กิจกรรมทางสมองของคนเราแตะจุดสูงสุดที่อายุ 70 จริงหรือไม่?

ก่อนหน้านี้ หลายท่านอาจเคยเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กที่กล่าวว่า “จุดสูงสุดของกิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์เกิดขึ้นตอนอายุประมาณ 70 ปี เมื่อสมองเริ่มทำงานอย่างเต็มกำลัง” ผ่านตากันอยู่บ้าง

ใจความของโพสต์ดังกล่าวบอกว่า เมื่อเราอายุ 60 ปีขึ้นไป สมองซีกซ้ายและซีกขวาจะเริ่มทำงานพร้อมกัน ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ถึงแม้สมองของพวกเราจะทำงานช้าลง แ ละ ในเวลาเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น อีกทั้ง เปิดรับอารมณ์เชิงลบน้อยลง จนกล่าวได้ว่า จุดสูงสุดของกิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์เกิดขึ้นตอนอายุประมาณ 70 ปี เมื่อสมองของเราเริ่มทำงานอย่างเต็มกำลัง

นอกจากนี้ รายละเอียดภายในโพสต์ดังกล่าวยังได้อ้างอิงจากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ นิวอิงแลนด์ (The New England Journal of Medicine)   ว่าอายุเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล อยู่ที่ 62 ปี อายุเฉลี่ยของประธานบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 100 แห่ง อยู่ที่ 63 ปี และอายุเฉลี่ยของศิษยาภิบาลในโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุด 100 แห่งในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่71 ปี

ไม่ได้พีคแค่ตอนอายุ 70 และแทบไม่มีช่วงวัยที่สมองของเรา “เก่ง” ที่สุดด้วยซ้ำ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์พบว่าหนึ่งในทักษะที่พัฒนาถึงจุดสูงสุดได้เร็วที่สุดของพวกเรา คือความเร็วในการประมวลผลข้อมูล โดยสมองของเราจะประมวลผลข้อมูลได้เร็วที่สุดในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ก็คือช่วงอายุ 18-19 ปี ก่อนจะเริ่มลดลงทันทีหลังจากนั้น

เชื่อว่าเมื่อหลายคนได้อ่านข้อมูลจากโพสต์นี้แล้ว คงรู้สึกว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจและชวนให้รู้สึกเบาใจ เพราะสิ่งที่เราได้ยินมาเสมอคือ พอแก่ตัวลง สมองก็ช้าลง เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ยาก ริเริ่มอะไรใหม่ๆ ก็ไม่ได้ ยังไม่นับเรื่องการถดถอยของความทรงจำและความสามารถที่ทำให้ทั้งผู้สูงอายุ และลูกหลานต้องกังวลอีกด้วย

แต่น่าเสียดายว่าหลังจากที่มนุษย์ต่างวัยได้ลองค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง กลับพบว่าไม่มีงานวิจัยฉบับนี้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ อีกทั้งยังพบว่า อายุเฉลี่ยของนักวิจัยขณะที่ ‘ได้รับรางวัลโนเบล’ ไม่ได้เป็นช่วงอายุเฉลี่ยเดียวกันกับขณะที่พวกเขา ‘ค้นพบหรือเผยแพร่ผลงาน’ ที่ได้รับรางวัลเหล่านั้นอีกด้วย   โดยผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลส่วนใหญ่มักจะถูกค้นพบหรือเผยแพร่ขณะนักวิจัยอยู่ในช่วงวัย 40 ปี ฉะนั้นอายุเฉลี่ยเมื่อพวกเขาได้รับรางวัล จึงไม่สามารถยืนยันประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้เสียทีเดียว

เช่นนั้นแล้ว “จุดสูงสุดของกิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์” เกิดขึ้นเมื่อไรกันแน่? มนุษย์ต่างวัยได้ลองค้นข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ได้เคยทำการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

(โพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าว ที่หลายท่านอาจเคยเห็นผ่านตากันบ้าง)

อาจจะเป็นผลการศึกษาที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่งานวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์พบว่า “แทบไม่มีช่วงวัยไหนที่สมองของเรา ‘เก่ง’ ที่สุดด้วยซ้ำ” เพราะทักษะแต่ละอย่างล้วนใช้เวลาพัฒนาที่แตกต่างกัน กว่าเราจะเชี่ยวชาญในทักษะหนึ่ง อีกทักษะอาจจะเริ่มถดถอยไปแล้ว

