‘BL Metamorphosis’ เมื่อสาวใหญ่วัย 75 และสาวน้อยวัย 17 มา ‘ก้าวผ่านช่วงวัย’ ไปพร้อม ๆ กัน

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ‘BL Metamosphosis)

สาวน้อยวัย 17 กับสาวใหญ่วัย 75 มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง?

มนุษย์ต่างวัยชวนคุณมาดูสายสัมพันธ์อันคาดไม่ถึงของสองสาวต่างวัยใน “BL Metamorphosis” ภาพยนตร์ก้าวผ่านช่วงวัยแสนอบอุ่นใจจากเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นปี 2566 ที่ว่าด้วยสาวน้อย “ซายามะ อุราระ” วัย 17 กับคุณ “อิจิโนะอิ ยูกิ” วัย 75 ที่มาพบกันได้ด้วย “การ์ตูน BL” หรือ “การ์ตูนชายรักชาย” ในโลกของการ์ตูน BL ที่ต้องเก็บเป็นความลับนี้ มิตรภาพของทั้งสองเบ่งบานได้อย่างไร? และมิตรภาพนี้ช่วยทั้งสองก้าวผ่านช่วงวัยที่แตกต่างกันถึง “58” ปีได้อย่างไร? มาสำรวจไปพร้อมกับมนุษย์ต่างวัยได้เลย!

The Story

BL Metamorphosis เป็นการ์ตูนจากปลายปากกาของคาโอริ สึรุทานิ ก่อนจะได้รับการแปลงเป็นภาพยนตร์คนแสดงในปี 2022 โดยผู้กำกับชุนสุเกะ คาริยามะ BL Metmorphosis เริ่มเรื่องด้วยชีวิตของ “อิจิโนะอิ ยูกิ” อาจารย์สอนเขียนพู่กันวัย 75 ปี ที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวในเรือนญี่ปุ่นหลังใหญ่ หลังสามีเสียชีวิตไปได้ 3 ปี

แม้จะไม่ได้มีโรคภัยรุมเร้าและยังใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงวัยนี้ ร่างกายของยูกิก็เริ่มโรยรา อย่างที่เราเห็นได้จากการที่เธอเดินกระย่องกระแย่ง คล้ายจะเซไปเซมาหน่อยๆ
ชีวิตของยูกิมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเธอได้พบกับการ์ตูน ‘Boy’s Love’ (BL) หรือการ์ตูน “ชายรักชาย” ที่มีปกสวยงามเรื่องหนึ่ง ยูกิโดนภาพหน้าปกที่สวยงามของการ์ตูนเรื่องนั้น ‘ตก’ เข้าอย่างจัง จึงนำการ์ตูนเรื่องนี้ไปจ่ายเงิน โดยไม่เอะใจเลยสักนิดว่ามันคือการ์ตูน “ชายรักชาย”

ความบังเอิญนี้เป็นเหตุให้เธอพบกับ “ซายามะ อุราระ” สาวน้อยวัย 17 ที่ทำงานพิเศษอยู่ที่ร้านหนังสือ อุราระเองก็เป็นแฟนการ์ตูนชายรักชายตัวยง หากแต่ต้องเก็บซ่อนความชอบนี้ไว้ไม่ให้ใครเห็น ต่อให้เธอมีการ์ตูนดังกองอยู่เป็นพะเนินเทินทึกที่บ้าน แต่ทั้งหมดก็ต้องถูกยัดลงกล่องเก็บซ่อนไว้จากสายตาคุณแม่

อุราระเห็นยูกิวัย 75 ปีมาซื้อการ์ตูนชายรักชายที่สาวน้อยอย่างพวกเธออ่าน ย่อมต้องประหลาดใจไม่น้อย และนี่เองเป็นเหตุให้มิตรภาพที่มีความต่างระหว่างวัยถึง ‘58 ปี’ ค่อย ๆ ผลิบานระหว่างคนทั้งสอง และช่วยทั้งสองก้าวผ่านช่วงวัยที่แตกต่างไปพร้อม ๆ กัน

“ขอโทษนะคะคุณ แต่ฉันคงยังตามไปที่โลกฝั่งโน้นไม่ได้หรอก”

หากพูดถึงการ “ก้าวผ่านช่วงวัย” (coming of age) หลาย ๆ คนอาจนึกถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือ 20 ตอนต้นที่พวกเราเข้าสู่การ “เปลี่ยนผ่าน” ครั้งใหญ่ในชีวิต จากเด็กน้อยที่มีพ่อแม่คอยไปรับไปส่ง บางคนก็ต้องจากบ้านไปใช้ชีวิตตัวคนเดียวเป็นครั้งแรก หลายคนเริ่มทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเอง ต้องมานั่งกุมหัวกับค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ว่ารายได้เดือนนี้จะอยู่ไปจนถึงสิ้นเดือนไหม ภาษีนี่มันต้องยื่นอย่างไร การลดหย่อนภาษีมันคืออะไร แล้วเงินที่เหลืออยู่ของฉัน ยังต้องเจียดไปซื้อกองทุน ซื้อประกันสุขภาพอีกเรอะ!

