เริ่มต้นจากบนดิน ก่อนบินขึ้นฟ้า ที่มาของตำนานไอศกรีมลอยฟ้าลุงสม

เป็นเวลา 55 ปีแล้วที่ สม ศรีเที่ยงขำ ยึดอาชีพขายไอศกรีมเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

“ลุงเริ่มขายมาตั้งแต่ปี 2509 แล้วก็ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเลย อาชีพนี้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับเรา เรามีบ้านก็เพราะขายไอศกรีม เลี้ยงลูก 3 คนจนเรียนจบมีการมีงานทำก็เพราะขายไอศกรีม เรามีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนอย่างที่คนอื่นเขามีก็เพราะขายไอศกรีม คนอื่นเขาจะมองอย่างไรไม่รู้ แต่นี่คืออาชีพที่ให้ชีวิตเรา”

ไอศกรีมของลุงสมเป็นที่รู้จักในนามของ ‘ ไอศกรีมลอยฟ้า ’ เนื่องจากลุงสมนับเป็นคนขายเจ้าแรกๆ ที่โยนไอศกรีมขึ้นไปแล้วเอาถ้วยรับ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ลูกค้าอย่างมาก

บนเส้นทางกว่าครึ่งศตวรรษลุงสมคนขายไอศกรีมชื่อดังออกสื่อออกรายการมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายการตามไปดู , ผู้หญิงทํามาหากิน , SUPER 60 + , ตีสิบ , อึ้งทึ่งเสียว , ท้าพิสูจน์ , ไทยทึ่ง และอีกหลายรายการ ไม่นับรายการต่างๆ
ในช่องยูทูบที่มียอดคนเข้ามาชมรวมแล้วอีกหลายล้านวิว

คนที่ได้เห็นลีลาของลุงสมล้วนจับจ้องช่วงเวลาที่ไอศกรีมลูกกลมๆ ถูกโยนขึ้นไปบนฟ้า แต่ไม่มีใครรู้ว่าจุดเริ่มต้นของไอศกรีมลอยฟ้ามาจากชีวิตที่เรี่ยดินของเด็กชายคนหนึ่ง

ต้นทุนชีวิตที่ติดลบ

ชีวิตวัยเด็กของลุงสมตรงข้ามกับคำว่า ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์’ แบบสุดขั้ว เพราะแม่ของลุงสมทิ้งไปมีครอบครัวใหม่ จนพ่อช้ำใจก่อนตัดสินใจบวชไม่สึก ปล่อยลูกเล็กของตัวเองไว้กับย่า กระทั่งอายุ 3 ขวบ ลุงซึ่งเป็นพี่ชายของพ่อจึงรับไปเป็นลูกบุญธรรมและย้ายไปอยู่กับลุงที่บ้านย่านพระประแดง

“เปรียบไปเราก็เหมือนคนไม่เต็มคน เพราะไม่มีหลักฐานอะไรสักอย่าง ไม่มีใบเกิด ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีสำมะโนครัว พอถึงเวลาที่ต้องเข้าเรียนเลยไม่ได้เรียนเหมือนเด็กคนอื่น มีแค่ลุงเขาฝากไปนั่งเรียนในโรงเรียนแถวบ้าน แต่เราก็ไม่ได้มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา คนอื่นเขาจบ ป.1 ก็ขึ้นชั้น ป.2 แต่เราไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเป็นนักเรียน ป.1 หรืออนุบาล

“ถ้าจะพูดให้ถูกก็ต้องบอกว่าเราโตมาโดยไม่เคยเรียนหนังสือ”

หลักฐานยืนยันตัวตนก็ไม่มี หนังสือก็ไม่ได้เรียน เมื่อโตขึ้นก็ยังมีปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวของลุงต่อไปได้ ต้องออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนตามลำพังตั้งแต่ 11 ขวบ

“เราหนีออกมา ไม่มีเงิน มีแค่เสื้อผ้าอยู่ 2 – 3 ชุดในกระเป๋า เร่ร่อนไปเรื่อย นอนวัดบ้าง นอนตลาดบ้าง นอนตามข้างถนนบ้าง มีอยู่คืนหนึ่งไปนอนในโรงหนัง พอตื่นมาปรากฏว่ากระเป๋าเสื้อผ้าหายไป เหลือแค่เสื้อผ้าตัวที่ใส่อยู่ชุดเดียว

