เตียงตื่นตัว นวัตกรรมเพื่อชีวิตไม่ติดเตียง

การหกล้มน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนกังวลที่สุด ใน การดูแลผู้สูงวัย จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั่วโลกจะหกล้มทุกปี สิ่งที่มักตามมาหลังการหกล้ม คือ ทำให้หลายคนต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยสถานที่ที่หกล้มมากที่สุดสามอันดับแรกก็คือ ข้างเตียง ห้องน้ำ และบันได

หนึ่งในวิธีป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้มข้างเตียง พื้น ที่ที่ใกล้ตัวที่สุดแบบนี้ คือการออกแบบเตียงที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถลุกขึ้นยืนได้อย่างปลอดภัย

แต่ดูเหมือนเตียงสำหรับผู้สูงวัยส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะเป็นเตียงเหมือนโรงพยาบาลที่ออกแบบมาเพื่อการนอนเป็นหลัก เวลาจะลุกจะนั่งจึงมีความเสี่ยงต่อการหกล้มค่อนข้างมาก แถมดีไซน์ของเตียงยังให้ความรู้สึกเหมือนเตียงผู้ป่วยที่ทำให้หดหู่ใจไม่น้อย

ปัญหาที่เล่ามาข้างต้นกลายเป็นโจทย์ของการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อคนไทยที่มีชื่อจริงว่า ‘เตียงตื่นตัว’ หรือชื่อเล่นว่า ‘Joey’

นวัตกรรมที่เป็นเพื่อนดูแลทั้งกายใจผู้สูงอายุไม่ให้เบื่อกับการนอนติดเตียงและยังคอยช่วยประคองเวลาลุกยืนไม่ให้พลัดตกหกล้มด้วยกลไกสุดล้ำจนคุณต้องอยากมีเพื่อนสนิทคนนี้ไว้ในบ้านอย่างแน่นอน

จากแรงบันดาลใจสู่นวัตกรรมใหม่

ดร. ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าถึงแรงบันดาลใจของนวัตกรรมเตียงตื่นตัวให้ฟังว่า

“สถานที่ที่ผู้สูงอายุหกล้มมากที่สุดภายในบ้านคือข้างเตียง ไม่แพ้ห้องน้ำ หรือบันได มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากเกรงใจผู้ดูแล หรือลูกๆ หลานๆ หรือแม้แต่ในวอร์ดโรงพยาบาลก็พบผู้สูงอายุหกล้มข้างเตียงเยอะ เพราะเกรงใจพยาบาล และผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคความดันหรือกินยาบางชนิดที่มีผลต่อความดัน เวลาลุกก็จะหกล้มง่าย

“ช่วงที่เราเริ่มเก็บข้อมูลปัญหาของผู้สูงอายุ เราได้พบกับภาพผู้สูงอายุในโรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่รวมกันเป็นห้องรวม แล้วทำกิจกรรมทุกอย่างบนเตียงตลอดทั้งวันเพราะข้อจำกัดของจำนวนผู้ดูแล ซึ่งเตียงจะปรับได้เฉพาะท่านั่งพิงกับเตียง ส่วนขาจะยืดเหยียดตลอดเวลา ซึ่งเป็นท่านั่งที่จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ง่ายเพราะขาไม่ได้ห้อยลงเหมือนเวลานั่งเก้าอี้

“เราเลยเกิดแรงบันดาลใจว่า จะมีนวัตกรรมอะไรไหมที่มาช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถลุกจากเตียงเพื่อยืนเองได้อย่างปลอดภัย หรือสามารถลุกมานั่งในท่าสบายด้วยตนเอง เพื่อให้การย่อยอาหารหรือการทำงานของร่างกายดีขึ้น และเมื่อต้องลุกขึ้นยืนจะทำ อย่างไร ให้ผู้สูงอายุสามารถลุกขึ้นยืนเองได้ ลดภาระของผู้ดูแล สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความภาคภูมิใจ เพราะไม่ต้องเรียกผู้ดูแลทุกครั้ง ความเกรงใจที่มีอยู่เดิมก็จะหายไป และอีกแรงบันดาลใจหนึ่งคือ เตียงผู้ป่วยเหมือนตาม โรงพยาบาล ​ ลูกๆ ซื้อให้ก็ไม่อยากใช้ เพราะความรู้สึกเหมือนคนป่วย แถมการใช้งานก็ไม่ง่าย สุดท้ายก็ต้องเรียกลูกๆ หลานๆ มาช่วยพยุงอยู่ดี”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเพื่อนสนิทให้ผู้สูงวัยที่มีชื่อเล่นว่า ‘Joey’ แต่กว่าเพื่อนคนนี้จะปรับตัวเพื่อให้เข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุและแต่งตัวเสื้อผ้าหน้าผมให้ดูดีแบบพาออกงานได้ก็ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี

