เราตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ โดยไม่ต้อง ‘ติดกับดักกตัญญู’

คุณเป็นหนึ่งคนที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ที่กำลังป่วยอยู่หรือเปล่า แล้วต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาการเงิน? การจัดการเวลา? ความเหนื่อย? หมดกำลังใจ?

มนุษย์ต่างวัย คุยกับคุณเอ (นามสมมุติ) คุณเอเล่าให้เราฟังว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเธอต้องดูแลพ่อแม่ที่เจ็บป่วย แต่ปัญหาที่ทำให้หนักใจสุดๆ คือ ‘ความดื้อ’ ของพ่อที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทั้งการไม่ยอมให้ความร่วมมือในการรักษาตัวเอง การใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันแบบไม่ยั้งคิด

จนทำให้เธอที่เป็นลูกสาวคนเดียวเริ่มรู้สึกว่า ความดื้อของพ่อกำลังทำให้เธอไม่อยากแบกรับหน้าที่ ‘ลูก’ อีกต่อไป แต่สุดท้ายแล้วเธอและครอบครัวก้าวผ่านความรู้สึกนั้นมาได้อย่างไร

มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านเรื่องราวของคุณเอ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ และอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาพ่อแม่ดื้อจนทำให้รู้สึกหมดกำลังใจ ผ่านเรื่องราวที่นำมาแบ่งปันนี้

ชีวิตเปลี่ยนเมื่อแม่ป่วย

เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรายังเรียนอยู่ปี 4 จู่ๆ แม่ก็มีภาวะเส้นเลือดในสมองแตก และไปอุดตันอยู่ที่ก้านสมอง ตอนนั้นเราอายุ 21 ปี แต่รู้สึกว่าเป็นคนเดียวที่มีสติที่สุดในบ้าน เพราะว่าวันที่เกิดเรื่อง พ่อทำอะไรไม่ถูกเลยเพราะตกใจมาก เขาร้องไห้อย่างเดียว และเหมือนจะพูดไม่รู้เรื่อง เราต้องเป็นคนตัดสินใจเองทุกอย่าง แม้กระทั่งเซ็นเอกสารอนุญาตให้แม่เข้ารับการผ่าตัด

หลังจากวันนั้นแม่ก็ตกอยู่ในสภาวะคล้ายผัก ทำได้อย่างเดียวคือกระพริบตา เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าแม่จำเราได้หรือเปล่า แต่แม่นอนแบบนี้มา 13 ปีแล้ว หมอบอกว่า เปอร์เซ็นต์ที่แม่จะกลับมาเป็นปกติน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย การช่วยเหลือตัวเองของแม่เป็นศูนย์ จะต้องมีคนอยู่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพราะต้องคอยเช็ดน้ำลาย ดูดเสมหะ ตอนกลางคืนก็จะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเวลานอน

ย้อนกลับไปก่อนที่แม่จะป่วย ครอบครัวเราค่อนข้างมีฐานะ คุณพ่อคุณแม่เป็นพนักงานบริษัทมีตำแหน่งสูง ถ้าเล่าให้เห็นภาพก็คือ ตั้งแต่เด็กจนโต เราไม่เคยนั่งรถเมล์ ไม่เคยนั่งเรือไปไหนมาไหน เพราะมีคนขับรถให้ตลอด เวลาไปโรงเรียนคนขับรถก็ไปส่งถึงหน้าประตูโรงเรียน มีพี่เลี้ยงประกบ ไม่เคยต้องทำงานบ้าน และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าชีวิตจะต้องมาเจอกับความลำบาก

แต่ชีวิตคนเราไม่มีอะไรแน่นอน พอแม่ล้มป่วยกลายเป็นเหมือนโชคไม่ดีของบ้านเรา เพราะประกันสุขภาพที่ทางองค์กรทำให้หมดอายุพอดี ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาแม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายภายในบ้านทั้งหมดตกมาอยู่ที่พ่อ

ด้วยความที่เราอยากช่วยพ่อประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้าน อะไรที่เราไม่เคยทำก็ต้องทำ แต่ต้องบอกว่าเราทำด้วยความเต็มใจ เช่น เวลาไปเรียนหนังสือเราก็จะนั่งรถเมล์ นั่งเรือไปเอง แม้ว่ามันอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนอื่น แต่ในตอนนั้นมันคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด และเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งใหญ่