“ส่วนเรื่องกินก็อาศัยหน้าด้านหน้าทน ยกมือไหว้ขอข้าวเขากินสักจานตามร้านข้าว ถ้าเขาให้ เราก็ได้กิน ถ้าเขาไม่ให้ เราก็อด หรือบางทีเราก็ล้างจานให้เขาแลกข้าวบ้าง บางร้านเขาสงสาร นอกจากให้ข้าวแล้วก็ให้เสื้อผ้ามาด้วย”

เด็กชายสมใช้ชีวิตแบบคนจรนานกว่า 9 ปี ในช่วงที่ชีวิตดำดิ่งถึงขีดสุด ลุงสมเล่าว่าเคยถึงขนาดนั่งเอาขันวางตรงหน้าแล้วร้องเพลงเพื่อหวังได้เศษเงินไปซื้อข้าวกิน

“เราไม่ได้อยากทำแบบนั้นหรอก แต่มันลำบาก ไม่มีข้าวกิน เราเองก็อยากทำงาน อยากมีโอกาสที่จะมี ช ีวิตดีๆ เหมือนคนอื่นบ้าง”

ในเวลานั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กชายเร่ร่อนคนนี้จะเติบโตกลายเป็นตำนานคนขายไอศกรีมที่ได้ออกทีวีเป็นว่าเล่นและมีฐานะมั่นคง

ในขณะที่ชีวิตกำลังมืดมน อยู่ๆ โชคก็เข้าข้างเขา เพราะมีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานไอศกรีมรับลุงสมไปอุปการะก่อนหยิบยื่นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการให้รถเข็นออกไปเดินขายไอศกรีม

แม้จะได้ค่าตอบแทนไม่มากนัก แต่นี่ถือเป็นเงินก้อนแรกที่ลุงสมรู้สึกว่าหาได้จากการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรีจริงๆ เพราะคนให้เงินไม่ได้ให้เพราะความเวทนาหรือสงสาร แต่ให้เพราะอาชีพค้าขายของเขา

“เราขายได้วันละ 50 บาทบ้าง 80 บาทบ้าง 100 บาทบ้าง แต่เราภูมิใจและเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติ”

การขายไอศกรีมเป็นอาชีพแรกของลุงสม ที่สำคัญยังเป็นอาชีพเพียงเดียวที่เขาทำมาจนถึงวันนี้

ลอยฟ้าเฟิสต์ไทม์

หลังจากเริ่มขายไอศกรีมไปได้ราว 2 ปี เถ้าแก่ที่รับลุงสมมาอุปการะก็ไปต่อเติมรถ ทำให้จากเดิมที่ต้องเดินเข็นขายก็กลายเป็นรถสามล้อถีบเหมือนรถขายไอศกรีมที่เห็นในปัจจุบัน

ในยุคนั้นลุงสมจะปั่นขายอยู่แถวพระประแดง โดยพิกัดที่ทำเงินได้มากก็คือ ตามท่าเรือและหน้าโรงเรียนต่างๆ

“จุดที่ขายดีจุดแรกก็คือตามท่าเรือที่คนจะเอาสินค้ามาลง เราจะขายพวกคนงานที่เขาแบกสินค้าขึ้นจากเรือซึ่งมีจำนวนมาก ที่สำคัญเขาทำงานหนัก บางคนแบกข้าวสารเป็นกระสอบหลายเที่ยว เขาก็เหนื่อย พอเหนื่อยแล้วก็อยากกินอะไรเย็นๆ”

วิธีการขายของลุงสมต่างจากพ่อค้าไอศกรีมเจ้าอื่น เขาไม่ได้รอให้ลูกค้ามาซื้อที่ท่าเรือ แต่ตักไอศกรีมหลายๆ ถ้วย เอาใส่ถาด แล้วบุกขึ้นไปขายถึงบนเรือ หากมีเหลือก็เอามาเก็บในถังเพื่อขายเจ้าอื่นต่อไปได้ แต่ลุงสมบอกว่าส่วนใหญ่แล้วมีแต่ต้องไปตักมาเพิ่ม

