รู้จักร่างกายตัวเองให้ลึกถึงเซลล์ เพื่ออายุที่ยืนยาวและสุขภาพที่แข็งแรงกับ Wincell Research

ในยุคที่การมีอายุร้อยปีมีความเป็นไปได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในการมีชีวิตอยู่กับวันคืนที่ยาวนานนี้ก็คือ “การมีสุขภาพที่ดี” มนุษย์ต่างวัยชวนมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลสุขภาพของผู้คนในอนาคต กับ นายแพทย์โอฬาร เปี่ยมกุลวนิช ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วินเซลล์ รีเซิร์ช จำกัด แพทย์ผู้สนใจงานวิจัยและริเริ่มนำศาสตร์ทางเทคโนโลยีชีวภาพที่ทันสมัยมาผสมผสานเชิงบูรณาการกับวิทยาการทางการแพทย์ เพื่อตรวจวิเคราะห์ บำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพผ่านระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ชั้นนำทั่วประเทศมากว่า 17 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน รวมถึงสร้างทางเลือกในการรักษาโรคยอดฮิตอย่างมะเร็งให้มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น

“ผมเคยป่วยและต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่เป็นปี ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ กับร่างกาย บวกกับความเป็นหมอที่พบเจอคนไข้อยู่บ่อย ๆ แล้วพบว่าการรักษาโรคหรือกลุ่มอาการหลายอย่างมักมีลักษณะวนไปวนมา หลายคนที่เข้ารับการรักษาก็ยังคงมีอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า ผมก็เลยมาคิดทบทวนดูว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้คนไข้ให้ได้รับการดูแลรักษาจากสาเหตุที่แท้จริงได้

“ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่กลับมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาไปศึกษาเกี่ยวกับการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ตอนนั้นผมเลยคิดว่าสิ่งนี้อาจจะช่วยตอบโจทย์ที่คาใจเราได้ โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบงานวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ผมเลยเสนอโครงการให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อขอทุนในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิจัยในเรื่องนี้ และพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวินเซลล์ รีเซิร์ชในปัจจุบัน”

เป้าหมายทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่อายุยืนยาว แต่ต้องอายุยืนยาวพร้อมกับสุขภาพที่ดี

“เมื่อก่อนเป้าหมายหลักทางการเเพทย์คือ เราต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนมีอายุขัย (Lifespan) ที่ยาวนานขึ้น ซึ่งพอถึงยุคสมัยหนึ่งก็สามารถทำให้เป็นไปได้ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในการซ่อมแซมและฟื้นฟูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม ถึงแม้ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เรามาดูข้อมูลในเชิงลึก กลับพบว่ายิ่งคนมีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคภัยต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามมาด้วย อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ  จึงเกิดคำถามว่าการมีอายุยืนยาวเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจริงหรือไม่ ท้ายที่สุดเราก็ได้ข้อสรุปกันว่า จริง ๆ แล้ว ทุกคนไม่ได้ต้องการ Lifespan เป็นตัวหลัก แต่เราต้องการที่จะมีช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดี (Health Span) มากกว่า นั่นคือทำอย่างไรให้มีอายุยืนไปพร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรงด้วย

“ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ว่า ทำอย่างไรให้เป็นแบบนั้นได้ เราต้องรู้ก่อนว่า ปัญหาของแต่ละคนคืออะไร ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถไปถึงจุดนั้นได้แล้ว  นั่นก็คือ การตรวจวิเคราะห์เชิงลึกในระดับพันธุกรรมและประเมินอายุเซลล์ได้  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเราสามารถประเมินภาวะสุขภาพ หรือ Health Span ของเขาได้และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป”

รู้จักกับการตรวจเทโลเมียร์เพื่อพยากรณ์สุขภาพ

“มีคำแนะนำว่าเราควรไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินภาวะสุขภาพว่า ณ เวลานั้นเรามีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง ซึ่งผมเองก็เห็นว่าเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์  แต่หากมองให้ลึกซึ้งก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดบางอย่างโดยเฉพาะสัญญาณที่ใช้ในการบ่งชี้ระหว่างการ ‘เป็นโรค’ กับ ‘ไม่เป็นโรค’ เพราะก่อนที่เราจะตรวจพบว่าเป็นโรค จะมีสัญญาณต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี ดังนั้นหากเรารู้สัญญาณที่จะนำไปสู่การเกิดโรคเหล่านั้นได้ก่อน ก็จะช่วยหยุดยั้งหรือป้องกันการเกิดโรคได้

