เพราะมี 'โควิด-19' จึงมี 'ได้ดิบได้ดี' พิซซ่าเตาฟืนกลางทุ่งนาเมืองน่าน
read : FOOD & TRAVEL
read : FOOD & TRAVEL
มนุษย์ต่างวัย ชวนคุยกับ เบิร์ด - อดิศักดิ์ ยานันท์ วัย 28 ปี ช่างภาพหนุ่มที่มุ่งหน้ากลับบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้น ‘DaiDib DaiDee’ (ได้ดิบได้ดี) ฟาร์มสเตย์ ณ อำเภอปัว จังหวัดน่าน ธุรกิจเล็กๆ ที่ตั้งใจจะพลิกโฉมผืนนาของพ่อแม่ให้กลายมาเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาและธรรมชาติ เพื่อเปิดรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก
หลังจากเริ่มต้นมาได้เกือบสองปี ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เบิร์ดก็ได้เผชิญชะตากรรมร่วมกับชาวโลก เมื่อเจ้า “โควิด -19” มาเยือนและเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนจำนวนมาก ไม่มีการเดินทาง ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่เบิร์ดยังมีพลัง เขากับครอบครัวลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือ พิซซ่าเตาฟืน ที่ตอนนี้ไม่เพียงจะกลายมาเป็นรายได้ของครอบครัว แต่มันยังพ่วงมาด้วยอะไรอีกหลายๆ อย่าง ที่เราอาจจะเรียกมันสั้นๆ ว่า “ความสุข”
“ผมเกิดและโตมาในครอบครัวชาวนา ตอนเด็กๆ เราขี่ควาย อาบน้ำให้ควาย พาควายไปกินหญ้า ใช้ชีวิตบ้านๆ อยู่กับทุ่งนา อยู่กับธรรมชาติ พอเรียนจบมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ ผมก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะอยากทำตามความฝันคือการเป็นช่างภาพ แต่เอาเข้าจริงๆ การจากบ้านไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ มันไม่ง่ายเลย ทุกวันที่เราออกไปทำงานเราต้องเจอกับรถติด ดมกลิ่นควัน บวกกับอาชีพที่เราทำ มันเป็นอาชีพที่ตื่นนอนไม่เป็นเวลา กินข้าวไม่เป็นเวลา เงินเดือนที่หามาได้ก็ใช้จ่ายไปวันๆ ไม่มีเหลือเก็บ ถ้าเรากลับไปอยู่บ้านไม่มีเงินเรายังมีข้าวกิน แต่ถ้าอยู่ที่นี่ไม่มีเงินก็คืออด ทำงานได้ 8 เดือน รู้สึกตัวเองเริ่มอึดอัด เริ่มไม่มีความสุข เราเหมือนคนเป็นภูมิแพ้กรุงเทพฯ สุดท้ายอยู่ไม่ได้ผมก็เลยตัดสินใจลาออก
“หลังลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ ผมก็ไปเป็นช่างภาพโหนสลิงอยู่ในป่าที่เชียงใหม่ ระหว่างนั้นก็หาข้อมูลตามอินเทอร์เน็ตเพื่อดูว่าถ้าเราจะกลับไปอยู่บ้านเราจะทำอะไรได้ ก็ไปอ่านเจอการทำเกษตรแบบเพอร์มาคัลเจอร์ การอยู่แบบวิถียั่งยืนของอาจารย์ท่านหนึ่ง เราชอบมาก รู้สึกว่าเขาคือไอดอลของเราเลย เราจึงตามไปหาอาจารย์ท่าน แล้วไปขอความรู้จากท่าน หลังจากนั้นก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่น่านจริงๆ จังๆ
“ช่วงแรกๆ ที่กลับมาอยู่บ้านก็ช่วยพ่อกับแม่ทำนา ไถนา เลี้ยงควาย เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราเคยทำ แล้วมันก็เริ่มมีคำถามจากคนละแวกบ้านว่า ‘เรียนจบตั้งปริญญาตรีทำไมถึงกลับมาทำนา’ แต่ในความคิดของผมตอนนั้นคือ ผมไม่ได้มองว่าปริญญาคือที่สุดของชีวิต แต่มันคือใบเบิกทาง ผมมองว่าถึงเราเรียนจบกลับมาทำนามันก็มีทางไปของมันได้ และไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ยังไงผมก็ต้องกลับบ้านอยู่ดี เพราะผมมีพ่อแม่ที่แก่แล้วต้องดูแล มีที่นาที่ต้องรับช่วงต่อ และผมก็ตั้งใจว่าจะกลับมาใช้ที่นาที่เรามีทำฟาร์มสเตย์ เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เล็กๆ ต้อนรับคนจากทั่วโลกมาอยู่กับเรา
