2 ศิลปินชาวญี่ปุ่น ผู้นำศิลปะและการละครมาใช้ในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก เรามักจะพบประชากรอายุกว่า 100 ปีเป็นเรื่องปกติในสังคมของพวกเขา ทำให้สังคมญี่ปุ่นมีประสบการณ์และวิธีต่าง ๆ มากมายในการจัดการและดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำนาญแห่งชาติ ระบบประกันการดูแลระยะยาว ระบบการจ้างงานผู้สูงอายุ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่กระจายตัวอยู่แทบทุกหัวมุมถนน จนบางคนบอกว่ามากพอ ๆ กับร้านสะดวกซื้อในบ้านเรา

มนุษย์ต่างวัยเปิดบ้านต้อนรับ 2 ศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้นำศาสตร์แห่งศิลปะและการละครเข้ามาขับเคลื่อนและแก้ปัญหาสังคมสูงวัยในประเทศ คนแรกคือคุณนาโอกิ ซูงาวาระ ประธานและผู้ก่อตั้งคณะผู้สูงวัยและการละคร OiBokkeshi (โออิ-โบะ-เกะ-ชิ) ด้วยประสบการณ์ทำงานทั้งในฐานะผู้ดูแลผู้สูงอายุและการเป็นนักแสดงละครเวทีทำให้เขาสังเกตเห็นว่าจริง ๆ แล้วผู้สูงอายุคือคนที่เหมาะจะเป็นนักแสดงมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าความจำของพวกเขาจะเลือนราง สภาพร่างกายจะถดถอย แต่หัวใจของพวกเขากลับยังสัมผัสทุกความรู้สึกได้ชัดเจนอยู่เสมอ

และอีกคนคือ คุณโทโมยะ ทาเคดะ โปรดิวเซอร์คณะละคร OiBokkeshi และผู้ก่อตั้งโครงการศิลปะ bench ผู้จัดการโครงการศิลปะที่ทำงานด้านการจัดการและอำนวยการผลิตเกี่ยวกับศิลปะในทุกด้าน ทั้งร้อง เต้น ดนตรี วาดภาพ และการละครมากว่า 20 ปี แต่ในอีกความสนใจหนึ่ง เขายังหลงเสน่ห์และประทับใจในศักยภาพของนักแสดงสูงวัยจนทำให้เขาอยากร่วมงานด้วย อันนำมาสู่การพัฒนาเป็นโครงการ “ศิลปินพำนัก” ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของจ.ไซตามะ ที่สร้างความสัมพันธ์อันงดงามในการเชื่อมโยงผู้สูงอายุ ศิลปิน และชุมชนเข้าด้วยกัน

จุดเริ่มต้นของการนำศาสตร์การละครมาใช้ดูแลผู้สูงอายุ 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้นาโอกิเคยเป็นนักแสดงละครเวทีตั้งแต่สมัยวัยรุ่น พออายุ 20 กว่า เขาผันตัวมาทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยศูนย์ดูแลที่เขาทำงานอยู่นั้นจะมีผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอย่างผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมอยู่ด้วย ด้วยประสบการณ์การแสดงและการดูแลของเขา ทำให้เขาเริ่มสังเกตเห็นว่างานของผู้ดูแลนั้นมีหลายอย่างที่คล้ายกับการแสดงละครเลยคิดว่าอยากรวมทั้ง 2 ศาสตร์นี้เข้าด้วยกัน

“จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าการละครกับการดูแลผู้สูงอายุเหมือนกันมากมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ไม่มีใครจะเป็นนักแสดงที่ดีได้เท่ากับผู้สูงอายุเพราะผู้สูงอายุมีประสบการณ์ชีวิตเยอะมาก สามารถนำเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตมาเป็นวัตถุดิบ หรือใช้ทำบทละครได้ อย่างที่สองคือบางครั้งการที่ผู้สูงอายุต้องหยุดทำงาน ใช้ชีวิตอยู่บ้านหรืออยู่แต่ในศูนย์ดูแลฯ ทำให้พวกเขาขาดบทบาท ขาดเป้าหมายที่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิต ดังนั้นการนำละครเข้ามาใช้กับผู้สูงอายุจึงเป็นการทำให้เขาได้กลับมามีบทบาทบางอย่างอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาจะตั้งใจและเต็มที่กับบทบาทที่ได้รับ