“เทคโนโลยีการตรวจอายุเซลล์หรือการตรวจวัดความยาว ‘เทโลเมียร์’ (เทโลเมียร์ คือ ส่วนปลายสุดของโครโมโซมที่ทำหน้าที่ในการปกป้องสารพันธุกรรม) จะเข้ามาช่วยในการตรวจช่วงรอยต่อระหว่างการป่วยกับไม่ป่วยได้

“ความแตกต่างของการตรวจสุขภาพทั่วไปกับการตรวจเทโลเมียร์ก็คือ การตรวจสุขภาพประจำปีที่เราตรวจกันตามปกติจะมีความละเอียดในเชิงของการเจาะจงไปที่อวัยวะต่าง ๆ โดยตรง แต่การตรวจเทโลเมียร์เป็นเหมือนการมองภาพกว้างของร่างกายในระดับเซลล์ว่า ณ ขณะนั้นมีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงต้นทุนสุขภาพที่ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากครอบครัวด้วย 

“การหดสั้นลงของสายพันธุกรรมเกิดขึ้นทั้งการแบ่งเซลล์ตามปกติ และเมื่อเซลล์มีความเสียหายแล้วต้องสร้างใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งทุกครั้งที่มีการสร้างใหม่ เทโลเมียร์ก็จะถูกตัดสั้นลงไป สิ่งที่เราทำก็คือเราจะเก็บสถิติแล้วนำมาเปรียบเทียบกับอายุของคนไข้ ถ้าสมมติว่าคนไข้ตรวจพบว่าเทโลเมียร์หดสั้นลงอย่างรวดเร็วมากกว่าปีอื่น ๆ ก็จะเป็นสัญญาณให้เขารู้แล้วว่ามีภาวะบางอย่างคุกคามเซลล์ร่างกายเขา ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง ซึ่งเทคโนโลยีเฉพาะของวินเซลล์ รีเซิร์ช นี้ เรานำเข้ามาเพื่อช่วยให้คนไข้ได้รู้สัญญาณล่วงหน้าและทำการแก้ไขก่อนที่จะเกิดโรค”

หลากหลายปัจจัยที่มีผลต่อความยาวเทโลเมียร์

“งานวิจัยพบว่าการหดสั้นลงของเทโลเมียร์มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ดังนั้นหากเรามองในเชิงป้องกัน การตรวจพบความยาวเทโลเมียร์ที่ผิดปกติจึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยของการเกิดโรคได้

“เทโลเมียร์ที่หดสั้นลงมีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และรูปแบบในการดำรงชีวิต การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่เสมือนเป็นต้นทุนเดิม ซึ่งต้นทุนส่วนนี้จะงอกเงยหรือหมดไปขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการดูแลเอาใจใส่สุขภาพในปัจจุบันของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ความเครียดสะสม หรือการออกกำลังกาย 

“ปัจจุบันพบว่าอาหารหลายชนิดมีการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ ซึ่งสารพิษที่มีผลกระทบต่อเทโลเมียร์โดยตรง ได้แก่ สารหนูและแคดเมียม ซึ่งมักจะปนเปื้อนมากับปลาทะเล หรือพืชที่เพาะปลูกใกล้แหล่งอุตสาหกรรมเป็นหลัก บ่อยครั้งที่เราไม่รู้ตัวว่าร่างกายได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าไป จนกว่าจะมีอาการของโรคปรากฏขึ้น 

“จากงานวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังมักจะตกอยู่ในภาวะความเครียดสะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน บุคคลเหล่านี้จะมีเทโลเมียร์ที่หดสั้นมากกว่าคนที่มีความเครียดน้อยกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวเกินที่มีภาวะการอักเสบสะสมอันเนื่องมาจากการทำงานของเซลล์ไขมันมากกว่าคนทั่วไป มักจะมีความยาวเทโลเมียร์ที่หดสั้นเร็วกว่าปกติ แต่สามารถเยียวยาให้ดีขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกาย

“วัตถุประสงค์ของการตรวจวัดความยาวเทโลเมียร์เพื่อให้เราได้เห็นและกลับมาตระหนักว่าพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเราส่งผลรุนแรงต่อร่างกายและสุขภาพมากกว่าที่คิด การตรวจความยาวเทโลเมียร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้และเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น

“เราสามารถลดหรือชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเทโลเมียร์ได้ ถ้าเราพบว่าสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอก ทางการแพทย์อาจจะใช้ยาหรือสารอาหารเข้าไปช่วยลดความเสียหาย หยุดยั้ง หรือชะลอการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ได้ แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นฟูระยะยาวนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่ควรรู้ว่าปัจจัยเสี่ยงที่แท้จริงคืออะไร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต และเพิ่มความเอาใจใส่ในการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เทโลเมียร์ของเราดีขึ้นได้”

