คนรุ่นใหม่อ่อนแอกว่าคนรุ่นก่อน หรือไม่ว่าคนรุ่นไหนก็ล้วนเจอความยากลำบากในแบบของตัวเอง

คนรุ่นใหม่อ่อนแอกว่าคนรุ่นเก่าจริงหรือ

ในฝั่งโลกตะวันตกมีคำที่ผู้ใหญ่ใช้เปรียบเปรยคนรุ่นใหม่ในเชิงดูหมิ่นว่า อ่อนแอ-อ่อนไหว-เปราะบางราว กับ ‘เกล็ดหิมะ’ (Snowflakes) แตะนิดแตะหน่อยไม่ได้ พร้อมจะพังทลายตลอดเวลา ไม่มีความอดทนในการทำงานและมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าคนรุ่นก่อน ๆ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเราต่างเคยได้ยินผู้ใหญ่พร่ำบ่นเกี่ยวกับ ‘เด็กสมัยนี้…’ มานานหลายทศวรรษ แต่จะมีความจริงเท็จอยู่มากน้อยแค่ไหนกับความคิดที่ว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z นั้นอ่อนแอกว่าคนรุ่น Baby Boomer และ Gen X

มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเปรียบเทียบคนหนุ่มสาวว่าอ่อนแอกว่าอาจเป็นสัญชาตญาณที่มีมาช้านาน โดยคนรุ่น Baby Boomer และ Gen X อาจกำลังตัดสินคนรุ่นใหม่ด้วยมาตรฐานที่ควรเลิกใช้เป็นบรรทัดฐานไปนานแล้ว

ความเชื่อฝังหัวของผู้ใหญ่หรือความเป็นจริงของเด็กสมัยนี้

ผู้ใหญ่ต่างบ่นถึง ‘เด็กสมัยนี้…’ มาเนิ่นนานแล้ว การดูถูกคนรุ่นหลังจึงอาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดก่อนก็เป็นได้ Peter O’Connor ศาสตราจารย์ด้านการจัดการของสถาบันเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “แนวโน้มที่ผู้ใหญ่จะดูหมิ่นอุปนิสัยของวัยรุ่นเกิดขึ้นมาหลายศตวรรษแล้ว”

เขาชี้ให้เห็นว่าความคิดนั้นยังคงดำรงอยู่ มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันหลายพันคนเชื่อว่า เด็ก ๆ ทุกวันนี้ขาดคุณสมบัติเชิงบวกจากการที่ผู้เข้าร่วมวิจัยใช้การเชื่อมโยงกับคนรุ่นเก่า ซึ่งนั่นอาจไม่ได้หมายความว่าเยาวชนในปัจจุบันขาดคุณสมบัติเหล่านั้นจริง ๆ เพราะอาจมีสาเหตุจากการที่คนรุ่นเก่าพยายามฉายภาพปัจจุบันไปสู่ตัวตนในอดีต เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนหนุ่มสาวในปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างคำพูดของ Kirstie Allsopp ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ชาวอังกฤษ ที่เคยปลุกปั่นความโกรธในหมู่คนหนุ่มสาว หลังจากที่เขาบอกว่าเป็นความผิดของคนหนุ่มสาวเองที่ไม่สามารถซื้อบ้านได้ และแนะนำคนหนุ่มสาวในปัจจุบันว่าอย่าใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยมากเกินไป เช่น การสมัครสมาชิก Netflix หรือฟิตเนส แทนที่จะเก็บออมเงินเพื่อใช้เป็นเงินมัดจำสำหรับซื้อบ้าน

เช่นเดียวกับ Tim Gurner เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ของออสเตรเลีย ที่ออกมาแนะนำคนรุ่นใหม่ว่าอย่าใช้เงินซื้อขนมปังอะโวคาโดมากเกินไปแทนที่จะซื้อบ้าน แม้ว่าราคาบ้านในหลายพื้นที่ของออสเตรเลียจะสูงขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 30% เท่านั้น

