บนโลกที่เปิดกว้างในการสร้างธุรกิจ ใครกันจะอยากทำตามฝันของคนอื่นอยู่ตลอดไป แล้วคุณล่ะ กำลังมองหาช่องทางในการปั้นธุรกิจในฝันให้เป็นจริงอยู่รึเปล่า ?
มนุษย์ต่างวัย Fest 2025 พาเพื่อน ๆ เรียนรู้วิธีเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเอง ในเวิร์กชอป “ตั้งหลักก่อนตั้งร้าน : เถ้าแก่มือใหม่เริ่มต้นอย่างไรดี” โดย ‘โค้ชโน้ต’ – สวยศ ด่านบรรพต ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและพัฒนาธุรกิจ โค้ชโน้ตยิ่งคำถามอุ่นเครื่องห้องเรียน “ใครเคยทำธุรกิจมาบ้าง ?” มีสองสามคนยกมือขึ้นมา “แล้วตอนนี้ใครกำลังคิดทำธุรกิจบ้าง ?” คนยกมือขึ้นมาเกือบทั้งห้อง ฉายแววตาเปี่ยมพลังพร้อมเรียนรู้ โค้ชโน้ตชวนคิดถึงหัวใจสำคัญก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการพาทุกคนสำรวจ “ความต้องการแท้จริงของตนเอง”
รู้จักความต้องการแท้จริง
โค้ชโน้ตเริ่มต้นด้วยการเล่าภาพเส้นทางชีวิตของเขา จากวิศวกรหนุ่มที่ทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ ปัจจุบันเขาออกจากงานประจำมา 6 ปีแล้ว ค้นพบว่าตัวเองชอบการถ่ายทอดความรู้ จนเจอกับอาชีพวิทยากร เขาเริ่มต้นจับหลักอาชีพวิทยากร นำความรู้จากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาย่อยและส่งต่อ โดยมีกลุ่มลูกค้าจากบริษัทที่เคยทำงานติดต่อมาใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ และในระหว่างนั้นเขาก็มองหาความชอบอื่น ๆ ในชีวิต พบว่าตัวเองชอบกาแฟมาก จนถึงขั้นไปลงเรียนในคอร์สระดับมืออาชีพ สะสมองค์ความรู้ในการทำธุรกิจกาแฟอย่างบ้าคลั่ง.. หากเราคาดเดาเรื่องราวต่อไปก็คงฟันธงกันได้ง่าย ๆ ว่าธุรกิจใหม่ที่เขาจับคือการเปิดร้านกาแฟ แต่ไม่ใช่ ระหว่างนั้นเขาคิดว่าตัวเองมีทักษะอะไรที่เขารักและสามารถทำไปได้พร้อม ๆ กับความชอบในกาแฟ จนพบว่าสิ่งนั้นคือ ‘ที่ปรึกษา’…
“ถ้าเราหาทรัพยากรในตัวเองเจอ เราจะอยู่กับมันได้เรื่อย ๆ ถ้าหาไม่เจอเราอาจจะทำตามเทรนด์ไปเรื่อย ๆ ถ้ารู้เยอะ ไม่อยากเสี่ยงเอง ไปทำที่ปรึกษาได้ไหม เราไม่ต้องไปทำร้อยเปอร์เซ็นต์..” โค้ชโน้ตเน้นย้ำต่อผู้เข้าร่วมทุกคนถึงการหาทรัพยากรในตนเองให้เจอ แล้วชวนต่อยอดจากทรัพยากรที่มี ผ่านการสำรวจ 3 สิ่ง คือ
Personality : “เราเป็นคนแบบไหน มีบุคลิกอย่างไร”
ค้นหาจุดแข็งของตัวเองจากแบบทดสอบ MBTI, DISC ฯลฯ แล้วหางานที่ตรงกับบุคลิกภาพ
Interest : “เราสนใจเรื่องอะไร หรือ ทำอะไรแล้วไม่เบื่อ”
ค้นหาความสนใจส่วนตัวในสิ่งต่าง ๆ จัดลำดับและสำรวจความเป็นไปได้ในการต่อยอด
Expertise & Experience : “เรามีความรู้และประสบการณ์ด้านไหนบ้าง”
