“เข็นแม่เที่ยว” พาทัวร์พัทยา เมือง Friendly Design เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อการเดินทางทำให้ “แม่” ฟื้นตัวเร็วขึ้น จึงทำให้ลูกสาวที่ต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคสโตรก เริ่มออกตามหาสถานที่ท่องเที่ยวที่จะทำให้การเดินทางของเธอในฐานะผู้ดูแล และแม่ในฐานะนักท่องเที่ยวมีความสุขร่วมกันได้

มนุษย์ต่างวัย พาไปทำความรู้จักกับ “ใบเตย” รพิดา อัชชะกิจ ลูกสาววัย 41 ที่ดูแลคุณแม่ที่ป่วยด้วยโรคสโตรกมานานหลายปี และหนึ่งในวิธีที่เธอใช้ฟื้นฟูสุขภาพของแม่เธอก็คือการเดินทาง พาแม่ออกไปเดินทางท่องเที่ยว แทนที่จะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านและใช้เวลาอยู่แต่บนเตียงนอน จนปัจจุบันสภาพร่างกายของคุณแม่เธอดีขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถพูดหรือช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถกลับมาสื่อสารคำสั้นๆ และเป็นประโยคได้ แต่สิ่งที่ “เตย” ต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่พาคุณแม่ออกจากบ้านก็คือ สถานที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งในบ้านเราไม่ได้ถูกออกแบบให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการ

เพื่อให้รู้ว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่ออกแบบให้เหมาะกับคนทุกกลุ่มที่ดีเป็นอย่างไร   มนุษย์ต่างวัยจึงชวน “เตยและแม่” ออกสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว ที่ สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี เส้นทางนำร่องที่ถูกออกแบบให้เป็น “เมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” Friendly Design เส้นทางท่องเที่ยวใหม่เพื่อชีวิตที่เท่าเทียมที่ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ ก็สามารถท่องเที่ยวได้โดยไม่มีข้อจำกัด

สำหรับการเปลี่ยนสวนนงนุช พัทยา ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Friendly Design เป็นหนึ่งในความร่วมมือของ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถานที่ท่องเที่ยวและผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด 10 แห่ง เพื่อเปิด 10 เส้นทางท่องเที่ยว ใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก อยุธยา พังงา และราชบุรี เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ

ประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ทุกที่ เราจึงต้องพยายามมากกว่าคนอื่น

“หลังจากที่รู้ว่าแม่ป่วยเป็นสโตรก ทุกอย่างก็เปลี่ยนภายในข้ามคืน จากที่แม่เป็นผู้หญิง Active ก็กลายเป็นคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราจึงต้องรับหน้าที่เป็นทั้งแขนและขา เพื่อดูแลชีวิตที่เหลืออยู่ของแม่ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เราไม่ได้ดูแลแม่แบบคนติดเตียงทั่วไป เราอยากให้แม่มีความสุขที่สุดในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้แม่เป็นคนชอบเที่ยวมากๆ ดังนั้นการพาแม่เที่ยวอีกครั้ง จึงเป็นหนึ่งในหนทางที่จะฟื้นฟูแม่เพิ่มเติมจากการได้รับยาจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ความตั้งใจจะพาแม่เที่ยวนั้น บอกตามตรงว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายสำหรับเมืองไทย พอเราต้องใช้วีลแชร์ ถึงได้รู้ว่าจริงๆ ย้อนไปเมื่อ 7 ปี ที่แล้วการหาสถานที่ที่จะพาแม่ไปเที่ยว ได้ยากมาก โรงแรมไม่มีที่ไหนที่สามารถเข็นรถวีลแชร์เข้าไปในห้องน้ำได้ ร้านอาหารน้อยร้านจะมีทางลาด ห้องน้ำตามปั๊มก็ไม่สะดวกให้ผู้พิการหรือผู้ใช้วีลแชร์ได้ใช้ ยิ่งขนส่งสาธารณะยิ่งเป็นไปไม่ได้ มันยากมากจริงๆ ในตอนนั้น