“อีกเรื่องที่ผมสังเกตได้จากประสบการณ์การเป็นผู้ดูแลของตัวเองคือ ผู้ดูแลคืออีกคนที่ควรจะมาเป็นนักแสดงมาก ๆ ผมเคยดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมแล้วพบว่าผู้สูงอายุมักจะเข้าใจผิดว่าผมเป็นคนอื่นอยู่ตลอด บางครั้งก็คิดว่าผมเป็นลูกชาย บางครั้งก็คิดว่าผมเป็นช่างซ่อมนาฬิกา ผมก็ต้องคอยปฏิเสธว่า ‘ไม่ใช่ ๆ ผมเป็นผู้ดูแลครับ’ ซึ่งพอปฏิเสธบ่อย ๆ เข้า ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ผู้สูงอายุก็ยังเข้าใจผิดว่าผมเป็นคนนั้นคนนี้อยู่ดี 

“วันหนึ่งผมก็เลยได้ไอเดียขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นลองเล่นตามน้ำไปเลยดีไหม ถ้าคุณตาคุณยาย อยากให้เป็นช่างซ่อมนาฬิกาก็เป็นให้เขาไปเลย ปรากฏว่าพอเล่นตามน้ำไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าความสัมพันธ์ของผมกับคุณตาคุณยายดีขึ้น ผมสามารถดูแลเขาได้ง่ายขึ้น ผมก็เลยรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าผู้ดูแลได้ลองแสดงบทบาทต่าง ๆ ตามจินตนาการของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมันก็น่าจะ       เป็นเรื่องที่ดี เพราะถึงแม้ว่าผู้สูงอายุที่เราดูแลจะมีภาวะสมองเสื่อม แต่อารมณ์ของพวกเขาไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ผมก็เลยยึดหลักการดูแลในเชิงอารมณ์ ทำตามอารมณ์ของคุณตาคุณยายแทนการใช้สมอง หรือใช้ความคิดในการจัดการกับภาวะที่พวกเขาเป็น ซึ่งมันน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับตัวผู้ดูแลเอง”   

ละครที่พาทุกคนกลับมาสนุกกับ “ที่นี่” และ “ตรงนี้”

“การโฟกัสกับปัจจุบันเป็นเหมือนเอกลักษณ์สำคัญของการแสดงละครเวที เพราะเราต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งที่   อยู่ตรงหน้า จึงจะสามารถทำการแสดงออกมาได้

“เมื่อปีพ.ศ. 2561 ผมมีโอกาสได้ร่วมโปรเจกต์ละครเร่ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของโรงละคร Saitama Gold Theater ในงาน World Gold Theater มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า ‘โยมิจินิ คิกะคุเดไนท์’ หมายถึง ‘ท้องฟ้าในตอนกลางคืนมันจะไม่มืดไปกว่านี้’ ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจากการที่ผมเข้าไปคุยกับคุณตาโอกาดะ นักแสดงที่เล่นละครด้วยกัน แล้วคุณตาก็มักจะเล่าเรื่องเพลิน เล่ายาวไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ฟ้าสว่างจนพระอาทิตย์ตกไปแล้วก็ยังไม่หยุด พอเห็นว่าคุยนานแล้วผมก็คอยมองดูนาฬิกาอยู่ตลอด คุณตาโอกาดะเลยบอกว่า ‘มันมืดแล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องพระอาทิตย์ตกหรอก’ หมายถึง ‘ให้ใจเย็น ๆ อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องรีบร้อน’ ผมเลยใช้ประโยคนั้นมาตั้งเป็นชื่อของละครเรื่องนี้ หลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2564 ก็นำมาทำเป็นละครเวทีภาคภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า ‘Theatre of Wandering’ 