“อีกแห่งก็คือตามหน้าโรงเรียน ตอนเลิกเรียนก็จะมีเด็กๆ มารุมซื้อ แต่จะไม่ได้ขายเชิงรุกเหมือนกับที่ท่าเรือเพราะเด็กๆ จะตรงเข้ามาหาเราเองอยู่แล้ว เราใช้วิธีขายในราคาที่ถูกกว่าปกติแทนเพื่อให้เด็กๆ ติดใจ อย่างเจ้าอื่นขาย 1 สลึงเท่ากัน เขาให้ 2 ลูก เราก็ให้ 3 ลูก ยอมลดกำไรลงหน่อยแต่ขายได้มากกว่าเดิม ทำให้เราดึงลูกค้ามาเป็นของเราได้หมด”

ลุงสมบอกว่าการจะขายไอศกรีมให้ได้ดีนั้น สิ่งสำคัญคือการรู้จักวางแผนและพลิกแพลงตามสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งการพลิกแพลงนี้เป็นที่มาของไอศกรีมลอยฟ้าด้วย

“มีอยู่วันหนึ่งที่วัดครุในเขามีฉายหนังกลางแปลง เราก็ไปขายเพราะคิดว่าน่าจะมีคนมาดูหนังกันเยอะ แต่ปรากฏว่าไอศกรีมเจ้าอื่นเขาก็คิดเหมือนเรา รวมๆ แล้วก็เลยมีอยู่ 5 – 6 เจ้า เราเองก็ไม่ใช่เจ้าถิ่นที่คนแถวนั้นจะคุ้นหน้าคุ้นตา ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะขายได้ สุดท้ายตัดสินใจโยนไอศกรีมขึ้นไปแล้วก็เอาถ้วยรับพร้อมกับตะโกนเรียกลูกค้า”

ทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่การตัดสินใจครั้งนั้นกลับให้ผลดีเกินคาด ก่อนหนังจะฉายชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาต่างมารุมล้อมอุดหนุนไอศกรีมของเขา เพราะเงิน 1 สลึงที่แต่ละคนจ่ายไปนั้นนอกจากจะได้ไอศกรีมอร่อยๆ มากินแล้ว ยังได้ตื่นตาตื่นใจกับโชว์จากพ่อค้าแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนเป็นของแถมอีกด้วย

“วันนั้นเป็นการโยนไอศกรีมขึ้นฟ้าครั้งแรก ซึ่งเรารับได้ทุกครั้งไม่มีพลาดเลย เอาจริงๆ ตอนครั้งแรกเราไม่ได้ฝีมือดีเหมือนทุกวันนี้หรอก แต่อาศัยว่าโยนไม่สูง วันนั้นเราโยนแค่ 3 เมตร ถ้าโยน 8 – 9 เมตรเหมือนทุกวันนี้ก็น่าจะมีตกพื้นหลายลูก”

ชายวัย 75 ปีพูดพร้อมหัวเราะออกมาเมื่อนึกไปถึงการโยนไอศกรีมลอยฟ้าครั้งแรก

ลุงสมขายไอศกรีมจนมีเงินเก็บเป็นของตัวเองร่วม 5,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับมูลค่าของเงินในสมัยที่ทองคำยังมีราคาเพียงบาทละ 350 เท่านั้น

แต่หลังจากขายไปได้สักพัก เถ้าแก่ก็ตัดสินใจเลิกกิจการ หลังร่ำลารวมทั้งกราบขอบคุณที่ให้โอกาสและให้ชีวิต ชายหนุ่มไปสมัครงานที่โรงขายไอศกรีมแห่งใหม่ใกล้กับวัดประดู่ฉิมพลี ย่านบางกอกใหญ่ แต่ขายไปได้อีกราว 3 ปี เถ้าแก่ก็เลิกกิจการอีก คราวนี้เขาไปสมัครงานใหม่ที่ไอศกรีมไผ่ทองซึ่งตั้งอยู่ย่านบางพลัด โดยไผ่ทองถือเป็นแบรนด์ไอศกรีมที่มีชื่อเสียงตั้งแต่สมัยนั้น

“เรารักอาชีพขายไอศกรีมไปแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น อาชีพนี้มันอิสระดีแล้วก็ได้เงินดี ขายได้ก็หักไปจ่ายต้นทุน ที่เหลือก็เป็นของเรา ตอนนั้นที่ไปสมัครที่ไอศกรีมไผ่ทอง เพราะมีคนแนะนำว่าเป็นไอศกรีมที่มีหลายสี หลายรส เลยคิดว่าน่าจะขายดี ซึ่งก็เป็นอย่างที่คิดไว้จริงๆ”