แต่หากเรามองไปที่ชีวิตของ “อิจิโนะอิ ยูกิ” ในวัย 75 ภาพที่เราเห็น อาจเป็นภาพของความ “มั่นคง” มากกว่า ยูกิในวัย 75 มีเรือนญี่ปุ่นหลังใหญ่ มีลูกสาวที่เติบโตจนออกเหย้าออกเรือน และมีลูกศิษย์ที่มาเรียนเขียนพู่กันเป็นครั้งคราว ชีวิตของเธอเหมือนภาพฝันหลังเกษียณที่หลาย ๆ คนอาจนึกถึง
มีบ้านเป็นของตัวเอง มีลูกที่คอยแวะเวียนมาเยี่ยมบ้างพอให้หายคิดถึง มีรายได้เข้ามานิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ให้เหี่ยวเฉาจนเกินไป

ชีวิตของยูกิดูเหมือนชีวิตหลังเกษียณที่เราควรได้เสพสุขอย่างสบายอารมณ์แล้วแท้ ๆ แต่กระนั้น ยูกิก็ยังพบอุปสรรคบางอย่างในชีวิตประจำวันของเธอ

เธอจะผ่าฟักทองกิน มือไม้ก็ไม่มีแรงแม้แต่จะดึงมีดออกมาจากฟักทองได้ พอเข้าหน้าหนาว บั้นเอวก็ปวดจนลุกไม่ไหวขึ้นมา และถึงชีวิตแต่ละวันจะเรียกได้ว่าปกติสุขดี ชีวิตของยูกิก็ไม่ได้มีอะไรให้ตั้งตารอเป็นพิเศษ
เธอไม่ต้องพยายามไต่เต้าในที่ทำงาน สามีก็ตายไปแล้ว ลูกก็โตแล้ว ความว่างเปล่านี้คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ชีวิตประจำวันอันเรียบเรื่อยของยูกิ และเราอาจไม่รู้สึกถึงมันเลยจนกระทั่งเธอกล่าวว่า

“ขอโทษนะคะคุณ แต่ฉันคงยังตามไปที่โลกฝั่งโน้นไม่ได้หรอก” นี่คือสิ่งที่ยูกิกล่าวกับภาพของสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว หลังพบว่าเธออาจต้องรอเป็นปี ๆ กว่าการ์ตูนชายรักชายเล่มใหม่ที่เพิ่งซื้อมาจะจบ! ฉากนี้เป็นฉากที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้ไม่น้อย แต่ภายใต้น้ำเสียงอันเรียบง่ายติดตลกของยูกิ เราก็อดคิดไม่ได้ว่า

“เอ๊ะ… งั้นที่ผ่านมานี่… คุณป้าคิดแต่จะตามคุณลุงไปที่โลกฝั่งโน้นอย่างเดียวเลยเหรอ…?”

เรื่องนี้หากพูดด้วยน้ำเสียงเบาสบายก็ฟังดูขบขัน แต่เมื่อคิดดูให้ดี… หรือว่าที่ผ่านมา ชีวิตของยูกิไม่มีอะไรมากกว่าการรอสักวันที่เธอจะได้ตามสามีไปที่ ‘โลกฝั่งโน้น’ จริงๆ?

