ถอดรหัสชีวิตซีซัน 2 ไม่ว่าอายุเท่าไร ชีวิตใหม่ก็สร้างได้เสมอ

Session ปิดท้ายในงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 มีชื่อว่า ชีวิตซีซัน 2 ที่มาพร้อมกับเรื่องราวของสปีกเกอร์สุดพิเศษ 5 ท่าน กับเรื่องราวของชีวิตที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เราก็สามารถออกแบบชีวิตในแบบที่ใช่ และแบบที่เราชอบได้ หากว่าเราอดทนมากพอที่จะเริ่มต้นและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

“คุณต้องไม่หยุดว่ายน้ำ ไม่งั้นคุณจะจมลงเหมือนก้อนหิน อยากทำอะไรขอแค่เริ่มต้น ตราบใดที่คุณกำลังอยู่ในเส้นทาง มองเป้าหมายอย่างใจจดจ่อ วันข้างหน้าสิ่งที่คุณได้กลับมาจะมากไปกว่าที่คุณคิดไว้เสียอีก”

จากผู้หญิงบ้างานที่ต้องดูแลครอบครัวจนไม่เคยหันกลับมาถามตัวเองว่าแท้จริงแล้วอยากทำอะไรกันแน่ เสาวนีย์ ใจดี หรือครูเหมา วัย 78 ปี เริ่มหันกลับมาทบทวนตนเอง จนกระทั่งทำให้เธอได้พบกับสิ่งที่เธออยากทำนั่นก็คือ “โยคะ”ล

“ย้อนไปเมื่อ 40 ปี ก่อน เรามีโอกาสไปฝึกสมาธิ ได้รู้จักการกำหนดจิตและกายให้สัมพันธ์กัน ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็ตั้งใจว่าจะต้องรู้จักโยคะให้บรรลุให้ได้

“ด้วยความที่เราเป็น working women ต้องทำงานไปด้วย ดูแลลูกไปด้วยเพราะอยากส่งลูกให้ถึงเป้าหมาย กระทั่งถึงวันที่ส่งลูกถึงฝั่ง เราก็กลับมาถามตัวเองว่าจริง ๆ แล้ว ชีวิตที่เราฝันไว้คืออะไรกันแน่ และคำตอบที่ได้ก็คือโยคะ”

เมื่อได้คำตอบชัดเจนแล้ว ในวัยใกล้เกษียณครูเหมาตัดสินใจวางมือจากธุรกิจที่ทำอยู่แล้วเดินทางไปประเทศอินเดียโดยลำพังเพื่อเรียนการเป็น

“ครูสอนโยคะ” แม้จะกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่บ้าง แต่เพราะความตั้งใจอันแน่วแน่และมีภาพฝันถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นั้นก็ชัดเจนเกินกว่าที่จะหยุดความตั้งใจเธอได้

“เราได้เจอคนมากมายจากทั่วโลก หลายคนมีธุรกิจใหญ่โตแต่กลับมีความฝันว่าอยากเป็นโยคี หลายคนมีเป้าหมายคล้ายเรา ตลอด 1 เดือนเต็มที่อาศรมแห่งนั้นจึงกลายเป็น turning point ครั้งใหญ่ในชีวิต”

เมื่อกลับมาเมืองไทย ครูเหมาได้เป็นครูสอนโยคะสมความตั้งใจ เริ่มจากที่มีนักเรียนเพียงแค่ไม่กี่คนจนกระทั่งมีนักเรียนร่วมร้อย

“ครั้งแรกที่เริ่มสอนมีนักเรียนแค่ 1-2 คน จนกลายเป็นเวิร์คชอปใหญ่ มีรายการมาถ่ายทำและมีนักเรียนร่วมร้อย นั่นทำให้เรามั่นใจว่าเรามาถูกทาง ตอนนั้นมีความสุขมาก จนกระทั่งเจ้าของบ้านมาขอบ้านคืน เราเลยหยุดสอนคลาสใหญ่ ๆ แต่ไปสอนตามบ้านลูกศิษย์แทน กระทั่งวันที่โควิด 19 ระบาด”