“ภูมิคุ้มกันบำบัด” ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ที่ทำให้เราสามารถรักษามะเร็งได้ด้วยภูมิคุ้มกันจากร่างกายตัวเอง

นอกจากการนำเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์มาใช้ในแง่มุมของการป้องกันโรคแล้ว เรายังมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยในการเยียวยารักษาโรคด้วย โดยเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ซึ่งในแง่มุมนี้เองที่เป็นอีกจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดวินเซลล์ รีเซิร์ชขึ้นมา เพื่อพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ให้ทันสมัยเพิ่มทางเลือกในการรักษาและโอกาสรอดให้กับผู้ป่วยมะเร็ง

“ผมมีโอกาสได้ดูแลคนไข้มะเร็งหลายราย เขามักจะบอกผมว่า ไม่มีอะไรที่มีคุณค่ามากไปกว่าสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะมีทรัพย์สิน เงินทองมากมายเท่าไรก็เทียบไม่ได้ 

“แนวทางหลักในการรักษาโรคมะเร็งคือ การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด ให้ยา และการฉายแสง เราก็พยายามหาว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรเพิ่มเติมที่จะมาช่วยในการเยียวยารักษาคนไข้มะเร็งได้อีก ซึ่งพบว่าเทคโนโลยีการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (Cellular Immunotherapy) สามารถเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีผลข้างเคียงต่ำ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ และน่าจะมีประโยชน์ต่อคนไข้มะเร็งในประเทศไทย

“เราเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีบทบาทสำคัญต่อการปกป้องเราจากสิ่งคุกคามทางสุขภาพต่าง ๆ เราจึงเน้นการประยุกต์ใช้ระบบภูมิคุ้มกันในการบำบัดรักษาคนไข้มะเร็ง เริ่มจากการนำเทคโนโลยีการตรวจประเมินประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันมาช่วยในการวินิจฉัยทางการแพทย์เพื่อหาขีดความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในตัวคนไข้ โดยพิจารณาเบื้องต้นจากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งบ่อยครั้งที่ข้อมูลส่วนนี้ไม่เพียงพอต่อการประเมินสภาวะภูมิคุ้มกันของคนไข้ เพราะบางคนอาจมีจำนวนเซลล์ปกติแต่เซลล์เกิดความเสียหายไปมากแล้วก็ได้

“เทคโนโลยีการตรวจประเมินประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันที่วินเซลล์ รีเซิร์ชเลือกใช้คือ การนำเซลล์เม็ดเลือดขาวมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง แล้วดูว่ามันสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจัดเป็นการตรวจประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวโดยตรงที่เรียกว่า Natural cytotoxicity หรือ NK Activity หากเราพบว่าการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวบกพร่องไป เราก็จะเริ่มดำเนินการเพื่อฟื้นฟูและเยียวยารักษาระบบภูมิคุ้มกัน เช่น การให้สารอาหารที่จำเป็นและมาช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อ่อนแอออกมาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อ เพื่อเพิ่มจำนวน ทำให้แข็งแรง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก่อนนำกลับเข้าไปในร่างกายคนไข้”

“วัคซีนมะเร็ง” เทคโนโลยีเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดที่จะฝึกเซลล์เม็ดเลือดขาวให้เป็นนักฆ่าเซลล์มะเร็ง

“เทคโนโลยีวัคซีนมะเร็งคือ การเสริมสมรรถนะของระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์เม็ดเลือดขาว ให้มาช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง  ปัจจุบันวัคซีนมะเร็งถูกใช้ร่วมกับแนวทางรักษาหลักอื่น ๆ ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น ยิ่งนำมาใช้กับคนไข้มะเร็งระยะเริ่มต้น ประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาก็ยิ่งดี ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงหลังจากการผ่าตัด ฉายแสง ซึ่งเหลือเซลล์มะเร็งให้กำจัดไม่มากแล้ว แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้เป็นสำคัญ ถ้าระบบภูมิคุ้มกันยังแข็งแรงอยู่ แม้จะอยู่ในระยะสอง ระยะสามแล้ว ก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ เพราะวิธีนี้ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป แต่ใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาหลักที่ใช้อยู่