ช่วงเวลาหลังจากที่โยนไอศกรีมลอยฟ้าเป็นวันแรก จนมาถึงเริ่มขายไอศกรีมไผ่ทองใหม่ๆ ลุงสมยังคงขายแบบปกติ กระทั่งอยู่ๆ วันหนึ่งเขาก็นึกถึงวันฉายหนังกลางแปลงที่วัดครุใน

“ตอนขายไอศกรีมไผ่ทองใหม่ๆ มันก็ขายดีแหละ แต่เราว่ามันยังน่าจะดีกว่านี้ได้อีก คิดว่าเราต้องหาอะไรบางอย่างที่เป็นจุดขายให้ตัวเอง เราเลยนึกไปถึงตอนโยนไอศกรีมที่วัดครุใน”

ลุงสมตั้งใจว่าจะทำไอศกรีมของเขาให้เป็นที่รู้จักในนามไอศกรีมลอยฟ้า แต่ปัญหาก็คือถ้าจะให้มันลอยฟ้าจริง ความสูงในการโยนต้องไม่ใช่แค่ 3 เมตร

“ถ้ามันจะโดดเด่นจนเป็นจุดขายได้ ไอศกรีมของเราต้องลอยสูงกว่านั้น”

ไม่มีลูกค้า ไม่มีไอศกรีมลอยฟ้า

เพราะรู้ว่าหนทางเดียวที่จะทำให้โยนได้สูงขึ้นก็คือการซ้อมเท่านั้น ดังนั้น ทุกๆ วันหลังจากขายไอศกรีมเสร็จ ลุงสมจะเอามะนาวและมะเขือเปราะมาฝึกโยนขึ้นไปในอากาศแล้วฝึกรับด้วยถ้วยไอศกรีม

“ทั้งมะนาวและมะเขือเปราะจะมีความแข็งมากกว่าลูกไอศกรีม ถ้าเรารับ 2 อย่างนี้ได้ ไอศกรีมก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องของจังหวะ ถ้าเราฝึกซ้อมจนเกิดความชำนาญ เราจะรู้จังหวะว่าควรโยนด้วยน้ำหนักประมาณไหน ควรรับตอนไหน พอรู้จังหวะ ทุกอย่างมันจะเป็นไปแบบอัตโนมัติเลย”

เมื่อเริ่มฝึกโยนฝึกรับจนคุ้นชิน ลุงสมจึงเริ่มเพิ่มความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จาก 3 เมตรเป็น 5 เมตร จาก 5 เมตรเป็น 7 เมตร ไล่ไปจนถึงเกือบ 10 เมตร

นอกจากการไต่ระดับความสูงแล้ว ลุงสมยังไม่ได้แค่โยนแล้วรับธรรมดา แต่ยังอัพสกิลด้วยการฝึกฝนท่าต่างๆ เพิ่มเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการโยนขึ้นไปแล้วรับด้วยการไขว้มือลอดใต้ขา รับโดยการไขว้หลัง ใช้ที่ตักรับแทนถ้วย หรือบางทีก็อ้าปากรับแล้วกินโชว์ไปเลย ลุงสมใช้เวลาฝึกฝนทุกวันร่วม 1 สัปดาห์ จนชำนาญ คราวนี้เมื่อออกไปขาย ลูกค้าและผู้คนที่ได้เห็นก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจมากกว่าเดิม

“เราไม่ได้แค่โชว์ให้ดู แต่บางทีเราโยนให้ลูกค้ารับเองเลยก็มี อยากให้เขารู้สึกสนุกไปด้วยกัน เขารับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตกพื้นบ้างก็ไม่ว่ากัน ขนาดเราเองทำอยู่ทุกวันบางทียังรับพลาดไม่ลงถ้วยเลย เวลาเราพลาด ลูกค้าเขาก็แซวบ้าง หยอกบ้าง เราก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร อะไรที่ทำให้ลูกค้ามีความสุขขึ้น ลุงยินดีทำหมด อย่างลูกค้าบางคนเขาอยากได้ช็อกโกแลตหรือขอถั่วเพิ่ม ลุงให้เขาใส่เองได้ตามสบายเลย อะไรเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเราให้กันได้เราให้กันดีกว่า

“อย่าลืมว่าถ้าไม่มีลูกค้าก็ไม่มีไอศกรีมลอยฟ้าจนถึงทุกวันนี้”

