สำรวจสังคมสูงวัยในเยอรมัน สู่การประดิษฐ์ไอเทมสุดล้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยไทย

มนุษย์ต่างวัยพาสำรวจสังคมสูงวัยในเยอรมัน แล้วย้อนกลับมาดูสังคมไทย ความเจ็บปวดของคนสูงวัยในแต่ละที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? ไปกับ ‘ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ’ หรือ ดร.ตั้ม นักวิจัยแห่ง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ  (MTEC) ผู้คิดค้นวิจัยนวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัย กับเบื้องหลังแนวคิดและแรงบันดาลใจที่อยากผู้สูงวัยในสังคมไทยมีชีวิตที่เป็นอิสระ พึ่งพาตัวเองได้ และมีความสุข

ย้อนไปในวัยมัธยม ดร.ตั้ม คือเด็กนักเรียนคนหนึ่งผู้ซึ่งชอบเรื่องรถหรือเครื่องยนต์กลไกเป็นพิเศษ หลังจบชั้นมัธยมศึกษาก็ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมเครื่องกลในระดับ ตรี-โท-เอกไกลถึงประเทศเยอรมัน

ระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี ในเยอรมัน กับการได้เห็นสภาพทางสังคมและความเป็นอยู่ในต่างแดนมีส่วนทำให้ดร.ตั้ม ได้ซึมซับวิถีชีวิต ได้รับแนวคิด และแรงบันดาลใจมากมาย จนกระทั่งเริ่มงานในฐานะนักวิจัยที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จนถึงปัจจุบัน


“ในช่วงแรก ผมทำงานเกี่ยวกับด้านยานยนต์เป็นหลัก ทั้งรถเพื่อการเกษตรและรถรับส่งนักเรียน ที่เน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์เป็นหลัก จนกระทั่งได้มาทำเรื่องรถพยาบาลที่ต้องเน้นเรื่องของเครื่องมือ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือคนป่วยและอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากร นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมได้ทำงานฝั่งสุขภาพและการแพทย์”

แม้จะทำงานด้านยานยนต์มาโดยตลอด แต่การได้ทำงานวิจัยด้านรถพยาบาลกลายเป็นก้าวแรกสำคัญที่ทำให้ดร.ตั้มให้ความสนใจกับการทำงานวิจัยด้านเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์สำหรับผู้สูงวัย จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 7  ปีแล้ว

“ปัญหาสังคมสูงวัยกำลังเป็นสิ่งที่เผชิญกันทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเราด้วย ผมและทีมอยากทำอะไรที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ จนกระทั่ง ผอ.จุลเทพ (ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล-ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีและโลหะวัสดุแห่งชาติ) ริเริ่มว่าเราน่าจะตั้งทีมนักวิจัยที่มีประสบการณ์ทั้งในด้านการออกแบบ เครื่องกล และวัสดุศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน”

ค้นหา insight ในใจผู้สูงอายุสู่นวัตกรรมชิ้นแรก – ‘โจอี้ เตียงตื่นตัว’

ในช่วงแรก ทางทีมวิจัยมีโจทย์ว่าอยากสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาในผู้สูงวัย แต่จะเป็นอะไรนั้นยังสรุปไม่ได้ จนกระทั่งทีมได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยเชิงลึกกับผู้สูงวัยและผู้ดูแลในรพ.หลายแห่ง (รพ.กลาง รพ.รามาธิบดี ฯลฯ) และนำความต้องการที่แท้จริงของพวกเขามาวิเคราะห์

“ถ้าเราไปถามผู้สูงอายุตรง ๆ ว่าท่านอยากได้อะไร อาจจะได้คำตอบว่าเป็นไม้เท้า หรืออุปกรณ์สักอย่างที่มีทั่วไป แต่เราคิดว่านี่อาจยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เราอยากรู้ว่าเขามี pain point หรือ insight อื่นไหมที่ต้องการ”

