กาแฟจิ๊กกิ้ว-ร้านกาแฟอินดี้แห่งเมืองระนอง

ชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมา

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังหนุ่ม เล็ก-กายเทพ รัตนภา ใช้ชีวิตเป็นปีศาจสุรามากกว่าคอกาแฟ

ตั้งแต่บ่าย 2 ไปยันพระบิณฑบาตในเช้าวันใหม่คือเวลาที่ชายหนุ่มนั่งกระแทกน้ำสีอำพันลงสู่ลำคอที่หน้าบ้าน เรียกว่าถ้ามีประชันขันแข่งเรื่องการดื่มเหล้าดื่มสุรา พี่เล็กน่าจะติดทีมชาติได้เลย

“ช่วงนั้นชีวิตมีแต่เหล้าไม่รู้จักหรอกกาแฟ เราดื่มหนักมาก เรียกว่าตั้งแต่บ่าย 2 ยันพระบิณฑบาต 9 เดือนติดนี่ไม่มีหยุดเลย เราหมดกับเหล้าเยอะมากคิดดูว่าเมื่อก่อนทำงานได้วันละ 3,000 เงินแทบไม่มีเหลือเก็บ”

ไม่ได้แค่เหล้าเปล่าๆ แต่พี่เล็กของเรายังออกลีลาพ่อไก่แจ้ แซวสาวๆ ที่เดินผ่านไปผ่านมาไม่ขาดปากจนกลายเป็นฉายาที่ผู้คนแถวนั้นรู้จักเสียมากกว่าชื่อจริงๆ

“เรานั่งกินเหล้าตกเย็นก็จะมีนักเรียนสาวๆ เดินผ่าน เราก็แซวจิ๊กกิ้ว…จิ๊กกิ้ว…จิ๊กกิ้ว พอเราทำอย่างนี้ทุกวันคนเขาเห็นบ่อยเข้าเขาก็เรียกเราจิ๊กกิ้ว บอกชื่อเล็กนี่คนเขาไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกจิ๊กกิ้วนี่คนเขารู้เลยว่าเป็นเรา” พี่เล็กว่าพลางระเบิดเสียงหัวเราะดังลั่นเมื่อนึกถึงฉายาของตัวเองที่ได้มาจากการนั่งแซวหญิง

จากฉายาที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย วันหนึ่งเมื่อชีวิตพลิกผันให้ต้องมาเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง อดีตคอสุราวัย 52 ปีจึงไม่ลังเลที่จะนำมันมาตั้งเป็นชื่อร้าน

“เราว่ามันแปลกดีนะไม่เหมือนใคร แล้วมันก็ดูเป็นจุดขายดี”

รอยยิ้มซื่อๆ แต่ดูจริงใจของพี่เล็กทำเอาคนข้างๆ อดที่จะยิ้มกับเขาด้วยไม่ได้ จะว่าไปไม่ใช่แค่ชื่อร้านหรอกที่ดูแปลกดีและไม่เหมือนใคร

เจ้าของร้านเองก็เป็นอะไรที่ไม่ต่างกัน

กาแฟอินดี้

“เมื่อก่อนนี้เราไม่ชอบกาแฟเลย รู้สึกว่าสีไม่น่าดื่ม ดำก็ดำแถมยังขมอีก อย่าว่าแต่จะคิดเปิดร้านเลยแค่ชงดื่มเองยังไม่ทำด้วยซ้ำ”

ในความคิดคิดของพี่เล็กเวลานั้นไม่มีทางที่สีดำของกาแฟจะดึงดูดเขาได้เท่ากับสีเหลืองอำพันของสุรา ทว่าในที่สุดผลของการดื่มหนักมานานก็มีอันทำให้เขาต้องหยุดมันลง

“เราเป็นอัมพฤกษ์ร่างกายด้านซ้ายขยับไม่ได้ ทำให้ต้องหยุดดื่มเหล้า ถ้ายังดื่มต่อไปอาจจะเป็นอัมพาตได้ พอหยุดเหล้าเราก็ไปรับงานทำสวนให้กับฝรั่งชาวอิตาลี เขาเห็นเราสุขภาพไม่ดีก็เลยชงกาแฟแบบ Moka Pot ให้เราดื่มทุกวันจากนั้นเราก็เลยดื่มแทนเหล้า แล้วก็เริ่มดื่มกาแฟแบบจริงจังถึงวันนี้ก็เกินกว่า 10 ปีแล้ว”