ฉะนั้น แทนที่จะกล่าวว่า การทำงานของสมองเราถึงจุดสูงสุดเมื่ออายุ X ปี อาจกล่าวได้ว่า “ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่” ก็จะมีบางสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าตัวเราในอีกช่วงอายุหนึ่ง และ “จุดสูงสุด” ของทักษะบางอย่างอาจทำให้เราต้องประหลาดใจด้วยซ้ำว่า “ฉันอายุตั้งเท่านี้แล้ว แต่ฉันเพิ่งทำสิ่งนี้ได้ดีที่สุดจริงหรือนี่?”

แล้วทักษะแต่ละอย่างของพวกเราถึงจุดสูงสุดเมื่อไร? มาดูกันว่างานวิจัยจากมหาวิทยาฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์มีคำตอบอะไรให้เราบ้าง

1. ความเร็วในการประมวลผลข้อมูล

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์พบว่าหนึ่งในทักษะที่พัฒนาถึงจุดสูงสุดได้เร็วที่สุดของพวกเรา คือความเร็วในการประมวลผลข้อมูล โดยสมองของเราจะประมวลผลข้อมูลได้เร็วที่สุดในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ก็คือช่วงอายุ 18-19 ปี ก่อนจะเริ่มลดลงทันทีหลังจากนั้น

2. ความทรงจำระยะสั้น

ทักษะที่ถึง “จุดพีค” เป็นลำดับที่สองของพวกเรา ได้แก่ ความทรงจำระยะสั้นนั่นเอง โดยความทรงจำระยะสั้นจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ก่อนถึงจุดสูงสุดในวัย 20 กลางๆ หรือราว 25 ปี ก่อนจะเริ่มลดลงเมื่อเราอายุ 30 กลางๆ ก็คือวัยประมาณ 35 ปี

3. การจดจำหน้าคน

แม้ว่าความทรงจำระยะสั้นของเราอาจพัฒนาถึงจุดสูงสุดในวัยราวๆ 25 ปี แต่ความสามารถในการจดจำหน้าคนของเราเพิ่งพัฒนาถึงจุดสูงสุดในวัย 30 ปี ก่อนจะค่อยๆ ลดลงหลังจากนั้น

3. การรับรู้และทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก

การรับรู้และทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามก็ถือเป็นทักษะหนึ่งเช่นกัน และกว่าเราจะเชี่ยวชาญในทักษะนี้ ต้องรอจนอายุราวๆ 40 หรือ 50 ปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ จุดสูงสุดของความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นยังรักษาระดับได้นานกว่าความสามารถอื่นๆ อีกด้วย โดยจะอยู่ในระดับสูงสุดไปจนถึงช่วงอายุ 60 ปี

5. การคิดคำนวณ

พวกเราอาจคุ้นกับภาพเด็กน้อยนั่งทำการบ้านคณิตคิดเร็วมากกว่าผู้ใหญ่ แต่เชื่อหรือไม่ว่า กว่าทักษะการคิดคำนวณ (บวกลบคูณหาร) ของเราจะถึงจุดสูงสุดต้องรอจนถึงอายุ 50 ปี

6. คลังคำศัพท์

เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจะทำให้ใครหลายคนประหลาดใจแน่ๆ เพราะแต่ไหนแต่ไร การเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ดูจะเป็นทักษะที่เด็กๆ ถนัดมากกว่า แต่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ความสามารถในการเรียนรู้คำศัพท์ของเรายังคงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แม้เราจะอายุย่าง 60 ปี แล้วก็ตาม โดยช่วงอายุที่เรามีคลังคำศัพท์มากที่สุดก็คือ 60-70 ปี การมีคลังคำศัพท์จำนวนมากทำให้เราสามารถจับคู่คำศัพท์ใหม่ที่เรียนในภาษาต่างประเทศ เข้ากับคำศัพท์เดิมที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของผู้สูงวัยอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