จากข้อมูลงานวิจัยพบว่าสถานที่ผู้สูงอายุพลัดตกหกล้มเยอะที่สุดอันดับแรกคือห้องน้ำและบันได แต่ที่น่าแปลกใจคือลำดับถัดไปเป็น ‘ข้างเตียง’ การลุกขึ้นจากเตียงไปเข้าห้องน้ำกลายเป็นความเสี่ยง ทีมวิจัยจึงได้ตีโจทย์ข้อมูลสำคัญนี้จากผู้ดูแลและผู้สูงอายุ

“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่กินยาลดความดันทำให้ลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อย หากต้องเรียกผู้ดูแลทุกครั้งจะทำให้พวกท่านเกรงใจ และอยากพึ่งพาตนเองจึงพยายามลุกออกไปเองและหกล้มในที่สุด ส่วนทางผู้ดูแลเองก็อยากรู้ว่าผู้สูงอายุจะลุกตอนไหน เพื่อจะได้ไปช่วยดูแลได้ทันเพื่อลดความเสี่ยงในการหกล้ม

“นี่จึงทำให้เราเห็นว่าตัวช่วยต้องไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่มาแจ้งเตือนเวลามีการลุก แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขาสามารถพึ่งพาตนเองและลดการพึ่งพาคนอื่นได้ต่างหาก”

จากการรู้ insight นี้เอง จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมชิ้นแรก คือ ‘โจอี้-เตียงตื่นตัว’ เตียงสำหรับผู้สูงอายุที่มีกลไกเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่งคล้ายโซฟา ทำให้ผู้ใช้ลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเองผ่านการควบคุมด้วยรีโมท โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร นอกจากไม่ต้องกลัวหกล้มแล้ว ยังทำให้รู้สึกภูมิใจว่ายังพึ่งพาตัวเองได้ด้วย

หรือในสถานดูแลที่มีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุหลายคน เรามักจะเห็นเขานั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บนเตียงทั้งวัน แต่จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่สามารถลุกจากเตียงได้ แต่เพราะผู้ดูแลมีน้อยเกินไปอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงแทบไม่ได้ลุกจากเตียงเลย โอกาสในการพัฒนาหรือคงสภาพร่างกายให้ยังแอคทีฟก็มีน้อยลงไปอีก ทำให้สภาพจิตใจเสื่อมถอยตามไปด้วย ทางทีมวิจัยจึงพัฒนา ‘BEN’ อุปกรณ์ช่วยขึ้น-ลงเตียงแบบปรับนั่งได้ ทำให้ได้สะดวกมากขึ้นซึ่งถูกนำไปใช้แล้วในหลายรพ.

หลังจากนั้นมา ทางทีมวิจัยก็นำข้อมูลและ insight ที่ได้มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุอีกหลายชิ้น

‘กันเธอ บาธ’ และ ‘กันเธอ เบลต์’ (Gunther bath & Gunther belt) – ผู้ช่วยเตือนภัยเมื่อสูงวัยหกล้ม

อีกนวัตกรรมหนึ่งที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ ‘กันเธอ บาธ’ (Gunther bath) และ ‘กันเธอ เบลต์ (Gunther bath) อุปกรณ์สำหรับแจ้งเตือนเมื่อมีการหกล้ม มีทั้งแบบติดตั้งในห้องอาบน้ำและแบบเข็มขัด

“การหกล้มของผู้สูงอายุเพียงครั้งเดียวสร้างความสูญเสียมาก เราพบว่าห้องน้ำเป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุหกล้มบ่อยและขอความช่วยเหลือได้ยาก เราเลยมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘กันเธอ บาธ’ (Gunther bath) ไว้ติดตั้งในห้องน้ำซึ่งสามารถตรวจจับการหกล้มได้ผ่านสัญญาณเรดาร์โดยไม่รบกวนผู้ใช้งาน จากนั้นจะแจ้งไปยังลูกหลานหรือผู้ดูแลทันทีเพื่อให้มีคนมาช่วยเหลือได้เร็วที่สุด”

และสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องไปนอกบ้าน ‘กันเธอ เบลต์ (Gunther belt)’ หรือ เข็มขัดแจ้งเตือน จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สามารถตรวจจับได้หากมีการหกล้มและแจ้งเตือนไปยังผู้แลผ่าน LINE Official Account อย่างรวดเร็ว