“การเดินทางว่ายากแล้ว สายตาคนมองเข้ามายิ่งยากกว่า เพราะในตอนนั้นมีแต่คนมองเราแบบต่อว่า เหมือนคิดว่าแม่เราเป็นแบบนี้จะพาออกมาลำบากทำไม รำคาญเกะกะทำให้เขาเสียเวลาเวลาขึ้นลิฟต์ ซึ่งมันยิ่งตอกย้ำในใจเข้าไปอีกว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าเราจะเป็นคนแบบไหน เราไม่ควรมีสิทธิ์ถูกสังคมตีกรอบว่าเราห้ามทำอะไร ในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ ไม่ใช่แค่สังคมตีกรอบเท่านั้น แต่การออกแบบเมืองยังตีกรอบให้เรามีสิทธิ์ใช้ชีวิตเท่าที่ได้ ทั้งๆ ที่เราก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง

“ตอนนั้นคู่มือการเดินทางที่ดีที่สุดของเราก็คือ www.tourismforall.com ที่จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ซึ่งเกิดจากเหล่าพี่ๆ มนุษย์ล้อ ที่พยายามขับเคลื่อนและเป็นกระบอกเสียง ร่วมกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ ให้มองเห็นกลุ่มผู้พิการและผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ คู่มือนี้รวบรวมทั้งที่กิน ที่เที่ยว ที่พัก และข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์และผู้ดูแล”

เริ่มต้นสำรวจเดินเที่ยวรอบๆ สวนนงนุชพัทยาตามไกด์บุ๊คของมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล

“สำหรับก้าวแรกที่เราเดินเข้ามา สิ่งที่สังเกตได้คือ ในสวนนงนุช พัทยา ไม่ว่าเราจะใช้วีลแชร์ หรือเป็นคนแข็งแรงปกติ เราทุกคนเท่ากัน เรามีสิทธิ์ได้เดินดูทุกมุมเหมือนกัน เพราะที่นี่เต็มไปด้วยทางลาดในทุกๆ มุมของแต่ละโซน เช่น จากโซนจำหน่ายตั๋ว มาให้อาหารช้างก็มีทางลาด ทำให้เตยไม่ต้องยกคุณแม่บ่อย และเข็นได้ง่ายขึ้น ตรงนี้เรามองว่าข้อดีของการมีทางลาดไม่ใช่แค่เฉพาะผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์เท่านั้นที่จะใช้ได้ แต่รวมไปถึงคนท้องที่อาจจะจำเป็นต้องใช้วีลแชร์ หรือคุณแม่ที่มีลูกเล็กก็จะเข็นรถเข็นได้ง่ายไม่ต้องอุ้มลูกเข้าออกรถ ประหยัดแรงและก็ปลอดภัยกับลูกด้วย

“ทางลาดถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเชื่อมให้เราสามารถไปตรงไหนก็ได้ แต่ก่อนเตยพาแม่ออกไปไหนได้ยากมากและต้องทำการบ้านเยอะ เช่น การพาไปดูหนัง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แม่ชอบมาก แต่โรงหนังส่วนมากไม่มีทางลาด การที่จะให้พนักงานอุ้มแม่เราไปนั่ง เราก็ไม่ได้อยากเป็นภาระใคร จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่าการมีทางลาดทำให้เราสามารถไปได้ทุกที่เหมือนกับคนทั่วไป

“สิ่งที่ต้องชื่นชมต่อมาและเป็นหัวใจสำคัญในการท่องเที่ยวคือห้องน้ำ ที่นี่ห้องน้ำสำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ไม่ใช่ห้องเล็กๆ เป็นห้องใหญ่ ป้ายก็ใหญ่เห็นชัด ถูกออกแบบมาให้พอดีสำหรับวีลแชร์ที่ไม่มีผู้ดูแลก็ยังสามารถใช้ชีวิตเองได้ ซึ่งเป็นจุดที่เวลาจะไปไหนเตยทำการบ้านหนักมากๆ เพราะขนาดห้องน้ำปั๊มสำหรับผู้พิการเองในสมัยก่อนยังไม่มีทางลาด หรือไม่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมต่อการใช้งาน

“สิ่งที่ถูกใจเตยและแม่มากที่สุดคงจะเป็นการมีลิฟต์ที่สามารถพาคุณแม่ขึ้นไปชมสวนลอยฟ้าได้เหมือนกับทุกคน ข้อนี้ถ้าผู้สูงอายุที่เข่าไม่ดีก็ยังสามารถใช้ลิฟต์นี้ได้ด้วย สำหรับเตยมองว่าฟังก์ชันของที่นี่ถูกคิดมาครบ ตอบโจทย์ทุกคน”

