“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเราอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่ในฐานะ ‘ลูก’ เราไม่สามารถมองข้ามพ่อแม่ไปได้” #วิถีGenเดอะแบกที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงวัยและดูแลใจตัวเองไปพร้อมกัน

“เราเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดว่า พอมีงานทำที่มั่นคง ดูแลตัวเองได้แล้ว ก็อยากแยกตัวออกจากพ่อแม่เพื่อไปใช้ชีวิตของตัวเอง เลยตัดสินใจเดินไปบอกแม่ว่าขอไปซื้อทาวน์โฮมอยู่คนเดียว พอเราแยกออกไปตอนนั้นเราแฮปปี้กับชีวิตมาก สนุกกับการทำงาน สนุกกับการได้ใช้ชีวิตอิสระ จนลืมไปเลยว่าพ่อแม่แก่ลงทุกวัน มารู้ตัวอีกทีคือวันที่แม่ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ หลังจากวันนั้นมันเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนความคิดของเราไปเลยว่า ต่อให้เราอยากมีชีวิตเป็นของตัวเองแค่ไหน แต่ในฐานะลูก เราไม่สามารถมองข้ามพ่อแม่ไปได้เลย”

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘เทล’ – ชัญญ์ชนพร เสขระวิสุทธิ์ วัย 42 ปี ‘Gen เดอะแบก’ ที่เคยตัดสินใจแยกตัวออกไปอยู่คนเดียวเพื่อมีความสุขกับการทำงานและชีวิตอิสระ แต่เพราะไม่อยากให้พ่อ วัย 68 ปี และ แม่ วัย 69 ปี ที่อยู่ในวัยเกษียณต้องเผชิญกับชีวิตบั้นปลายที่เปลี่ยวเหงาจากการต้องดูแลกันเองตามลำพัง เธอจึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านและ ชวนพ่อแม่ลุกขึ้นมาเปิดร้านอาหารโฮมเมดเล็กๆ ขายส่งแบบเดลิเวอรี เพื่อ ดูแลคนที่รักและรักษาสมดุลในชีวิตไปพร้อมกัน

“ตั้งแต่เรียนจบน้องชายก็ไปทำงานที่ต่างประเทศ ส่วนเราตั้งแต่เด็กจนโตก็อยู่บ้านกับพ่อแม่มาตลอด จนอายุเดินทางเข้าสู่เลขหลักสาม ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีเงินเก็บ มีหน้าที่การงานที่ค่อนข้างมั่นคง และยังไม่แต่งงาน เราเลยมีความรู้สึกว่าอยากจะแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว เพราะอยากมีชีวิตที่อิสระกับเขาบ้าง เลยตัดสินใจขอแม่ซื้อทาวน์โฮมเพื่อไปอยู่คนเดียว หลังจากวันนั้นเราก็ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการสมใจ ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่แฮปปี้มาก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่าตัวเองมีอิสระ พอเลิกงานก็กลับเข้าที่พัก ทำโน่นทำนี่ และเริ่มห่างกับพ่อแม่ เวลาเขาไม่สบายเราก็ไม่สะดวกที่จะขับรถไปดูแลหรือพาไปโรงพยาบาล มีอะไรส่วนใหญ่จะใช้เป็นการโทรคุยกัน ซึ่งทุกครั้งที่โทรคุยกับพ่อแม่เราสัมผัสได้ถึงความเป็นห่วงของเขามาตลอด แล้วเขาก็พูดกับเรามาคำหนึ่งว่า ตั้งแต่ที่เราออกจากบ้านไปเขาเป็นห่วงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเลยสักวัน เสียงของแม่ที่บอกเราวันนั้นมันเหมือนเป็นเสียงที่สะกิดใจเราขึ้นมา เราเลยบอกกับแม่ว่าเดี๋ยวจะกลับไปนอนบ้านสักวันให้หายคิดถึง