คำพูดดังกล่าวของ Allsopp และ Gurner สะท้อนความคิดของผู้ใหญ่ที่มองว่าคนหนุ่มสาวในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวแบบเดียวกับที่คนรุ่นก่อนทำ ยิ่งเห็นพฤติกรรมบางอย่างของคน Gen Z ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เช่น การปฏิเสธที่จะทำงานออฟฟิศแบบเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น หรือการตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องทำงานในสำนักงานเต็มเวลา ยิ่งตอกย้ำให้บรรดาผู้ใหญ่ต่างเชื่อว่า เด็กสมัยนี้อ่อนแอและอดทนต่อความยากลำบากในการทำงานได้ไม่เท่ากับคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย

มาตรวัดความแข็งแกร่งของคนรุ่นเก่า ล้าสมัยหรือยังใช้ได้จริง

คนรุ่นเก่าส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าพวกเขาแข็งแกร่งกว่าคนรุ่นใหม่ แต่มาตรวัดความแข็งแกร่งแบบดั้งเดิมนั้นยังสามารถใช้ได้จริงในยุคปัจจุบันหรือไม่ ผลการศึกษาในปี 2553 ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบคนรุ่นมิลเลนเนียลที่สำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัยระหว่างปี 2547 ถึง 2551 พบว่าพวกเขามีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตต่ำกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาก่อนปี 2530 นอกจากนี้ งานวิจัยอื่น ๆ ยังแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มเป็นโรคเจ็บป่วยทางจิตใจ ต้องการความสนใจและการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น

แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนมองว่า งานวิจัยเหล่านี้ไม่ได้ชี้วัดว่าคนรุ่นใหม่อ่อนแอกว่าคนรุ่นเก่าเสมอไป เพราะเราไม่สามารถนำมาตรฐานเมื่อหลายสิบปีก่อนของคนรุ่นเก่ามาใช้ตัดสินคนรุ่นใหม่ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางเทคโนโลยีและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแทบจะสิ้นเชิง

Dr.Carl Nassar ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ LifeStance Health กล่าวว่า “คนรุ่นก่อน ๆ ถูกสอนให้อดทนอดกลั้นแทนการแสดงออก แต่พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กลับตรงกันข้าม จึงทำให้เกิดความแตกแยกในการรับรู้ โดยคนรุ่นเก่ามองว่าการแสดงออกเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ เพราะพวกเขาได้รับการสั่งสอนมาแบบนั้น”

ในขณะที่ Jennifer Robison บรรณาธิการอาวุโสของ Gallup บริษัทวิเคราะห์และสำรวจความคิดเห็นของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “Gen X และ Baby Boomer ก็มีปัญหาเช่นกัน แต่การเปล่งเสียงพวกเขาจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นมืออาชีพ”

ทำไมถึงไม่ควรด่วนตัดสินว่าคนรุ่นใหม่อ่อนแอกว่าคนรุ่นเก่า

การที่คนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z ไม่สามารถซื้อบ้านซื้อรถหรือสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วเท่าคนสมัยก่อน เป็นตัวอย่างหนึ่งของมาตรฐานที่คนรุ่นเก่ามักหยิบยกมาใช้ตัดสินคนแบบรุ่นต่อรุ่น โดยลืมคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่น ๆ

เช่น เจ้าของบ้านรุ่น Baby Boomer ซึ่งก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองในวงกว้าง อาจจำได้แค่ว่าตนเองต้องดิ้นรน ขยันทำงานและเก็บออมเงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรก แต่ตอนนี้คนรุ่นลูกหลานกำลังเพลิดเพลินกับการปล้นบ้านของพวกเขา และเริ่มเชื่อว่าที่คนหนุ่มสาวไม่สามารถทำได้แบบตนเองเป็นเพราะความอ่อนแอ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่สู้ชีวิตเหมือนคนรุ่นก่อน โดยมองข้ามปัญหาในยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญทั้งราคาบ้านที่พุ่งสูงขึ้น อัตราการจ้างงานและค่าจ้างที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจและโรคระบาด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่สร้างเนื้อสร้างตัวได้ช้ากว่าคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ยาตายาย

นอกจากนี้ คนรุ่นเก่าหลายคนยังเชื่อว่า คน Gen Z เป็นกลุ่มคนที่เผชิญกับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากที่สุด เนื่องจากขาดความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต โดยลืมไปว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก ต้องพบเจอกับสารพันปัญหาทั้งความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน “ความจริงก็คือคน Gen Z กำลังเข้าสู่วัยที่เผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายอย่างที่คนรุ่นอื่นไม่เคยเผชิญในช่วงชีวิตเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบาดใหญ่ของ Covid-19 และอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียที่สร้างแรงกดดันโดยตรงผ่านสมาร์ทโฟนของพวกเขา