โรงแรมอารยสถาปัตย์แห่งแรกในเอเชียตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม

“สิ่งที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจมากคือ รถนำเที่ยวรอบสวนนงนุช ที่ถูกออกแบบให้สามารถนำวีลแชร์ขึ้นไปได้ ซึ่งจะทำให้เตยไม่ต้องเดินเข็นคุณแม่จนทั่ว การไม่มีรถที่เอื้อให้นำวีลแชร์ขึ้นไปได้เป็นข้อจำกัดมากเวลาที่ไปเที่ยวที่อื่น แต่ที่นี่สามารถนั่งรถชมวิวรอบๆ ได้ แล้วมีรถรางพาเที่ยวรอบๆ นอกจากจะพาเที่ยวยังบริการพาไปถึงที่พักด้วย

“โรงแรมสวนนงนุชพัทยา ที่ขึ้นชื่อว่าโรงแรมอารยสถาปัตย์แห่งแรกในเอเชีย ก็ไม่ใช่แค่บางห้องของตึก แต่เป็นทุกห้องที่รองรับและออกแบบแบบ Friendly Design ถึง 42 ห้อง ซึ่งทันทีที่ลงจากรถเราก็ไม่ต้องมีใครมาช่วยยกคุณแม่ เพราะเตยสามารถเข็นแม่ไปถึงห้องพักได้ด้วยตนเอง เพราะทุกพื้นที่ของโรงแรมมีทางลาดรองรับผู้ใช้งานวีลแชร์ ในห้องพักเองก็ออกแบบให้มีห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้ใช้วีลแชร์ ที่สำคัญจะมีปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินทุกห้อง ทั้งในห้องน้ำและหัวเตียง หากเกิดเหตุด่วนหรืออุบัติเหตุก็สามารถกดได้ทันที ตรงนี้จะตอบโจทย์มากหากผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำ ก็จะช่วยได้ทันการ

“สิ่งที่สวนนงนุชใส่ใจคือไม่ว่าจะเป็นตู้เสื้อผ้า ตาแมวตรงประตู หรือตรงพื้นที่ตรงเตียงถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถใช้ได้ทุกส่วน แม้ไม่มีผู้ดูแลก็ตาม

“ก่อนหน้าที่เตยโทรหาโรงแรม เป็น 30 ที่ กว่าจะหาเจอว่ามีที่ไหนมีทางลาด มีห้องน้ำที่ตอบโจทย์ มันยากมากจริงๆ เดี๋ยวนี้การขับเคลื่อนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นกว่า 7 ปีที่แล้วเยอะมาก เพราะแรงพลังของเหล่ามนุษย์ล้อและหน่วยงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้”

  

“อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่เตยตามหามานานมากคือ สระว่ายน้ำซึ่งเป็นการบำบัดและกายภาพคุณแม่ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปได้ยาก ถ้าเราไม่สามารถหาสระที่วีลแชร์สามารถไปได้ เพราะการจะอุ้มคุณแม่ลงไปเล่นน้ำเลยเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะสระน้ำมีความลื่นของน้ำอยู่ ถ้าอุ้มแม่ลงไปแม้จะเป็นสระเด็กเกิดอุบัติเหตุมาก็ไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับคนวัยนี้ พอที่สวนนงนุชมีสระว่ายน้ำและออกแบบให้วีลแชร์ลงไปได้ อีกทั้งยังมีรถวีลแชร์ให้ใช้สำหรับเล่นน้ำโดยเฉพาะ เตยมองว่ามันเป็นการทลายข้อจำกัดของร่างกายให้สามารถทำสิ่งที่อยากทำได้เหมือนคนปกติ แม้ร่างกายเราจะไม่เหมือนกัน”

“จริงๆ จุดเริ่มต้นมันมาจากพอเราได้ไปญี่ปุ่น เราไปเห็นบ้านเมืองเขาทั้งๆ ที่เราเป็นคนพิการนั่งวีลแชร์ แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือเราไม่รู้สึกว่าเราเป็นคนพิการเลย เราสามารถใช้ชีวิตและช่วยเหลือตนเองได้เหมือนคนทั่วไป ต่างกับประเทศไทยที่สภาพแวดล้อมบังคับและจำกัดให้เราใช้ชีวิตได้แค่เท่าที่เราควรใช้ ไม่สามารถทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ ทั้งๆ ที่เราก็เป็นพลเมืองของประเทศเหมือนกัน นั่นจึงทำให้สะท้อนได้ว่าที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้เราพิการไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่พิการ จนเราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้”