ในตอนนั้น โรงเรียนสอนโยคะประกาศปิดตัวยาว ครูเหมาจึงว่างเว้นจากการทำงานอีกครั้ง และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในชีวิต

“ตอนโรงเรียนประกาศหยุดพัก เราคิดว่าโชคดีเหมือนกันที่ได้พักผ่อน เพราะคงปิดไม่กี่เดือน แต่ในความเป็นจริงโรงเรียนปิดตัวยาวนานถึง 1 ปี

“เราไปเที่ยว ไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ข้างในกลับปั่นป่วน เหมือนมีอะไรบางอย่างในใจผิดปกติไป คุยกับลูกอยู่ดี ๆ น้ำตาก็ไหล เราถึงรู้ตัวว่าเรากำลังเป็นซึมเศร้า โชคดีที่เราสังเกตตัวเองได้ทันเลยรีบกลับมาฝึกโยคะอย่างหนักจนกระทั่งความรู้สึกนั้นหายไป”

จนถึงวันนี้ โยคะได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกจากกันไม่ออก และครูเหมาเชื่อว่า ไม่ว่าจะเริ่มช้าหรือเร็วอย่างไร ขอแค่เริ่มต้นเท่านั้น แล้วก้าวต่อไปเราจะไปไกลได้มากกว่าที่เคย

เริ่มเรียนการตลาดออนไลน์ในวัย 77 ปี

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อครูเหมารู้จักกับคลาสเรียนการตลาดออนไลน์ ที่ดูจะเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่ต้องชำนาญการใช้เทคโนโลยี แต่ครูเหมากลับเลือกที่จะลองดูอีกสักครั้ง

“วันหนึ่งเราเปิดเฟซบุ๊ก แล้วบังเอิญไปได้ยินคนพูดเรื่อง personal branding ตอนนั้นสนใจมากเลยฟังจนจบ แต่ด้วยความที่เราไม่ชอบใช้โทรศัพท์มือถือเลยลังเลว่าจะสมัครเรียนดีไหม พอถามเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ทุกคนบอกว่าอายุขนาดเราต้องเข้าวัดถือศีล กินเจต่างหาก แต่พอมาถามตัวเองก็พบว่าใจเรามันไปแล้ว

“ตอนนั้นเพลง “The Times They Are a-Changin’” ของ Bob Dylan ดังขึ้นมาในหัว มันพูดถึงเรื่องช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ประโยคหนึ่งที่ฝังใจเรามากคือ “คุณต้องเริ่มว่ายน้ำ ไม่เช่นนั้นคุณจะจมเหมือก้อนหิน..” พอได้ยินแบบนั้น เราก็คิดได้ รีบโอนเงินสมัครเรียนทันที”

ครูเหมาตัดสินใจเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ในวัย 77 ปี การเรียนร่วมกับคนรุ่นหลานอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ครูเหมายืนยันว่าไม่ว่าใครก็สามารถผ่านจุดนี้ไปได้ขอเพียงแค่กล้าลงมือทำ

“ตอนนั้นลึก ๆ ท้อมาก แต่ก็ไม่ยอมถอยจนเรียนจบมาได้ เราเลยอยากบอกทุกคนว่า ถ้าจะเริ่มทำอะไร ไม่ต้องรอความสมบูรณ์แบบหรอก แต่ให้ลงมือทำเลย

“จนถึงวันนี้ ตัวเราในวัย 77 ปี สามารถทำคอนเทนต์โพสในเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ได้เองหมดแล้วโดยไม่ต้องให้ใครช่วย มันปลื้ม มันดีใจมากที่ผ่านตรงนั้นมาได้

“สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยากทำอะไร ขอแค่เริ่มต้น อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร แค่เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด เพราะตราบใดที่คุณกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า ใจจดจ่อกับเป้าหมาย วันหนึ่งโอกาสมันจะมาถึงเอง ใครที่กำลังตามหาชีวิตในซีซันถัดไป ถ้าใจมันสู้ คุณจะเจอคความหมายของชีวิต”

