ห้องเรียนเดียว 30 วิชา! พื้นที่ค้นหาตัวตนสำหรับคนทุกวัย จะอายุเท่าไหร่ก็เรียนได้ไม่มีวันจบ

หลายคนเรียนจบมาก็ทำงานหนักเสียจนไม่มีเวลาทำอะไรใหม่ ๆ ในชีวิต กว่าจะรู้ตัวว่าอยากเรียน อยากทำอะไร บางทีก็ผ่านพ้นไปถึงวัยเกษียณ หรือหนุ่มสาวที่อยากเติมเต็มทักษะใหม่ทั้งเป็นงานอดิเรกหรือต่อยอดเป็นอาชีพ แต่ทุกการก้าวผ่านย่อมต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่าย แต่ไม่ใช่กับที่แห่งนี้

‘สมาคมบ้านปันรัก’ คือห้องเรียนขนาดเล็กในสวนสวยใจกลางกรุง ย่านซอยอารีย์ 1 ที่นี่เป็นชั้นเรียนสุดบันเทิงที่จะพาทุกคนมาเติมทักษะใหม่ของชีวิตได้ตลอดเดือนโดยไม่จำกัดอายุและการศึกษา กว่า 30 วิชาเปิดสอนฟรีให้ใครก็ตามที่สนใจเข้ามาจับจองที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นวาดเส้น เล่นไวโอลิน ตีขิม ปลูกผัก ถักผ้า เรียนภาษา หัดพูดเกาหลี ฝรั่งเศส เขมร หรือแม้กระทั่งตามหาตัวตนผ่านการเรียนการแสดง !

กว่าสิบปีที่ผ่านมา สมาคมบ้านปันรักยังคงบรรยากาศการเรียนที่สนุกสนานเป็นกันเอง และยินดีต้อนรับนักเรียนทุกเพศทุกวัย แถมยังเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถได้ลองมาเป็นคุณครูผู้สอนได้ด้วย เพราะที่แห่งนี้เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ มีคุณค่า และสามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้ทั้งครูและนักเรียนตลอดชีวิตโดยไม่ถูกจำกัดด้วยคำว่าอายุ การเรียนรู้ไม่มีคำว่าสิ้นสุด ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ทุกช่วงวัย

“สมาคมบ้านปันรัก เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่อยากส่งเสริมให้เป็นแหล่งบูรณาการความรู้ แลกเปลี่ยนถ่ายทอดระหว่างกัน และให้เป็นจุดศูนย์รวมของคนที่ใจเต็มจนล้นออกมา และพร้อมจะแบ่งปันให้ผู้อื่น จนกลายเป็นกลุ่มสังคมการเรียนรู้และเกิดเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น” ดร. วีรณัฐ โรจนประภา นายกสมาคมบ้านปันรัก เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการก่อตั้งสมาคมฯ

ในช่วงแรกที่ก่อตั้ง หลักสูตรจะเป็นการสอนผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ต่อมาจึงเริ่มมีวิชาเรียนที่หลากหลายมากขึ้นตามความต้องการของผู้เรียน แต่ที่ดูจะเป็นที่นิยมมากที่สุดคือชั้นเรียนภาษา

“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่นิยมมาเรียนภาษากัน เพราะอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกสมองในการจดจำ พัฒนาทักษะ ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนใหม่ๆ มีสังคมใหม่ สร้างสุข คลายเหงา และในอนาคต เราจะจัดการเรียนการสอนเมตาเวิร์ส (metaverse), การใช้ Oculus หรือแว่นวีอาร์ (VR) สอนการเขียน ChatGPT Prompts ด้วย” ดร. วีรณัฐ กล่าวเสริม

บ่ายวันนี้ แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่สมาคมบ้านปันรักก็ยังคึกคักไปด้วยเหล่าผู้คนทุกเพศทุกวัย เราได้เห็นนักเรียนกลุ่มใหญ่นั่งอยู่ในห้องเรียนด้วยท่าทางแข็งขันตั้งใจ มือซ้ายจรดปากกา มือขวาก็ยกมือแย่งกันตอบ บรรยากาศแสนสนุกสนานในห้องเรียนสะท้อนผ่านเสียงหัวเราะที่ทะลุบานกระจกขนาดใหญ่ออกมา มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแดงต้อย วัย 65 ปี คุณประภัสสร วัย 58 ปี และคุณกาญจนา วัย 67 ปี กลุ่มเพื่อนซี้ที่มาเจอกันในคลาสเรียนภาษาฝรั่งเศสของบ้านปันรัก ร่วมกันเล่าถึงความประทับใจ และแรงบันดาลใจในการมาเรียนที่แห่งนี้