สมองคนเรามีประสิทธิภาพกว่าที่คิด แม้จะล่วงเลยวัยหนุ่มสาวไปแล้ว

นอกจากงานวิจัยฉบับนี้แล้ว ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าสมองของมนุษย์เรามีประสิทธิภาพมากกว่าที่คิด แม้จะล่วงเลยวัยหนุ่มสาวไปแล้ว

งานวิจัยโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน แอน อาร์เบอร์ และมหาวิทยาลัยเท็กซัส แห่งดัลลัสยังพบว่า การให้เหตุผลทางสังคมของเรา (การคาดคะเนจุดประสงค์ นิสัยใจคอ และการกระทำของผู้อื่น) ยังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แม้เราจะอายุมากขึ้น

ไม่เพียงแค่นั้น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งริเวอร์ไซด์และคณะยังพบว่า หากผู้สูงอายุใช้เวลาอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นเวลาเดือนครึ่ง สมองของพวกเขายังสามารถทำงานได้ดีเทียบเท่าคนที่อายุน้อยกว่าพวกเขา 30 ปีเลยทีเดียว

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า สมองของมนุษย์เราทำงานอย่างเต็มกำลัง และมีจุดสูงสุดของกิจกรรมทางปัญญาเกิดขึ้นในวัยประมาณ 70 ปี จึงอาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปสักหน่อย เพราะอย่างที่เห็นจากงานวิจัยว่า ไม่ได้มีช่วงวัยไหนที่สมองของเราทำงานได้ดีที่สุดในทุกด้านอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความสามารถด้านหนึ่งพัฒนาจนถึงจุดสูงสุด ความสามารถอีกด้านอาจกำลังถดถอยลง

โจชัว ฮาร์ตชอร์น ผู้ทำงานวิจัยดังกล่าวถึงกับกล่าวว่า “ไม่น่าจะมีช่วงวัยไหนที่เราเก่งไปหมดหรือเก่งเกือบหมดด้วยซ้ำ”

ฉะนั้น ถึงแม้สมองของเราจะไม่ได้ถึงจุดพีคสุดในวัย 70 ปีอย่างที่โพสต์ในเฟซบุ๊กข้างต้นกล่าวไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะในช่วงวัยใดของชีวิต เราจะทำบางอย่างได้ดีกว่าตัวเราในอีกช่วงวัยหนึ่งเสมอ พวกเราจึงไม่ควรท้อถอยหรือท้อแท้ไปว่า “ช่วงวัยที่ดีที่สุด / เก่งที่สุด / ฉลาดที่สุด” ของเราได้ผ่านไปแล้ว

เพราะถ้าดอกไม้เบ่งบานได้หลายฤดูกาลฉันใด ความสามารถของเราก็ผลิบานในช่วงวัยที่ต่างกันได้ฉันนั้น ความสามารถที่ถดถอยอาจทำให้การลงมือทำสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องยากในช่วงวัยหนึ่ง แต่เมื่อใดที่ความสามารถของเราขึ้นไปแตะจุดสูงสุดก็อาจทำให้การลงมือทำอีกสิ่งหนึ่งเป็นเรื่องง่ายขึ้นในช่วงวัยนั้น

การเปิดใจให้กว้างและเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ศักยภาพใหม่ๆ ในแต่ละช่วงวัยของพวกเราต่างหากที่อาจทำให้เราสามารถดึงเอาศักยภาพสมองมาใช้ได้อย่างเต็มที่ที่สุด

เอกสารอ้างอิง

●       Did NEJM Study Determine a Person’s Most Productive Age?, Madison Dapcevich: https://www.snopes.com

●       The rise and fall of cognitive skills, Anne Trafton: https://news.mit.

●       Reasoning about social conflicts improves into old age; Igor Grossmann, Jinkyung Na, Michael E W Varnum, Denise C Park, Shinobu Kitayama, Richard E Nisbett: https://www.pnas.org

●       What’s the prime of your life?, David Robson: https://www.bbc.com

●       When Do Your Mental Powers Peak in Life?, Kendra Cherry: https://www.verywellmind.com

●       When Does Cognitive Functioning Peak? The Asynchronous Rise and Fall of Different Cognitive Abilities Across the Life Span; Joshua K. Hartshorne, Laura T. Germine: https://doi.org

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