ยี-วันเพ็ญ ชัยบุญญลักษณ์ เป็นอดีตแม่บ้านเต็มเวลาที่ไม่ยอมหยุดเดินตามความฝันวัยเด็ก ในวัย 57 ปี เธอได้เป็นนางแบบอาชีพและล่าสุดเพิ่งได้รับคัดเลือกให้เดินแบบในเวที Bangkok International Fashion Week ที่ผ่านมา

โอกาสยิ่งใกล้ แต่เหมือนยิ่งไกลออกไปทุกที

“เราเป็นคนรักสวยรักงามแต่เด็ก ชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เรากับเพื่อนจะไปเดินซื้อเสื้อผ้าที่สยามกันทุกวัน ย้ำว่าทุกวันจริง ๆ (หัวเราะ) ตอนนั้นที่สยามมีร้านเสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังอย่าง “Soda Pop” เราไปซื้อบ่อยจนกลายเป็นเพื่อนกับพนักงาน และในที่สุดเราก็ไปสมัครเป็นพนักงานเสียเอง

“อยู่ที่นั่น เราได้เจอดารา-นางแบบ ช่างภาพดัง ๆ มากมาย เราคิดว่าถ้ามาเป็นพนักงานขายที่นี่ นอกจากจะได้ใส่เสื้อผ้าสวย ๆ แล้ว เราอาจจะมีโอกาสเป็นนางแบบเหมือนเขาก็ได้

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราอยู่ใกล้โอกาสมากเสียจนไม่มีโอกาส เพราะเราเป็นแค่พนักงานขาย บางครั้งช่างภาพจะบอกเราไว้ว่าเห็นใครที่มาร้านแล้วดูสวย หน่วยก้านดี ให้เราขอเบอร์ไว้ให้ แต่เราเองกลับไม่เคยได้รับโอกาสนั้น”

30 ปี ที่หายไป กับ ช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย

“เราทำงานตรงนั้นมาเรื่อย ๆ จนแต่งงานและมีลูกในวัย 21 ปี ตั้งแต่วันนั้นเราก็กลายเป็นแม่บ้านเต็มตัว ทั้งชีวิตคือการดูแลลูก สอนการบ้าน ทำอาหาร ไม่เคยได้ออกไปข้างนอกหรือแต่งตัวสวยเหมือนแต่ก่อน ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนั้นนานกว่า 30 ปี

“จนกระทั่งลูก ๆ เรียนจบ มีงานทำ พวกเขาเริ่มออกไปมีชีวิตของตัวเองทีละคน เรารู้ตัวอีกทีก็อายุ 50 กว่าแล้ว ในบ้านเหลือแค่เรากับสามีและหมาที่ชื่อ ‘อามุ๋ย’

“ด้วยความที่สามีทำงานต่างจังหวัด และเป็นช่วงที่เราต้องดูแลพ่อแม่ที่ล้มป่วย ชีวิตเราจึงมีแต่ “อามุ๋ย” เท่านั้น จนกระทั่งช่วงเวลาแห่งความสูญเสียมาถึง

“ทั้ง 3 ชีวิตที่เรารักทยอยจากเราไปในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พอพ่อเสีย อามุ๋ยก็จากไป และอีก 3 เดือน ถัดมาแม่ก็เสียชีวิตตามไปอีก นี่เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดมาก เพราะพวกเขาคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า พอพวกเขาจากไปพร้อม ๆ กัน ชีวิตเราก็มืดมนทันที

“เรามองไปทางไหนในบ้านก็เห็นแต่กำแพง เพดาน และพื้น ไม่เหลือเป้าหมายใด ไม่มีเรี่ยวแรง ใช้ชีวิตเหมือนเป็นซากต้นไม้ที่รอวันตายเท่านั้น”

แค่ก้าวขาออกจากบ้าน ชีวิตก็เปลี่ยน

“ลูกเห็นเราเป็นแบบนี้ก็ทนไม่ไหว เขาบอกว่าแม่จะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปไม่ได้ อยากให้ออกจากบ้านทุกวัน ไปกินอะไรที่ชอบ หรือออกไปไหนก็ได้ เราไม่มีแก่ใจอยากทำอะไรหรอกแต่พยายามดีดตัวเองออกจากบ้าน