“ด้วยความดีใจของแม่ เขาอยากทำให้ห้องนอนของเราที่ไม่ได้อยู่มานานมันกลับมาสวยงามน่านอน เขาก็ไปจัดรื้อของในห้องเรา ไปเปลี่ยนผ้าม่านให้ใหม่ เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ทำทุกอย่างจนเรากลับมาถึงบ้านก็เห็นว่าแม่เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก แล้วอยู่ดีๆ ตัวก็ซีดเขียว แล้วแม่ก็เป็นลมเรียกไม่ได้สติไปเลย จนต้องหามส่งโรงพยาบาล วันนั้นเราถึงได้รู้ว่าแม่ป่วยเป็นโรคหัวใจตีบ ต้องทำการฉีดสวนหัวใจเพื่อรักษา ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์วันนั้นเราก็ไม่เคยรู้เลยว่าแม่เริ่มสุขภาพไม่ดี ส่วนพ่อก็เริ่มมีอาการของโรคชรา โดยที่ผ่านมาเวลาเจ็บป่วยเขาจะไปหาหมอกันสองคนโดยที่ไม่เคยบอกให้เรารู้เลย เพราะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน เรารู้สึกว่าเขาเริ่มต้องการเราแล้ว ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็เลยตัดสินใจทิ้งทาวน์โฮมแล้วกลับมาอยู่บ้านเพราะทนเป็นห่วงเขาสองคนไม่ไหว”

“ตั้งแต่ที่พ่อกับแม่เกษียณ ท่านทั้งสองก็อยู่กับบ้าน ส่วนตัวเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานหลากหลายมาก ตั้งแต่งานด้านเลขาฯ ซึ่งเจ้านายจะส่งข้อความมาหาเราให้ช่วยจัดการเรื่องสำคัญตลอดเวลา และงานด้านบัญชี ฉะนั้นวันจันทร์-ศุกร์ เราจะยุ่งมากๆ พอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เราก็ทำธุรกิจของตัวเองคือขายเสื้อผ้าออนไลน์ตามไอจี เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ทำให้ทุกวันกลายเป็นวันทำงานไปโดยปริยาย และทำให้บางครั้งมีภาวะเครียดสะสม เพราะงานค่อนข้างที่จะกดดัน เนื่องจากความรับผิดชอบต้องมาเป็นที่หนึ่ง แต่ไม่ว่าเราจะมีหน้าที่อะไรนอกบ้าน ในฐานะลูก เมื่อถึงวันหนึ่งเราต้องดูแลพ่อแม่ก็อยากจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ด้วยความจำใจแต่มันคือความรู้สึกที่เราเต็มใจ

“หลังจากที่เรากลับมาอยู่บ้าน จากเดิมที่วันๆ ทำแต่งาน กลับบ้านมาก็ยังหอบงานกลับมาทำ เราก็เริ่มคิดถึงเรื่องการดูแลพ่อแม่อย่างจริงจัง ช่วงแรกๆ เริ่มจากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในบ้าน แล้วก็พยายามหาวิธีมาจัดการกับตัวเองเพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งที่เราต้องเราผิดชอบเพิ่มขึ้น นั่นก็คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจตีบที่แม่เป็น เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน ไม่เคยมีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย มันยากมากเพราะเราไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้ต้องมานั่งศึกษาอะไรพวกนี้ แล้วในระหว่างที่ต้องออกไปทำงาน เราก็เป็นห่วงเลยต้อง พยายามหาเวลาโทรหรือไลน์ไปถามว่าเขาทำอะไรกันอยู่ กินข้าวหรือยัง แม่ต้องกินยานะ ซึ่งบางครั้งเขาก็ไม่รับสายและไม่อ่านไลน์ เราเลยรู้สึกว่าต้องกระตุ้นเขาด้วยการชวนเขาลุกขึ้นมาทำกิจกรรม และต้องเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับเขาได้ตลอดเวลาแม้เราออกไปทำงานนอกบ้าน เราเลยชวนเขาสองคนลุกขึ้นมาทำอาหารโฮมเมดขายแบบเดลิเวอรีเพราะมองว่าเข้ากับสถานการณ์โควิดด้วยน่าจะขายดี โดยให้แม่รับหน้าที่เป็นเชฟ พ่อรับหน้าที่เป็นลูกมือ ส่วนเราทำหน้าที่เป็นคนคอยรับออเดอร์จากลูกค้า”

เทลเล่าให้ฟังต่อว่า เดิมแม่เป็นคนไม่ชอบทำกับข้าว ส่วนพ่อก็ไม่ชอบอะไรที่วุ่นวาย แต่เพราะทั้งสองมองว่าไม่อยากเป็นภาระของเธอ จึงตัดสินใจรับคำชวนและลุกขึ้นมาทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน อย่างน้อยก็ทำให้มีรายได้เข้ามาในบ้านพอใช้จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟ และเป็นรายได้เสริมหลังเกษียณที่ทำให้เขาไม่ต้องคอยพึ่งพาลูกทั้งหมด ที่สำคัญยังได้ขยับร่างกาย ลดโอกาสติดเตียง และมีความสุขมากขึ้น

