช่วยพัฒนาให้เขามีศักยภาพที่จะอยู่ในสังคมได้ เวลาไปไหน เราก็พาโดโด้ไปด้วยทุกงาน ไม่ได้ให้ลูกเก็บตัวอยู่บ้าน ฝึกให้เขาอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งเขาก็สามารถจัดการตัวเองได้ค่อนข้างดี

“การที่เรามีลูกเป็นออทิสติกไม่ใช่เรื่องแย่ เรามีสิ่งดี ๆ เข้ามามากมาย อย่างบางร้านที่เขาติดตามช่องเราเขาก็ทักมาบอกว่าพอเราไปถ่าย เขาก็มีลูกค้าเยอะขึ้น มีคนตามมากินที่ร้านเพราะดูคลิปเรา เราคิดอยู่เสมอว่าถ้าเราไม่เปิดใจยอมรับและดูแลลูกในวันนั้น เราก็คงจะไม่มีวันนี้” 

“โดโด้พาเที่ยว” สิ่งที่ทิ้งไว้เพื่อให้ลูกอยู่ได้ในวันที่พ่อแม่จากไปแล้ว  

พ่อปิยะทิ้งท้ายกับเราว่า “ผมมองว่าการทำช่องยูทูบเป็นการทำให้คนรู้จักโดโด้มากที่สุด วันหนึ่งถ้าเราสองคนไม่อยู่แล้ว ถ้าคนรู้จักโดโด้ ติดตามโดโด้ เขาจะได้ช่วยดูแลโดโด้ต่อไป และเราคงให้ญาติพี่น้องสักคนมาช่วยดูแลตรงนี้ด้วย 

“ตอนนี้ช่องเรามีผู้ติดตามพอสมควร บางครั้งคนก็มาถามว่าจะลงคลิปใหม่ตอนไหน เขารอดูโดโด้อยู่ เราก็ต้องหมั่นลงคลิปเป็นประจำ ครอบครัวเราไปเที่ยวกันทุกเสาร์ อาทิตย์อยู่แล้ว เราก็ถ่ายตอนนั้น เพราะการที่เราออกไปทำคลิปก็เป็นการพาโดโด้ไปเรียนรู้ แล้วเราก็ได้คลิปกลับมาให้คนที่ติดตามช่องเราได้ดูด้วย

“เราหวังว่าโดโด้จะเติบโตต่อไปตามวัยและประสบการณ์ ที่เราคอยฝึก คอยปรับพฤติกรรม และถ่ายทอดให้ พ่อกับแม่ภูมิใจมากที่เขาเติบโตขึ้นมาจนถึงวันนี้ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นคนดีของสังคม และเป็นของขวัญที่ดีที่สุดของครอบครัว” 

ติดตามเรื่องราวชีวิตของโดโด้เพิ่มเติมได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/piyarasmidat…

YouTube : https://www.youtube.com/@Dodoopatiel

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