“จนกระทั่งวันหนึ่งเรานัดเจอเพื่อนไว้ เลยต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีแห่งหนึ่ง ตอนนั้นที่สถานีกำลังมีการถ่ายแบบ เราเข้าไปถามทางเขา แต่เขากลับถามกลับมาว่า “พี่เคยถ่ายแบบไหมครับ ?” แล้วเขาก็เปิดผลงานให้ดู แลกไลน์กัน เราคิดว่ายังไงเขาคงไม่โทรมาหรอก จนกระทั่งวันหนึ่งเขาติดต่อกลับมาว่า มีงาน จะจ้างเรามาเป็นนางแบบ

“เราตกใจมาก เห็นเขาส่งรูปนางแบบฝรั่งมาให้ดูก็งงไปหมด เพราะตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราตามสังคมไม่ทันเพราะหายไปเป็นแม่บ้าน 30 ปี และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

“จนถึงวันนี้ เราเป็นนางแบบอาชีพมาปีกว่าแล้ว ไม่คิดว่าความฝันในวัยเด็กจะเป็นจริง มันรู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ เหมือนเป็นต้นไม้ที่กำลังจะแห้งตาย แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ได้รับน้ำฝน เราเชื่อว่าเมื่อเราอดทนรอให้นานพอจนถึงเวลา สุดท้ายเราจะกลายเป็นดอกไม้ที่ผลิบานได้ในที่สุด”

“อยากบอกทุกคนว่า ถ้าใครรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเหงา ว้าเหว่ ไม่มีจุดหมาย ให้ลองย้อนกลับไปหาความฝันที่เราเคยมี หากคุณมีความฝัน อย่าทิ้งความฝันของคุณ เชื่อเถอะว่าทุกอย่างมีเวลาของมัน ขอให้มีชีวิตอยู่เพื่อรักษาความฝันของคุณไว้ และเมื่อวันนั้นมาถึง คุณแค่เลือกว่าจะยังคว้ามันไว้หรือปล่อยมันผ่านไป”

“ผมตกงานในวัย 50 ปี กว่าจะมีวันนี้ ผมล้มลุกคลุกลาน ร้องไห้คนเดียวในความมืดตลอด 5 ปี หากใครท้อ สิ้นหวัง ขอแค่ให้อดทน แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง คุณจะมีชีวิตใหม่”

ลุงหมึก ภูผาตาด โฮมสเตย์ เป็นอดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ตกงานในวัย 50 ปี จากวิกฤตเศรษฐกิจ การต้องสูญเสียงานประจำ และความมั่นคงในชีวิตในวัยนี้นับว่าไม่ง่ายเลยสำหรับการยอมรับและปรับตัว แต่การเป็นนักสู้ สู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้ แต่อดทนทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและรักอย่างไม่ย่อท้อยาวนานหลายปี จนทำให้วันนี้เกิดเป็น “ภูผาตาด โฮมสเตย์” โฮมสเตย์เล็ก ๆ ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ใครไปก็ต้องหลงรัก

“ผมเคยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีชีวิตการงานที่ดีและมั่นคง ผมสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก และเก็บเงินซื้อบ้านของตัวเองได้ในวัยเพียงแค่ 20 กว่าปี ผมวางแผนว่าคงทำงาน เก็บเงินไปเรื่อย ๆ จนเกษียณ แต่กลับเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น”

ปี 2540 เกิดวิกฤตฟองสบู่แตก หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งขาดทุนจนถูกปิดตัวลง ลุงหมึกกลายเป็นคนตกงานในวัย 50 ปี ทั้งที่ยังไม่มีการเตรียมการใด ๆ สำหรับตนเองและครอบครัว

“ตอนนั้นเราจะเห็นข่าว นักธุรกิจร้อยล้านออกมายืนขายไก่ย่างบ้าง ผู้จัดการธนาคารออกมายืนขายแซนด์วิชบ้าง มีข่าวคนฆ่าตัวตายในหนังสือพิมพ์ไม่เว้นวัน

