‘จักสานไม้ไผ่’ การงานแห่งวิถีชีวิตของผู้เฒ่าช่างฝีมือเมืองน่าน

ในวันที่คนรุ่นใหม่ทยอยเข้าเมืองไปประกอบอาชีพอย่างอื่น และให้ความสนใจงานจักสานน้อยลง

วันเดียวกันกับที่ข้าวของเครื่องใช้จากวัสดุธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยวัสดุอื่นที่ผลิตจากโรงงาน

สิ่งของที่ทำด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านกลายเป็นตัวเลือกรอง เป็นของที่เข้าถึงเฉพาะคนบางกลุ่ม ไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนสมัยก่อน อีกทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่า งานจักสานมักจะถูกมองว่าเป็นเพียงงานของคนเฒ่าคนแก่ ใช้เวลาทำนาน ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับแรงที่ลงไป

แต่สำหรับ อินทร์ ไชยสลี หรือ อุ๊ยอินทร์ วัย 86 ปี ผู้เฒ่าเมืองเหนือแห่งหมู่บ้านนาเตา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ไม่มีงานไหนที่ทำแล้วไม่คุ้มค่า เพราะมากกว่ามูลค่าของงานที่ทำก็คือ ‘คุณค่า’ ที่ได้จากการทำงาน และอุ๊ยอินทร์ยังเชื่อเสมอว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด งาน ‘จักสาน’ จะไม่มีวันสูญสลายไปจากโลกใบนี้

มนุษย์ต่างวัยชวนแอ่วน่าน ตามอุ๊ยอินทร์เข้าป่าไปตัดไผ่มาทำเครื่องใช้ พร้อมฟังเรื่องราวของอาชีพจักสาน การงานที่สัมพันธ์กับชีวิตผู้คนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

‘จักสานไม้ไผ่’ ภูมิปัญญาบนแผ่นดินเมืองเหนือ

กริยา ‘จักสานไม้ไผ่’ อธิบายให้เห็นภาพได้ด้วยความหมายของแต่ละคำ

คำว่า ‘จัก’ คือการนำลำไผ่มาผ่า ฉีก จนได้เป็นเส้นบางๆ ‘สาน’ คือการนำเส้นไผ่ที่จักแล้วมาขัด สอด ไขว้ ขึ้นโครงเป็นรูปทรงต่างๆ ตามแต่ลักษณะที่ต้องการใช้งาน เมื่อนำทั้ง 2 ขั้นตอน มารวมกันจึงได้เป็นงานจักสานไม้ไผ่

ถ้าพูดถึงช่างฝีมือที่ถนัดงานจักสานไม้ไผ่ คนเฒ่าคนแก่ทางแถบภาคเหนือส่วนใหญ่ล้วนมีฝีมือทางนี้กัน ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีไม้ไผ่เป็นพืชที่พบมากกว่าแหล่งอื่น วิถีชีวิตของคนเหนือจึงผูกพันกับไม้ไผ่มาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่นำมาทำเป็นภาชนะใช้สอยในครัวเรือน ทำเป็นอุปกรณ์ดักจับสัตว์เพื่อยังชีพ ไปจนถึงนำไผ่มาใช้สร้างที่อยู่อาศัย

อุ๊ยอินทร์เล่าว่า งานจักสานต้องอาศัยการเรียนรู้ สังเกต และอดทนทดลองทำจนเกิดความชำนาญ คนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเมื่อทำเป็นแล้วก็จะถ่ายทอดวิชาให้กับลูกหลานในครอบครัว กลายเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

ช่างจักสานไม้ไผ่แห่งบ้านนาเตา

เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่อุ๊ยอินทร์ตัดสินใจเลิกทำนา แล้วหันมายึดเอางานจักสานไม้ไผ่เป็นอาชีพสร้างรายได้ในวัยเกษียณ หากแต่จุดเริ่มต้นของการเป็นช่างจักสานของอุ๊ยอินทร์ไม่ได้เกิดจากวิชาความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเหมือนช่างคนอื่นๆ

อุ๊ยอินทร์เล่าว่า เดิมทีไม่รู้ว่าพอไม่ได้ทำนาแล้วจะทำอะไร วันๆ ได้แต่นั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ จึงเกิดความคิดอยากลองทำข้องใส่ปลา ตะกร้า กระบุง เอาไว้ใช้เอง จนเป็นที่มาของการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองอยู่หลายหน

“ตาอยู่บ้านว่างๆ เห็นคนอื่นเขาจักสานของใช้ไว้ใช้เอง บางคนก็ทำขายเป็นอาชีพ ตาก็สนใจ ช่วงแรกๆ ไม่มีใครสอนหรอก อาศัยไปแอบดูเขาทำ แล้วก็กลับมาฝึกเอง นานอยู่นะกว่าจะรู้ว่าต้องเริ่มต้นยังไง