“เข็มขัดนี้จะมีลักษณะบางเบาคล้ายกระเป๋านักวิ่ง ทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกเกะกะแม้ต้องคาดไว้บริเวณสะโพก และยังมีการตรวจจับที่ให้ความแม่นยำกว่าในรูปแบบของนาฬิกาข้อมือ เพราะเมื่อมีการล้ม สะโพกจะเป็นตำแหน่งแรกที่รับแรงกระแทกและทำให้ผู้สูงอายุต้องผ่าตัดในที่สุด”

อุปกรณ์นี้ถูกนำไปใช้จริงในรพ.สต.หลายแห่งทั่วประเทศแล้ว และตอนนี้ทางทีมวิจัยกำลังเก็บข้อมูลและพัฒนาให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ อย่างเราอดใจรอกันแทบไม่ไหวทีเดียว

“เรากำลังพัฒนาเข็มขัด กันเธอ เบลต์ ให้เบาบางลงไปอีก และมีฟังก์ชันคล้ายถุงลมนิรภัยในรถยนต์ ที่หากมีการล้มเมื่อไหร่จะระเบิดพองอออกมาทันทีเพื่อรองรับแรงกระแทกที่สะโพก และสิ่งสำคัญคือต้องมีราคาไม่แพงเกินไปให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ในวงกว้าง”

ให้ เรเชล (Rachel) และ รอส (Ross) เป็นเหมือนเพื่อนรักในบ้าน พ่อแม่ใช้แล้วมั่นใจ ลูกหลานใช้ก็ปลอดภัย

หากใครยังจำซีรีย์อมตะยอดฮิตแห่งยุค 90s อย่างเรื่อง ‘Friends’ (1994) กับความสัมพันธ์อันแสนชุลมุนวุ่นวายของแก๊งเพื่อน ที่ไม่ว่าจะแสนยุ่งเหยิงแค่ไหน แต่ใคร ๆ ก็รู้ว่ายังไงรอสก็ต้องคู่กับราเชล

‘รอส’ และ ‘เรเชล‘ ถูกนำมาใช้เป็นชื่อนวัตกรรมชิ้นใหม่สำหรับผู้สูงวัยและผู้ดูแลที่เปรียบเสมือนมีเพื่อนรักคอยดูแลประคับประคองกันไม่ห่าง แต่ยังคงให้อิสระซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้ใช้สุขภาพกายใจแข็งแรงดีมีพลังแบบ healthy ไปพร้อมกัน

เรเชล (Rachel) คือ ชุดบอดี้สูทที่สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ทำหน้าที่เสมือนกล้ามเนื้อจำลอง ช่วยเสริมกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาและก้น ทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น และกระตุ้นให้อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น หรือหากต้องมีการยกของหนัก ชุดจะช่วยลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง ให้ผู้สวมใส่เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด

“ผู้สูงวัยหลายคนมีอาชีพเป็นเกษตรกร เขาไม่มีคำว่าเกษียณอายุ การยกของ หรือใช้ร่างกายหนักเป็นเวลานานเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเรื้อรัง แต่ไม่ว่าประกอบอาชีพอะไร เราอยากให้ผู้สูงวัยยังแข็งแรง ลดการบาดเจ็บ และยังทำงานหรือประกอบอาชีพของเขาต่อได้ต่อไปและรักษาความเป็นอิสระในตัวเองให้ได้นานที่สุด”

ส่วนเพื่อนรักอีกคนอย่าง ‘รอส (Ross)’ หรือ ชุดพยุงหลัง เป็นชุดที่ออกแบบมาสำหรับผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือบุคคลากรทางการแพทย์อย่างพยาบาลหรือเวรเปลที่ต้องอุ้ม ประคอง ผู้ป่วยขึ้นลงเตียง รอสจะช่วยลดการบาดเจ็บได้