“ตอนตกงานแรก ๆ เวลาผมเดินออกจากบ้าน คนแถวบ้านก็ชอบทักว่าไม่ไปทำงานเหรอ พอถามบ่อย ๆ เข้า มันทำให้เราทั้งเครียดทั้งหงุดหงิด ผมต้องแกล้งแต่งชุดทำงานออกจากบ้าน แล้วนั่งรถเมล์ไปเรื่อย ๆ ไปนั่งอยู่ตามสนามหลวง คลองหลอด สวนลุมพินี ผมไปแบบไม่มีจุดหมาย ขอแค่ใช้เวลาให้หมดไปวัน ๆ ตกเย็นถึงกลับบ้าน ตอนนั้นชีวิตตกอยู่ในความมืดจนไม่เหลือความภาคภูมิใจในชีวิตอีกแล้ว”

ลุงหมึกพยายามหางานที่พอจะทำได้ ไม่ว่าจะขับแท็กซี่ รับจ้างเฝ้าไข้ ขายกะหรี่ปั๊บ แต่กลับไม่มีอาชีพไหนที่ลงตัว ตอนนั้นความเครียดถาโถมอย่างหนักจนลามไปถึงครอบครัวจนกระทั่งมีงานขายโครงการบ้านจัดสรรเข้ามาทำให้ลุงหมึกสามารถหาเงินได้ก้อนหนึ่ง

เริ่มชีวิตใหม่ด้วยเงินก้อนสุดท้าย

ลุงหมึกในวัย 55 ปี ตัดสินใจซื้อที่ดินรกร้างใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เพื่อทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่การบุกเบิกและปรับปรุงผืนดินผืนใหม่กลับไม่ใช่เรื่องง่าย

“ครั้งแรกที่ผมฟันจอบลงไป ดินแข็งจนจอบกระเด็นออก มือแตกทั้ง 2 ข้าง ผมต้องใช้เวลาศึกษาสภาพผืนดิน ลองผิดถูกอยู่นาน ชีวิตตอนนั้นก็อยู่ตามลำพัง ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มีญาติพี่น้องเป็นคนแปลกที่ ที่ ๆ อยู่ก็ไม่มีทีวี ไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์ ผมใช้ชีวิตอยู่คนเดียวอย่างนั้น 3 ปี ด้วยเงินวันละเพียง 100 บาท ที่ภรรยาส่งมาให้

“นับตั้งแต่วันนั้น กว่า 20 ปี ที่ผมใช้ความอดทนอย่างหนัก ร้องไห้คนเดียว ล้มลุกคลุกคลานนับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดผืนดินแข็งกระด้างนั้นนก็กลายมาเป็นภูผาตาด โฮมสเตย์ ในวันนี้ มันคือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุด”

แม้อาจต้องล้มแล้วลุกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความภาคภูมิใจที่เคยมีอาจแตกสลาย แต่ด้วยความอดทนอย่างถึงที่สุด และการเชื่อมั่นในเป้าหมายที่อาจยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของลุงหมึก ก็ทำให้ชายผู้นี้ได้มีโอกาสกลับมาสัมผัสถึงความภาคภูมิใจชีวิตอีกครั้งในวัยกว่า 70 ปี บางครั้งการมาถึงของความสำเร็จก็ต้องใช้เวลารอคอยอย่างยาวนาน ขอเพียงแต่ให้เราอดทน เชื่อมั่นและศรัทธา

คุณเอื้อย-พรรณประภา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นอดีตแอร์โฮสเตสที่กล้าก้าวออกจาก comfort zone โดยการลาออกจากงานประจำและรับช่วงต่อธุรกิจโรงไม้ที่บ้านทั้งๆ ที่ความรู้เรื่องการทำงานไม้เป็นศูนย์ กระทั่งสามารถพัฒนาสู่การเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายใต้แบรนด์ของพ่อที่ชื่อว่า “ไต้ลิ้ม”