ไม่เพียงแต่ได้ทำความรู้จักกับกาแฟ หากแต่พี่เล็กเริ่มที่จะรู้สึกหลงใหลและหลงรัก จากดื่มคนเดียวทุกวันก็อยากที่จะให้คนอื่นได้ดื่มกาแฟดีๆ ด้วยในที่สุดจึงตัดสินใจเปิดร้านกาแฟจิ๊กกิ้วขึ้นมา

เมื่อหันหลังให้สุราพี่เล็กก็หันมาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของกาแฟอย่างเต็มที่ เจ้าของร้านวัยกลางคนต้องการให้ลูกค้าของเขาได้ดื่มกาแฟที่ดีที่สุดโดยที่เรื่องเงินค่าตอบแทนนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้า ทางร้านจะตั้งกล่องเอาไว้ ลูกค้าจะให้เงินมาก-น้อยเท่าไหร่ก็ได้หรือจะไม่ให้ก็ได้ตามแต่ต้องใจต้องการ

“กาแฟที่ใช้จะเป็นกาแฟโรบัสต้าที่ซื้อจากเกษตรกรในจังหวัดระนองโดยตรง โดยหลังจากได้กาแฟมาเราก็จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง คัดเอง ตากเอง คั่วเอง บดเอง ขายเอง ดื่มเอง โดยเราจะเน้นการคัดเมล็ดกาแฟเป็นสำคัญลูกค้าจะต้องได้ลิ้มรสเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพที่สุด เอาง่ายๆ ว่าเราซื้อกาแฟมา 10 กิโล สุดท้ายเราเอามาคัดจะเหลือที่ดีจริงๆ อาจจะแค่ 4 กิโลเท่านั้น แล้วเมื่อคั่วเสร็จก็อาจจะเหลือแค่ 3 กิโลนิดๆ ส่วนเรื่องราคาไม่ต้องจ่ายเงิน แต่เราจะตั้งกระปุกเอาไว้ อยากหยอดเท่าไหร่ก็หยอด เงินที่อยู่ในกระปุกเราก็จะเอาไว้ใช้ซื้อเมล็ดกาแฟมาคั่วให้คุณกินใหม่ในครั้งต่อไป คือเราไม่ได้อยากได้เงินอะไรมากมาย แต่อยากให้คนที่รักในกาแฟเหมือนๆ กันมานั่งคุยนั่งแลกเปลี่ยนกันมากกว่า”

หากเข้ามาในร้านกาแฟจิ๊กกิ้ว ภาพหนึ่งที่คุ้นชินก็คือภาพชายหนวดเคราขาวใส่หมวกกำลังนั่งคัดเมล็ดกาแฟอยู่ภายในร้าน สำหรับลูกค้าประจำเป็นอันรู้กันว่าเมื่อใดก็ตามที่พี่เล็กนั่งคัดกาแฟอยู่นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้ดื่มกาแฟในทันทีนั้นแทบจะเป็นศูนย์ ทางเดียวที่จะทำได้คือนั่งรอไปก่อนหรือไม่ก็มานั่งคัดเมล็ดกาแฟด้วยกัน

“ลูกค้ามานั่งรอประจำแหละ เพราะเวลาที่เราคัดเมล็ดกาแฟ เราไม่มีอารมณ์ลุกไปทำอย่างอื่นหรอก เราก็จะบอกให้ลูกค้าเขารอเดี๋ยว พอเราคัดไปสักพัก พอมีอารมณ์เราค่อยลุกไปชง บางทีลูกค้าเขาก็มานั่งช่วยเราคัดด้วยกันเลย คัดกันไป คุยกันไป หรือบางคนอยากลองมาบดเอง ทำทุกอย่างเองก็ไม่มีปัญหา เพราะร้านเราสบายๆ อยู่แล้ว”