หลังจากนั้นชีวิตของเราก็ยังคงเปลี่ยนไปจนถึงขั้นที่ว่า การปฏิบัติตัวของพ่อที่มีต่อเราไม่เหมือนเดิม จากพ่อที่เข้มงวดกับเรามากๆ เลี้ยงเราเหมือนนกน้อยในกรงทอง ไม่ยอมให้เราทำอะไรตามใจ จะไปเที่ยวกับเพื่อนก็ยาก เรื่องมีแฟนยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย กลายเป็นพ่อที่เริ่มปล่อยให้เราลองทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น

ในตอนนั้นตัวพ่อเองก็ไม่เหมือนเดิม เขาเหมือนคนที่เสียศูนย์ และมีภาวะซึมเศร้า แต่ตอนนั้นเรายังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจ จึงรับรู้แค่ว่า พ่อเครียดมาก และเริ่มใช้จ่ายเงินไปกับการชอปปิ้ง เหมือนการใช้เงินเป็นทางเดียวที่ทำให้พ่อรู้สึกดี หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นพ่อใช้ชีวิตแย่ลง พ่อสูบบุหรี่หนักขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ควบคุมการกินอาหาร ไม่ดูแลสุขภาพตัวเองยิ่งกว่าเดิมทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่แม่กับเราอยากให้พ่อทำมานานแล้ว ใครบอกอะไรก็ไม่เชื่อ ไม่ฟัง แถมยังมีอารมณ์ฉุนเฉียวใส่คนที่พูดด้วยทุกครั้ง

ตอนนั้นเรายังเรียนไม่จบ แต่เราก็พยายามถามพ่อตลอดว่ามีอะไรให้ช่วยไหม แต่เขาก็จะบอกกลับมาตลอดว่า ไม่ต้อง เขาเอาอยู่ และด้วยนิสัยของพ่อที่ไม่ชอบให้ใครถามเซ้าซี้ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน เราเลยหยุดถาม และปล่อยให้พ่อจัดการเรื่องต่างๆ ตามที่เขาต้องการ จนกระทั่งเราเรียนจบ เริ่มต้นทำงานที่เมืองไทยด้วยเงินเดือนหมื่นนิดๆ ไม่กี่ปีหลังจากนั้น พ่อก็บอกว่า ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องไปเรียนต่ออเมริกา โดยเงินที่เล่าเรียนคุณป้าจะเป็นคนคอยส่งเสีย ตอนนั้นเราลังเล เพราะเป็นห่วงแม่ เกรงใจคุณป้า และด้วยสถานะการเงินของที่บ้านตอนนั้นค่อนข้างวิกฤต

แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ ด้วยหลายๆ เหตุผล หนึ่งในนั้นคือ เราคิดว่าถ้าเรียนจบจากอเมริกาก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ใช้ความสามารถของตัวเองแสวงหารายได้ที่มากขึ้น เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว โดยที่เราตั้งใจรีบไปรีบกลับ หาทางเรียนให้จบภายในปีครึ่ง

หลังจากเรียนจบกลับมา เราก็ได้รับโอกาสทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งค่าตอบแทนค่อนข้างสูงอย่างที่คาดหวังไว้ ขณะนั้นพ่อก็เริ่มเกษียณจากงานที่ทำ แต่ยังคงใช้ชีวิตแบบไม่ดูแลตัวเองเหมือนเดิม จนร่างกายเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ พ่อเริ่มป่วยออดๆ แอดๆ เป็นทั้งโรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน แต่ก็ยังดื้อใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง ยังสูบบุหรี่จัด กินอะไรที่ไม่ควรกิน จนมีครั้งหนึ่งคุณหมอที่ดูแลพูดกับพ่อว่า เข้าใจว่าคุณไม่กลัวตาย แต่ถ้ายังใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปคุณจะตายแบบทรมาน แต่พ่อก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต จนในที่สุดร่างกายของพ่อพังถึงขั้นที่ต้องตัดขาทั้งสองข้าง เนื่องจากมีภาวะเส้นเลือดที่ขาตีบตัน

เริ่มต้นทำหน้าที่ของ ‘ลูก’