ในเมื่อความสำเร็จทุกอย่างที่ควรมีในชีวิต เธอก็มีหมดแล้ว เธอยังเหลืออะไรให้ตั้งตารอในชีวิตประจำวันอีก?
สิ่งที่ยูกิกำลังต้อง ‘ก้าวผ่าน’ อาจไม่ใช่การก้าวจากวัยเด็กมาสู่วัยผู้ใหญ่อย่างคนหนุ่มสาว ไม่ใช่การต้องพยายามก้าวไปข้างหน้าเพื่อไขว่คว้าภาพฝันที่ตัวเองเคยวาดไว้ แต่เป็นการต้องก้าวข้ามสังขารที่ค่อย ๆ โรยราอย่างเงียบ ๆ ก้าวข้ามความว่างเปล่าที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปในชีวิตแต่ละวัน ชีวิตที่ควรเรียบง่าย มั่นคงกลับมาพร้อม ‘อุปสรรค’ ในแบบของมัน และสิ่งที่มาช่วยคุณยูกิก้าวข้ามชีวิตของเธอในแต่ละวันก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นการ์ตูนชายรักชายเรื่องหนึ่งที่ออกในนิตยสารในรายสัปดาห์นี่เอง

มันอาจจะไม่ใช่การแข่งไตรกีฬา ปลูกป่า หรือสร้างธุรกิจ และความจริงมันอาจเป็นกิจกรรมที่ ‘น่าอาย’ นิดหน่อยด้วยซ้ำ เพราะใครเคยได้ยินวรรคทองนี้บ้าง?

“โตจนป่านนี้แล้วยังอ่านการ์ตูนอยู่อีก”

แต่ไรมา การ์ตูนมีภาพจำว่าเป็นสื่อบันเทิงของ ‘เด็ก’ เป็นสิ่งที่ถูกผลิตมาเพื่อ ‘เด็ก’ เมื่อคนเราถึงวัยหนึ่งก็ควรหยุดอ่านการ์ตูนได้แล้ว แต่เป็นการ์ตูนที่มีชายหนุ่มสองคนตกหลุมรักกันนี้เองที่ทำให้ยูกิที่แต่เดิมเดินกระย่องกระแย่งและออกจะโซซัดโซเซหน่อย ๆ เปลี่ยนมาเดินฮัมเพลงได้อย่างสดใส มีบางสิ่งให้ ‘ตั้งตารอ’ และ ‘เอาใจช่วย’ ในแต่ละวัน หรือกระทั่งได้ผูกมิตรกับสาวน้อยที่อายุห่างกับตัวเองถึง 58 ปีด้วยซ้ำ

เอวของเธอยังเจ็บอยู่มั้ย? ยังเจ็บอยู่ เธอผ่าฟักทองได้หรือยัง? ก็น่าจะยัง แต่ในแต่ละวัน เธอได้ตั้งตารอให้การ์ตูนตอนใหม่ออก และรอให้สาวน้อยอุราระมาที่บ้าน เพื่อที่พวกเธอจะได้ ‘เม้าท์มอย’ และเอาใจช่วยตัวเอกให้ได้พบรักไปพร้อมๆ กัน

การ์ตูนในสายตาบางคนอาจเป็นความบันเทิงเล็ก ๆ น้อย ๆ พอ ‘โตแล้ว’ ก็ควรก้าวผ่านวัยที่มานั่งอ่านการ์ตูนหัวเราะคิกคักได้แล้ว แต่สำหรับคุณยูกิมันคือสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มความว่างเปล่าในแต่ละวันของเธอ ทำให้เธอก้าวผ่านวันแต่ละวันไปได้ด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพใหม่ ๆ เธอไม่ได้มองว่ามันเด็กน้อย หรือมองว่ามันเป็นเรื่องผิดประหลาดที่ตัวเอกทั้งสองของเรื่องเป็นผู้ชาย เธอเพียงกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสและตื่นตาตื่นใจว่า“อายุจนป่านนี้แล้ว ยังพบเจอเรื่องใหม่ ๆ ได้อีก!”

 “เด็กยังต้องการผู้ใหญ่อยู่เสมอ”

เมื่อเราเห็นภาพของสาวน้อยอุราระมานั่งจับเข่าเม้าท์มอยกับคุณยูกิในวัย 75 ก็อดนึกถึงการสัมภาษณ์กับมะขวัญ – วิภาดา แหวนเพชร อาจารย์วิชาความสุขจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อปีก่อนไม่ได้

“เด็กยังต้องการผู้ใหญ่” อาจารย์มะขวัญบอกกับเราท่ามกลางกระแสที่เด็กกับผู้ใหญ่ดูจะเดินไปคนละทิศคนละทางขึ้นทุกที “เขาต้องการผู้ใหญ่สักคนเป็นหลักให้หน่อย รับฟังเขาหน่อย” เมื่อเรามองไปที่คุณยูกิ เราก็เหมือนจะได้เห็นภาพผู้ใหญ่อย่างที่อาจารย์มะขวัญบอกขึ้นมา