“ผมโชคดีอยู่อย่างหนึ่งคือ พอผมบอกว่าอยากลองทำอะไร พ่อกับแม่เขาจะสนับสนุนเต็มที่ บอกให้ทำเลยลูก แล้วเขาก็ลงมือช่วยด้วย ถึงตอนนั้นเขาจะยังมองไม่เห็นภาพก็ตาม พอพ่อกับแม่เข้าใจ ผมก็เปิดรับสมัครจิตอาสาชาวต่างชาติมาช่วยแปลงที่นา โดยการสร้างบ้านดอนก่อน 2 หลัง กระท่อมอีก 4 หลัง แล้วก็สร้างห้องน้ำ คิดกิจกรรมที่ทำให้คนที่มาเยือนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวนาและธรรมชาติ เช่น เดินป่า ขี่ควายชมทุ่ง นั่งเกวียน อบตัวด้วยสมุนไพร เรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ พอถึงช่วงทำนาเราก็จะชวนนักท่องเที่ยวดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว พอความตั้งใจเป็นรูปเป็นร่างเราก็ตั้งชื่อว่า ‘DaiDib DaiDee’ ฟาร์มสเตย์ ความหมายของมันคือ คำอวยพรจากพ่อแม่เวลาที่ลูกตั้งใจจะทำอะไร เดือนมกราคม 2562 ผมก็เริ่มขายคอร์สให้กับต่างชาติก่อน โชคดีที่คนต่างชาติเขาเที่ยวทุกหน้า พอกระแสตอบรับดีผมก็เปิดต้อนรับคนไทย"
“ทำฟาร์มสเตย์ไปได้ปีกว่า ช่วงปลายเดือนกุมภาฯ ปี 2563 ก็เจอแจ็กพอต โควิด - 19 ระบาด จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวก็เริ่มไม่มีใครมาเที่ยว เรากับพ่อแม่ก็มานั่งคิดกันว่าจะทำยังไงให้มีแขก ให้สิ่งที่เราช่วยกันทำขึ้นมามันอยู่ได้ มีรายได้ พอไปค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็เจอวิธีการทำพิซซ่าแบบฝรั่ง เออ...มันน่าสนใจดี บวกกับเราก็มีเพื่อนเป็นคนต่างชาติเยอะด้วย ก็เลยศึกษาและส่งอีเมลไปหาเพื่อนต่างชาติที่เขาทำเป็น ให้เขาช่วย พอเราได้ข้อมูลมา พ่อก็มาช่วยแปลงเตา เขาไม่เคยทำหรอก พ่อก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมกับเรา ประมาณ 1 อาทิตย์ ก็ได้เตาอบพิซซ่าที่ต้องการ หลังจากนั้นผมก็ลองหัดทำแป้งพิซซ่า ลองหัด ลองทำ อยู่ประมาณ 2 เดือน ก็เริ่มรู้เทคนิคการทำแป้ง แล้วก็เริ่มหัดทำหน้าพิซซ่า
“หน้าแรกที่ทำคือฮาวายเอี้ยน พอทำออกมาจนคิดว่ากินได้แล้วคนแรกที่ให้ชิมคือพ่อกับแม่ คำแรกที่แม่พูดหลังจากชิมคือ ‘ปาท่องโก๋ยังอร่อยกว่าอีก’ (หัวเราะ) แรกๆ เขาคงยังไม่ชินกับรสชาติเพราะเขาไม่เคยกินพิซซ่ามาก่อน ไม่รู้จักด้วยซ้ำ พอเราหาสูตรที่ทำแล้วมันลงตัว แป้งและรสชาติเริ่มใช้ได้ เริ่มถูกปาก ผมก็หัดทำหน้าไกสาหร่ายน้ำจืดที่นำไปตากแห้งแล้วเอามายีให้เป็นฝอยเส้นเล็กๆ ซึ่งเป็นของดีขึ้นชื่อของคนน่านเพราะจะหาได้เยอะมากตามแหล่งแม่น้ำน่าน และจะมีแค่ช่วงหน้าหนาวเท่านั้น ชาวบ้านที่นี่เขาจะนิยมนำมาตำกิน บางคนก็นำไปแปรรูปสร้างรายได้ ส่วนผมนำมายีโรยเป็นหน้าพิซซ่า อีกหนึ่งหน้าคือน้ำพริกอ่องซึ่งเป็นอาหารที่คนภาคเหนือกินกันอยู่แล้ว และส่วนตัวแม่กับผมชอบกิน กินมาตั้งแต่เด็ก ๆ ปกติเราจะกินคู่กับผักสด แคปหมู กินกับข้าวสวย ผมก็ลองนำมาทำกินกับแป้งพิซซ่า ปรากฏว่ารสชาติมันเข้ากันได้ดี ก็เลยกลายเป็นพิซซ่าหน้าน้ำพริกอ่อง