รู้จักหา รู้จักเก็บ รู้จักใช้

แม้จะมีรายได้จากการเป็นคนขายไอศกรีมเท่านั้น แต่ลุงสมสามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ จนมีเงินเก็บครึ่งล้าน คอนโดมิเนียมที่ซื้อด้วยเงินสด 2 ห้อง ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นครบทุกอย่าง และรถเครื่องอีก 1 คัน

ที่สำคัญ ชายวัย 75 ปีไม่มีหนี้สินแม้แต่บาทเดียว

“อย่างแรกเลยคือลุงไม่เที่ยว ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทำงานเสร็จก็เข้าบ้านแล้วเอาเงินให้เมีย วันรุ่งขึ้นก็ออกไปหาเงินใหม่ ลุงว่าแค่เรื่องนี้ก็ประหยัดเงินไปได้เยอะแล้วนะ ลองคิดในทางตรงกันข้าม สมมติเราดื่ม เราสูบ ทำงานเสร็จตกเย็นเราก็ตั้งวงเหล้า อย่างต่ำๆ ลุงว่าต้องมีเดือนละเป็นพันที่หมดไปกับตรงนี้ ถ้า 1 ปี หรือ 10 ปีจะเป็นเงินเท่าไหร่ที่ใช้กับเรื่องพวกนี้

“นอกจากเรื่องเงิน สุขภาพก็ยังไม่ดีอีก พอเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่มีแรงหาเงินอีก ทุกวันนี้ลุงอายุ 75 แล้วนะ แต่สุขภาพยังแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ”

ทุกวันนี้ลุงสมอาศัยอยู่กับภรรยาเพียง 2 คน เนื่องจากลูกๆ ทั้ง 3 คนมีครอบครัวของตัวเองกันหมดแล้ว ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปี 2524 รายได้ทั้งหมดของครอบครัวมาจากการขายไอศกรีมของลุงสมเท่านั้น โดยเงินที่หามาได้ลุงสมจะนำไปให้ ‘ผู้จัดการส่วนตัว’ หรือภรรยานั่นเอง

“เราไม่ค่อยรู้หนังสือ ก็จะให้ภรรยาเขาเป็นคนจัดการทั้งหมด ทุกเช้าก่อนออกไปทำงาน ลุงจะมีเงินติดตัวเป็นเศษสตางค์เอาไว้ทอนเงินอยู่ 150 บาทแค่นั้น พอขายไอศกรีมได้เงินมาเราถึงค่อยเอาเงินไปซื้อข้าวเช้ากิน ซึ่งขายไปสักชั่วโมงก็ได้แล้ว พอขายเสร็จได้เงินมาก็หักค่าของให้เถ้าแก่ หักอีก 150 บาทไว้สำหรับทอนเงินวันต่อไป กำไรที่เหลือก็เอาให้ภรรยาทั้งหมด”

กำไรต่อวันของลุงสมตกอยู่ประมาณวันละ 1,300 – 3,300 บาท ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด – 19 อาจมีบางวันที่ตัวเลขลดลงเหลือวันละหลักร้อยปลายๆ แต่ลุงสมก็ไม่ได้เดือดร้อนใจ เนื่องจากชีวิตพอมีพอใช้และไม่มีหนี้สินให้กังวล

“ถามว่าโควิดส่งผลกระทบไหม ก็กระทบบ้าง แต่ก็ยังพอหากินได้อยู่ แล้วเราพอมีเก็บอยู่บ้าง ไม่มีมีหนี้สินหรือภาระอะไร หามาได้ก็ใช้แค่กิน ที่เหลือก็เก็บ”

วิธีคิดของลุงสมไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการหาเงินก่อนให้ได้แล้วค่อยกิน เมื่อถึงเวลากินก็กินให้น้อยกว่าที่หาได้ และไม่สร้างหนี้

“เชื่อไหมว่าชีวิตนี้ลุงไม่เคยซื้อของเงินผ่อนเลยเพราะมันต้องเป็นหนี้ ต้องมีภาระทุกเดือน ซื้อเงินสดสบายใจกว่า สมมติว่าลุงอยากได้เครื่องซักผ้าสักเครื่อง ถ้าลุงไม่มีเงินพอซื้อก็ซักมือไปก่อน รอมีเงินหรือเก็บเงินได้แล้วถึงค่อยซื้อ เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น”

“ที่มีวันนี้ได้เราไม่ได้เก่งหรือดีไปกว่าคนอื่นหรอก แต่เป็นเพราะรู้จักหา รู้จักเก็บ รู้จักใช้”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