เป็นร้านที่สบายๆ ทั้งพ่อค้าและลูกค้าโดยแท้จริง

กาแฟน้ำมะพร้าว

ร้านกาแฟจิ๊กกิ้ว เป็นที่รู้จักอย่างดีสำหรับคอกาแฟทั้งไทยและเทศในจังหวัดระนอง หากใครชื่นชอบบรรยากาศสบายๆ ไม่เร่งรีบ รวมทั้งหลงใหลในของเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ร้านกาแฟแห่งนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ความต้องการได้ไม่น้อย

นอกจากเจ้าของร้านที่โคตรอินดี้และเป็นกันเอง รสชาติกาแฟยังนับได้ว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจของใครหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟน้ำมะพร้าวที่ถือเป็นเมนูเด็ดของทางร้าน

“เมนูกาแฟน้ำมะพร้าวมันเกิดขึ้นตอนที่เราไปปั่นจักรยานที่ฝั่งพม่า แล้วรู้สึกว่าเหนื่อยมาก ปั่นต่อไม่ไหวก็เลยนั่งรอ กะว่าจะโบกรถกลับ พอดีตรงที่เรารอ คนสวนเขากำลังขึ้นมะพร้าวก็เลยไปขอซื้อ พอได้กินแล้วมันชื่นใจ มีแรงปั่นจักรยานต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเหนื่อยเลย เราก็เลยคิดว่าถ้าทำกาแฟน้ำมะพร้าวน่าจะดี”

สูตรการทำกาแฟน้ำมะพร้าวของเจ้าของร้านกาแฟโคตรอินดี้แห่งเมืองระนอง ไม่มีอะไรมากไปกว่าการใช้น้ำมะพร้าวแทนน้ำที่ใช้ชงกาแฟไปเลย หากแต่เคล็ดลับอยู่ที่การคัดเลือกมะพร้าวด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้คุณภาพดีที่สุด

“เราชิมน้ำชิมเนื้อเอง ดูว่าหวานได้ไหม หอมได้ไหม เราต้องเลือกมะพร้าวที่กำลังพอดี เพราะถ้ามะพร้าวอ่อนไปน้ำก็จะเปรี้ยว ถ้ามะพร้าวแก่ไปน้ำก็จะซ่า เวลามาชงกับกาแฟก็จะทำให้รสชาติออกมาไม่ดี”

น้ำมะพร้าวสดๆ จากสวนและกาแฟโรบัสต้าจากเมืองระนองผสมเข้าด้วยกัน เมื่อนำไปต้มจนความร้อนได้ที่แรงดันจะดันกลิ่นหอมของน้ำมะพร้าวออกมาจาก Moka Pot เป็นลำดับแรก ตามด้วยกลิ่นเข้มข้นของกาแฟตามขึ้นมา เมื่อนำมาเทเสิร์ฟใส่แก้วที่มีเนื้อมะพร้าวตั้งรออยู่ รสชาติของสิ่งที่อยู่ในแก้วนั้นต้องบอกว่าสุดยอดเกินจะบรรยาย มีทั้งความหวานหอมของน้ำมะพร้าวตัดกับรถขมกลมกล่อมของกาแฟ เพิ่มด้วยความมันของเนื้อมะพร้าวเข้าไปอีก เรียกว่าคุณแค่ยกแก้วขึ้นจิบเบาๆ ก็แทบจะขึ้นสวรรค์ได้ทันที

“กาแฟน้ำมะพร้าวจะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการให้รสชาติของกาแฟอ่อนลง แต่ว่ายังอยากได้ความเข้มข้นของคาเฟอีนเท่าเดิม แต่เอาจริงๆ สำหรับลูกค้าที่มาร้านกาแฟของเราเป็นครั้งแรกเมนูนี้ยังไม่แนะนำให้ลองนะ”

สาเหตุที่ไม่แนะนำให้ลอง นั่นเป็นเพราะพี่เล็กต้องการให้ลูกค้าหน้าใหม่ได้ลองลิ้มรสกาแฟโรบัสต้าระนองที่เป็นออริจินัลของทางร้านเสียก่อน ครั้นเมื่อแวะเวียนมาบ่อยขึ้นจึงค่อยแนะนำให้ทดลองเมนูเด็ดที่เป็นซิกเนเจอร์

“มีลูกค้าหลายคนที่เขาชิมแล้วชอบนะ เขาบอกขอสูตรหน่อยได้ไหม เราก็ไม่หวง บอกเอ็งเอาไปเลยบางคนเขาก็งงบอกว่ากาแฟมันธาตุร้อน แต่มะพร้าวมันธาตุเย็น มันจะเข้ากันได้ยังไง เราก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน”