หลังเรียนจบ เรากลายเป็นเสาหลักของบ้านเต็มตัว โดยเงินเดือนที่หามาได้ 93 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ค่ายา และค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่ ซึ่งทั้งสองท่านไม่ได้มีประกันสุขภาพกับบริษัทประกัน แต่พ่อมีประกันสังคมอยู่แต่ไม่ยอมใช้ ทำให้เราต้องออกเองทั้งหมด . และเนื่องจากเราต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ ทุกๆ 3 เดือนถึงจะกลับมาบ้านที เราจึงต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ให้พ่อใช้ดูแลตัวเองต่างหาก เพราะพอพ่อเกษียณรายได้ที่เคยมีประจำก็ลดน้อยลง แต่เขายังสามารถใช้ชีวิตปกติได้แม้ว่าจะมีโรคประจำตัว เราจึงต้องเป็นคนคอยซัพพอร์ต จนมีเงินเหลือแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ สำหรับให้ตัวเองไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยที่เราไม่มีเงินเก็บสำหรับอนาคตเลย เรียกได้ว่าใช้เงินแทบจะเดือนชนเดือน

ช่วง 5-6 ปีแรกเรายังรู้สึกว่ามันโอเค แต่ทุกอย่างเริ่มแตกสลายเมื่อ 2 ปีก่อน เราเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามทำให้มันดีขึ้น แต่มันกลับยิ่งค่อยๆ แย่ลง เพราะความดื้อของพ่อ โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายเงิน คือช่วงนั้นพ่อเริ่มต้องฟอกเลือด แต่ก็เลือกที่จะไปฟอกกับโรงพยาบาลเอกชนซึ่งแพงมาก หรือการจ้างพยาบาลมาดูแล ปกติแค่ 1-2 คนก็พอ แต่พ่อจะจัดเต็มมาเลย 4 คน

การใช้จ่ายส่วนตัวของพ่อก็เริ่มมากขึ้น เงินทุกบาทที่เราให้ พ่อใช้หมดเกลี้ยงทุกเดือน บางเดือนไม่พอก็ขอเพิ่ม ซึ่งเงินที่เราให้เป็นจำนวนเงินที่เยอะมาก พอเราถามว่าเอาเงินไปใช้จ่ายอะไรบ้างเขาก็บอกว่าจำไม่ได้ พอถามก็จะโดนต่อว่า เราไม่สามารถรู้เส้นทางการเงินที่พ่อใช้จ่ายได้เลย พอเราเริ่มจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เขียนออกมาให้พ่อดูว่าแต่ละเดือนเราต้องจ่ายอะไรบ้าง อยากให้พ่อช่วยเซฟเงินตรงไหน แต่พอเขาเห็นตัวเลขเขาก็ไม่เชื่อที่เราเขียน ไม่เชื่อว่าค่าใช้จ่ายภายในบ้านและเงินที่เขาใช้ไปมันจะเยอะขนาดนี้ ซึ่งเราก็พยายามปรับจูนกันอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ

ติดกับดักความกตัญญู โดยไม่รู้ตัว

ยอมรับว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรากดดันตัวเองให้หาเงินได้เยอะๆ ใช้ชีวิตไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อครอบครัวเป็นหลัก เรียกได้ว่าชีวิตวัยรุ่นของเราแทบไม่ได้ใช้ เพราะต้องเร่งให้ตัวเองโตพอเพื่อที่จะพาครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ไปให้ได้ แต่เราก็ไม่เคยรู้สึกว่า ‘ทำไมฉันต้องมาแบกรับภาระอะไรแบบนี้’ เพราะการที่แม่ป่วยมันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ และเราก็เห็นมาตลอดว่าแม่เองก็พยายามที่จะสู้ไปกับเรา เราเต็มใจดูแลเขาสุดๆ เพราะก่อนหน้าที่แม่จะป่วยเรามีความฝันว่าอยากจะพาแม่ไปเที่ยว ออกเงินซื้อตั๋วเครื่องบินให้ เหตุผลไม่ซับซ้อนเลย คือ เพราะตอนเด็กๆ เขาเลี้ยงดูเรามาอย่างดี ดังนั้นเมื่อเขากำลังลำบากเราก็อยากที่จะดูแลเขา เท่าที่ลูกคนหนึ่งจะทำได้

แต่กับพ่อ การปฏิบัติตัวของเขาทำให้เราเกิดความรู้สึกต่อสู้กันอยู่ในจิตใจทั้งความกตัญญูและความเจ็บปวด คือเราไม่ได้โมโหที่เขาป่วย แต่แค่รู้สึกว่า ในเวลาที่เราเหลือเขาเป็นที่พึ่งเดียว แต่ทำไมเราพ่อลูกถึงไม่ช่วยกันพยุง เป็นเรื่องเดียวจริงๆ ที่ทำให้เราเกิดความคิดขึ้นมาวูบหนึ่งว่า ‘เราไม่อยากแบกรับหน้าที่นี้แล้ว’ เพราะพ่อไม่ให้ความร่วมมือ