การแสดงละครเร่ เป็นการพาผู้สูงอายุมาแสดงเป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม แล้วพาเขาเดินไปเรื่อย ๆ ให้คนดูเดินตาม เพื่อสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พอคนดูได้ชมการแสดงนั้น ก็ทำให้พวกเขามีความเข้าใจถึงอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น 

หนึ่งในนักแสดงที่ร่วมโปรเจกต์กับคุณนาโอกิมาอย่างยาวนานก็คือคุณตาโอกาดะผู้เป็นที่มาของชื่อโปรเจกต์ละคร

“ผมเจอคุณตาโอกาดะครั้งแรกตอนอายุ 88 ปี ตอนนี้คุณตาอายุ 98 ปีแล้วแต่ก็ยังเล่นละครด้วยกันอยู่ ตอนแรกผมคิดว่ายิ่งคุณตาอายุเยอะขึ้น ก็จะยิ่งทำอะไรได้น้อยลง เลยพยายามไม่ให้บทเยอะ เพราะกลัวคุณตาจะจำไม่ได้ จำไม่ไหว แต่กลายเป็นว่ายิ่งคุณตาอายุมากขึ้น เล่นละครมากขึ้น กลับยิ่งจำบทได้เยอะขึ้น บางครั้งคุณตาก็ขอบทเพิ่มเองด้วย และคุณตาก็ยังสามารถไปทัวร์ทั่วประเทศกับเราได้

“จริง ๆ แล้วคุณตาโอกาดะเป็นผู้ดูแล ภรรยาของเขาก็เป็นผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม พอคุณตามาเล่นละครกับเรา วิธีการดูแลภรรยาของคุณตาก็เปลี่ยนไป 

“ปกติอาการที่ภรรยาของคุณตาโอกาดะเป็นบ่อย ๆ คืออยู่ดี ๆ ก็บอกว่า ‘ฉันจะลาออก’ แล้วเดินออกจากบ้านไปเลย ซึ่งตอนนั้นคุณตาก็ไม่เข้าใจ แล้วถามว่าจะออกไปทำไม เลยทำให้เกิดการทะเลาะ มีปากเสียงกัน แต่พอคุณตาลองสวมบทบาท เล่นตามน้ำไปกับภรรยา พอภรรยาของคุณตาบอกแบบนั้น คุณตาก็บอกภรรยาว่า ‘อ๋อ ได้ครับ ถ้าอย่างนั้นกรุณากรอกใบลาออกตรงนี้ก่อน’ พอเเสดงไปแบบนั้น คุณตากับภรรยาก็ไม่ทะเลาะกัน แทนที่เราจะใช้ความคิดในการแก้ปัญหา เราเลือกที่จะปล่อยวาง ให้เขาเป็นอย่างที่เป็น แล้วเล่นไปตามเขา ก็ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้   

“ตอนที่ผมไปจัดเวิร์กช็อปการละครให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการแสดงนั้น ผู้ร่วมแสดงส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีพื้นฐาน หรือประสบการณ์มาก่อนเลย แต่พอได้ลองเล่น เขาก็อยากมาเล่นอีก ถึงแม้ว่าเราจะไปจัดแสดงในเมืองเล็ก ๆ อย่างเมืองวาเกะ แต่มีคนมาดูเยอะมาก ทั้งคนในเมืองและคนที่มาจากต่างเมือง ใน 1 ปีเราจะมาจัดแสดงกันประมาณ 2-3 ครั้ง มีทั้งละครเร่แบบที่เราเดินไปเดินมาอยู่ในเมือง และละครเวทีด้วย”

การดูแลที่ดีอาจไม่ใช่การพยายามทำให้เขารับรู้ตามจริง แต่คือการทำทุกสิ่งให้พวกเขามีความสุข

“สิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมคือการทำให้โมเมนต์ที่เป็นปัจจุบันของพวกเขาเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งการโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แสดงออกหรือตอบสนองไปตามอารมณ์ของผู้สูงอายุแทนการใช้เหตุผลหรือความคิด จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้สึก และเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

“คุณตาโอกาดะเคยบอกว่าตัวเองและภรรยาก็อายุเกิน 90 กันไปแล้ว ไม่รู้ใครจะจากไปก่อนกัน เวลาเหลือน้อยลงทุกวัน คุณตาอยากจะเข้าไปอยู่ในโลกของภรรยา อยากใช้เวลาด้วยกันให้ดีที่สุด ไม่อยากเสียใจภายหลัง แค่อยากทำทุกวันให้มีความสุขแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจากกันไป”

คุณค่าของชีวิตอาจหมายถึงแค่การอยู่เพื่อใช้ชีวิต

“การทำงานกับผู้สูงอายุทำให้มุมมองต่อค่านิยมในสังคมของผมเปลี่ยนไป ปกติสังคมญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องการเติบโต การก้าวไปข้างหน้า คนเราต้องทำอะไรสักอย่างถึงจะมีคุณค่า หรือไม่ก็ให้ค่ากับความสำเร็จ ถ้าเราเคยทำอะไรไม่ได้ แล้ววันหนึ่งเราทำมันได้ ถึงจะเป็นการเติบโต แต่การทำงานตรงจุดนี้ทำให้ผมเห็นว่าแค่การมีอยู่ของเรามันก็มีคุณค่าแล้ว อะไรที่เราทำไม่ได้ ก็แค่ยอมรับมัน ซึ่งเป็นมุมมองที่ดีต่อชีวิต ช่วยลดทอนความอึดอัดที่จะอยู่ในสังคมให้น้อยลง และมีความสุขกับปัจจุบันได้มากขึ้น   

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากงานดูแลผู้สูงอายุคือเป้าหมายในการทำงานของเราคือการทำให้คนตรงหน้ามีความสุข ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อเสียง เงินทอง หรือสิ่งอื่นเลย 

“เส้นทางชีวิตของผมเริ่มจากคนทำงานละครในเมืองหลวง จนกระทั่งผันตัวมาเป็นผู้ดูแล ทำงานบริบาล พอย้อนกลับไปมองละครอีกครั้ง ผมก็เห็นว่าศิลปะการละครเป็นศาสตร์ที่มีพลังมาก ๆ ทำให้ผมทำงานได้ง่ายขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สูงอายุ และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นด้วย”

“ศิลปินพำนัก” การใช้ศิลปะเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ของศิลปินกับผู้สูงอายุ 

นอกจากคณะผู้สูงวัยและการละคร OiBokkeshi ยังมีการนำศิลปะมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบของครอสเพลย์ด้วย ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจของทาเคดะ โปรดิวเซอร์ของคณะละคร ที่อยากสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมระหว่างศิลปิน ผู้สูงอายุ และชุมชน โดยใช้ศิลปะเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน 

“ผมทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ด้านการจัดการและอำนวยการผลิตของโครงการศิลปะ ทั้งในส่วนของการละคร แดนซ์ และดนตรีมากว่า 20 ปีแล้ว หลัง ๆ ผมเริ่มมองเห็นความสนุกในการทำงานกับคนที่ไม่ได้เป็นศิลปินอาชีพ หรือภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น   

“ผมมีโอกาสได้รู้จักคุณนาโอกิจากละครเร่ที่เขาไปจัดแสดงที่จังหวัดไซตามะ หลังจากนั้นก็เกิดความประทับใจและได้ทำงานร่วมกัน พอผมทำงานร่วมกับเขาไปเรื่อย ๆ ผมก็ได้รับอิทธิพลจากการทำงานศิลปะกับผู้สูงอายุมาด้วย     

