คนเมืองต้องปลูกผักกินเองได้! “ฟาร์มเก๋า” ชุดฟาร์มพร้อมปลูกสำหรับคนวัยเก๋าในเขตชุมชนเมือง

คนเมืองต้องปลูกผักกินเองได้!
“ฟาร์มเก๋า” ชุดฟาร์มพร้อมปลูกสำหรับคนวัยเก๋าในเขตชุมชนเมือง

จะดีแค่ไหนหากคนเมือง สามารถมีชุดฟาร์มเล็กๆ โดยใช้พื้นที่ไม่มาก แต่สามารถผลิตอาหารรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ได้เพียงพอต่อความต้องการของคนในครอบครัว แถมยังสามารถแบ่งปันผลผลิตที่เหลือให้เพื่อนบ้าน ช่วยลดรายจ่ายแถมสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) แต่ประชากรผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนหนึ่ง กลับประสบปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในปริมาณที่เพียงพอ กินอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารแปรรูปที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีปริมาณหวาน มัน เค็มจัด อีกทั้งยังกินผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีปัญหาสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมตามมาอีกด้วย

มนุษย์ต่างวัยชวนรู้จักกับคุณยี่ – ประสิทธิ์ ป้องสูน (อายุ 39 ปี) และ คุณเกี้ยว- ภัณชยา รักษาสกุล (อายุ 32 ปี) สองเกษตกร ที่ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้ร่วมกันให้กำเนิด “ฟาร์มเก๋า” ชุดฟาร์มเกษตรอินทรีย์พร้อมปลูกที่อยากให้ทุกครอบครัวมีติดบ้านไว้ โดยพวกเขาเริ่มโครงการจากความรักในการทำเพื่อสังคม บวกกับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อให้สังคมไทยโดยเฉพาะ “ผู้สูงอายุ” หรือ “วัยเก๋า” ได้บริโภคอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย ปลอดสารเคมี ไม่ต้องจ่ายแพง และสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับทุกครัวเรือนได้

โดยฟาร์มเก๋า เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการประกวด “Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022” หรือ “PM’s AWARD 2022 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นเพื่อ พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ใช้งานได้จริง และขับเคลื่อนงานการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนสู่สังคมไทย

อยากให้คนเมืองไม่ห่างฟาร์ม

เดิมทีคุณยี่กับคุณเกี้ยวทำสมาร์ทฟาร์ม มา 4 -5 ปี ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งทุกครอบครัวที่เราช่วยเหลือมีที่ดินจำนวนมาก จึงสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ด้วยตัวเอง แต่พอเราหันกลับมามองคนที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัด จึงเกิดคำถามว่า “เราจะทำอย่างไรให้คนเมืองมีพื้นที่สำหรับทำเกษตร์อินทรีย์ แล้วสามารถเก็บผลผลิตไว้กินเองภายในครัวเรือนได้

“เมื่อเรามองปัญหาตรงนี้จนขาด จึงออกแบบฟาร์มชุดเล็กที่ทุกครัวเรือนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งความตั้งใจของเราคือการให้คนเมืองมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัย โดยใช้พื้นที่ไม่มาก ต้นทุนไม่แพง และไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้”

“อีกเรื่องหนึ่งที่เรามองเห็นคือการระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยหันมารักสุขภาพมากขึ้น รวมถึงสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เราจึงอยากให้ผู้สูงอายุ หรือคนวัยเกษียณที่ไม่รู้จะทำอะไรที่บ้าน ได้ลองหันมาเริ่มปลูกผักกินเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการหากิจกรรมสนุกๆ ที่ดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ผู้สูงอายุทำยามว่างอีกด้วย”

หากผู้สูงอายุจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมือง สามารถมีฟาร์มเกษตรอินทรีย์เล็กๆ เอาไว้สำหรับทำอาหารในครอบครัว และแบ่งปันผลผลิตที่เหลือให้กันและกันได้เมื่อไหร่ สังคมเมืองก็จะน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเราอยากให้ “ฟาร์มเก๋า” ทำหน้าที่นั้นได้

ขอแค่มีใจ ก็มีฟาร์มได้

คุณยี่พบว่าปัญหาของคนวัยเกษียณ หรือคนในเมืองเกือบทั้งหมดนั้น อยากปลูกผัก ทำสวน เพื่อเก็บผลผลิตไว้กินกันเองในครอบครัวเช่นเดียวกับคนต่างจังหวัด แต่พวกเขาไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ซึ่งฟาร์มเก๋าของเราก็มาอุดปัญหาตรงนั้นได้พอดี