“รอสเกิดขึ้นจากแนวคิดเดียวกัน คือ เราอยากให้ผู้ใช้ยังคงสภาพร่ายกายที่แข็งแรง พึ่งพาตัวเองได้ให้ได้นานที่สุด แต่เราขยายไปถึงกลุ่มผู้ดูแลที่ส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาว รอสจะช่วยลดภาระของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างซึ่งเป็นบริเวณที่พบความเจ็บป่วยเยอะที่สุด เพื่อให้พวกเขาที่ต้องดูแลผู้อื่นยังสามารถดูแลตัวเองได้ในระยะยาว”

งานวิจัยต้องไม่ขึ้นหิ้ง แต่ทุกชิ้นต้องนำไปใช้ได้จริง

งานวิจัยแต่ละชิ้นใช้เวลาศึกษาวิจัยค่อนข้างนาน ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่าง ปรับปรุงแก้ไข และทดลองใช้จริง จากทีมนักวิจัย MTEC ถึงกว่า 10 คน ทำงานควบคู่กันไป จนกระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้จริงนั้นอาจกกินเวลานานกว่า 5 ปี

แต่การจะถูกนำไปใช้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ผู้ประกอบการ’ มีส่วนสำคัญ

“นวัตกรรมทุกชิ้นจะถูกวางแผนตั้งแต่แรกแล้วว่าจะนำไปใช้ร่วมกับผู้ประกอบการฝั่งไหน เราต้องการให้เกิดนำไปใช้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมในการให้คำแนะนำและบริการหลังการขายแก่ลูกค้า อย่างตอนนี้ ‘เตียงตื่นตัว’ หรือ Joey-Active bed ก็มี SB Design Square รับไปพัฒนาต่อแล้ว”

หรือชุด ‘เรเชล บอดี้สูท’ ที่กำลังพัฒนาอยู่ตอนนี้ คาดว่าน่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าการมีงานวิจัยต้นแบบจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิต และทำให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

“หากเรานำงานวิจัยของเราไปผลิตเอง เราจะผลิตได้น้อยชิ้น ทำให้มีต้นทุนสูง ทำให้กลายเป็นสินค้าราคาแพง

แต่ถ้างานวิจัยเราเป็นชิ้นงานต้นแบบโดยมีผู้ประกอบการเป็นผู้ผลิต เขาจะผลิตได้มาก ช่วยลดต้นทุน และยังทำให้คนเข้าถึงง่ายกว่าด้วย”

จากงานออกแบบยานยนต์ สู่ การออกแบบอุปกรณ์สำหรับคนสูงวัย

จากความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบยานยนต์ สู่ การออกแบบของที่ใช้กับคนจริง ๆ ดร.ตั้มเราให้เราฟังว่าแท้จริงแล้ว วิธีคิด การมองปัญหา และการออกแบบนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“เรื่องยานยนต์ เราทำงานกับเครื่องจักรเป็นหลัก มาตรฐานและความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนในแง่การผลิต เราต้องควบคุมต้นทุนให้ถูกที่สุดและเพียงพอต่อการใช้งานได้จริง

หากเราใส่ฟังก์ชันบางอย่างเข้าไปแล้วทำให้ต้นทุนแพงขึ้นมาก ผู้ประกอบการก็จะนำไปผลิตต่อได้ยาก

“แต่สำหรับของใช้ในชีวิตประจำวัน เราต้องระมัดระวังมากในการออกแบบแต่ละชิ้น เพราะต้องรู้จักกับปัญหา ความต้องการ หรือ insight ที่แท้จริงให้ได้โดยยังต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้ใช้ด้วย” ดร.ตั้มกล่าว

อุปกรณ์เสริมล้ำสมัย แต่ทำไมคนไม่ยอมใช้ – ค้นหา pain point ที่ซ่อนอยู่

สำหรับคนวัยหนุ่มสาว การมีอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใส่ที่ตัวอาจไม่ใช่เรื่องที่ปรับตัวได้ง่ายนัก แต่สำหรับผู้สูงวัยที่เริ่มมีกล้ามเนื้อเสื่อมถอย เรี่ยวแรงลดลง เดินไปไหนก็เจ็บหลัง เจ็บเข่า การมีตัวช่วยเข้ามาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ‘การผ่าตัด’

