TASC 2023 สร้างเยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่ยั่งยืน

“เราหวังว่าเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และได้รับมิตรภาพอันยั่งยืนที่จะเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาด้วย”

Mori Tae ผู้อำนวยการแผนกการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ส่วนที่ 2) ฝ่ายความร่วมมือระดับโลก Japan Foundation สำนักงานใหญ่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

หลายคนอาจจะพอรู้ว่าญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พบปัญหาสังคมสูงวัยสูงสุดของเอเชีย แต่ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ หลายประเทศในเอเชียก็กำลังใกล้เผชิญสถานการณ์เดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศไทย

จุดนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาสังคมสูงวัยนั้นเป็นปัญหาที่เป็นจุดร่วมของหลายประเทศ รวมทั้งเป็นประเด็นที่เยาวชนให้ความสนใจที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหานี้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

Japan Foundation ร่วมกับมูลนิธิ Kamenori และเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน (ASEAN University Network) จัดโครงการ ASEAN – Japan Youth Forum : Take Actions for Social Change (TASC) 2023 ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยคัดเลือกเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมโครงการเพื่อศึกษาในประเด็นปัญหาหลักของสังคม 3 ด้าน คือ สังคมสูงวัย สิ่งแวดล้อมศึกษาและการจัดการภัยพิบัติ และความหลากหลายทางสังคม เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความสนใจ และสร้างเครือข่ายมิตรภาพที่มีความหมายให้กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างสรรค์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหาและสร้างคุณภาพสังคมในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

มนุษย์ต่างวัยพาไปชมภาพกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงานของคณะเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเรียนรู้ในประเด็นสังคมสูงวัย ให้น้อง ๆ เยาวชนได้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตและระบบการจัดการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศการต้อนรับสุดอบอุ่นโดยทีมแม่ ๆ จากชมรมผู้สูงอายุชุมชนหนองหอย ทีมงานมูลนิธิพัฒนาผู้สูงอายุ ทีมงาน Buddy HomeCare รวมทั้งอาสาสมัครทุกท่านที่จัดเตรียมทั้งข้อมูล ความรู้ที่น่าสนใจ อาหารท้องถิ่นทั้งคาวหวาน อาหารตาจากศิลปะการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับล้านนา และอาหารใจจากการให้น้อง ๆ เยาวชน ได้ไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดถึงที่บ้าน

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เด็ก ๆ และเยาวชนไม่มีโอกาสได้เจอและทำกิจกรรมร่วมกันเลย เราเลยอยากจัดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มาเจอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพราะปีนี้เป็นโอกาสที่ดี ในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคอาเซียนด้วย เราเห็นว่ามีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันของหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ เลยอยากมีพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ประเด็นสังคมสูงวัยเป็นประเด็นปัญหาหลักของประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว เราเลยมาปรึกษากับทาง Japan Foundation สำนักงานกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ บ้าง เพราะสังคมไทยเองก็เพิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว และกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่เช่นกัน ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะให้เด็ก ๆ ได้มาศึกษาดูงานและทำกิจกรรมในพื้นที่ได้

“เหตุผลที่เลือกเมืองไทยเป็นต้นแบบในการศึกษาประเด็นนี้ เพราะมองว่าประเทศไทยมีเครื่องมือหลายอย่างที่น่าสนใจที่หลายประเทศหรือญี่ปุ่นเองยังไม่มี อย่างเช่นการทำสื่อ เพื่อสื่อสารและสร้างทัศนคติที่ดีต่อสังคมสูงวัย รวมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนในหลายประเทศที่ยังไม่ได้เผชิญปัญหานี้ได้มาสัมผัส และนำแนวทางที่ได้เรียนรู้ไปเตรียมตัวปรับใช้ในอนาคตได้