“พอเริ่มทำเป็น หลายชิ้นทำแล้วก็ห้อยไว้หน้าบ้าน แขกไปใครมาเขาผ่านมาเห็นบอกว่าสวยดี เขาก็ขอซื้อ หลังจากนั้นมาก็ 20 ปีแล้ว ที่ยึดเป็นอาชีพ เพราะงานนี้ทำอยู่บ้านได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ได้เงินด้วย แถมยังเป็นงานฝีมือที่ได้ใช้ตา ใช้มือ ได้ขยับร่างกายตลอด คิดว่าดีที่ได้ทำ เพราะอายุตาปูนนี้แล้ว มันจะได้ไม่เหงา ดีกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ”

งานละเอียดที่ต้อง ‘คราฟต์’ ในทุกขั้น

แต่ละวันของอุ๊ยอินทร์จะเริ่มตั้งแต่เช้า หลังกินข้าวงาย (มื้อเช้า) อุ๊ยอินทร์จะเริ่มจากหยิบไม้ตอกที่จักไว้มาสานขัดกันไปมา สานขึ้น ขัดลง หมุนขวา มาซ้าย ใช้ทั้งมือทั้งเท้าช่วยกันดึงรั้งให้ลายสานยึดกันแข็งแรง

ไม่นานก็ได้ไม้สานที่เรียกว่า ลายตาแหลว ซึ่งเป็นลายพื้นถิ่นทางภาคเหนือ มีลักษณะเป็นลายเรขาคณิตรูปหกเหลี่ยม จากนั้นจึงเอาไม้สานที่ได้ไปเข้าขอบม้วนวงให้กลมมน พร้อมร้อยเส้นสานตะกร้าเพิ่มความแข็งแรง

อุ๊ยอินทร์กะไม่ได้ว่าวันหนึ่งทำได้กี่ชิ้น รู้เพียงค่อยๆ ทำไป เพราะงานจักสานต้องทำให้เสร็จทีละขั้นตอน เช่นวันนี้ออกไปตัดไม้ไผ่ ก่อนจะเอามาตัดเป็นท่อนๆ แล้วจักตอกเก็บไว้ อีกวันเอามาสานตัวพื้นเข่ง วันต่อไปขึ้นขอบเข่ง

“ปลาตะเพียน ตะแกรง ฝาชี กระด้ง ตะกร้า เข่งปลาทู ข้องปลา สุ่มไก่ ลูกค้าต้องการแบบไหน เอาไปใช้สอยอะไร บอกมาได้เลย ตายินดีรับทำ … สิบบาท ซาวบาทก็เอา พอได้ซื้อเมี่ยงกิ๋น (ยิ้ม)

“ขออย่างเดียว ตาไม่รับงานเร่งนะ เพราะตาไม่รีบทำ มันเป็นงานละเอียด ต้องให้เวลา”

มูลค่าที่วัดด้วยคุณค่า

สำหรับอุ๊ยอินทร์แล้ว แม้จักสานจะเป็นงานที่ใช้เวลา แต่ไม่มีงานไหนที่ทำแล้วไม่คุ้มค่า เพราะมากกว่ามูลค่าของงานที่ทำก็คือ ‘ คุณค่า ’ ที่ได้จากการทำงาน เม็ดเงินจากลูกค้าเป็นเพียงปัจจัยรองที่ต้องการ ปัจจัยหลักคือการมีกิจกรรมให้ทำ ได้แสดงให้เห็นว่าคนเฒ่าคนแก่ยังฝีมือดี ไม่ใช่สักแต่ทำเป็น อีกทั้งยังได้ฝึกฝนสมองให้หมั่นพัฒนาชิ้นงานใหม่ๆ อยู่เสมอ

ส่วนสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอยู่ในคำพูดของอุ๊ยอินทร์ที่บอกว่า “ของบางอย่างที่เอาพลาสติก ลวด เหล็กมาทำ ใช้ทดแทนงานจักสานไม่ได้ อย่างไซ สุ่ม เครื่องมือดักปูหาปลา หรือแม้แต่เข่งปลาทู พวกนี้ยังไงก็ต้องใช้ของที่ทำจากงานจักสาน ของจากฝีมือคนเฒ่าคนแก่นี่ละ”

ด้วยเหตุนี้ อุ๊ยอินทร์จึงมั่นใจว่า แม้ในปัจจุบันการทำเครื่องจักสานจะลดจำนวนลงและคนรุ่นหลังจะให้ความสนใจงานประเภทนี้น้อยลง แต่ภูมิปัญญานี้จะไม่มีทางสูญไปจากโลกใบนี้แน่นอน

และอย่างน้อยที่สุด ช่างจักสานแห่งบ้านนาเตาคนนี้ก็ยังยืนยันว่าจะทำงานจักสานทุกๆ วันจนกว่าจะถึงวันที่จักตอกไม่ไหวอีกต่อไป

Credits

Authors

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