“ผมมองว่าพิซซ่าที่เราทำมันไม่จำเป็นต้องเป็นพิซซ่าหน้าฝรั่งอย่างเดียวถึงจะรู้สึกว่านี่คือพิซซ่า ผมอยากให้มันเป็นพิซซ่าที่มีกลิ่นอายของบ้านเราผสมอยู่ เพราะลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ เป็นคนไทย ถ้าเราอยากขายได้ ถูกปากคนที่นี่เราก็ต้องใช้ของที่หาได้ตามบ้านเรามาทำด้วย
“พอทุกอย่างมันลงตัวผมก็ลองเปิดขายผ่านออนไลน์ เอาไปลงในกลุ่มช่างภาพที่มีเพื่อนๆ มีรุ่นพี่อยู่ แล้วก็กลุ่มน่าน แล้วส่งแบบเดลิเวอรี เพราะช่วงนั้นคนอยู่บ้านกัน เราทำเอง ส่งเอง ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก ออเดอร์เข้าวันละ 50 – 60 ถาด
“พอถึงช่วงที่โควิดเริ่มซา คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผมตัดสินใจยกเลิกการโทรสั่งที่ต้องส่งแบบเดลิเวอรี มาเป็นการโทรจองแล้วให้แขกมานั่งกินที่ฟาร์มสเตย์ เราอยากให้คนที่มากินพิซซ่ารู้สึกเหมือนได้มากินข้าวบ้านญาติผู้ใหญ่ อยากให้พวกเขาได้มาพักผ่อนจากเรื่องเครียดๆ มาอยู่กับบรรยากาศยามเย็นกลางทุ่งนา เพราะเราขายโลเคชั่นอยู่แล้ว ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด คนที่มาแล้วเขาก็กลับไปบอกต่อๆ กัน จนต้องกำหนดเปิดรับจองออเดอร์เพียงวันละแค่ 30 ถาด เพราะเราทำ เราไม่ได้หวังกำไรมากมาย ขอแค่พออยู่ได้ ไม่เหนื่อยมากก็พอ”
“ความตั้งใจแรกของเราคือ เราหาอะไรทำเพื่อความอยู่รอดในช่วงวิกฤต แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นสิ่งที่เราทำแล้วเรามีความสุข พ่อกับแม่เราก็มีความสุข ทุกวันแกจะรีบตื่นแต่เช้ามาช่วยผมต้อนรับแขกที่มาเข้าพัก พ่อก็จะพาแขกออกไปขี่ควาย พาไปนั่งเกวียน พาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนแม่ก็จะมาดูแลเรื่องอาหาร ที่นอน ห้องน้ำ พอตกบ่ายแม่ก็ช่วยเตรียมแป้งพิซซ่าและช่วยรับออเดอร์ที่มีคนโทรเข้ามาจอง
“ตกเย็นพ่อก็จะคอยขับรถไถเข้ารับส่งคนที่เขาเดินทางมากินพิซซ่า เพราะทางเข้ามันค่อนข้างลำบาก เป็นนา และมีลำธารตัดผ่าน ส่วนแม่ก็จะคอยอยู่เป็นลูกมือ ช่วยแต่งหน้าพิซซ่าบ้าง ช่วยเสิร์ฟบ้าง ชวนแขกคุยบ้าง แกจะได้เพื่อนใหม่เพิ่มทุกวัน แขกไปใครมาแกจะมีไลน์หมด ซึ่งผมว่ามันเป็นภาพที่อบอุ่นมาก จากที่คิดว่าจะเงียบเหงาเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ตอนนี้มันมีชีวิตชีวากว่าเดิมมาก เรามีทั้งแขกที่มาเข้าพัก มีทั้งแขกที่ตั้งใจมากินพิซซ่า มีพ่อกับแม่ และยังมีญาติๆ ที่ตอนหลังเขาเข้ามาช่วย และคิดเมนูอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อขายให้ลูกค้า ลูกค้าเขาก็นั่งกันนานขึ้น ทำให้บรรยากาศมันเหมือนได้มาเที่ยวบ้านญาติผู้ใหญ่จริงๆ”
“เคยถามพ่อกับแม่เหมือนกันนะว่าเหนื่อยไหม แกบอกว่าสนุกดี ไม่คิดไม่ฝันว่าชาวนาอย่างเขาจะทำได้ขนาดนี้ เขาภูมิใจในตัวเรา ทุกวันนี้ชาวบ้านที่เขาถามว่าเรียนจบปริญญาตรีทำไมถึงกลับมาทำนา เขาก็มาพูดกับแม่ว่าตอนนี้ได้ดิบได้ดีสมชื่อ
“สำหรับผมได้ดิบได้ดีไม่ได้แปลว่าความสำเร็จแต่มันคือการได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตในวิถีชาวนา ไม่ฝืนธรรมชาติ แล้วก็หาทางไปในแบบของมัน”