“แต่ละประเทศเผชิญปัญหาสังคมสูงวัยไม่เหมือนกันเลย อย่างสิงคโปร์กับญี่ปุ่นที่มีปัญหานี้เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียอยู่แล้ว เด็ก ๆ จะมีความเข้าใจและเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน แต่ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่ยังไม่เคยประสบปัญหานี้ ตัวเยาวชนก็จะได้เข้าใจว่าไม่นานประเทศเขาก็จะต้องประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน

“เราหวังว่าการที่เด็ก ๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้เกิดความสัมพันธ์กันในระยะยาว แม้ว่าจะจบโครงการไปแล้วก็ตาม รวมทั้งสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว พวกเขาอาจจะไปทำงานอาสาสมัคร ริเริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคม วันหนึ่งที่เขาเติบโตขึ้น มิตรภาพจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะเติบโตไปพร้อมกับเขาด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะให้เป็นของขวัญกับเด็ก ๆ เพื่อใช้ต่อไปในอนาคต”

Aung Zayar Naing (Zayar) นักศึกษาจากประเทศเมียนมา

“ผมสนใจกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านสื่อจากมนุษย์ต่างวัย จากการดูคลิปวิดีโอต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุเปิดรับมุมมองของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก ส่วนอีกกิจกรรม ก็คือ การร้อยมาลัยกับผู้สูงอายุของทาง Young Happy ที่ทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจ เพราะไม่คิดว่าคุณป้าที่เป็นคู่ในการทำกิจกรรมร่วมกับผมจะให้ความสนใจอยากรู้เรื่องราวชีวิตผม อยากรู้ว่าผมมาจากที่ไหน เคยทำอะไรมาบ้าง ตัวผมเองก็เลยเปิดรับและเรียนรู้เรื่องราวของคุณป้าเช่นกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนสองวัยเข้าด้วยกัน”

Nguyen Thi Thu Huyen (Gwen) นักศึกษาจากประเทศเวียดนาม

“ตั้งแต่มาถึงเมืองไทย มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมที่มีความหมายหลากหลายมาก ๆ ทั้งกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม แต่กิจกรรมที่ประทับใจมากที่สุด คือ การไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่หนองหอย เพราะมีโอกาสได้เห็น วิถีชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจสำหรับกลับไปทำงานกับผู้สูงอายุในเวียดนามต่อไป”

กานต์ชนิต ฮ้อเรืองเวทย์กิจ (ไข่มุก) นักศึกษาจากประเทศไทย

“มุกเชื่อว่าทุกคนที่มาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ มีพื้นที่สื่อของตัวเองในระดับหนึ่ง เราเป็นสมาชิกขององค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้ว ทุกคนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม อย่าง Social Media เพจองค์กรในมหาวิทยาลัย หรือการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ

“ส่วนตัวมุกเอง การมาร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจผู้สูงอายุและมีมุมมองในด้านที่แตกต่างออกไปมากขึ้น เรามี Empathy ที่ไม่ใช่แค่ความรัก ความห่วงใย แต่เราเห็นอะไรในตัวเขามากขึ้น จากที่เคยคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่อยู่สบายที่สุด ไม่ต้องทำอะไร พักผ่อนอยู่บ้านสบาย ๆ แต่ตอนนี้มุกอยากสนับสนุนให้พ่อแม่ ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ออกจาก Comfort Zone สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ในการค้นหาชีวิตในแบบที่เขาอยากใช้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม”

Ubana, Shane Dominique D. (Shane) นักศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์

“สังคมฟิลิปปินส์มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ถ้ามีโอกาสแนะนำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วม ก็อยากให้ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าสถานะทางสังคมของพวกเขา จะเป็นแบบใดก็ตาม”

Kenneth Cheok Jia Cheng (Ken) นักศึกษาประเทศสิงคโปร์

“ประเทศสิงคโปร์เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ผมอยากขยายกิจกรรมต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น ผ่านภาคเอกชน หรือ Social Enterprise สร้างทางเลือกที่หลากหลายนอกจากสวัสดิการที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนในสังคม”

