ป่วยเป็นโควิดต่อให้เรามีเงินก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งเดียวที่เยียวยาได้คือกำลังใจจากลูกหลาน

“ปัจจุบันป้าอายุ 56 ปี ลุงอายุ 64 ปีแล้ว แต่ยังทำงานกันทั้งคู่ ป้าทำงานเป็นกุ๊กในเรือทัวร์ ส่วนลุงทำงานเป็นคนขับเรือทัวร์ เราสองคนยึดอาชีพนี้มาเป็นสิบ ๆ ปี ตั้งแต่อายุ 40 ปี เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ก็คอยส่งเสียลูกสาว 2 คนที่ฝากไว้กับตายายที่ต่างจังหวัดเรียนหนังสือ จนเรียนจบ มีงานทำ อีกคนแต่งงานมีลูกแล้ว แต่ลุงกับป้ายังรู้สึกว่าอยากทำงานต่อ เพราะมันคือความสุขของเรา ตราบใดที่เรายังมีแรงทำงาน เราก็ไม่อยากกลับไปเป็นภาระลูก แต่ลูก ๆ ก็จะคอยบอกตลอดว่า ‘หมดเวลาทำงานของพ่อกับแม่แล้ว กลับมาอยู่บ้านได้แล้วเดี๋ยวลูกเลี้ยงเอง’

“ปรากฏว่าช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา (64) บริษัทรับลูกค้ามาดำน้ำ เป็นชุดที่สอนนักเรียนดำน้ำ ซึ่งเขาจะค่อนข้างสนิทกับป้า เพราะเขามาใช้บริการบ่อย พอเขาเห็นป้าเขาก็เข้ามากอด มาทักทาย บอกว่าคิดถึงป้าจังเลย อยากกินกับข้าวฝีมือป้า ถามว่าเราป้องกันไหม เราป้องกัน ทุกคนบนเรือสวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ มีเจลแอลกอฮอล์วางตามจุดต่าง ๆ ทุกคนปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด แต่ว่า เราไม่รู้ว่าเขาติดเชื้อโควิดมา เขาเองก็ไม่รู้ตัวเพราะมันไม่แสดงอาการอะไร หลังจากที่เขากลับไป เขาถึงรู้ว่าตัวเองติดโควิด พอเขารู้เขาก็รีบแจ้งกลับมาที่บริษัทและบริษัทก็แจ้งมาที่ป้า บอกว่าชุดที่พานักเรียนมาดำน้ำติดโควิดนะป้า พวกเราต้องรีบไปตรวจ ป้าก็ไปตรวจหาเชื้อวันที่ 11 เมษายน วันที่ 12 เมษายน ป้าโดนแจ็กพอตคนแรกเลย ผลออกมาว่าป้าติดโควิด ตอนนั้นป้าตกใจมาก ป้าช็อก เพราะป้าก็อายุมากแล้ว แถมยังมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน มันเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก แต่ป้าก็พยายามบอกตัวเองว่าเราต้องรอดไปได้สิ

“หลังจากวันนั้นทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของทางโรงพยาบาลเขาก็ติดต่อมารับตัวป้าไปแอดมิตที่โรงพยาบาล ส่วนลุงตรวจพบเชื้อหลังจากที่ป้าเข้าไปรักษาตัวได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ทำให้เราสองคนต้องแยกกันรักษาตัว ช่วงแรก ๆ ป้าอยู่คนเดียวไม่ได้เลย กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ป้านอนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ไม่มีทีวี มันเหงามาก เหงามากจริง ๆ บวกกับอาการที่แสดงออกมามันทำให้ป้าหนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อย ปวดกระดูก มันทรมานจนป้าคิดตลอดเวลาว่าเมื่อไรมันจะค่ำ อยากให้เวลามันเดินไปเร็ว ๆ เมื่อไรมันจะสว่าง ตีหนึ่ง ตีสอง นอนนับเวลาจนหมอต้องให้ยานอนหลับกิน ยิ่งวันที่หมอบอกว่าเชื้อมันลงไปที่ปอดป้าแล้ว ยิ่งทรมาน หมอฉีดยาให้ป้าจนกระทั่งป้ามีความรู้สึกว่าป้าตายไปแล้ว มันเบลอ มันเมายา ป้านึกถึงแต่หน้าครอบครัว อยากกลับบ้านต่างจังหวัด อยากกลับไปอยู่กับลูกหลาน อยากกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตากัน ความรู้สึกตอนนั้นคือ เงินที่ป้าได้ค่าแรงแต่ละวัน วันละพัน ป้าไม่อยากได้แล้ว ป้าอยากกลับบ้านจริง ๆ ชีวิตนี้ต่อให้เรามีเงินมันก็ทำอะไรไม่ได้ มีสิ่งเดียวที่จะทำให้เราผ่านไปได้คือกำลังใจจากลูกหลานเท่านั้น

“พอลูกหลานรู้ว่าป้าติดโควิด การติดต่อสื่อสารเขาไม่เคยขาดเลย ป้ามีแรงสู้ ก็เพราะกำลังใจจากลูก ๆ และหลานที่คอยโทรมาบอกให้ป้าสู้ ๆ ทุกวัน ลูกสาวจะโทรหาป้าตลอดทุกวัน 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น เวลาที่เขาโทรมาเขาก็ไม่เคยแสดงออกว่ากำลังกังวลว่าป้าจะเป็นอะไรไป มีแต่ทำให้ป้ายิ้ม เพราะเขาจะเป็นคนพูดตลก มันทำให้ป้ายิ่งสบายใจ บางครั้งเขาอยู่ไกลแค่ไหนก็ส่งของกินที่ป้าอยากกินมาให้ มีวันหนึ่งป้ากินข้าวไม่ลงเพราะอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้โภชนาการครบถ้วนแต่ไม่ถูกปาก ลูกก็ให้คนที่เขารู้จักไปซื้อแกงเลียงส่งมาให้ป้ากิน วันนั้นป้ากินข้าวได้เยอะมาก กินเสร็จมันมีพลัง มันมีกำลังใจฮึดสู้กับการรักษาโรคในทุก ๆ วัน จนตอนหลังป้าตรวจไม่พบเชื้อแล้ว และได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่บ้าน ส่วนลุงยังคงต้องรักษาตัวอยู่เพราะเข้ารับการรักษาทีหลังป้า แต่อาการของลุงก็ดีวันดีคืน

“วิกฤตโควิดมันทำให้ป้าเห็นความสำคัญของคนที่บ้านเยอะขึ้น เห็นคุณค่าของเวลาที่เหลืออยู่กับครอบครัวมากขึ้น มีคำหนึ่งจากลูกสาวที่มันสะกิดใจป้าในตอนที่ป้ารักษาตัวอยู่คือ คำพูดที่ลูกสาวบอกกับป้าว่า ‘เราผ่านครั้งนี้ไปได้เราก็รอดแล้วนะ หลังจากนี้ก็กลับมาอยู่บ้านเราได้แล้วนะพ่อแม่ มาเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แล้วเดี๋ยวหนูจะดูแลพ่อกับแม่เอง’ ฟังแล้วมันทำให้ป้ากับลุงคิดว่าหลังจากนี้ต้องกลับบ้านไปกอดลูกแล้ว หมดเวลาเป็นกุ๊กให้คนอื่น กลับไปเป็นกุ๊กให้ลูกหลานดีกว่า”

Credits

Authors

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