“ในต่อมน้ำเหลืองของคนเรามีเซลล์ภูมิคุ้มกันจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ออกมาทำงาน เราใช้หลักการของการให้วัคซีนเพื่อสอนระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองให้รู้จักเซลล์มะเร็งที่ร่างกายต้องกำจัด พอเซลล์เหล่านี้รู้จักเซลล์มะเร็งแล้วก็จะออกมาสู่กระแสเลือด และช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัคซีนมะเร็งสามารถนำไปใช้ในการรักษามะเร็งได้หลายชนิด ทั้งมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งมะเร็งชนิดก้อนตามอวัยวะต่าง ๆ ด้วย

“ผมเคยดูแลคนไข้มะเร็งตับระยะสุดท้ายที่ได้รับการประเมินว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 2 เดือน  ระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้อ่อนแออย่างมากและมีการติดเชื้อไวรัสร่วมด้วย แพทย์จึงพิจารณาเสริมแนวทางการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดโดยเริ่มจากการเก็บเลือดของคนไข้มากระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เพชฌฆาต (Natural killer cell) เราดำเนินการให้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดกับคนไข้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 13 เดือน  ซึ่งหมายความว่าคนไข้สามารถมีชีวิตต่อไปจากวันที่ถูกประเมินว่าจะต้องเสียชีวิตไปอีก 1 ปี ซึ่งใน 1 ปีนั้นก็เป็นช่วงที่เขายังสามารถทำประโยชน์ต่าง ๆ ได้อีกมากมาย 

“หรืออีกตัวอย่างของคนไข้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดแต่ไม่ตอบสนองต่อแนวทางการรักษาแล้ว และเเพทย์ผู้ดูแลได้ให้ความเห็นว่าคนไข้มีโอกาสรอดชีวิตเพียง 20% จึงมีการปรึกษากันถึงการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดหลังการทำเคมีบำบัดให้กับคนไข้ แล้วพบว่าคนไข้ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้นอย่างชัดเจนและยังคงใช้ชีวิตปกติมาถึง 8 ปี 

“วัคซีนมะเร็งเป็นเทคโนโลยีที่บริษัท วินเซลล์ รีเซิร์ช จำกัด ได้รับลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียวในเอเชีย ที่ได้รับรองคุณภาพเทียบเท่าในการใช้เทคโนโลยี Cellular Immunotherapy – WT1 peptide ซึ่งเขามีการใช้ศาสตร์นี้อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ที่ญี่ปุ่นเขาใช้เทคโนโลยีนี้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งมาแล้วร่วมสองหมื่นราย แต่การใช้เทคโนโลยีเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดโดยเฉพาะวัคซีนมะเร็งในบ้านเรายังถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ทั้งนี้เพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล และนักวิจัยที่มีความชำนาญและทักษะในการเพาะเลี้ยงเซลล์

“ตอนนี้เราอาจจะใช้วัคซีนมะเร็งในแง่ของการรักษาเป็นหลัก แต่ในอนาคตเราหวังว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะสามารถทำให้เรานำวัคซีนมะเร็งมาใช้ในเชิงป้องกันได้”

การตรวจสุขภาพ = การป้องกันโรคที่ดีที่สุด 

“เวลาเกิดความเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ ขึ้น มันมีความทุกข์ทรมาน และต้องใช้ทรัพยากรในการรักษาที่สูงมาก แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากป่วย สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เรารู้เร็วและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคได้

“ในทางทฤษฎีมักจะบอกว่าเราต้องดูแลร่างกายหรือใช้ชีวิตให้ดี แต่ในความเป็นจริงเรามักจะคิดว่าเราทำได้ดีที่สุดแล้ว อย่างบางคนเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ กินปลาทะเล โปรตีนดี ไขมันดีทุกวัน แต่พอตรวจร่างกายแล้ว กลับพบสารปรอทในร่างกายสูงมาก 

“ในฐานะของแพทย์ที่พบเจอคนไข้จำนวนมาก ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าแค่ดูแลสุขภาพหรือใช้ชีวิตให้ดีแล้วมันจะจบ เพราะเราหลีกเลี่ยงภัยสุขภาพต่าง ๆ ได้ยากมาก โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงและมลภาวะต่าง ๆ มากมาย ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้เรารู้สภาวะร่างกายของเราอยู่เสมอ อย่างน้อยเราก็จะรู้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง เพื่อที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้ลุกลามจนเกิดโรคได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพน่าจะเป็นวิธีในการดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ดีที่สุด” 

ขอบคุณภาพจาก Wincell Research

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Wincell Research 

Website: www.wincellresearch.com   

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 095-254-1830

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