สิ่งหนึ่งที่เราคงจะไม่ถามถึงไม่ได้ว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจหรือเหตุผลที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากหลากหลายประเทศให้ความสนใจและเลือกศึกษาในประเด็นสังคมสูงวัย แม้สังคมในบางประเทศยังมีค่าเฉลี่ยของคนวัยทำงานค่อนข้างสูง และยังไม่ได้เผชิญกับปัญหานี้ด้วยซ้ำ แต่น้อง ๆ ก็ตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

Shota Toriba (Shota) นักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น

“ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยอายุขัยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ผมเลยคิดว่าเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาเรื่องนี้ อีกประเด็น คือ ผมอยากถ่ายทอดประเด็นปัญหาสังคมสูงวัยในเชิงบวกบ้าง อยากให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงแง่มุมอื่น ๆ ของสังคมสูงวัยด้วย ไม่ใช่มองประเด็นนี้ในแง่ลบ หรือมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพียงอย่างเดียว”

Nabilla Putri Maharani (Bibil) นักศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย

“อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยของคนวัยทำงานค่อนข้างสูง และยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ในอนาคตอย่างไรก็ตาม มองว่าทุกประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ เราเลยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดีที่มีโอกาสได้มาศึกษาเรียนรู้ เห็นตัวอย่างจากประเทศอื่น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหานี้ในอนาคต”

“พอมีโอกาสได้คุยกับน้อง ๆ ก็พบว่าหลายคนมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องสังคมสูงวัยอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ซึ่งทำให้ทัศนคติ การเข้าหา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุมีระยะห่างที่น้อยกว่าเด็ก ๆ ทางฝั่งตะวันตก แต่สัมผัสได้ว่าทุกคนจะมีความกลัวหรือความกังวลเป็นพื้นฐาน ในเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยที่จะต้องมีขั้น มีลำดับอาวุโส และต้องให้ความเคารพผู้สูงอายุอยู่

“ตั้งแต่วันแรกที่น้อง ๆ มาถึงเมืองไทย เราก็พยายามให้น้อง ๆ ได้ปรับตัวและเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน โดยสอดแทรกวัฒนธรรมไทยไว้บางส่วน ให้ลองกินข้าวจากปิ่นโต เล่นหมากเก็บด้วยกัน พอช่วงบ่ายก็ให้ลองร้อยมาลัย และเต้นลีลาศกับผู้สูงอายุ เห็นได้ว่าน้อง ๆ อาจจะเขินและเกร็งบ้าง แต่ทุกคนก็ตั้งใจร่วมกิจกรรมกันอย่างเต็มที่

“วันนี้ที่น้อง ๆ ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมชน มีช่วงหนึ่งที่เราเห็นแล้วน่ารักมาก น้องที่มาจากสิงคโปร์เข้าไปช่วยวัดความดันให้คุณยาย คุณยายก็ลูบหัวเป็นการขอบคุณ แต่น้องทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะตอบกลับแบบไหน เลยเอามือเอื้อมไปโอบไหล่คุณยาย บางคนอาจจะมองว่าทำแบบนี้ไม่สุภาพ แต่จากสีหน้าและแววตาที่เราเห็น สัมผัสได้เลยว่าเขาอยากขอบคุณจริง ๆ แต่เขาแค่ไม่รู้จะแสดงออกยังไง ตรงนี้ก็เลยเป็นการตอบโจทย์ว่าเขาไม่ได้ปิดกั้นที่จะเข้าหาผู้สูงอายุ และพร้อมที่จะเรียนรู้มาก ๆ

“สิ่งที่อยากให้น้อง ๆ ได้กลับไปอย่างแรก คือ มิตรภาพที่ดีในการสร้างทีมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน อย่างที่สอง คือ ประสบการณ์ตรงที่เขาได้สัมผัสด้วยตัวเองจากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เห็นวิถีชีวิตผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจ ได้นำสารตั้งต้นหรือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในเมืองไทยกลับไปใช้ในพื้นที่ของเขา”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