หากใครในที่นี้เคยเป็นสาวน้อยที่ติดตามการ์ตูนญี่ปุ่น โดยเฉพาะการ์ตูนชายรักชายมาก่อน คงจะรู้ว่ามันเหมือนโลกเวทมนตร์ดี ๆ นี่เอง โลกเวทมนตร์ที่ไม่ได้มีเพียงมนตร์วิเศษสนุกสนาน แต่เป็นโลกเวทมนตร์ที่ต้องเก็บซ่อนไว้ อย่าให้คนธรรมดามาเห็น ไม่งั้นเธอจะโดนจับตรึงไม้กางเขนและเผาไฟ จะโดนบอกว่าเป็น “เนิร์ด” เป็น “โอตาคุ” “ออกจากบ้านและหัดใช้ชีวิตซะบ้าง” “เข้าสังคมไม่เป็น” “ลามก” ฯลฯ

ในปัจจุบัน เราอาจเห็นการ์ตูนและนิยายชายรักชายวางขายอยู่ทั่วไปตามชั้นหนังสือ แต่กาลครั้งหนึ่ง การ์ตูนและนิยายชายรักชายเคยโดนตำรวจบุกปิดแผง เคยโดนกวาดเรียบออกจากเว็บบอร์ดนิยาย โดนมองว่าเป็นสื่อลามกอนาจารณ์ไม่เหมาะกับเด็ก ๆ ฉะนั้นโลกของนิยายและการ์ตูนชายรักชายคือโลกที่เคยเต็มไปด้วยมลทินและคนที่อ่านนิยายหรือการ์ตูนประเภทนี้ก็ต้องรับมลทินเหล่านั้นไปเช่นกัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุราระจะเก็บการ์ตูนชายรักชายนับไม่ถ้วนของเธอไว้ไม่ให้ใครเห็น บรรดาสาวน้อย (ที่ตอนนี้หลายคนก็น่าจะเติบโตมีงานมีการเป็นผู้ใหญ่กันไปแล้ว) ที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบนั้นมาก่อน เห็นแล้วก็อาจจะรู้สึกทันทีว่า “อ้าว นี่มันฉันนี่!”ยิ่งอุราระเองก็ไม่ใช่เด็กหญิงที่วิเศษวิโสอะไร เธอไม่ได้ขี้เหร่แต่ก็ไม่ได้สวยพริ้ง ไม่ได้จนแต่ก็ไม่ได้รวย เป็นคนธรรมดา ๆ คนหนึ่งบนเส้นค่าเฉลี่ยของสังคม ยิ่งอยู่ในวัยที่ใส่ใจต่อสายตาของเพื่อน ๆ รอบตัวเป็นพิเศษ การที่อุราระจะไม่อยากให้มีอะไรมากระทบสถานะของเธอในหมู่เพื่อน ๆ ไปมากกว่านี้เป็นเรื่องเข้าใจได้

แต่หลังจากได้พบคุณยูกิที่มาซื้อการ์ตูนเรื่องเดียวกับที่เธอชอบ เราจะเห็นได้ว่าความจริงตัวอุราระเอง ก็ไม่ได้อยากปกปิดความชอบของเธอเป็นความลับขนาดนั้น หากมีคนที่พร้อมเปิดใจ รับฟัง และแบ่งปันสิ่งที่เธอชอบไปด้วยกัน เธอเองก็อยากจะเอาการ์ตูนตอนล่าสุดมานั่งเม้าท์มอยด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ในทีแรก อุราระเองก็ประหลาดใจที่เห็นผู้หญิงวัย 75 อย่างคุณยูกิมาซื้อการ์ตูนชายรักชาย แต่เมื่อเห็นคุณยูกิกลับมาหาเล่มถัดไปที่ขายหมดแล้ว ความคิดแรกของเธอคือ “ฉันให้ยืมไหมคะ?” ต่อให้ปกติ ทางร้านจะรับสั่งหนังสือให้ด้วยก็ตาม

ต่อมาเมื่อคุณยูกิชวนเธอไปคุยเรื่องการ์ตูนที่ชอบด้วยกันที่ร้านกาแฟ อุราระอาจจะยังขัด ๆ เขิน ๆ ไปบ้างจนพูดไม่ออก แต่สุดท้าย ความชอบก็ทำให้ทั้งสองก้าวข้ามความขัดเขินและผูกสัมพันธ์กันได้ในที่สุด และอุราระก็กลายเป็นแขกประจำในเรือนญี่ปุ่นหลังใหญ่ของคุณยูกิในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น สุดท้ายแล้ว มิตรภาพที่อุราระได้รับจากคุณยูกิ ยังเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันอุราระให้ได้พบและ ‘ลงมือทำ’ ในสิ่งที่ตัวเองชอบอีกด้วย