“เราแต่งงานกับชาวฝรั่งเศสมา 40 ปี แต่คุยกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ที่ผ่านมาเคยลงเรียนภาษาฝรั่งเศสในประเทศเขาเหมือนกัน ตอนนั้นเราต้องเรียนกับชาวต่างชาติ เช่น ผู้ลี้ภัยยูเครน แล้วเราไม่ใช่ผู้ลี้ภัยใช่ไหม การอยู่ร่วมกับเขามันค่อนข้างลำบาก สังคมมันก็ไม่เหมือนกัน ประเทศเขาก็มองเราเป็นบุคคลที่สาม แถมที่นั่นยังมีแต่วัยรุ่น เพราะเขาเรียนไปเพื่อการทำงานเลยต้องเข้มข้นจริงจัง แต่เราอยากเรียนเพื่อไปดูแลสามีเท่านั้น เป้าหมายมันต่างกัน ตอนนั้นเราเรียนได้สองสัปดาห์ก็เลิกไป มันไม่มีความสุขเลย

“แต่พอกลับมาไทย เราเห็นในเพจสมาคมฯ ว่าที่นี่มีสอนภาษาฝรั่งเศส ก็ตั้งใจมาเรียนเลย พอมาเรียนที่นี่เรามีความสุขกว่ามาก ได้เพื่อนฝูงวัยเดียวกัน ได้สังสรรค์กับเพื่อน มันเอนจอย บรรยากาศในการเรียนก็ดี แถมยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย” คุณแดงต้อยเล่าให้เราฟังถึงที่มาในการเข้าชั้นเรียน

ในขณะที่คุณประภัสสรและคุณกาญจนา คู่เพื่อนซี้ที่มาเจอกันในชั้นเรียน เล่าให้เราฟังถึงความประทับใจในการมาเรียนที่สมาคมแห่งนี้จนทำให้ต้องลงเรียนต่อเนื่องเกือบทุกคลาส

“เรามาที่นี่ครั้งแรกก็เมื่อต้นปีนี้เอง วิชาแรกที่เราลงเรียนคือ ‘การลากเส้นด้วยสติ’ หลังจากนั้นก็ลงเรียนหลายๆ วิชา จนตอนนี้มาเรียนประจำทุกอาทิตย์เลย

“เราเป็นคนชอบเรียนภาษา แล้วได้แรงบันดาลใจตอนไปอยู่ที่แคนาดา เห็นพ่อแม่ของเพื่อนชาวต่างชาติเขาอายุ 70-80 ปี กันแล้ว แต่นิยมมาเรียนภาษาที่สามกัน ตอนนั้นเราตกใจมากว่าทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ ตอนหลังถึงรู้ว่าผู้สูงอายุที่นั่นเขานิยมเรียนภาษากันในวัยหลังเกษียณเพราะต้องฝึกสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์

“การลงเรียนภาษาฝรั่งเศสที่นี่ แม้ว่าจะไม่ได้เอาไปใช้ แต่เป็นเพราะอยากเปิดโลก ฝึกสมอง คุณครูก็น่ารักและเพื่อนร่วมคลาสก็ทำให้เรามีความสุข” คุณประภัสสร นักเรียนวัย 58 ปี อดีตข้าราชการเกษียณเล่าให้เราฟังถึงความสุขและแรงบันดาลใจ

ในขณะที่คุณกาญจนา นักเรียนวัย 67 ปี ผู้ซึ่งเรียนและทำงานด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตลอดชีวิตจนกระทั่งเกษียณอายุ และนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ลองเรียนภาษาใหม่ ๆ ในวัยหลังเกษียณ