คุณเอื้อยเติบโตใน “ไต้ลิ้ม” โรงไม้เก่าแก่ที่เป็นธุรกิจของครอบครัวและดำเนินกิจการต่อเนื่องมาแล้วกว่า 50 ปี แม้จะมีความผูกพันและใกล้ชิดกับงานไม้ แต่ไม่เคยเลยที่เธอคิดอยากสืบทอดกิจการของครอบครัว เพราะความฝันของเธอไม่ได้อยู่แค่ในโกดังไม้แต่คือการออกไปท่องโลกกว้าง

“เราวิ่งเล่นในโรงไม้มาตั้งแต่เด็ก เห็นพ่อแม่ทำงานในนั้น เห็นไม้สำหรับต่อรถ ต่อเรือ สร้างบ้านจนชินตา แต่ไม่เคยมีความคิดอยากทำงานกับที่บ้านเลยแม้แต่น้อย เพราะเราไม่อยากมีชีวิตอยู่แค่ในโกดัง เราอยากออกไปเห็นโลกกว้างต่างหาก

“พอเรียนจบ เราเลือกเป็นแอร์โฮสเตส เราได้มีชีวิตที่ต้องการ ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ เหมือนชีวิตในฝันและมีความสุขมากตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ของอาชีพ”

จนกระทั่งปี 2538 พ่อของคุณเอื้อยเสียชีวิต ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ธุรกิจกำลังอยู่ในขาลง ธุรกิจโรงไม้ไต้ลิ้มเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน จากช่างไม้ในโรงเลื่อยกว่า 50 คน ลดจำนวนเหลือเพียงไม่ถึง 10 คน

“แม่เข้ามาดูแลกิจการเป็นหลัก แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เราได้แต่ประคองธุรกิจไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งแม่บอกว่าไม่อยากทำแล้ว จะขาย ทั้งไม้และที่ดินทั้งหมด ตอนนั้นทำให้เราฉุกคิดว่า ธุรกิจที่ครอบครัวที่พ่อสร้างกันมาทั้งชีวิตกำลังจะจบที่รุ่นเราแล้วจริง ๆ หรือ”

นั่นจึงเป็นที่มาของการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อคุณเอื้อยตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำมากกว่า 30 ปี

“เราเลือกลาออกจากงานและมารับช่วงกิจการต่อทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้อะไรเลย ตอนนั้นเราคิดหนักมากเพราะเรายังสนุกกับงานที่รักมากไม่เคยเปลี่ยนมาตลอด 30 ปี แต่ก็คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดแล้ว”

ปี 2559 คุณเอื้อยเลือกลาออกจากงานสายการบิน แขวนส้นสูงแล้วใส่รองเท้าผ้าใบมาเดินในโกดังไม้แทน ในช่วงแรกที่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไงดี เธอจึงเลือกไปเรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้

“เราเริ่มเรียนออกแบบครั้งแรกตอนอายุ 52 ปี ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นมีอายุแค่ 20-30 ปี เท่านั้น เราวาดรูปไม่ได้ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ต้องคอยให้น้อง ๆ ช่วยเสมอเลยเป็นการเรียนที่ทุกข์สาหัสมาก

“สมัยเราทำงานบนเครื่องบิน เราทำได้หลายหน้าที่ แก้ปัญหาได้เกือบทุกอย่าง แต่ตอนนี้ความมั่นใจที่เรามีแทบไม่เหลือเลย มีครั้งหนึ่งเราเรียนสีน้ำ สีไหลหกที่พื้นจนเลอะเทอะ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโต๊ะมันปรับองศาได้จนกระทั่งครูเดินเข้ามาบอก

“เย็นวันนั้นเรากลับบ้านร้องไห้ ได้แต่ถามตัวเองว่าเรามาที่นี่ทำไม ทำอะไรอยู่ แต่สามีเตือนสติว่าในเมื่อเรามาอยู่ตรงนี้แล้ว ขอให้ถามตัวเองว่าทำเต็มที่หรือยัง ให้ทำไปให้สุดทางก่อน จนในที่สุดเราก็เรียนจบจนได้ diploma of inertia product design ในระยะเวลา 2 ปี”