“จากการเก็บข้อมูลผู้ใช้จริง เราคำตอบที่น่าสนใจมากว่าผู้สูงวัยยินดีใช้อุปกรณ์เหล่านี้หากทำให้เขาไม่ต้องผ่าตัด และจะดียิ่งกว่าหากใส่แล้วยังดูเหมือนคนปกติ ไม่เหมือนหุ่นยนต์จนทำให้รู้สึกแปลกแยก แต่หากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงให้ต้องผ่าตัด ก็ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ดูดีมาก ๆ และช่วยเสริมบุคลิกให้เขายังดูแข็งแรงอยู่

“อีกเรื่องหนึ่งคือผู้สูงวัยส่วนมากจะไม่อยากใช้ หากรู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเสียเงินซื้อมาแม้ว่าจะมีฐานะดีอยู่แล้วหรือลูกหลานซื้อมาให้ก็ตาม เพราะรู้สึกว่ายังเป็นสิ่งไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง แต่หากเป็นของที่ได้มาฟรีเลยเขาจะไม่เห็นมูลค่า การจะทำให้เขายอมใช้นั้นจึงยังเป็นเรื่องท้าทายเหมือนกัน”

ในขณะที่อุปกรณ์สำหรับกลุ่มผู้ดูแลจะต้องเน้นการใช้งานง่ายเป็นหลัก ต้องไม่ยุ่งยาก หรือใช้เวลานานเกินไป

“ผู้ดูแลโดยเฉพาะกลุ่มพยาบาลหรือเวรเปลมีงานยุ่งมาก อุปกรณ์เสริมต้องไม่สร้างภาระหรือทำให้เสียเวลามากขึ้นไปอีก แล้วยังต้องรู้สึกสบาย ไม่รบกวนการทำงาน”

สำรวจสังคมสูงวัยในเยอรมัน สังคมที่เอื้อให้คนแก่ชราอย่างมีคุณภาพ

ในฐานะที่ดร.ตั้มใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเยอรมันมากว่า 10 ปี ทำให้ได้เห็นในหลายแง่มุมของประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวโดยมีการจัดการและวางรากฐานไว้เป็นอย่างดีจากรัฐบาล

“ในเยอรมัน ทุกคนจะถูกรัฐหักภาษีในจำนวนค่อนข้างสูงสำหรับใช้ในวัยเกษียณ เมื่อถึงวันนั้น พวกเขาจึงยังมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน

และหากใครอยากทำงานต่อ สังคมก็ยังมีพื้นที่ให้เสมอ”

หากไปที่เยอรมันแล้ว เราจะพบเห็นผู้สูงอายุอยู่ในระบบงานเกือบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิยาลัยที่เต็มไปด้วยเหล่าอาจารย์ท่าทางกระฉับกระเฉงที่มีอายุกว่า 70-80 ปี หรือในห้างสรรพสินค้า เราจะเห็นคนรุ่นปู่ย่าทำหน้าที่เป็นแคเชียร์หรือคนหยิบของใส่ถุง แต่กลับดูชำนาญคล่องแคล่วเสียยิ่งกว่าคนหนุ่มสาวเสียอีก

“เยอรมันเป็นประเทศที่มีวิศวกรเยอะ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีความรู้ และประสบการณ์ สังคมจึงถือว่าเขายังเป็นประชากรที่มีคุณภาพและยังทำงานได้ดีอยู่ เราจึงได้เห็นวัยเกษียณหลายคนเลือกที่จะไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือไปสมัครทำงานต่าง ๆ อย่างไม่ถูกปิดกั้นโอกาส

“หรือในร้านค้า เราจะเห็นผู้สูงอายุทำหน้าที่เป็นคนคิดเงิน คนกลุ่มนี้ยังทำงานได้ดี มีทักษะการคิดเลขว่องไวเพราะมีความชำนาญและประสบการณ์มาก และรัฐบาลยังให้การสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงวัย เพราะนอกจากเชื่อว่ายังเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพแล้ว การได้กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำงานยังช่วยฝึกสมองและกล้ามเนื้อมัดเล็ก ดีต่อสุขภาพอีกด้วย”