เราออกแบบให้มีลักษณะเป็นฟาร์มบนโต๊ะยกสูงขนาดเล็ก มีหลังคาคลุม และชุดรดน้ำที่สามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชันได้ โดยกินพื้นที่แค่ 2 ตร.ม ปลูกผักในกระสอบได้สามแถว (ประมาณ 40-50 ต้น) มีชุดรดน้ำที่ควบคุมด้วยแอปพลิเคชัน ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า “ชุดพร้อมปลูก” ที่สามารถเอาไปตั้งในพื้นที่ไหนก็ได้

“นอกจากจะออกแบบโดยคำนึงถึงผู้สูงอายุแล้ว เรายังออกแบบเพื่อให้คนตาบอดสามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย เพราะฐานที่ยกสูงทำให้เขาไม่ต้องก้มลงไปมาก คนตาบอดจะได้ไม่ต้องเดินเหยียบ ส่วนการปลูกผักในกระสอบก็สะดวก เนื่องจากสามารถปลูกผักได้หลากหลายชนิดตามใจเรา จะสับเปลี่ยนก็ง่าย ปลูกใหม่ก็ง่าย แค่พรวนดินในกระสอบ กับรดน้ำ โดยไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะขัง จึงเหมาะสำหรับคนเมืองที่อยากปลูกผักในพื้นที่จำกัด อย่างหมู่บ้านจัดสรรและตึกแถว”

คุณยี่แนะนำจากใจว่า คนที่สนใจฟาร์มเก๋าของเรา ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเกษตรมาก แต่ขอให้มีใจที่อยากทำจริงๆ ก็พอ เพราะเรามีศูนย์การเรียนรู้และปราชญ์ชุมชนที่เชี่ยวชาญวิถีเกษตรของจังหวัดปทุมธานีที่พร้อมมอบองค์ความรู้ให้

“เราไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าการเห็นทุกครอบครัวได้กินอาหารที่ดี ปลอดสารเคมี และทำเองที่บ้านได้”

การปลูกผัก คือการปลูกความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

เมื่อก่อนคุณเกี้ยวมีช่องว่างระหว่างคุณแม่พอสมควร เพราะเมื่อคนต่างเจเนอเรชั่นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ย่อมมีหลายอย่างที่มองไม่เหมือนกัน แต่เมื่อคุณเกี้ยวหันมาจับวิถีเกษตร และชักชวนให้คุณแม่ในวัยเกษียณมาลองทำด้วย กลับกลายเป็นว่าทำให้ช่องว่างระหว่างกันลดลง จนทุกวันนี้ทั้งสองแลกเปลี่ยนความคิดและพูดคุยกันมากขึ้น และไม่ต้องไปซื้ออาหารจากห้างสรรพสินค้าเข้าบ้านทุกครั้งเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะมีแหล่งอาหารปลอดภัยที่สามารถทำได้เองที่บ้าน

“เราลงมือสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยด้วยตัวเอง เพราะเราอยากให้ตัวเองและคนที่รักมีสุขภาพแข็งแรง และเราอยากพิสูจน์ว่าเราทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนมากนัก ไม่ต้องมีพื้นที่ใหญ่โต แค่เริ่มจากปลูกผักกินเองโดยแบ่งพื้นที่เล็กๆ ในบ้านให้กับฟาร์มขนาดเล็กที่เราเป็นคนคิดค้นขึ้นเอง แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นดูแลตัวเองที่ดีแล้ว

“นอกจากนี้เรายังสนิทกับคุณแม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเมื่อต้องช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล กลายเป็นว่าการคุยกันเรื่องจะปลูกผักยังไงเนี่ยแหละ ที่เป็นกิจกรรมยามว่างที่เราทำกับคุณแม่แล้วมีความสุขมาก และทำให้เราหันมายิ้มให้กันมากขึ้นในทุกๆ วันอีกด้วย”

ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ผู้สูงอายุก็ต้องมีกิจกรรมที่เหมาะสมทำในยามว่างเสมอ เมื่อคนเราไม่ได้ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ความภาคภูมิใจในตัวเองอาจลดลง ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้ทำกิจกรรมที่ให้ประโยชน์ทั้งทางกายและทางใจระหว่างอยู่บ้าน ซึ่งการปลูกผักกินเองที่บ้านนั้น ช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุได้อย่างไม่น่าเชื่อ

  เหนือสิ่งอื่นใดคือการลดช่องว่างระหว่างวัย

ฟาร์มเก๋าไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่ระดับต้นๆ ของประเทศ แต่คุณยี่มองว่าการที่เรามีชุดพร้อมปลูก และแนะนำความรู้เบื้องต้นให้ จะช่วยสร้างคุณค่าทางอาหารในระดับครัวเรือน รวมถึงทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเมืองดีขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดคือเป็นกิจกรรมที่ลดช่องว่างระหว่างวัย เวลาว่างอยากให้สมาชิกในครอบครัวได้ปลูกผักร่วมกัน โดยอยากให้ลูกคุยกับพ่อแม่ คุณปู่คุยกับหลาน หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านคุยกับเพื่อนบ้านเรื่องปลูกผักด้วยกัน

