FitnessPlus เมื่อความฟิตไม่ขึ้นกับอายุ และฟิตเนสไม่ใช่พื้นที่เฉพาะคนหนุ่มสาวอีกต่อไป

อากง วัย 84 ปี กำลังสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และกล้ามเนื้อสะบักด้วยการออกกำลังกายด้วยท่า Seated row ซึ่งท่านี้จะช่วยป้องกันการล้มที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในวัยที่มวลกระดูก และมวลกล้ามเนื้อไม่เหมือนตอนยังหนุ่ม ขณะที่คุณยายวัย 74 ปี เริ่มเล่นเวท เพราะอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า เธอจึงสร้างกล้ามเนื้อก้นและต้นขาหลัง เพื่อประคองกระดูกสันหลังและหัวเข่า ตามคำแนะนำของเทรนเนอร์

“เพราะต่อให้อายุ 70 แล้ว แต่ก็เลี่ยงการลุกนั่งไม่ได้ ท่าที่คุณยายกำลังฝึกจะทำให้การลุกนั่งในชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างปลอดภัย และป้องกันการล้มได้ในชีวิตประจำวันครับ” ออฟ – อนิรุท นิ่งใจเย็น เทรนเนอร์ประจำ ฟิตเนสพลัส สาขาวังหิน อธิบายให้ฟังถึงภาพไม่คุ้นตาที่ปรากฎต่อทีมงานมนุษย์ต่างวัย

60+ ก็ไม่ต่างจากหนุ่มสาวถ้าอยู่ที่นี่

หญิงชายรุ่นอายุ 60 Plus กำลังเล่นเวทราวกับคนหนุ่มสาว แม้จะเป็นภาพแปลกตา แต่กลับให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อร่างกาย และสะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงวัย ซึ่งช่วยเปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อพื้นที่ฟิตเนสว่าไม่ใช่พื้นที่เฉพาะคนหนุ่มสาวอีกต่อไป แต่เป็นกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ทุกคนพึงมี โดยเฉพาะคนสูงวัย

“ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับเรา เพราะฟิตเนสเป็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาว” โสภาวรรณ วิทย์ดำรง อายุ 62 ปี บอกถึงความรู้สึกแรกเมื่อครั้งมาทดลองใช้บริการฟิตเนส ในตอนนั้นอุปกรณ์ และเครื่องเล่นแต่ละประเภทล้วนแต่ข่มขวัญคนวัยเกษียณ “มันไม่น่าจะใช้ง่าย ก็เลยไม่คิดว่าจะทำได้ แต่พอลองมาเล่น โดยมีเทรนเนอร์ช่วยดูแล ก็ช่วยให้เราออกกำลังกายให้เหมาะกับวัย และสภาพร่างกายของเราได้ รวมทั้งยังมีการตรวจค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ซึ่งต้องทำตั้งแต่ต้นด้วย เพื่อให้รู้ว่าสภาพร่างกายของเราตอนนี้ ควรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร”

ป้าโสภาวรรณตัดสินใจสมัครสมาชิก และรับคำแนะนำจากเทรนเนอร์รุ่นลูก ก่อนจะพบว่า เธอเป็นจูเนียร์ของคนรุ่นซีเนียร์ที่มาออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทั้งเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ และฟื้นฟูร่างกาย

โรจนา วงศ์ไม่น้อย อายุ 68 ปี ฝึกท่าสควอชเพื่อสร้างสมดุลให้ร่างกายตามคำแนะนำของออฟ – อนิรุธ ซึ่งเขาเรียกเธอว่า ‘พี่ตา’

“แต่เดิมพี่ตาไหล่ติดด้านขวา เลยไปกายภาพ แต่มันไม่เหมือนเดิม จึงมาฟื้นฟูร่างกายที่นี่ เพื่อหาคนที่สามารถช่วยเราด้านนี้ได้ ก็ได้ออฟมาช่วยดูแล เขาจะรู้ว่าท่าไหนควรทำ ท่าไหนไม่ควรทำ แรกๆ ก็เจ็บนิดหน่อย แต่พอเล่นบ่อยๆ ก็ดีขึ้น สนุกและได้เพื่อนด้วย พี่ตาเลยเล่นต่อเนื่องมายาวเลยค่ะ อาการไหล่ติดหายไปแล้ว”

นอกจากอาการที่ไหล่จะดีขึ้น ป้าตา – โรจนา ยังมีความคล่องแคล่ว รูปร่างลีน หรือรูปร่างที่สมส่วน ไม่มีไขมั น แบบคนสุขภาพดี แถมยังมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และสรีระก็ใช้งานอย่างถูกต้องด้วย

“เราคล่องตัวขึ้น เวลาจะล้ม ก็ได้ท่าป้องกันในแบบที่เทรนเนอร์สอน ทำให้เราป้องกันตัวเองในชีวิตประจำวันได้ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายอย่างถูกต้องได้ และไม่บาดเจ็บจากการลุกนั่งในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือแข็งแรงขึ้น เพื่อ จะ ดูแลพ่ออายุ 96 ปี ถ้าไม่แข็งแรง ใครจะดูแลพ่อ เราต้องแข็งแรงตลอด” ป้าตา – โรจนา บอก

จำเริญ คงศุภลักษณ์ หรือป้าจิ๋ม อายุ 61 ปี เคยบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลัง ส่งผลให้มีอาการชาที่ขา เมื่อออฟ – อนิรุธ ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาออกแบบการฝึกกล้ามเนื้อ ทำให้อาการบาดเจ็บที่หลัง และอาการชาที่ขาหายไป ร่างกายลีนจนคนถามว่าคุมอาหารอย่างไรให้หุ่นสวยแบบนี้