หลังจากนั้น คุณเอื้อยพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาอีกหลายชิ้นที่ต่อยอดมาจากการเรียนในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้สบายแชร์ สบายเตียง หรือโต๊ะกินข้าว

“เรานึกถึงคำที่พ่อสอนอยู่เสมอ ว่าเราเป็นคนเป็น ไม่ใช่คนตาย มีแต่คนตายที่นอนในโลงเท่านั้นที่ไม่ทำอะไรแล้ว ถ้ายังมีลมหายใจ ขอให้เดินหน้า ไม่มีอะไรที่คนเราจะทำไม่ได้

“แม้ทุกวันนี้เราเรียนจบมาแล้ว แต่ก็ยังวาดรูปหรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่เก่งอยู่ดี แต่การกล้าก้าวออกมาจาก comfort zone นั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก หากอยากทำอะไร ขอแค่มีก้าวแรก ก้าวออกมา เราเชื่อว่ามันจะมีก้าวต่อไปเสมอ แต่ขอให้อดทน พยายาม เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรในโลกที่คนเราทำไม่ได้”

“ผมไม่เคยสนใจว่าตัวเองจะมีตำแหน่งอะไรมาก่อน ตอนนี้ผมพบแล้วว่าความสุขที่สุดของผมเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพียงแค่ลงมือเย็บกระเป๋า”

ลุงนิพนธ์ บุญญภัทโร วัย 92 ปี คืออดีตผู้ราชการจังหวัดถึง 4 จังหวัด คือ พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ก่อนเกษียณด้วยตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในวัย 92 แม้ลุงนิพนธ์จะเดินได้ไม่คล่องแคล่ว แต่น้ำเสียงยังหนักแน่น และมีความทรงจำในอดีตที่แม่นยำ เขาเล่าว่าแม้ว่าตนเองจะเคยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ มาก่อน แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เรื่องชั่วคราว สิ่งที่คุณลุงใส่ใจในวันนี้คือการได้มีสุขภาพที่แข็งแรงและได้ทำงานอดิเรกที่หลงใหลอย่างการเย็บกระเป๋าหนัง

ลุงนิพนธ์เริ่มหัดเย็บกระเป๋าครั้งแรกในวัย 80 ปี เพราะหมอบอกว่า ให้หางานเล็กๆ น้อยๆ ทำ เนื่องจากช่วงนั้นชีวิตต้องเผชิญกับความเครียด เมื่อต้องมาเริ่มต้นทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำให้ลุงนิพนธ์ต้องลองผิดลองถูกนับไม่ถ้วน เพราะงานทำกระเป๋าหนังเป็นงานที่ต้องใช้พละกำลัง สายตา สมาธิ และความอดทนสูงมาก

“ครั้งแรกที่เริ่มทำมันยากมาก เพราะการเย็บกระเป๋าหนังต้องใช้แรงเยอะ แม้จะเจ็บมือแต่ก็ต้องอดทน พอกระเป๋าใบแรกเสร็จผมภูมิใจมาก จนอดไม่ได้ที่จะแจกจ่ายผลงานนี้ให้ไปถึงลูกหลานหรือคนรู้จัก งานนี้มันทำให้ผมรู้ว่า ทุกเช้าผมตื่นมามีเป้าหมายว่าจะทำอะไร”

ในมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 นี้ นอกจากคุณลุงนิพนธ์จะมาเล่าให้ฟังถึงการคhนพบความหลงใหลในวัยเกษีนณเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจแล้ว ยังแสดงฝีมือสลักชื่อบนแผ่นหนังให้เราดูบนเวทีกันแบบสด ๆ และแจกกระเป๋าให้กับผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย

วันนั้นนอกจากจะได้ฟังเรื่องราวสุดประทับใจจากคุณลุงปลัดแล้ว ยังได้รับความอบอุ่น อ่อนโยน และพลังงานดี ๆ จากคุณลุงกลับบ้านไปเต็ม ๆ จนอดอมยิ้มไม่ได้ไปตาม ๆ กัน

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