“เพิ่มเติมด้วยความท้าทายด้านสุขภาพจิตจากการเว้นระยะห่างทางสังคมและการแยกตัวระหว่างการระบาดใหญ่ รวมถึงความท้าทายในการเรียนทางไกล และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในด้านต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าเหตุใดคนรุ่นใหม่จึงรู้สึกว่ายุคสมัยของพวกเขาเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย” Jason Dorsey ประธานศูนย์ Generational Kinetics ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่ตั้งอยู่ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส กล่าว

ไม่ว่าจะคนรุ่นไหนก็เจอกับปัญหาและความท้าทายในยุคสมัยของตัวเอง

การกระทำและความเชื่อของคนแต่ละรุ่นจึงถูกกำหนดโดยปัญหาและความท้าทายที่เป็นเอกลักษณ์ในยุคสมัยของตนเอง เช่น คนรุ่น Baby Boomer และ Gen X อาจเติบโตขึ้นมาโดยปราศจากความสะดวกสบายของสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยี แต่พวกเขาก็ไม่ต้องต่อสู้กับความซับซ้อนของโลกออนไลน์ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและท่วมท้น

เช่นเดียวกับเรื่องโอกาสทางการศึกษาและอาชีพการงาน แม้ว่าคนรุ่นเก่าอาจไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีเท่ากับคนรุ่นหลัง แต่พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะได้งานที่ดีในระดับชนชั้นกลางโดยไม่ต้องเรียนจบปริญญาก็ได้ รวมทั้งไม่ต้องแบกรับภาระหนี้ทางการศึกษาที่คอยฉุดรั้งให้การสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นไปได้ช้าขึ้นเหมือนคนรุ่นใหม่

ในทางกลับกัน คน Gen Z ก็มีความเชื่อว่าคนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายไม่ได้ต่อสู้ชีวิตอย่างหนักเหมือนคนรุ่นพวกเขาที่ต้องเผชิญกับปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นฯ จนเกิดกระแส ‘OK Boomer’ ซึ่งเป็นวลีที่คนรุ่นใหม่ใช้ตอบโต้คนรุ่นเก่าที่เปรียบเทียบพวกเขาว่าอ่อนแอเหมือนเกล็ดหิมะ

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็อาจหลงลืมไปเช่นกันว่าคนรุ่นเก่าหลายคนก็ต้องต่อสู้กับปัญหาสังคมที่หนักหน่วงในยุคก่อนหน้านี้ เช่น การกีดกันทางเพศในรูปแบบที่รุนแรงหรือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ ผู้หญิงรุ่น Baby Boomer ในหลายประเทศต้องให้ผู้ชายลงนามในใบสมัครสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน รวมถึงการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติก็เคยถูกห้ามในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนรุ่นก่อนก็ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อล้มล้างหรือขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว

สุดท้ายนี้ Dorsey เชื่อว่ามีหนทางแก้ปัญหาความแตกต่างทางทัศนคติของคนต่างรุ่น โดยบริบทของยุคสมัยเป็นกุญแจสำคัญในการหักล้างข้อถกเถียงที่ว่าคนรุ่นไหนอ่อนแอกว่าคนรุ่นไหน

“วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้คนรุ่นเก่าและเด็กรุ่นหลังเลิกตัดสินกัน คือการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา หยุดสร้างบทสนทนาที่ไม่มีอยู่จริงในตอนนี้ เราต่างสร้างคำเปรียบเปรยที่บอกว่าคนอายุน้อยกว่าคือเกล็ดหิมะ และคนที่มีอายุมากกว่าคือไดโนเสาร์ ทั้งที่ความจริงเราทุกคนเป็นมนุษย์”

อ้างอิง :
https://www.bbc.com/worklife/article/20220218-are-younger-generations-truly-weaker-than-older-ones

The Snowflake Generation: To Be Young, Wild, and Absolutely Anxious

เครดิตรูปภาพ:
https://www.pexels.com/

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