ทุกครั้งที่มีคำถามดังกล่าวพี่เล็กไม่เคยตอบอะไรกลับไป นอกเสียจากคำพูดห้วนๆ สั้นๆ เข้าใจง่ายๆ และไม่ยากที่จะทำตาม

“เอ็งลองชิมดู” 


บทเรียนชีวิต

ตอนที่รู้ว่าร่างกายซีกซ้ายขยับไม่ได้และอาจเพิ่มเติมความเลวร้ายจนกลายเป็นอัมพาต หัวใจของพี่เล็กไม่น่าจะอยู่ที่หน้าอกด้านซ้าย หากแต่น่าจะดิ่งตกลงไปอยู่ที่ตาตุ่ม

ความตายน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์ทุกคนอยากเผชิญ ทว่าสำหรับชายหนุ่มชาวปักษ์ใต้ในเวลานั้นมันคงเป็นสิ่งที่เขาร้องขอ หากเทียบกับการมีลมหายใจแล้วต้องอยู่เป็นภาระผู้ให้กำเนิด

“พ่อแม่เราก็แก่แล้ว ถ้าเราต้องมาเป็นภาระให้เขาเช็ดอึ เช็ดฉี่ เราตายดีกว่า ถ้าเราตายเรารับได้นะ เพราะเราทำตัวเองแต่มันไม่ยุติธรรมสำหรับเขาที่ต้องมารับภาระคอยดูแล เพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำให้เราเป็นแบบนี้ เราก็เลยบอกกับตัวเองว่ากูต้องหายให้ได้ จะต้องสู้ ไม่ยอมแพ้”

หลังจากร่างกายเป็นอัมพฤกษ์ พี่เล็กไม่ใช่แค่หันหลังให้ขวดสุรา หากแต่ยังพยายามฝืนพาตัวเองออกไปถีบจักรยานวันละนับสิบกิโลเพื่อเอาชนะโรคร้ายที่เกาะกินร่างกายให้ได้ แม้ว่าจะขยับได้แต่ร่างกายที่ซีกขวาก็ตามที

“เรากินยาตามที่หมอให้อยู่ไม่ถึงอาทิตย์ก็เอาลงถังขยะ แล้วก็เอาจักรยานมาปั่น แรกๆ เราก็ปั่นได้แต่ข้างขวาข้างเดียวก็พยายามปั่นชิดกำแพง ไปเรื่อยๆ ถีบไปข้างเดียว หลังจากนั้นเราก็ไปแช่น้ำพุร้อนวันละ 2-3 ชั่วโมง ทำอย่างนี้ทุกวันจนสุดท้ายร่างกายดีขึ้น”

ทุกวันนี้ร่างกายของพี่เล็กกลับมาเป็นปกติเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยเขาใช้ชีวิตอยู่กับ 3 สิ่งที่รัก นั่นคือกาแฟจักรยาน และการถ่ายภาพ

“ทุกเย็นหลังปิดร้านเราก็จะไปปั่นจักรยานชมวิวแล้วก็ถ่ายรูปต่างๆ เก็บไว้ในโทรศัพท์ ซึ่งเราก็ชวนพวกเพื่อนที่เคยกินเหล้าให้หันมาทำกิจกรรมด้วยกัน เปลี่ยนจากอยู่หลังแก้วเหล้ามาอยู่บนหลังอานจักรยานและหลังกล้องมือถือ” พี่เล็กว่าพลางพร้อมกับยิ้มอย่างมีความสุข

รูปที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือเจ้าของร้านจิ๊กกิ้วอาจไม่ใช่รูปที่สวยงามมากนัก ส่วนใหญ่คือรูปธรรมชาติและวิวข้างทางธรรมดา ไม่ได้เพียบพร้อมด้วยแสงสีหรือเทคนิคถ่ายภาพที่เลิศเลอหรืออะไร หากแต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาอยู่ที่ชีวิตของผู้บันทึกภาพต่างหาก

เป็นชีวิตที่มีทั้งความสนุกสนาน การต่อสู้ และเต็มไปด้วยรสชาติอย่างแท้จริง

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