“ปีพ.ศ. 2565 ผมเลยจัดโครงการของตัวเองขึ้นที่ศูนย์สวัสดิการผู้สูงอายุ ‘เดย์เซอร์วิส ราคุราคุ’ จ.ไซตามะ ชื่อว่า ‘ครอสเพลย์ฮิกาชิมัตสึยามะ’ เป็นโครงการที่เปิดรับศิลปินให้เข้ามาพำนัก เพื่อสร้างผลงานศิลปะ และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับผู้สูงอายุและผู้ดูแลในเดย์ แคร์ เซอร์วิส 

“โครงการศิลปินพำนักมีหลายรูปแบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในส่วนของศิลปินที่มาร่วมงาน ด้วยจะมี 2 แบบคือ ศิลปินที่เป็นภาคีร่วมและศิลปินทั่วไปที่เปิดรับสมัครเข้ามา ซึ่งระยะเวลาของ ศิลปินที่สมัครเข้ามาจะสั้นกว่าศิลปินจากภาคี 

“เราให้ศิลปินมาพำนักที่ศูนย์นี้ ไม่ใช่เพื่อให้พวกเขาได้มาทำงานศิลปะเท่านั้น แต่เราเน้นเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและบทสนทนากัน ซึ่งจะทำให้พวกเขามีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม”

ที่ผ่านมา ‘ครอสเพลย์ฮิกาชิมัตสึยามะ’ มีศิลปินหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมโครงการและสร้างสรรค์ผลงานมากมาย เช่น ผลงานการแสดง ‘เธอที่เป็นลมพัดแห่งหนใด จงลิ่วไหวไปตามสายลม ณ ตรงนี้’ ของโมะโมะโกะ ชิรากะ นักออกแบบท่าเต้น โดยการแสดงในครั้งนี้มีผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์เดย์เซอร์วิสราคุราคุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ร่วมแสดงด้วย หรือโครงการของวะตะรุ อะซะดะ นักเขียนที่เข้ามาใช้เวลากับผู้สูงอายุและคนในชุมชนจนแต่งเพลงได้ ซึ่งทุกวันนี้ผู้สูงอายุยังร้องเพลงนี้อยู่แทบทุกวัน และมีการบันทึกเสียงโดยคุณตาคุณยายและนักเรียนประถมในพื้นที่ เพื่อที่จะนำไปเปิดที่หอนาฬิกาหน้าศูนย์

นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีจัดการแสดงบนเวที นิทรรศการ และนำเสนอผลงานศิลปะอื่น ๆ ตลอดจนโครงการแลกเปลี่ยนชุมชน การประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างศิลปิน และการเผยแพร่ผลงานของศิลปินด้วย

                  

เมื่อทีมงานถามว่า พวกเขาได้อะไรจากการทำงานกับผู้สูงอายุบ้างคุณนาโอกิบอกกับเราว่า สังคมญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องการเติบโต การก้าวไปข้างหน้า คนเราต้องทำอะไรสักอย่างถึงจะมีคุณค่าต่อสังคม แต่พอมาทำงานกับผู้สูงอายุ ผมกลับพบว่าแค่การมีอยู่ของเรามันก็มีคุณค่ามากพอแล้ว อะไรที่เราทำไม่ได้ แค่เรายอมรับมันได้ นั่นก็ถือว่าเราเติบโตขึ้นแล้ว”  

ส่วนคุณทาเคดะที่ถึงแม้จะไม่ได้มีประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุแต่การทำงานกับผู้สูงอายุก็มีความหมายบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปเช่นเดียวกัน

“การได้มาทำงานกับผู้สูงอายุทำให้มุมมองต่อสังคมของผมเปลี่ยนไป ในฐานะคนทำงานด้านการจัดการศิลปะ ผมรู้สึกสนุกที่ได้ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการทำงานศิลปะเพื่อเป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ หรือการใช้สวัสดิการดูแลผู้สูงอายุมาเอื้อต่องานศิลปะอย่างเท่าเทียม ถึงแม้ว่าจะต้องเจอกับความยากลำบากในการทำงานบ้าง แต่ผมก็รู้สึกท้าทาย และยังอยากทำงานนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