ให้เราสำรวจประสบการณ์ที่ผ่านมา และจัดประเภทเลยว่าสิ่งไหนที่เราทำได้ดีมากจนอยู่ในระดับเชี่ยวชาญ (Expertise) และสิ่งไหนที่เราผ่านมาแบบพอมองเห็นบริบทในสิ่งนั้น ๆ บ้าง (Experience)
โค้ชโน้ตย้ำว่าหากสำรวจแล้วพบว่ามีความชอบ / หลงใหลในการทำสิ่งต่าง ๆ เต็มไปหมด ให้เราประเมินถึงความเป็นไปได้ในการแบกรับทุนต้นของการเริ่มต้นธุรกิจนั้น ๆ เพราะในจุดนี้จะมีเส้นแบ่งระหว่างความชอบและความรับผิดชอบในการสร้างธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเราหลายคนอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เป็นเจ้าของกิจการ รายได้ไม่จำกัดนะ!” โค้ชโน้ตเล่าว่าประโยคนี้มักจูงใจให้เราลงมือทำธุรกิจ ทว่าก่อนทำเราต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะความไม่จำกัดนี้เป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ ควรประเมินจุดที่เรียกว่า “#หุบเหวแห่งความตาย” หรือต้นทุนที่ต้องแบกรับเมื่อเริ่มต้น ว่าสามารถรับไหวเพียงใด ในบางธุรกิจอาจต้องแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้นานนับปีก่อนที่ธุรกิจจะเริ่มคุ้มทุนและมีกำไรเข้ามา
อิกิไก : สำรวจความรักและความเป็นไปได้
โค้ชโน้ตชวนผู้ร่วมเวิร์กชอปตอบคำถามในใจของตัวเองถึงสิ่งที่รักและความเป็นไปได้ ผ่านการดูหลักปรัชญา “อิคิไก” เครื่องมือที่ช่วยค้นหาความหมายของชีวิต เพราะการเริ่มต้นทำธุรกิจให้อยู่ได้ในระยะยาว ไม่เพียงต้องตอบโจทย์เรื่องเงินเท่านั้น ทว่ายังมีอีก 3 สิ่งสำคัญเป็นองค์ประกอบ คือ ตอบโจทย์ความรักของเรา, ตอบโจทย์ความถนัดของเรา และตอบโจทย์ความต้องการของโลก โดยให้เรามองหา “ธุรกิจ” ที่สัมพันธ์กับโจทย์ 4 ข้อนี้ แล้วจึงเริ่มทุ่มเทแรงกายและใจอย่างเต็มที่
- สิ่งที่รัก + ทำได้ดี + ได้เงิน – โลกต้องการ = อาจเกิดความรู้สึกไร้ความหมาย
- โลกต้องการ + ทำได้ดี + ได้เงิน – สิ่งที่รัก = อาจเกิดความรู้สึกรู้สึกหมดไฟ / ไม่มี Passion
- สิ่งที่รัก + โลกต้องการ + ได้เงิน – ทำได้ดี = อาจเกิดความรู้สึกรู้สึกไม่มั่นใจ / ไม่เก่งพอ
- สิ่งที่รัก + ทำได้ดี + โลกต้องการ – ได้เงิน = อาจทำได้ไม่ยั่งยืน / เป็นได้เพียงอาสาสมัคร ทำได้ในระยะสั้น
ประเมินตนเองและลงมือทำ
เมื่อตอบตนเองได้แล้วว่า “ธุรกิจ” ที่อยากทำจริง ๆ คืออะไรก็ให้เราเริ่มต้นประเมินตนเองในขั้นสร้างความเป็นไปได้ ด้วยการตอบคำถาม 4 ข้อนี้ โดยโค้ชโน้ตย้ำว่าเราทุกคนสามารถเพิ่มความรู้ ทักษะ ความสามารถที่จะทำให้งานอันสัมพันธ์กับอิคิไก หรือ ความหมายในชีวิตของเราให้เติบโตได้ ด้วยการลงมือทำ ลงมือสะสมทรัพยากรเพื่อขยายขอบเขตของความเป็นไปได้