“แม่จะชอบบอกว่า ตัวเองทำกับข้าวไม่เก่ง แต่ตั้งแต่ที่ทำขายก็มีลูกค้ามาชมว่าแม่ทำกับข้าวอร่อย และมาสั่งกินซ้ำๆ ส่วนออเดอร์ก็มีเข้ามาเยอะขึ้นเรื่อยๆ และก็เริ่มมีแอปพลิเคชันเดลิเวอรีอื่นๆ เข้ามาติดต่อให้เราเอาอาหารไปลงขาย กลายเป็นว่าทั้งวันแม่กับพ่อง่วนกันอยู่แต่ในครัว สนุกกันอยู่สองคนตายาย ส่วนเราก็มีความสุขที่ได้เห็นว่าพ่อกับแม่เขามีชีวิตที่สดใสขึ้น และรู้สึกว่าเขาพยายามทำให้เราเห็นว่า เขาก็สู้เพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยกับเขาน้อยลง เขาไม่ได้ปล่อยให้เราดิ้นรนดูแลเขาอยู่ฝ่ายเดียว”

แต่ถึงแม้ว่าเทลจะพยายามรักษาสมดุลชีวิตทั้งเรื่องงานและการดูแลพ่อแม่ให้สามารถเดินไปด้วยกันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่บางครั้งเธอก็ยอมรับว่าไม่สามารถที่จะทำสองสิ่งได้ดีที่สุดเสมอไป

“แม้ว่าเราจะใช้กิจกรรมมาช่วยในการดูแลพ่อแม่ในระหว่างที่เราต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่เวลามีปัญหาอะไรที่มันเหนือความคาดหมายเราก็ไม่สามารถที่จะไปดูแลเขาได้แบบทันท่วงที หรือให้คำปรึกษากับเขาได้ทั้งหมด อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับบ้านเราคือ แม่เป็นคนที่ชอบกลั้นปัสสาวะ แล้ววันนั้นเขาเกิดมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย เจ็บแสบ และรู้สึกปวดท้องน้อย แต่ไม่กล้าโทรมาบอกเราตรงๆ เพราะกลัวเราจะเสียงานถ้าต้องพาเขาไปหาหมอ เขาก็เอาแต่ถามเราว่าแม่ต้องไปซื้อยาอะไรมากิน ซึ่งเราก็บอกไม่ได้เพราะแม่เป็นโรคหัวใจ คนที่มีโรคประจำตัวเขาจะกินยาสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้แต่เราก็ไม่มีความรู้ตรงนี้ สุดท้ายแม่ก็ไม่ได้กินทั้งยาและไม่ได้ไปหาหมอ

“จากปัญหาที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นว่าแม่มีโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเกิดจากที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ และไม่ได้ไปรับการรักษาในทันที แล้วเหตุการณ์วันนั้นมันก็ทำให้เรารู้สึกไม่โอเคกับตัวเองมากๆ เพราะแม่เห็นเราเป็นที่พึ่งแต่เรากลับช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย

“สำหรับเราการรับมือกับผู้สูงอายุในบ้านมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่มีใครอยากปล่อยให้คนที่เรารักต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยหรือมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ในขณะเดียวกันก็คงไม่มีผู้สูงอายุในบ้านคนไหนอยากให้ลูกหลานต้องมาคอยเป็นกังวล แต่ด้วยรูปแบบชีวิตของสังคมบ้านเราคือ ลูกหลานต้องดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ในขณะที่งานก็สำคัญเพราะเป็นแหล่งรายได้ที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว แล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าการดูแลผู้สูงอายุในบ้านที่ลูกหลานต้องรับผิดชอบไม่เพียงแต่ต้องใช้จ่ายเงินทองหรือสละเวลาส่วนตัว แต่ยังรวมไปถึงผลกระทบทางจิตใจที่ถึงแม้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ดีแค่ไหนก็ต้องมีวันที่เรารับมือไม่ไหวได้เหมือนกัน เหมือนอย่างที่เราเจอกับตัว”

“บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เรามองว่า เราต้องมีการวางแผนก่อนที่เราจะมีปัญหาไปมากกว่านี้ทั้งเรื่องสุขภาพของพ่อกับแม่ รวมถึงความเข้าใจในการรับมือกับการดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยและเจ็บป่วย เราสามคนพ่อแม่ลูกเลยคุยกันว่าจะไปตรวจสุขภาพ เพื่อวางแผนชีวิตหลังจากนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเราเลือกไปที่โรงพยาบาล นครธน เพราะอยู่แถวพระราม 2 ใกล้บ้าน และในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีโรคระบาดแบบนี้บางทีเราก็ไม่อยากไปในพื้นที่ที่เสี่ยงเจอคนเยอะๆ เราเห็นว่าโรงพยาบาลนี้เขามีคลินิกผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนชัดเจนจากการมารับบริการของผู้ป่วยอื่นๆ ทั่วไป ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาทั้งวันเพื่อนั่งรอคิว แต่สามารถตรวจสุขภาพทั้งแบบเบื้องต้นและเชิงลึกได้แบบรวดเร็ว และยังมีคุณหมอเฉพาะทางมาดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

“อย่างตอนที่ตรวจสุขภาพของพ่อ ด้วยความที่เขาไม่เคยตรวจสุขภาพเลยตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนเกษียณ ทางโรงพยาบาลก็ให้คุณพ่อตรวจแบบเชิงลึกโดยอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ ที่ไม่ใช่แค่วัดระดับสายตา แต่ลึกเข้าไปถึงการวัดความดันลูกตา ตรวจดูเยื่อบุตาและกระจกตาด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูความเสื่อม ตรวจการได้ยิน ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ มีการเอกซเรย์ดูปอด หัวใจ ไปจนถึงการประเมินภาวะความทรงจำและคัดกรองภาวะสมองเสื่อม ตรวจดูความเสี่ยงของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเราค่อนข้างที่จะเป็นห่วงพ่อเรื่องนี้ เพราะเวลานอนพ่อเริ่มมีอาการสะดุ้งตื่นตอนกลางดึกบ่อยๆ ตลอดจนการตรวจความเสี่ยงโรคซึมเศร้า และภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุที่เราต้องดูแลเพื่อป้องกันการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา

“ส่วนของแม่ คุณหมอตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ เขาก็จะมีการตรวจที่คล้ายๆ กับพ่อ แล้วก็มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลออกมาว่าหัวใจของแม่เต้นปกติ ยังแข็งแรงดี คุณหมอเฉพาะทางผู้สูงอายุจึงให้คำแนะนำในการดูแลคุณแม่ และลดความกังวลใจเรื่องการกินยาอื่นๆ ของแม่เวลาที่แม่ไม่สบาย ทำให้เราเข้าใจการดูแลแม่มากขึ้น และสุขภาพโดยรวมของแม่ก็ดีมากๆ ยังไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคอะไรเพิ่ม เราก็สบายใจ

“แต่ที่เราชอบมากๆ เลยก็คือ นอกจากสุขภาพของพ่อแม่แล้ว ยังห่วงใยมาถึงเราที่เป็นลูก โดยมีการประเมินสภาพจิตใจของเราในฐานะผู้ดูแล พร้อมกับแนะนำวิธีรับมือการดูแลพ่อแม่ ต่อเนื่องด้วยตัวเองที่บ้าน ตั้งแต่เรื่องการกิน การนอน การใช้ชีวิต และยังให้แนวทางในการวางแผนด้านสุขภาพที่ครอบครัวเราควรเตรียมตัว เช่น การวางแผนโปรแกรมการรักษาในกรณีที่พ่อแม่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจากความเสี่ยงที่คุณหมอประเมินไว้ว่าเราจะต้องเตรียมพร้อมการดูแลและป้องกันความเสียงรวมถึงประเมินค่าใช้จ่าย หรือต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง ทำให้เรามีเวลาได้วางแผน และรู้ว่าต่อไปจะต้องดูแลพ่อแม่อย่างไรให้อยู่กับเราไปนานๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

โรงพยาบาลนครธน เป็นโรงพยาบาลเอกชนย่านพระราม 2 ที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์แบบครบวงจร โดยแพทย์เฉพาะทางและทีมบุคลากรทางการแพทย์จากหลากหลายสาขา เนื่องจากการเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย และตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขของผู้ดูแลมีจำนวนน้อยลง ในปี 2564 ทางโรงพยาบาลจึงเริ่มก่อตั้ง คลินิกผู้สูงอายุ ( Geriatric Clinic ) ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายคือ เป็นคลินิกเฉพาะทางสำหรับการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ตั้งแต่การดูแลสุขภาพทั่วไป การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ช่วยเหลือ และฟื้นฟู โดยทีมแพทย์ พยาบาล เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม(ที่อยู่อาศัย)รอบตัวต่างๆ รวมถึงคนรอบข้างของผู้สูงอายุ

คุณหมอภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง แพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ บอกกับมนุษย์ต่างวัยว่า คลินิกแห่งนี้ไม่เพียงแต่ออกแบบมาเพื่อดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังต้องการช่วยลดภาระของลูกหลานที่ต้องรับมือกับการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานที่อยู่ในวัยทำงานยังไม่ใช่ผู้ดูแล (Caregiver) และลูกหลานที่เป็นผู้ดูแล (Caregiver) เต็มตัว

“สถานการณ์ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลต้องมีการปรับตัวเรื่องสังคมสูงวัย เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น ซึ่งอาจจะสวนทางกับจำนวนคนดูแลที่น้อยลง คลินิกผู้สูงอายุจึงเป็นเหมือนสื่อกลาง ของผู้สูงอายุและผู้ดูแล ( Caregiver) ที่มาโรงพยาบาลครั้งเดียวได้พบหมอเฉพาะทางด้านการดูแลผู้สูงอายุและทีมสหวิชาชีพเฉพาะทางสาขาต่างๆ เพื่อร่วมดูแลสุขภาพได้แบบองค์รวม และในการดูแลเราก็จะมีระบบที่คอยติดตามคนไข้ เพราะเราไม่ดูแลแค่ในโรงพยาบาล เรามีการติดตามว่าเมื่อกลับไปอยู่บ้านแล้วเป็นอยู่อย่างไร มีพยาบาลคอยโทรไปถามอาการที่บ้านแล้วก็ช่วยหาทางออก บางทีเราทำ Family meeting นัดญาติของคนไข้มาช่วยกันแก้ไขปัญหา เพราะเราไม่อยากโฟกัสแค่ผู้สูงอายุ แต่เรามองไปถึงลูกหลานที่เขาต้องแบกรับ หน้าที่ ตรงนี้ด้วย และในการมารับบริการ เราก็มองว่าคลินิกเฉพาะผู้สูงอายุควรแยกออกมาจากคลินิกรักษาโรคทั่วไปเพราะว่า บรรยากาศของคนที่มาหาหมอ ตามโรงพยาบาลทั่วไปที่เราจะเห็นกันบ่อยๆ คือผู้สูงอายุหรือลูกหลานที่พามาต้องไปนั่งต่อคิวยาวๆ เป็นเวลานานๆ บางคนมีโรคประจำตัวก็เหนื่อยอยู่แล้ว ต้องมาคอยวิ่งไปวิ่งมาแผนกโน่นแผนกนี้ กว่าจะได้รับการรักษา กว่าจะกลับบ้านได้ก็เสียเวลาเป็นวัน

“เรามองว่าผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงการรักษาที่สะดวกและรวดเร็ว และถ้าบ้านไหนที่ลูกหลานไม่สะดวกพามาผู้สูงอายุก็สามารถเดินทางมาด้วยตัวเองได้ เพราะเราจะมีพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด มีการปรับพื้นที่ให้อยู่เป็นสัดส่วน และในแง่ของค่ารักษาเราก็มีแนวคิดว่า สุขภาพดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง ดังนั้นที่นี่เราจึงพยายามออกแบบมาเพื่อให้คนไข้ ญาติ และหมอ ใช้เวลาไปกับความรู้ในการดูแล และความเข้าใจในการปฏิบัติตัว ก็จะทำให้ลดการใช้ยาลง และทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย ซึ่ง ถ้าเราลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุลงได้ ลูกที่เป็นวัยทำงานเขาก็จะได้มีโอกาสหาช่วงเวลาดีๆ เพื่อตัวเอง รักษาสมดุลในการทำงานได้แม้ว่าจะต้องดูแลพ่อแม่ควบคู่ไปด้วย ส่งผลดีทั้งสองฝ่าย ครอบครัวก็กลับมามีความสุข และในภาพรวมสังคมเราก็ดีขึ้นด้วย”

สอบถามข้อมูลด้านการบริการหรือปรึกษาเพื่อวางแผนการรักษา โทร 02-450-9999 พร้อมด้วยบริการคอนแทคเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดต่อผ่านออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.nakornthon.com

สามารถนัดหมายแพทย์เฉพาะทาง และบริการถาม-ตอบปัญหาสุขภาพผ่าน LINE official @Nakornthon Hospital และ เฟซบุ๊กเพจ FB : Nakornthon Hospital บริการให้ข้อมูลรวมถึงติดตามข่าวสารและข้อมูลการรักษาเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