มีหลายคนมาลองทำฟาร์มเก๋า เพราะอยากขยายเป็นธุรกิจ ซึ่งเราจะแนะนำเครือข่ายที่รู้จักให้ แต่ทั้งคุณยี่และคุณเกี้ยวอยากให้ฟาร์มเก๋าสร้างประโยชน์ให้กับครัวเรือนมากกว่า โดยเราเน้นให้ความสำคัญกลุ่มผู้สูงอายุ คนวัยเกษียณ คนวัยเก๋า หรือคนที่อยากหาอะไรทำเพื่อความเพลิดเพลินส่วนตัว ได้มาลองสัมผัสกับวิถีเกษตรอย่างง่ายที่ทำเองที่บ้านได้ ซึ่งเราเต็มใจที่จะมอบให้

“ความชื่นใจสำหรับผมคือการเห็นคนในสังคมช่วยเหลือกันผ่านวิถีเกษตรที่ต่างคนต่างทำ ผมเคยเห็นผู้สูงอายุเอาผักที่ปลูกเองจากบ้านไปแบ่งให้เพื่อนบ้าน หรือเอาไปอวดกันเองอย่างสนุกสนาน ซึ่งเขาดูมีความภาคภูมิใจมาก ที่ได้โชว์ผลผลิตของตัวเอง ทำผมมองว่าสิ่งนี้แหละคือความสุขที่แท้จริงของการปลูกผัก และผมอยากเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ในสังคมไทย”

เราอยากให้ฟาร์มเก๋า เป็นฟาร์มแรกของคนไทยหลายๆ บ้าน

ปัจจุบันฟาร์มเก๋ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ได้เริ่มเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานีแล้ว โดยคุณยี่กับคุณเกี้ยว ได้นำชุดพร้อมปลูกไปติดตั้งทั้งในชมรมผู้สูงอายุ สมาคมคนตาบอด สมาคมผู้พิการ รวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ภายในจังหวัด และกำลังจะขยายไปสู่ระดับครัวเรือนในชุมชนเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้การให้เกษตรระดับครัวเรือนมีพื้นที่ขายผลผลิตของตัวเอง ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้การมีพื้นที่ปลูกผัก คุรยี่กับคุณเกี้ยวจึงมองหาสร้างตลาดและเครือข่ายเอาไว้สำหรับรองรับเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

“เราไม่ได้แค่ช่วยให้ทุกครัวเรือนสามารถปลูกผักเองได้ แต่เรายังคำนึงถึงตลาดที่ทุกคนสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยนผลผลิตกันเอง เพราะเชื่อว่าหลายบ้านๆ ไม่ได้กินผักที่ปลูกเองทั้งหมด เราเลยอยากให้เขาเอาส่วนที่ปลูกแล้วเหลือมาสร้างรายได้ด้วย โดยเราจะรับซื้อผลผลิตจากสมาคมและครัวเรือนที่เราดูแล ซึ่งเราจะส่งผลผลิตของคุณกระจายไปสู่ตลาดและคาเฟ่สายสุขภาพต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายของเราให้”

สุดท้ายคุณยี่และคุณเกี้ยว ไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่า การให้ฟาร์มเก๋าเข้าไปส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ให้กับผู้สูงอายุในสังคมเมืองได้ ช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการบริโภคอาหารไร้สารเคมี ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย

“เราอยากให้ทุกครอบครัวมีกิจกรรมทำด้วยกันยามว่าง ลดช่องว่างระหว่างวัย และนำมาซึ่งสังคมผู้สูงอายุ ให้ใช้ชีวิตแบบเก๋าๆ อย่างมีคุณค่า”

สำหรับคนที่สนใจอยากลองทำ ฟาร์มเก๋าโมเดล หรืออยากพาพ่อแม่ และผู้สูงอายุมาศึกษาเพื่อกลับไปลองทำที่บ้าน สามารถติดต่อคุณยี่กับคุณเกี้ยวที่ ตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้ทุกวัน
หรือโทรมาที่ 089-1619262 ได้เลย

โดยเกษตรกรทั้งสอง มีองค์ความรู้ 4 เรื่องที่อยากจะมอบให้คนที่สนใจคือ
1.ความรู้เรื่องอุปกรณ์ วัสดุ และชนิดของพืชพันธุ์ที่เราต้องการปลูก
2.การดูแลด้วยเทคโนโลยี รดน้ำผ่านแอปพลิเคชัน สำหรับคนที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน
3.คำแนะนำจากปราชญ์ชุมชนการเกษตรจังหวัดปทุมธานี
4.รู้จักตลาดกระจายผลผลิตของฟาร์มเก๋า เพราะเราสามารถนำผลผลิตที่เหลือจากการปลูก ไปขายหรือส่งต่อเพื่อหารายได้เสริมได้

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