เปิดเคล็ดลับจับผิดกลลวงออนไลน์ ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ?
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มนุษย์ต่างวัย ชวนคนไทยสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ ป้องกันตัวเองและผู้สูงวัยในครอบครัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ รวมทั้งเรียนรู้วิธีดูแลจิตใจเมื่อพลาดพลั้งถูกหลอกไปแล้ว
ในงานเสวนาพิเศษ หัวข้อ “มิตรจริงหรือมิจจี้” เทคนิคสแกนคนร้ายในวันที่มิจฉาชีพเต็มเมือง ในงาน InterCare Asia 2024 งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่สำหรับทุกวัยครบวงจร ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67
โดยมี พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร รองผู้กำกับวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจ สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และดร.ทศพิธ รุจิระศักดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ให้เกียรติร่วมเสวนาในครั้งนี้
ดำเนินวงเสวนาโดย ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย
** สำหรับงาน InterCare 2024 ยังจัดต่อเนื่องอีก 1 วันในวันพรุ่งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)
“ผู้สูงอายุมักจะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพ เราจึงต้องดูให้ดีว่าคนที่เข้ามาเป็นมิตรหรือมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวง ต้องรู้ทันรูปแบบกลลวง รู้ว่ามิจฉาชีพใช้หลักจิตวิทยาอะไรในการหลอกเรา รวมถึงรู้วิธีในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจในครอบครัว บางครั้งลูกหลานอาจจะเตือนแล้วว่าการกระทำรูปแบบนี้เป็นมิจฉาชีพ แต่จะทำอย่างไรให้พ่อแม่เข้าใจ และไว้ใจมากขึ้น
“เมื่อพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุโดนหลอกไปแล้ว การเสียเงินอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราต้องไม่ทำให้ลุกลามบานปลายจนเกิดการคิดสั้น หรือควบคุมตัวเองไม่ได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องช่วยกันดูแล”
“ตั้งแต่มีการเปิดรับแจ้งความออนไลน์ช่วงต้นเดือน มี.ค. 65 ทำให้เรามีสถิติการแจ้งความออนไลน์ในช่วง 2 ปีครึ่งกว่า 620,000 คดี มีผู้เสียหายกว่า 570,000 คน สร้างความเสียหายกว่า 72,000 ล้านบาท โดยผู้สูงอายุมักจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพ ซึ่งมักจะถูกหลอกจากคดีซื้อขายสินค้า ซื้อของแล้ว ไม่ได้ของ ซื้อของแล้วไม่ตรงปก โดยมิจฉาชีพมักจะใช้รูปแบบการหลอกลวงซ้ำ ๆ คือ หลอกให้กลัว หลอกให้รัก ให้เชื่อใจ วางใจ หลอกสร้างความสัมพันธ์ ศึกษาประวัติของเราก่อน ทำให้เรารู้สึกว่าเขารู้ใจ เข้าใจเรามากกว่าคนในบ้าน และหลอกให้โลภ
“เมื่อก่อนเวลาถูกหลอกเราจะต้องไปโรงพัก ไปลงบันทึกประจำวัน ทุกวันนี้แค่โทร 1441 เราก็สามารถอายัดบัญชีธนาคารไว้ก่อน เพื่อไม่ให้คนร้ายเอาเงินออกจากบัญชีได้ แล้วค่อยมาแจ้งความที่โรงพักภายใน 72 ชั่วโมง
“ตอนนี้ 99% ของมิจฉาชีพมาจากประเทศเพื่อนบ้านของเราหมด เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีเป็นพัน ๆ บริษัท ฝึกซ้อมสถานการณ์จำลองในการหลอกลวงเหยื่อทุกวัน เพราะคนในแต่ละช่วงวัยก็จะมีจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป เป็นองค์กรมืออาชีพ เคยมีเคสที่ให้ทยอยโอนไปเรื่อย ๆ เริ่มจาก 500 บาท แล้วคนร้ายก็โอนกลับมา 600 บาท โอนไปโอนมาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายไปจบที่สูญเงินไปกว่า 80 ล้านบาท
“วิธีการป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพเบื้องต้น จุดสังเกตคือเบอร์นั้นจะติดต่อกลับไม่ได้ ทุกวันนี้คนร้ายจะสามารถปลอมแปลงเป็นเบอร์อะไรก็ได้ แต่ไม่มีเทคโนโลยีใดบนโลกใบนี้ที่ทำให้การคุยแค่สองนาทีแล้วโดนดูดเงินแน่นอน
“ถ้าหากถูกหลอกแล้ว ให้เราตั้งสติ ติดต่อหมายเลข 1441 แล้วค่อยไปแจ้งความออนไลน์ในเว็บไซต์ ThaiPoliceOnline.go.th แต่ต้องระวังว่าอาจจะเป็นเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพปลอมแปลงขึ้น จุดสังเกตคือเว็บไซต์จริงจะไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุน”
“การที่มิจฉาชีพหลอกลวงเราได้สำเร็จ ไม่ได้แปลว่าเราโง่ เพราะเขาโจมตีเราด้วยพื้นฐานทางความรู้สึกไม่ใช่ที่สติปัญญา หลายครั้งมิจฉาชีพจะสร้างสถานการณ์ให้น่ากลัว ให้เรารู้สึกกดดัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจ และทำให้เราไม่สามารถพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้รอบด้าน ถ้าไม่สร้างความกดดันมาก ๆ ก็จะเป็นการสร้างความเสน่หา ไว้เนื้อเชื่อใจ
“ผมเคยให้บริการกับคนที่เคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เขาบอกว่ามองดูมันก็รู้สึกตงิดใจแปลก ๆ แต่ความรู้สึกมันเหมือนคนที่อยู่กลางทะเลทรายที่หิวน้ำมาเป็นเวลานาน อยู่ดี ๆ มีคนเข้ามามอบความไว้วางใจ ความเข้าใจ ความห่วงใยเต็มแก้วยื่นให้ เขาก็ยินดีที่จะสละทุกอย่างที่มีให้กับเขา
“สิ่งที่ไม่ควรทำเวลาที่มีญาติหรือคนในครอบครัวของเราถูกหลอก คือ อย่าเพิ่งรีบเข้าสู่โหมดเเก้ปัญหา รีบถอดบทเรียน หรือด่าทอด้วยถ้อยคำต่าง ๆ แน่นอนว่าเราจะต้องมีการถอดบทเรียน คิดถึงวิธีการป้องกันหรือแก้ปัญหาในอนาคต แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะเขายังไม่พร้อม
“สิ่งที่เราทำได้ง่าย ๆ คือ การรับฟัง เข้าใจ และไม่ตัดสิน ฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าตอนนี้ท่านกำลังรู้สึกอย่างไร และไม่ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรก็อย่าเพิ่งรีบไปตัดสิน เพื่อให้พวกท่านรู้สึกว่า ถึงแม้จะมีความเสียหาย หรือเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ต้องเผชิญมันอยู่คนเดียว เมื่อเราสามารถเยียวยาจิตใจได้แล้ว ค่อยพูดเรื่องวิธีป้องกันภายหลัง”