คุยกับ นพ.อุดม คชินทร เรื่องสถานการณ์โควิด-19

มนุษย์ต่างวัยชวนหาคำตอบกับคำถาม 5 ข้อ เกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 โดย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้เราเข้าใจโรคระบาดโควิด-19 อย่างถูกต้อง พร้อมแนวทางการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และการปรับตัวของคนไทยทุกคน ที่จะทำให้เราผ่านสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ไปได้

มนุษย์ต่างวัย : ทำไม Covid -19 จึงน่ากลัว

นพ.อุดม คชินทร : “เหตุผลที่เชื้อโรคโควิด-19 มีความรุนแรงและน่ากลัว เพราะเชื้อโรคโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันง่าย และเป็นเชื้อที่ไม่เหมือนเชื้อตัวเก่าตรงที่สามารถติดต่อไปยังคนอื่นโดยที่คนๆ นั้นที่ได้รับเชื้อไม่แสดงอาการ ซึ่งโดยปกติเชื้อโรคที่ผ่านมาเมื่อคนไปติดเชื้อ คนนั้นต้องมีอาการก่อนถึงจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น แต่โควิด-19 มีระยะฟักตัวยาวนานถึง 14 วัน และในช่วง 14 วันนี้ หมายความว่าคนที่ติดเชื้อยังไม่มีอาการในระยะฟักตัว แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้หมดแล้ว

“ช่วงก่อนที่จะมีการใช้มาตรการเข้มข้นของรัฐบาลจีนพบว่า คนที่แพร่เชื้อได้โดยที่ไม่รู้ตัวเองว่าติดเชื้อเพราะไม่มีอาการหรือยังไม่ได้ไปตรวจ มีประมาณ 6 เท่า ของผู้ติดเชื้อ หมายความว่า สมมติมีคนไข้ติดเชื้อ 800 คน เอา 6 คูณ จะมีคนอีก 4,800 คน ที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่ได้ไปตรวจเพราะไม่มีอาการ คนเหล่านี้คือคนที่จะแพร่เชื้อโรคมหาศาล ทั้งนี้ 1 คน โดยเฉลี่ยจะแพร่เชื้อประมาณ 2.2 คน และจะเป็นการแพร่กระจายไปเร็วมากเพราะไม่รู้ตัว ความน่ากลัวอีกหนึ่งอย่างก็คือ เมื่อเชื้อโรคโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายคน มันจะไปจับที่ปอดและจะทำลายปอดอย่างรุนแรง ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการปอดอักเสบ มีอาการปอดติดเชื้อที่รุนแรง และสุดท้ายเสียชีวิต”

มนุษย์ต่างวัย : ทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยปลอดภัยในสถานการณ์แพร่ระบาด Covid- 19

นพ.อุดม คชินทร : “กลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน มะเร็ง โรคหัวใจ ถ้าได้รับเชื้อจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุด ในคนหนุ่มสาวหรือกลุ่มคนวัยทำงาน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ คนอายุ 40-60 ปี อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ อายุ 60-70 ปี เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิต 4 เปอร์เซ็นต์ อายุ 70-80 ปี อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ เกิน 80 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 15-16 เปอร์เซ็นต์

“เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยง แม้อยู่ในบ้านก็แนะนำว่าอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ลูกหลานที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน คุณอาจมีโอกาสติดเชื้อมาไม่รู้ตัว ต้องหมั่นทำความสะอาดในจุดที่คุณสัมผัสบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์เจล 70 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าไม่มีแอลกอฮอล์เจล ให้ใช้น้ำสบู่ เพราะสบู่มีประสิทธิภาพมากกว่าแอลกอฮอล์เจล มีราคาถูก หาซื้อง่าย แนะนำให้เอามาเช็ดถูที่ราวบันได ลูกบิดประตู โถชักโครก ส่วนเรื่องการรับประทานอาหารควรแยกกันรับประทาน แนะนำให้รับประทานอาหารจานเดียว กินอาหารต้องกินร้อน มีช้อนกลาง และทุกคนต้องมีช้อนเป็นของตัวเอง

“สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องแยกห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ แยกข้าวของเครื่องใช้ แยกซักเสื้อผ้า”

มนุษย์ต่างวัย : ทำไมต้อง Social distancing

นพ.อุดม คชินทร :  “โรคโควิด-19 ไม่ได้ทำร้ายแค่คนที่คุณรัก แต่จะทำร้ายคนทั้งประเทศ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) คือการที่ทุกคนต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อลดการกระจายเชื้อโรคไปสู่คนอื่น และลดการรับเชื้อเพิ่มจากคนอื่น งดการชุมนุม งดงานสังสรรค์ งดเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ไม่ออกนอกบ้านดีที่สุด เพราะมีคนที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวอยู่ตรงไหนบ้างก็ไม่รู้ ถ้าเราทำ Social distancing ได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์เราจะสามารถลดการแพร่เชื้อได้อย่างน้อย 40-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความสำคัญมากที่ต้องสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ”

มนุษย์ต่างวัย : ทำไมการรับผิดชอบตัวเอง = การรับผิดชอบสังคม

นพ.อุดม คชินทร : “วิกฤตที่เกิดขึ้นคือวิกฤตของโรคระบาด เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ หรือกฎหมายที่ออกมาควบคุม จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคได้ ถ้าคนไทยไม่มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบร่วมกันกับคนในสังคม เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณะสุข หรือองค์การอนามัยโลก ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดสิ่งของ อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ออกนอกบ้านเมื่อมีความจำเป็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ หยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค และที่สำคัญคือหยุดการสูญเสียชีวิตคน

“หากทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตัวตัวเอง ทำหน้าที่ปกป้องทั้งตัวเองและคนอื่นไม่ให้ติดเชื้อเพิ่ม นั่นคือคุณได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม”

มนุษย์ต่างวัย : ทำไมสถานการณ์ Covid- 19 จึงถือเป็นบททดสอบทางจิตสำนึกและวินัยสำหรับคนไทย

นพ.อุดม คชินทร :  “ต้องยอมรับว่าคนไทยมีนิสัยสบายๆ ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ แต่ความง่ายๆ สบายๆ คือความมักง่ายอย่างหนึ่ง และความมักง่ายนี้เองที่จะเป็นศัตรูตัวร้าย ซึ่งจะเป็นบทเรียนที่จะกระตุ้นให้ทุกคนได้มีความตระหนัก มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมอย่างจริงจัง จะเป็นบททดสอบที่ชี้ชะตาว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโรคให้ลดน้อยลงได้เหมือนญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือจะฉุดไม่อยู่เหมือนสถานการณ์ในอิตาลี ที่ตอนนี้พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อโรคโควิด-19 อยู่ที่ 3,000-4,000 คน แซงประเทศจีน ขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคน”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