จุดเด่นที่สุดของนวัตกรรมชิ้นนี้คือการเปลี่ยนจากเตียงเป็นโซฟา ซึ่งเตียงไฟฟ้าส่วนใหญ่ทำไม่ได้ โดยวิธีการเปลี่ยนท่าจากนอนมานั่ง นั้น ผู้สูงอายุไม่ต้องลุกจากเตียง เพียงแค่กดปุ่มรีโมตท่านั่ง เตียงจะค่อยๆ ปรับเป็นโซฟา หมุนองศาจากเตียงมาด้านข้างให้เอง ลดความเสี่ยงจากการลุกแล้วหน้ามืดจนหกล้มข้างเตียง

การเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านอนเป็นท่านั่งห้อยขาเหมือนโซฟาทั่วไปยังช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้สูงอายุได้ด้วย เพราะความรู้สึกของการนอนติดเตียงจะตามมาด้วยอารมณ์หดหู่ รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระ ต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา แต่พอมีรีโมตไฟฟ้าที่ผู้สูงอายุ สามารถ เปลี่ยนท่านั่งได้ด้วยตนเองเพื่อนั่งดูทีวีหรือทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ช่วยเหลือตนเองได้ก็จะตามมา ยิ่งถ้าได้นั่งทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง เซลล์สมองที่หยุดนิ่งก็ได้รับการกระตุ้นเหมือนชาร์จ แบตเตอรี่อีกครั้ง ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมก็จะลดน้อยลง ทีมนักวิจัยจึงตั้งชื่อเล่นให้เตียงตื่นตัวว่า ‘Joey’ เพราะอยากให้เป็นเพื่อนสนิทที่ใช้งานด้วยชื่อที่เรียกง่ายๆ

นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกรายละเอียด

ก่อนเริ่มต้นออกแบบนวัตกรรมใหม่ หน้าที่ของนักออกแบบคือการสำรวจหา pain points หรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข ความสนุกและความท้าทายของนักออกแบบจึงอยู่ที่การหากลไกมาตอบโจทย์ใหม่ๆ และสร้างความแตกต่างจากนวัตกรรมที่มีอยู่เดิม

โจทย์ที่ยากสุดของการออกแบบเตียงตื่นตัว คือกลไกการเปลี่ยนจากเตียงนอนเป็นโซฟาที่สามารถรองรับน้ำหนักผู้ใช้งานได้สูงถึง 250 กิโลกรัม โดยวัสดุที่นำมาเป็นเบาะจะต้องช่วยให้การนอนหลับพักผ่อนมีความสบาย และยังสามารถพับเป็นโซฟาได้ไม่ยาก

ดร. ศราวุธ เล่าถึงขั้นตอนการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ว่าเป็นโจทย์ที่ต้องผนวกความปลอดภัยกับความสุขของผู้ใช้เอาไว้ด้วยกัน ที่สำคัญคือต้องออกแบบมาสำหรับสรีระของคนไทยโดยเฉพาะ

“สิ่งที่เราคำนึงมากที่สุดคือความปลอดภัย เวลาโซฟาหมุนออกมาเป็นท่านั่ง เราต้องกำหนดความเร็วตามหลักการแพทย์และมีกลไกปรับระยะขึ้นลงด้วยไฟฟ้าเพื่อให้เท้าแตะพื้นพอดี ก่อนจะลุกยืนด้วยตนเอง ซึ่งระดับความสูงจะออกแบบตามสรีระของคนไทยโดยเฉพาะ รวมถึงคุณสมบัติของเบาะที่ต้องนอนสบาย และดีไซน์ต้องสวยงามน่าใช้ ไม่ดูเป็นเตียงผู้ป่วย เพื่อส่งผลทางจิตใจต่อผู้ใช้งาน

“อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือตัวรีโมต เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ผู้สูงอายุใช้ แต่ส่วนใหญ่รีโมตจะมีหลายปุ่ม แล้วผู้สูงอายุกดผิดๆ ถูกๆ เยอะมาก สุดท้ายก็ต้องเรียกลูกๆ หลานๆ อยู่ดี เราก็เลยออกแบบรีโมตให้มีปุ่มน้อยที่สุดและผู้สูงอายุเข้าใจได้ง่าย เช่น ยืน นั่ง นอน ต้องการท่าไหนก็กดท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ ไม่เป็นภาระกับผู้ดูแล”

นอกจากนวัตกรรมนี้จะเหมาะกับผู้สูงอายุแล้ว กลุ่มผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เตียงตื่นตัวช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างการลุกนั่งได้ดีไม่แพ้กัน

“เรานำเตียงไปทดสอบการใช้งานที่โรงพยาบาล มีคนไข้ผู้ชายท่านหนึ่งผ่าตัดไส้ติ่ง หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องลุกนั่งเพื่อไม่ให้เกิดพังผืด ซึ่งขั้นตอนนี้จะเจ็บมาก แต่เมื่อมีเตียงช่วยพยุงหลังและหมุนเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่ง ก็จะทำให้ลดความเจ็บปวดลงและร่างกายได้ขยับ ลดการ เกิด พังผืดได้มากขึ้น

เรามีการเก็บข้อมูลกับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง พบว่าคุณพ่อต้องอุ้มขึ้นรถเข็นวีลแชร์ทุกวัน พอใช้เตียงนี้ก็ช่วยลดภาระในการอุ้มลูกที่มีน้ำหนักเยอะในการเปลี่ยนอิริยาบถ และช่วยให้ผู้ดูแลมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นด้วย”

ด้วยโจทย์การออกแบบที่ต้องรวมทุกวัตถุประสงค์เข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้กว่านวัตกรรมนี้จะได้ออกมาอวดโฉมสู่สายตาผู้บริโภคจึงกินเวลายาวนานถึงห้าปี ตั้งแต่ปี 2559   เพิ่งเริ่มวางจำหน่ายภายใต้ชื่อ ‘เตียงอัจฉริยะ Power lift bed’ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือกับ SB Design Square ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เข้ามาช่วยด้านดีไซน์ที่สวยงามน่าใช้

“เราเลือกร่วมงานกับ SB Design Square เพราะเรื่องความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของบริษัทในด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และการลดต้นทุน ทางเอสบีให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่มีรูปแบบที่ดูอบอุ่น ไม่เหมือนเตียงผู้ป่วย โดยทำราคาออกมาประมาณ 169,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับเตียงของประเทศเยอ รมนี แต่ฟังก์ชันของเราเยอะกว่า อาทิ รับน้ำหนักได้มากกว่า และทางเอสบีมีการรับประกัน 5 ปี เพื่อให้ผู้ซื้อสบายใจว่ามีอะไหล่และบริการหลังการขายรองรับ”

ก้าวต่อไปของ Joey

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา เตียงตื่นตัวได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ดูแล แต่ด้วยราคาที่ยังสูงกว่าเตียงไฟฟ้าทั่วไป ผู้ประกอบการตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ต้องใช้เตียง จำนวน มากจึงยังไม่สามารถจัดซื้อไปใช้ตามศูนย์เหล่านี้ได้

“ความคาดหวังของเราคือ เตียงแบบนี้ควรจะได้เข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุด้วย ซึ่งในอนาคต เราอาจมีเตียงที่ปรับราคาลงมาสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งโรงพยาบาล ซึ่งต้องเพิ่มการออกแบบให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น”

ในอนาคต บริษัทและทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาเตียงตื่นตัวอย่างต่อเนื่องและออกแบบรุ่นใหม่ๆ ที่มีราคาที่จับต้องได้เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น ผู้สูงอายุ ก็จะพลัดตกหกล้มกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงลดน้อยลง เพิ่มบรรยากาศแห่งความสุขในครอบครัวมากขึ้น เพราะมีเพื่อนสนิทที่ชื่อ Joey คอยดูแลทั้งยามตื่นและหลับฝัน

นวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความสุขของผู้สูงวัยชาวไทยที่น่าภาคภูมิใจ

ขอบคุณภาพจาก : www.mtec.or.th

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