“แต่เรารู้ว่าร่างกายปราดเปรียว เพราะออกกำลังกาย ทุกวันนี้ไปไหนคนจะถามว่าเราคุมอาหารไห ม กินอย่างไร เรากินปกติมาก เพียงแต่เราออกกำลังกาย และ สำคัญที่สุดคือเทรนเนอร์ พี่โชคดีที่เจอออฟ” ป้าจิ๋ม – จำเริญ เล่าถึงเทรนเนอร์ของเธอให้ฟัง

“ณ จุดหนึ่ง ผมรู้สึกว่าพี่จิ๋มเป็นเหมือนคนในครอบครัว พออาการบาดเจ็บหาย เราก็รู้สึกว่าได้ทำให้พี่สาวหายจากการบาดเจ็บ จนสามารถใช้ชีวิตได้ เราก็ดีใจ” ออฟ – อนิรุธ บอก และแถมว่า อาชีพเทรนเนอร์ทำให้เขามีความสุข

ออกกำลังกายแบบไหน

แนวทางการออกกำลังกายที่ ออฟ – อนิรุธ ใช้ฝึก และแนะนำแบบรายบุคคลให้กับผู้สูงวัยคือ Functional Training ซึ่งเป็นการออกกำลังกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อแต่ละส่วน ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมให้สามารถเคลื่อนไหว หรือแสดงอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การดึง การแบก การเดิน การวิ่ง ให้ง่าย และปลอดภัยขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บด้วย

“สำหรับผู้สูงวัย พื้นฐานสรีระและกายวิภาคเป็นเรื่องสำคัญ โดยทั่วไปผู้สูงวัยและผู้บาดเจ็บกล้ามเนื้อจะกลัวการเล่นเวท จะต่างจากคนหนุ่มสาวที่มาฟิตเนสเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้สวยงาม ดังนั้น เราต้องมีทักษะ ต้องมีความเป็นครูสูง และต้องมีความเป็นเอนเทอร์เทนเนอร์ประมาณหนึ่ง โดยต้องออกแบบกิจกรรมให้ไม่น่าเบื่อ หรือสร้างแรงจูงใจให้เขาสามารถทำได้ตามเป้าหมายของการฝึกได้ จึง เป็นความท้าทายในแต่ละวัน และทำให้ผมมีอารมณ์ร่วมสูงในการฝึกแต่ละคน”

เมื่อผู้สูงวัยที่เขาดูแลหายจากอาการบาดเจ็บ และมีร่างกายที่แข็งแรง ออฟ – อนิรุธ รู้สึกเหมือนเป็นครูที่นักเรียนของเขาสามารถสอบติดมหาวิทยาลัย

“พอเราได้ ฝึก ผู้สูงวัยหลายๆ คน จนกระทั่งเขามีร่างกายที่ดีขึ้น หายปวดหลัง หายเจ็บเข่า ไหล่หายติด มีคุณภาพชีวิตที่ดี จนกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดี เราก็มีความรู้สึกเหมือนได้รับชัยชนะ เหมือนเป็นครูที่ติวให้เด็กเอ็นทรานช์ได้ เวลาที่เราใช้ร่วมกัน ได้พัฒนาจนกลายเป็นความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว ทำให้ชีวิตของการเป็นเทรนเนอร์ไม่น่าเบื่อ และมีความสุข สนุกกับการดูแลคนในครอบครัว” ออฟ – อนิรุธ บอก

พื้นที่สุขภาพดีของคนทุกวัย

หากคุณมาที่ฟิตเนสแห่งนี้ในยามเช้า คุณจะพบคนหนุ่มสาวมาออกกำลังกายก่อนไปทำงาน ในช่วงสายๆ จะเป็นเวลาของสมาคมแม่บ้าน และแก๊งค์ 60+ มายกเวทด้วยท่าทางต่างๆ ที่เหมาะสมกับตน ช่วงบ่ายเป็นเวลาของผู้สูงวัยที่เกษียณแล้ว ซึ่งเลือกที่จะออกกำลังกายเป็นงานอดิเร กเพื่อ สร้างกล้ามเนื้อ ฟื้นฟูร่างกาย ก่อนคนหนุ่มสาวจะเข้ามาเล่นในช่วงหลังเลิกงาน ฟิตเนสได้กลายเป็นพื้นที่ของคนทุกวัย และไม่ใช่พื้นที่แปลกหน้าของคนสูงวัย

“ผมคิดว่าคนที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง มวลกล้ามเนื้อจะน้อยลง การเล่นเวทเทรนนิ่งคือวิธีเดียวที่สามารถเพิ่มมวลกระดูก เพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้จริง ชะลอการเสื่อมได้จริง เห็นผลชัดเจน คนที่นี่พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถ กลับมาได้ มวลกล้ามเนื้อเพิ่ม ขึ้นได้ ช่ วย แก้ และป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ได้ รวมทั้งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ป้องกันเบาหวาน โ รคที่เกี่ยวข้องกับ หัวใจ ออฟฟิศซินโดรม และสุดท้าย ยัง เป็นสังคมเล็กๆ ที่ทำให้ทุกคนมาเจอกัน ดูแลคุณภาพชีวิตกัน ซึ่ง ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุหมดเลย”

ที่สำคัญ คือต้องไม่ลืมว่า การล้มของผู้สูงวัยนั้น เป็นด้านที่ตรงข้ามกันข้ามกับการล้มของเด็ก เพราะการล้มของเด็กคือการเรียนรู้ที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า แต่การล้มของผู้สูงวัยคือความเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งออฟ – อนิรุธ เทรนเนอร์แห่งฟิตเนสพลัส ยืนยันว่า การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้ โดยเริ่มต้นจากการสร้างกล้ามเนื้อเหมือนการเพาะชำต้นกล้า เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ และอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของคนๆ หนึ่ง

Credits

Author

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