การกระทำบางอย่างของพ่อที่ดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลแต่อย่างที่บอกว่ามันทำให้เรารู้สึกไม่โอเค แล้วมันก็เริ่มหนักขึ้นจนเรารู้สึกว่าตัวเองจะเป็นซึมเศร้า เพราะความรู้สึกที่มันถูกบั่นทอนไปเรื่อยๆ ทุกวัน ทำให้เราเริ่มรู้สึกหมดกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป เราจึงตัดสินใจหาทางออกด้วยการไปปรึกษาจิตแพทย์ เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้คุณหมอฟังถึงพฤติกรรมความดื้อของพ่อ หรือการชอบใช้เงินฟุ่มเฟือยว่า เกิดจากอะไร ถ้าเกิดว่าเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้เราก็จะได้หาทางรักษา เพราะเอาจริงๆ ในฐานะลูก ยังไงเราก็ทิ้งเขาไม่ได้อยู่แล้ว เราแค่รู้สึกว่า อย่างน้อยถ้าเรารู้ว่าพ่อมีภาวะที่ไม่ปกติ เราก็จะได้เข้าใจเขามากขึ้น สถานการณ์ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็น่าจะดีขึ้น วิกฤตครอบครัวที่ต้องดูแลทั้งแม่ป่วยติดเตียง พ่อที่ป่วยหลายโรครุมเร้าอย่างน้อยก็อยากเบาใจในเรื่องความรู้สึกลงบ้าง แต่ในตอนนั้นคุณหมอไม่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุที่พ่อเป็นแบบนี้เพราะอะไร นอกจากจะพาพ่อไปตรวจอย่างจริงจัง แต่พ่อไม่เชื่อเรื่องการรักษากับจิตแพทย์อย่างรุนแรง เราจึงไม่ได้บอกพ่อเรื่องนี้

สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ แต่คุณหมอพูดกับเราว่า การที่พ่อดื้อกับเราส่วนหนึ่งก็มาจากความสัมพันธ์ของเรากับพ่อตั้งแต่เด็กๆ ที่เขาเลี้ยงเรามาแบบเข้มงวด สั่งอะไรต้องทำ เราเองก็ต้องยอมทำ เป็นแบบนั้นมาตลอด เมื่อวันหนึ่งเราต้องเป็นเหมือนเสาหลักของครอบครัว ที่เป็นทั้งผู้นำ และผู้ตัดสินใจ กลายเป็นว่า เราไม่สามารถควบคุมหรือคุยอะไรกับเขาได้ เพราะพ่อเคยชินกับการออกคำสั่งกับเรามาโดยตลอด

คุณหมอจึงแนะนำว่า ให้เราใช้ไม้แข็งกับพ่อ ยอมได้บางเรื่องแต่บางเรื่องต้องเด็ดขาดอย่ากลัวที่จะปะทะ แม้จะถึงขั้นทะเลาะกันก็ต้องยอม และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่ารู้สึกผิดเป็นอันขาด เพราะเราทำได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งมากแล้ว หลังจากได้คุยกับคุณหมอเราก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีความกล้ามากขึ้น เด็ดขาดกับพ่อมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย เราตั้งกฎเลยว่า แต่ละเดือนจะจ่ายเงินกับเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น และหนึ่งสัปดาห์จะให้เงินพ่อใช้เท่านี้ ถ้าขอเพิ่มเราไม่มีให้ ที่ต้องเข้มงวดเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นพิเศษเพราะเราต้องใช้เงินไปกับการดูแลแม่ด้วย ส่วนเรื่องการกิน สุขภาพ การสูบบุหรี่ เราทำตามคำแนะนำของคุณหมอคือต้องปล่อยวาง

ถามว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม ก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย แม่ก็ยังคงต้องดูแลแบบประคับประคอง ส่วนพ่อก็ดื้อกับเราน้อยลง เพราะเห็นว่าเราเอาจริง

สำหรับเราการกตัญญูเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่าลืมลองอนุญาตให้ตัวเองได้มีโอกาสทำอะไรเพื่อเซฟใจ เซฟความรู้สึกของตัวเองบ้าง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ อย่าลืมแบ่งพื้นที่ให้ตัวเองได้วางแผนอนาคตสำหรับชีวิตส่วนที่เหลือของตัวเอง เพราะอย่าลืมว่า วันหนึ่งที่พ่อแม่ไม่อยู่กับเราแล้ว แต่ตัวเราเองยังต้องมีชีวิตต่อไป

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