ผู้สอนวิชาแห่งความสุข สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจกันระหว่างคนต่างวัย ? มนุษย์ต่างวัยออกแบบกิจกรรม Workshop เรา(ต่าง)เหมือนกัน ที่ปกติจะจัดขึ้นแบบ 2 วัน 1 คืน มาทำเป็นฉบับ Mini สำหรับงานมนุษย์ต่างวัย Fest 2025 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาผู้เข้าร่วมทุกท่านไปสำรวจเบื้องลึก- เบื้องหลังความคิดของคนต่างเจเนอเรชัน และวิธีการสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจกัน
.ภายในห้องเวิร์กช็อปมีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน โดยมีคนทั้ง 4 เจเนอเรชัน ได้แก่ เจนฯ Baby boomer, X, Y, และ Z คละกันไป จึงเหมาะสมกับกิจกรรมครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง และมี “มะขวัญ” – วิภาดา แหวนเพชร ผู้สอนวิชาแห่งความสุข จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มากว่า 8 ปี รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้
ก่อนเริ่มกิจกรรม “มะขวัญ” กล่าวถึง “วงกลมความสัมพันธ์” มาเป็นอันดับแรก ว่าในชีวิตของคนเรานั้นมีวงกลมทั้งหมด 3 วง วงกลมนอกสุด คือ คนนอกหรือคนที่อยู่ไกลตัวเรา วงกลมวงใน คือ คนที่อยู่ใกล้ชิดกับเรา และวงสุดท้าย คือ ตัวเรา ซึ่งคนที่อยู่ในวงชั้นต่าง ๆ นั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนที่อยู่รอบตัวเราเท่านั้น แต่ยังเป็นกระจกที่สะท้อนว่าตัวเรานั้นเป็นอย่างไร
กิจกรรมแรกที่ผู้เข้าร่วมได้เล่น คือ กิจกรรมใจเราต่างเหมือนกัน โดยสุ่มคน 1 เจนฯ ออกมาด้านหน้า จะมีคำถามขึ้นมาให้ และให้ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มปรึกษากันว่าคนเจนฯ นั้นจะเลือกคำตอบอะไร
คำถามมีทั้ง สื่อที่น่าจะชื่นชอบ หากมีแฟนอยากให้แฟนแสดงความรักอย่างไร เลือกเรื่องที่เห็นแล้วรู้สึกทึ่งที่สุด และหากขอพรแล้วสัมฤทธิ์ผลได้จะขออะไร มีผู้เข้าร่วมทุกเจนฯ ออกมาร่วมสนุกกับกิจกรรม และแสดงความเห็นอย่างสนุกสนาน
บทสรุปจากกิจกรรม ‘ใจเราต่างเหมือนกัน’ คือ คำตอบของแต่ละคนไม่สามารถแบ่งตามเจเนอเรชันได้อย่างชัดเจน แม้จะอยู่ในเจนฯ เดียวกัน แต่ประสบการณ์และมุมมองชีวิตของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าคนเจนฯ เดียวกันจะต้องคิดเหมือนกันเสมอ
กิจกรรมถัดไป คือ กิจกรรม Wall & Window เป็นกิจกรรมที่จะพาผู้เข้าร่วมทบทวนกำแพงและหน้าต่างที่อยู่ในใจของตัวเอง มะขวัญได้อธิบายว่า เวลาที่เราพยายามแก้ปัญหาความสัมพันธ์แต่ไม่สำเร็จ บางครั้งเป็นเพราะเราสร้างกำแพงขึ้นมากั้นโดยไม่รู้ตัว กำแพงนี้เกิดจากความกลัวตามธรรมชาติ พอมีสิ่งกั้นอยู่ เราจึงเข้าไม่ถึงกันและแก้ปัญหาไม่ได้
แต่ถ้ามี ‘หน้าต่าง’ มุมมองหรือโอกาสเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เรามองผ่านกำแพงนั้นได้ — ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจ และค่อย ๆ แก้ปัญหาร่วมกันได้ในที่สุด
และในการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราจะต้องแข็งแรงก่อน เพื่อไม่ให้ไขว้เขวไปกับความรู้สึกที่ไม่ดี ให้ตัวเราเอง “พร้อม” ก่อนที่จะลงมือแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น.
และลองมองมุมใหม่ หากเรายังมองคนๆ นั้นจากมุมเดิม เห็นเขาแบบเดิม ๆ เราก็จะเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลยแต่ถ้าเราลองมองเขาใหม่ จากมุมที่ต่างออกไป มองเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แล้วเปิดใจทำความรู้จักเขาอีกครั้ง แม้ว่ากำแพงระหว่างเรายังอยู่ แต่แค่เรารู้เท่าทันกำแพงนั้น มันก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบ ‘หน้าต่าง’ ที่จะพาเราไปสู่ทางออกได้
กิจกรรมถัดไปคือ ‘การฟังด้วยใจ’ โดยมะขวัญได้นำทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง ร่วมกับแนวคิดเรื่องความต้องการของมนุษย์จาก ดร.มาร์แชล โรเซนเบิร์ก เจ้าของทฤษฎีการสื่อสารอย่างสันติ มาอธิบายให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจมนุษย์อย่างเรียบง่ายและลึกซึ้ง
ใจความสำคัญคือ การจะสื่อสารหรือแก้ปัญหาความสัมพันธ์ได้ เราต้องเข้าใจ ‘ความต้องการที่แท้จริง’ ซึ่งซ่อนอยู่ลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง นั่นคือคุณค่าหรือแรงผลักดันในใจของแต่ละคน
และการจะเข้าถึงจุดนั้นได้ ต้องอาศัย ‘การฟังด้วยใจ’ ควบคู่กับการรู้เท่าทันตนเอง ไม่เผลอตัดสิน เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน จึงจะเกิดสัมพันธภาพที่ดีอย่างแท้จริง
ผู้เข้าร่วมทุกคนได้จับคู่กันและทดลองสื่อสาร ผลัดกันเป็น ‘ผู้เล่า’ และ ‘ผู้ฟัง’ โดยใช้เทคนิคการฟังอย่างตั้งใจและการทวนสิ่งที่ได้ฟัง เพื่อให้ผู้เล่ารู้สึกว่าเรื่องราวของเขาได้รับการรับฟังอย่างแท้จริง ปราศจากการตัดสินหรือขัดจังหวะ
ก่อนจบเวิร์กชอป มะขวัญได้สรุปภาพรวมของกิจกรรม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ ‘กำแพง’ และ ‘หน้าต่าง’ ในการสื่อสารของแต่ละคน รวมถึงการรับฟังด้วยใจ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และนำไปสู่การสื่อสารที่เข้าใจกันมากขึ้นระหว่างคนต่างวัย