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เล่าถึงที่มาที่ไปของการขับเคลื่อนแนวคิด Friendly Design

“จากนั้นมูลนิธิอารยสถาปัตย์จึงได้เกิดขึ้น เราบุกเบิกเข้าไปสำรวจพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้ มีทั้งเสียงตอบรับที่ดี และอุปสรรคมากมายตั้งแต่เริ่มทำมาในปี พ.ศ.2548 จนถึงวันนี้ก็ 17 ปี สิ่งที่คาดหวังมากที่สุดคือ ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ทุกที่ถูกออกแบบด้วยแนวคิด Friendly Design เพื่อให้ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือคนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการ สถานที่ และการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

“ส่วนสำคัญที่เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนและต่อสู้ร่วมกันมาอย่างยาวนานก็คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งนับรวมแล้วก็ 10 ปีเข้าไปแล้ว ที่ทาง สสส. เข้ามาช่วยเหลือทั้งด้านงบประมาณ ประชาสัมพันธ์โครงการ มีการใช้ดาราและคนมีชื่อเสียงเข้ามาช่วยให้เกิดแรงกระเพื่อม ให้สังคมเห็นความสำคัญของ Friendly Design นอกจากนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังได้ร่วมกับมูลนิธิฯ เปิด 10 เส้นทางท่องเที่ยว ใน 10 จังหวัดนำร่อง กทม. กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก อยุธยา พังงา ราชบุรี เช่น ในพื้นที่ของ กทม. ก็จะมีเส้นทางท่องเที่ยวแบบ Friendly Design ได้แก่ ไอคอนสยาม , ศูนย์การเรียนรู้ป่าในกรุง , หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา สำหรับ จ. ขอนแก่น ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง , สวนสัตว์ขอนแก่น พื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ , สวนสัตว์เชียงใหม่ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวยังมีโรงแรม ห้องน้ำสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อม จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ปลอดภัยและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก

“ส่วนนงนุชเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เราได้เข้าไปพูดคุย จากที่ไม่เคยมองถึงเรื่องการออกแบบเพื่อกลุ่มคนทุกกลุ่ม สวนนงนุชก็ได้ตัดสินใจรีโนเวททุกพื้นที่ที่เป็นไปได้ และพื้นที่สร้างใหม่ก็ต้องสร้างอยู่บนพื้นฐานของ Friendly Design เท่านั้น นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งที่สสส. และภาคี กำลังผลักดัน สนับสนุนระบบการขนส่งมวลชนในบ้านเราเอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการได้มากขึ้น โดยปฏิรูปรถเมล์ กรุงเทพฯ – ปริมณฑลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ-เส้นทาง-การให้บริการ-ป้ายรถเมล์ ซึ่งถูกออกแบบภายใต้แนวคิดสำหรับคนทั้งมวลให้ทุกคนเข้าถึงได้ทุกเส้นทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่เพียงรถเมล์ แต่รวมไปถึงเส้นทางโดยสารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟ รวมถึงถนนสาธารณะต่างๆ อีกด้วย 

การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่การเป็นเมือง Friendly Design ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเพื่อคนทั้งมวล ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เราไม่เพียงขับเคลื่อนแค่เรื่องการออกแบบเมืองเท่านั้น แต่เรายังสนับสนุนอีกหลากหลายโครงการตั้งแต่การจ้างงานผู้พิการ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในมิติต่างๆ ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หลายสถานที่เริ่มปรับตัวและนำหัวใจเรื่อง Friendly Design มาเป็นใจความหลักในการออกแบบเมือง สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง 10 เส้นทางท่องเที่ยวใน 10 จังหวัดที่สามารถเอื้อต่อการเดินทางของคนทุกกลุ่ม สสส. เชื่อว่าในอนาคตก็จะสามารถขยายไปได้อีก 20- 30 เส้นทาง จนขยายไปทั่วประเทศเพื่อความเท่าเทียมกันของพลเมืองไทยทุกคน เพราะเราเชื่อเสมอมาว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