อุราระในวัย 17 ปี กำลังจะขึ้นปีสุดท้ายของชั้นมัธยมปลาย เรียกได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในชีวิตของใครหลาย ๆ คน อาจารย์ที่โรงเรียนเองก็ขอให้เธอตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่อยากทำในอนาคตได้แล้ว แต่กระดาษคำตอบของอุราระก็ยังว่างเปล่า

จนกระทั่ง คุณยูกิเป็นคนเอ่ยปากถามก่อนว่าอุราระชอบอ่านการ์ตูนขนาดนี้ ทำไมไม่วาดเองดูบ้าง? แน่นอน อุราระผู้แสนเป็นมนุษย์ธรรมดาย่อมปฏิเสธ เธออาจจะชอบวาดรูปเล่นอยู่บ้าง แต่ฝีไม้ลายมือก็ไม่ได้เยี่ยมยอดอะไร ทว่า หลังโดนคุณยูกิถาม ประตูบานหนึ่งในใจเธอก็เปิดออกแล้ว อุราระตัดสินใจลองไปออกบูธขายการ์ตูนของตัวเองในงานรวมตัวนักเขียนหนังสือทำมือดู ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนี้ทำให้เธอได้หัดวาดรูปอย่างจริงจัง แถมยังได้รับความช่วยเหลือจากคุณยูกิในการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม

แม้จะต้องพบกับอุปสรรค และต้องเผชิญหน้ากับความหวาดกลัว ความไม่มั่นใจ หรือแม้กระทั่งความผิดหวัง สุดท้าย อุราระก็ยังได้ลงมือลงแรงทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และพูดได้อย่างเต็มปากว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ ‘สนุก’
ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคุณยูกิ กลายเป็นแรงผลักดันให้อุราระก้าวผ่านความหวาดกลัวและความไม่มั่นใจ จนได้พบกับอีกด้านหนึ่งของตัวเองในที่สุด เธอได้โอบกอดสิ่งที่เธอรักไว้จนเต็มอ้อมแขน ได้เปลี่ยนมันเป็นผลงานที่จับต้องได้ และเธอได้พบแรงผลักดันที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมี

คนละวัย แต่ก้าวเดินไปพร้อมกัน

อายุ 17 กับอายุ 75 สามารถเป็นช่วงวัยที่ต่างกันได้อย่างคาดไม่ถึง คนหนึ่งกำลังอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เตรียมจะสยายปีกออกสำรวจโลกเป็นครั้งแรก ขณะที่อีกคนผ่านร้อนผ่านหนาวจนเรื่องที่จะให้ตั้งตารอในชีวิตเริ่มน้อยลงไป แต่กระนั้นทั้งสองช่วงวัย ก็ใช่ว่าจะหันเข้าหากันไม่ได้ ขอเพียงมีหัวใจที่เปิดกว้าง

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดใจต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เปิดใจรับฟังกันและกัน หรือแม้กระทั่งเปิดใจต่อความท้าทายใหม่ ๆ

เมื่อคุณยูกิเปิดใจรับการ์ตูนชายรักชายที่เธอไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน เธอจึงได้มาพบกับอุราระ เมื่ออุราระพบว่าคุณยูกิมีความสนใจร่วมกับเธอ และยินดีที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับเธอ ความสัมพันธ์ที่มีความห่างระหว่างช่วงวัยถึง 58 ปี ถึงได้เริ่มขึ้น และหลังจากเปิดใจรับความท้าทายใหม่ ๆ อุราระถึงได้พบแง่มุมใหม่ ๆ ของตัวเองที่เธออาจคาดไม่ถึงมาก่อนและได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบจากใจ

คนทั้งสองต่างได้ก้าวข้ามความท้าทายที่เข้ามาในช่วงวัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความเงียบเหงา เอื่อยเฉื่อย ไม่มีอะไรให้ตั้งตารอในวัย 75 หรือการค้นหาตัวเอง พยายามทำสิ่งที่ตัวเองชอบให้เป็นจริง หรือแม้กระทั่งการรักษาสถานะของตัวเองในหมู่เพื่อน ๆ ในวัย 17 เมื่อเปิดใจให้กัน คนทั้งสองก็กลายมาเป็นเพื่อนร่วมทางบนเส้นทางแห่งช่วงวัยของแต่ละคนได้เช่นกัน

ขอบคุณภาพจาก : nikkatsuchannel

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