“ก่อนหน้านี้เราต้องทำงานตลอด ไม่มีเวลาเลย ตอนนนี้เกษียณอายุแล้วเลยมาลงเรียนเกือบทุกวิชา ตัวเราเรียนสายวิทยาศาสตร์มาก่อน ไม่มีพื้นฐานทางภาษาศาสตร์เลย พอได้มาลองเรียนภาษาใหม่ ๆ แล้วสนุกมาก ครูก็น่ารัก ใจเย็น แถมได้มีเพื่อนวัยเดียวกัน หัวเราะกันได้ทั้งชั่วโมง เลิกเรียนแล้วพวกเราก็ไปกินเที่ยวด้วยกันด้วย ยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่

“ส่วนตัวเราคิดว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนภาษาใหม่เลย กลับยิ่งทำให้กระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า มันทำให้เรารู้ว่าทุกเช้าเราตื่นมาเพื่ออะไร” คุณกาญจนายืนยันว่าอายุไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ทักษะทางภาษาใหม่ ๆ เลยแม้แต่น้อย

“สำหรับเราที่วัย 60+ แล้ว ถ้าถามว่าเริ่มเรียนภาษาใหม่เป็นอุปสรรคไหม คำตอบคือไม่มีเลยนะ แล้วเพื่อนในวัยนี้ ถึงจะเจอกันไม่กี่ครั้ง แต่ก็สนิทกันได้เร็ว ใช้เวลาที่มีอยู่สนุกสนานไปด้วยกัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” คุณแดงต้อยกล่าวทิ้งท้าย

บทสรุปของนักเรียนวัยเกษียณทั้ง 3 คน อาจช่วยยืนยันว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน ทุกคนสามารถเรียนรู้ทุกอย่างที่ใจปรารถนาได้โดยไม่มีอายุเป็นข้อจำกัด ยิ่งห้องเรียนมีบรรยากาศที่ดี ก็ยิ่งมีส่วนกระตุ้นให้ผู้สูงอายุอยากออกจากบ้านมามีสังคม ไม่นอนเหงาอยู่ในบ้านอย่างเดียวดาย

แต่ไม่ใช่จะมีแต่นักเรียนวัยเกษียณเท่านั้นที่ได้มาค้นพบตนเองหรือพบปะสร้างสังคมใหม่ ครูอาสาที่มาสอนที่นี่ ก็ได้รับประสบการณ์อันแสนอบอุ่นประทับใจกลับไปเช่นกัน นี่จึงเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า ยิ่งผู้สูงวัยได้ออกจากบ้าน มาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็ยิ่งช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

‘ครูกิ’ – กิติยา วิทยาประพัฒน์ วัย 36 ปี ครูสอนภาษาฝรั่งเศส และ ‘ครูตั้ม’ – วิทยา สงวนพงษ์ วัย 67 ปี ครูสอนวาดภาพ ทั้งคู่มีประสบการณ์การสอนมาอย่างยาวนานและเลือกที่จะมาเป็นครูอาสาในที่แห่งนี้เพราะรู้สึกว่าที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความสุข และทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนไปพร้อมกับนักเรียน

“วันแรก เรามาที่นี่ในฐานะนักเรียนภาษาสเปน เพื่อนในคลาสก็มีแต่ผู้สูงอายุ พอเลิกเรียนเราได้เจอคุณใหม่ นายกสมาคมฯ (ดร. วีรณัฐ โรจนประภา) เขาก็ให้แต่ละคนแชร์ว่านอกจากมาเป็นนักเรียนแล้ว มีใครถนัดสอนอะไรบ้างไหม? เราเองก็แชร์เหมือนกันว่าสอนภาษาฝรั่งเศสได้ และอยากสอนทำหนังสือทำมือ เราเอาหนังสือทำมือที่พกมาด้วยให้เขาดู จากนั้นก็ได้ลงชื่อเป็นคุณครูเลย” ‘ครูกิ’ – กิติยา วิทยาประพัฒน์ วัย 36 ปี ครูสอนภาษาฝรั่งเศส เล่าถึงที่มาของการมาเป็นครูที่สมาคมบ้านปันรักแห่งนี้

“ส่วนผมเคยทำงานด้านการออกแบบตกแต่งภายในมาก่อน แล้วสอนศิลปะให้เด็กพิเศษด้วย ตอนนี้มาเป็นครูอาสาที่นี่เต็มตัว จนถึงตอนนี้ก็ 21 ครั้งแล้ว” ‘ครูตั้ม’ – วิทยา สงวนพงษ์ วัย 67 ปี ครูสอนวาดรูปกล่าวเสริม

