พฤติกรรมนอนไม่ดี ที่ส่งผลเสียในระยะยาว เมื่อพ่อแม่หรือผู้สูงวัยในบ้านไม่ได้นอนหลับเพียงลำพัง แต่ฟัง Youtube กล่อมทุกคืน หรือเปิดทีวีให้เฝ้าจนหลับไป รู้ไหมพฤติกรรมเหล่านี้กำลังทำให้คุณภาพการนอนแย่ลง และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
บุพการีที่เคารพ พูดคุยกับ หมอนัท ณัฐพล วาสิกดิลก แพทย์แผนไทย เจ้าของช่อง ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น
“โดยปกติแล้วผู้สูงวัยจะมีรูปแบบการนอนที่สั้นลง 3-5 ชม. เป็นช่วง ๆ ตลอดทั้งวัน ไม่เหมือนกับวัยอื่นที่สามารถนอนนานได้ 7-10 ชั่วโมง ซึ่งแบบนี้ไม่ถือว่าผิดปกติ แต่นอกจากนี้ยังมีสาเหตุการนอนไม่หลับอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับของผู้สูงวัยอีก”
“พฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่มีสิ่งกระตุ้นเยอะ ส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่หลับในระยะยาว ผู้สูงวัยจำนวนมากเปิด Youtube ฟังจนหลับไป เล่นโซเชียล ติดเกม ดูหนังจนหลับคามือถือ หรือเปิดทีวีกล่อมทั้งคืน ช่วงแรกเสียงอาจจะกล่อมจนหลับได้ แต่รู้หรือไม่พฤติกรรมนี้กำลังจะส่งผลต่อการนอนหลับในระยะยาว เปรียบได้กับการเสพติดเสียง เมื่อไรที่ไม่มีเสียงจากสื่อต่าง ๆ ก็จะนอนไม่หลับ แถมที่หลับไปก็เป็นการหลับที่ไม่ดีด้วย”
“เช่นเดียวกับคนที่ที่มีพฤติกรรมการนอนที่ได้ยินเสียงอะไรนิดหน่อยก็ตื่นแล้ว สภาวะนี้เรียกว่าคลื่นสมองยังไม่สงบ มีผลมาจากในระหว่างวันมีการใช้สมองที่หนักเกินไป ฟุ้งซ่าน ดูทีวีหรือเล่นมือถือมากเกินไป กังวลเรื่องต่าง ๆ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว ทำให้มีสภาวะหลับไม่สนิท เมื่อตื่นมาก็จะส่งผลให้มีอาการเพลีย ๆ ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี และหากหลับไม่ดีในระยะยาวก็ยิ่งส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ที่ทุกคนกลัว กระทั่งเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง NCDs โรคเบาหวาน โรคไขมัน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด ที่เกิดจากระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี หรือในทางแพทย์แผนไทยเรียกว่าพลังชีวิตน้อยลงนั่นเอง”
แล้วจะทำอย่างไรให้นอนหลับได้ ในวันที่นอนยังก็ไม่หลับ?
- สำหรับคนที่ยังไม่สูงอายุมาก อายุ 40-60 ปี ที่ยังมีแรงทำงานอยู่ หลังเลิกงาน 1 ชม. ให้ยืดเหยียด บิดขี้เกียจเพื่อเป็นการบอกสมองและร่างกายว่าฉันเลิกงานแล้ว ในช่วงเย็น ๆ พลังชีวิตจะกลับมา ก่อนนอน 30 นาที ปรับพฤติกรรมจากการติดโซเชียล ดูหนังเครียดยาว ๆ ให้เปลี่ยนมาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายสมองและร่างกาย ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ อ่านหนังสือ หรือสวดมนต์ จะทำให้หลับลึกมากขึ้น
- สำหรับคนที่ติดการดูหนัง ซีรี่ย์ โซเชียลต่าง ๆ ให้เริ่มต้นปรับจากหนังยาว ๆ เป็นคลิปเสียงผ่อนคลาย ที่ไม่ใช่ภาษาที่เราเข้าใจ ให้ใจเรานิ่ง เมื่อนิ่งได้ก็เริ่มฝึกการนอนให้หลับโดยที่ไม่มีเสียงอะไรเลยในขั้นต่อ ๆ ไป
- แต่ถ้าอายุ 65 ปีขึ้นไป ร่างกายอาจมีการเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้นอนไม่หลับ หลับระยะสั้นลง หลายช่วงมากขึ้น เมื่อร่างกายเผาผลาญได้น้อย ก็ควรเพิ่มอัตราการเผาผลาญเข้าไป โดยใช้เครื่องเทศช่วย เช่น ขิง ขมิ้น กระชาย ใบกะเพรา ใบโหระพา ผักกะแยง พริกไทย เพิ่มเครื่องเทศเหล่านี้เข้าไปในมื้ออาหาร เรียกว่าเป็นการเพิ่มธาตุไฟ เมื่อกระบวนการย่อยดีขึ้น ได้สารอาหารเพิ่มขึ้น ร่ายกายก็จะสมดุลมากขึ้น
- หากนอนไม่หลับจริง ๆ หลับตาแล้วก็ยังไม่หลับ แนะนำว่าอย่าฝืน ให้ลุกขึ้นไปทำอะไรที่ใจกังวลให้เสร็จเรียบร้อย พอใจเริ่มโล่ง เริ่มง่วงแล้วก็ค่อยมานอน
- การใช้ยานอนหลับก็สามารถทำได้ ในทางแพทย์แผนไทยก็จะมียาหอม ที่ช่วยเรื่องการนอนไม่หลับ ซึ่งมีส่วนผสมของ เกสรบัวหลวง ดอกพิกุล บุนนาค สารภี มะลิ และไม้จันทร์