แต่การเห็นผู้สูงวัยพึ่งพาตนเองและยังคงทำงานอย่างแอคทีฟในเยอรมันไม่ได้มาจากนโยบายภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมที่เขายึดถือและเป็นสปิริตที่ฝั่งรากลึกในคนเยอรมันมาอย่างยาวนาน

“คนเยอรมันมีวัฒนธรรมความเป็น independent มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ลูกหลานจะเริ่มย้ายออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 17-18 ปี เพื่อไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง พ่อแม่ที่แก่ชราจะอยู่ในบ้านเพียงลำพัง และหากใครเป็นโสด หย่าร้าง หรือคู่ชีวิตจากไปแล้วมักจะเลือกเข้าไปอยู่ในสถานดูแลด้วยความเต็มใจโดยไม่พึ่งพาลูกหลาน วัยเกษียณจึงเป็นเหมือนวัยที่ได้เริ่มใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง บางคนหันมาออกกำลังกาย บางคนเริ่มทำสิ่งที่รัก บางคนก็ออกเดินทางรอบโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชีวิตที่ดี”

จะเห็นได้ว่าเยอรมันจะเป็นประเทศที่วางกลไกหลายอย่างไว้อย่างเป็นระบบทำให้มีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นอย่างดีจนทำให้แทบไม่ต้องการนวัตกรรมหรืออุปกรณ์ตัวช่วยใด ต่างจากบ้านเราที่ยังต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะจุดไปก่อน

แม้ในบ้านเราจะคาดหวังให้เป็นเหมือนเขาทั้งหมดคงไม่ได้ แต่ใช่ว่าจะมีแบบไหนดีกว่ากัน แม้จะมีรัฐสวัสดิการและนโยบายในฝั่งยุโรปจะดีเพียงใด แต่สิ่งหนี่งที่ทุกคนต่างประสบปัญหาร่วมกันคือด้านจิตใจ

“ความรู้สึกว้าเหว่ทางจิตใจกลายเป็น pain point ที่สำคัญของคนเยอรมัน เราจะเห็นผู้สูงนิยมเลี้ยงสุนัขช่วยคลายเหงาในยามที่ลูกหลานย้ายออกจากบ้าน

“ความห่างเหินที่เกิดขึ้นในครอบครัวในสังคมเยอรมันมีมากเสียจนกระทั่งหากใครเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ที่จะรับรู้เป็นคนแรกจะเป็นหน่วยงาน emergency service ต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล หรือ สถานดูแล ในขณะที่คนที่เป็นลูกหลานจะรู้เป็นคนหลัง ๆ เสียด้วยซ้ำ ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราที่มีความเป็นครอบครัวสูง การแก้ไขปัญหาจึงแตกต่างกัน บ้านเราอาจต้องการเทคโนโลยีมาช่วย แต่บ้านเขาอาจต้องการสิ่งที่มาแก้เรื่องจิตใจแทน

แด่หนุ่มสาวผู้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรกันดี

“สำหรับประเทศไทยที่ก้าวสู่สังคมสูงวัย สิ่งที่เราต้องการมาก ๆ คือ กลุ่มคนที่เป็นผู้สูงวัยแต่ยังแอคทีฟ แข็งแรง เพราะเขาจะยังสร้างคุณค่าและทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ และ สังคมก็จำเป็นต้องให้โอกาสและการยอมรับ ไม่ตัดขาดพวกเขาออกไปจากสังคม

“และสำหรับหนุ่มสาวหรือวัยที่กำลังทำงานอยู่ตอนนี้ อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ทุกคนรวมทั้งตัวผมด้วยจะกลายเป็นผู้สูงวัย สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมเสียตั้งแต่วันนี้ และเมื่อถึงวันนั้น การมี independent ทั้งเรื่องการเงิน สุขภาพ และความพร้อมทางจิตใจ จะทำให้เรากลายเป็นผู้สูงวัยแบบที่ยังแอคทีฟ ไม่ต้องพึ่งพาใคร มีคุณค่า และมีความสุข” ดร.ตั้มกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความหวัง

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