โดยปกติ นักเรียนของครูกิและครูตั้มจะเป็นนักเรียนมัธยมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่การมาสอนผู้สูงอายุที่นี่กลับให้ประสบการณ์ที่ต่างออกไป ทั้งคู่เล่าว่าได้เห็นความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่

“เราสอนภาษาฝรั่งเศสมากว่า 15 ปี ปกติจะสอนเด็กมัธยมเป็นหลัก แต่พอได้มาสอนที่นี่แล้วตกใจมาก เราแปลกใจที่นักเรียนผู้สูงอายุพร้อมเรียนมากกว่าเด็กมัธยมด้วยซ้ำ เวลาสอนออกเสียง เด็ก ๆ มักจะอาย ไม่กล้าพูด แต่ผู้สูงอายุที่นี่ไม่เลย ให้พูดอะไรก็พูด ให้เขียนอะไรก็เขียน เราเคยมีความคิดว่าการเรียนภาษา ถ้ายิ่งฝึกพูดแต่เด็กจะยิ่งออกเสียงได้ดีเหมือนเจ้าของภาษา แต่ผู้สูงอายุทำให้เราแปลกใจมาก เขาออกเสียงได้ดีทั้งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน มันทำให้เรารู้ว่าความเชื่อที่เรามีมาตลอดมันผิด จริง ๆ แล้วผู้สูงอายุก็ทำได้ดีไม่ต่างกัน อีกสิ่งหนึ่งคือผู้สูงอายุมีประสบการณ์ชีวิตเยอะกว่า เวลาอธิบายอะไรก็เข้าใจได้รวดเร็ว บางคนเคยเรียนมาแล้ว พอกลับมาเรียนอีกครั้งก็เหมือนมาฟื้นความจำ บางคนเริ่มจากศูนย์เลยก็มี แต่เชื่อไหมว่าเรียนได้ดีไม่แพ้กัน

“ถ้าถามว่าการเริ่มเรียนภาษาจากศูนย์ เด็กจะทำได้ดีกว่าจริงไหม? ส่วนตัวเราคิดว่าไม่เลย ผู้ใหญ่เรียนรู้ได้เร็วกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขาเต็มใจจะเรียน และไม่ได้เรียนไปเพื่อสอบหรือไปทำงาน เขาเรียนเพื่อความสุข เพื่อฝึกสมอง ไม่มีความคาดหวัง ความกดดัน มันทำให้พร้อมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ง่ายกว่า” ครูกิเล่า

“สำหรับผม การสอนเด็กกับผู้สูงอายุต่างกัน การสอนเด็กเราต้องเล่นกับเขาเพราะเขายังมีความสนใจสั้น และต้องการพื้นที่ให้ใช้จินตนาการ แต่ผู้สูงอายุเขาพร้อมเรียนมากกว่าเพราะมาด้วยความสนใจ สิ่งที่เขาต้องการคือกำลังใจและการให้คำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น และอาจต้องมีเทคนิคใหม่ ๆ มาสอนบ้างเพื่อให้เขาไม่เบื่อ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความสำคัญ” ครูตั้มกล่าวเสริม

แม้ว่าทั้งครูกิและครูตั้มจะมาทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน แต่กลับมีหลายสิ่งที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้จากนักเรียนผู้สูงอายุ และกลายเป็นประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้

“การสอนหนังสือให้ผู้สูงอายุทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมาก เราเคยเจอผู้สูงอายุคนหนึ่ง เขาเรียนจบอักษรศาสตร์มา แต่ตอนนี้เป็นอัลไซเมอร์และซึมเศร้า เขาดูค่อนข้างกังวลว่าจะเข้ากับที่นี่ได้ไหม แต่ในชั้นเรียน เราได้เห็นเขาหัวเราะ เขาดูมีความสุขที่ได้กลับมาใช้ภาษาฝรั่งเศสที่เขาเคยเรียนอีกครั้ง และเขาก็ทำได้ดีมาก จนเรียกได้ว่าท้ายคาบเขาแทบจะมาสอนแทนเราได้แล้ว (หัวเราะ)