1. เรามี #ความชอบ ในเรื่องนี้แค่ไหน (ให้คะแนน 0-10)
ลองอธิบายสิ่งที่พิสูจน์ว่าเราชอบในเรื่องนี้ และถ้าอยากจะเพิ่มคะแนนเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร
2. เรามี #ความรู้ ในเรื่องนี้แค่ไหน (ให้คะแนน 0-10)
ลองอธิบายสิ่งที่พิสูจน์ว่าเราชอบในเรื่องนี้ และถ้าอยากจะเพิ่มคะแนนเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร
3. เราเคยได้รายได้จากการทำเรื่องนี้มาก่อนแค่ไหน (ให้คะแนน 0-10)
ลองอธิบายสิ่งที่พิสูจน์ว่าเราชอบในเรื่องนี้ และถ้าอยากจะเพิ่มคะแนนเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร
4. เรื่องที่เราทำมีประโยชน์ต่อสังคมแค่ไหน (ให้คะแนน 0-10)
ลองอธิบายสิ่งที่พิสูจน์ว่าเราชอบในเรื่องนี้ และถ้าอยากจะเพิ่มคะแนนเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร
ตั้งต้นธุรกิจผ่านสามแกนคิด
โค้ชโน้ตชวนผู้ร่วมเวิร์กชอปสำรวจความเป็นไปได้ต่อด้วยการยกสถานการณ์การสร้างธุรกิจกาแฟของตัวเองขึ้นมา แล้วเปิดประเด็นว่าหากเขานำธุรกิจนี้มาชวนทุกคนไปร่วมหุ้นด้วยกัน โดยเริ่มต้นที่หุ้นละ 1 แสนบาท คำถามแรกที่ทุกคนอยากรู้จากเขาคืออะไรกันบ้าง “ร้านอยู่ที่ไหน ทำเลที่ตั้ง, ขอชิมก่อน, คืนทุนเมื่อไหร่, ลูกค้ากลุ่มไหน, แหล่งวัตถุดิบมาจากไหน, business model canvas เป็นอย่างไร, การตั้งราคา, กำไรที่คาดการณ์, พนักงานกี่คน, ลงทุนทั้งสิ้นเท่าไหร่, เวลาร้านเปิดปิด, ช่องทางโปรโมท, การปันผล, ความแตกต่าง, ขายอย่างอื่นด้วยไหม และมั่นใจแค่ไหนว่าจะไม่เจ๊ง ? ฯลฯ หลากหลายคำถามพรั่งพรูมาจากว่าที่หุ้นส่วนร่วม 40 ชีวิต ก่อนโค้ชโน้ตช่วยฉายภาพแกนคิดที่เราทุกคนควรตั้งให้มั่น ก่อนตั้งร้านไว้ คือ
- Desirbility ที่ทำอยู่นี้มีคนต้องการไหม ? ลูกค้าคือใคร ?
- Feasibility ทำได้ไหม มีความเป็นไปได้แค่ไหน ?
- Visibility ผลลัพธ์คุ้มค่าไหม ?
เวลาสองชั่วโมงเคลื่อนไหลไปอย่างรวดเร็ว ว่าที่เถ้าแก่มือใหม่ตบเท้าก้าวออกจากห้องเรียนไปด้วยความมั่นใจมากขึ้น ในวันนี้พวกเขาได้เรียนรู้การค้นหาสิ่งที่รักและการสร้างความเป็นไปได้ให้ธุรกิจฝันในขั้นเบื้องต้น ก่อนลงมือทำจริง !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจการสานฝันธุรกิจที่รักให้เป็นจริงได้ สามารถติดตามเรื่องราวแรงบันดาลใจดีดีจากชีวิตของผู้คนหลากหลายวัยที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยธุรกิจที่รัก และเวิร์กชอปที่ส่งเสริมความรู้การเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเองได้ที่เพจ “มนุษย์ต่างวัย”