“เหตุการณ์ครั้งนั้นมันทำให้เรารู้สึกดีมาก เพราะแต่ก่อนเราคิดว่าการเรียนภาษามันเอาไว้ใช้ทำมาหากินเท่านั้น แต่ครั้งนี้มันทำให้เราเห็นว่ามันช่วยคนได้ มันทำให้เขาอารมณ์ดี หายซึมเศร้า มันดีต่อใจเรามาก ไม่คิดว่าภาษาจะช่วยเยียวยาจิตใจได้ขนาดนี้

“มีครั้งหนึ่ง เราสอนคำว่า ‘บงฌูร์’ (Bonjour) ที่แปลว่า ‘สวัสดี’ ให้เขา แล้วอยู่ ๆ นักเรียนคนนั้นก็พูดขึ้นมาว่า ‘บงฌูร์ ทริสเตส’ (Bonjour Tristesse) ที่แปลว่า ‘สวัสดีความเศร้า’ เราเอาคำนี้ไปค้นในอินเทอร์เน็ต ปรากฏว่ามันมาจากวรรณกรรมผู้หญิงเล่มหนึ่งที่ดังมากของ ฟรองซวส ซากอง (Françoise Sagan) แต่เราไม่เคยรู้จักเลย เราคิดว่านี่คือภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ เป็นความรู้ ประสบการณ์ที่เขามีในตัว แต่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้จากที่นี่ เพราะที่ผ่านมาเรามัวแต่ไปฟังนักวิชาการ

“ส่วนตัวเราเองเป็นคนชอบเรียนหนังสือ เราอายุ 36 ปีแล้ว แต่ยังชอบไปลงคอร์สเรียนที่สนใจ เคยคิดเหมือนกันนะว่าเราจะเรียนแบบนี้ไปถึงอายุเท่าไหร่ เวลาเราไปเรียนนู่นนี่ คนจะมองว่าเราประหลาดหรือเปล่า แต่พอมาเห็นผู้สูงอายุที่นี่แล้ว เขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราว่า ฉันก็ทำแบบนี้ได้จนตายนี่นา (หัวเราะ)” ครูกิเล่าถึงประสบการณ์สอนผู้สูงอายุในห้องเรียนด้วยแววตาเปล่งประกาย

“ในส่วนคลาสวาดรูป ผมคิดว่าเราได้ความเป็นครอบครัว มีครั้งหนึ่ง หลังเรียนในห้องเรียนจบแล้ว ผมชวนนักเรียนว่าถ้าใครสนใจออกไปวาดรูปนอกสถานที่ให้รวมตัวกันมา แล้วเขาก็มากันจริง ๆ ทั้งที่เขาเพิ่งจะรู้จักกันในชั้นเรียน เรานั่งเขียนรูปกันสักพักก็ตระเวนหาของกินกัน ด้วยความที่เป็นผู้สูงอายุ เขาก็จะเตรียมตัวกันมาอย่างดี มีนักเรียนบางคนต้มไข่มาเผื่อเพื่อน ๆ ระหว่างออกทริปด้วย ระหว่างนั้นเขาก็แบ่งหน้าที่กันถ่ายคลิป ถ่ายภาพ แล้วมาโพสต์กันในกลุ่ม เป็นที่สนุกสนาน

“การมาสอนที่นี่ สำหรับผมมันมองไม่เห็นหรอกว่าได้อะไรกลับไป แต่สิ่งที่รู้สึกได้คือความสบายใจ พอได้ทำอะไรให้คนอื่นแล้วเหมือนผมได้รับพลังดี ๆ บางอย่างกลับไปเสมอ

“ส่วนตัวผมอายุ 67 ปีแล้ว ศิลปะให้อะไรกับผมเยอะมาก มันทำให้ผ่อนคลาย ฝึกสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ พาร์กินสันได้จริง ๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่ต้องกังวลว่าจะวาดรูปไม่ได้ อยากให้คิดว่าออกมาสนุก ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะคำว่าเกษียณอายุมันไม่มีหรอก” ครูตั้มกล่าวเสริม

“ส่วนเราอยากบอกผู้สูงอายุว่า ให้ออกจากบ้านมาเถอะ มาแชร์กับคนหนุ่มสาว พวกเขามีภูมิปัญญา มีประสบการณ์หลายอย่างที่คนอย่างเราไม่มี และเราก็อยากเรียนรู้จากพวกเขาเหมือนกัน” ครูกิกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