ครูหน่อย และ “ปั้นจิ๋ว” งานที่ทำให้หัวใจฟู แถมพลิกชีวิตจนสร้างอาชีพเลี้ยงตัวได้

‘ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ถ้าคิดจะเรียนปั้นจิ๋วเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ” นี่คือคำแนะนำจาก ครูหน่อย-พรหมสุรี กิตติธนะศักดิ์ นักปั้นจิ๋ววัย 59 ปี เนื่องจากงานปั้นจิ๋วแม้จะได้รับความนิยม แต่ต้องใส่ใจ อดทน และใช้ความพยายามเปลือง จนหลายคนอาจท้อใจไปก่อน

ปัจจุบันครูหน่อยคลุกคลีกับงานปั้นชิ้นกระจิริดนี้มากว่า 15 ปีแล้ว เริ่มจากงานอดิเรก สู่อาชีพที่เลี้ยงตัวได้ยามชีวิตหัวหกก้นขวิด และได้กลายมาเป็น ‘ครูหน่อย’ แห่ง ‘นั่นนิดนี่หน่อย’ แบรนด์น้อยๆ ที่ลูกศิษย์ลูกหาไม่น้อยเหมือนชื่อ

แม้ของจิ๋วจะดูน่ารักจุ๊กจิ๊ก แต่เส้นทางชีวิตของครูหน่อยไม่ได้นิดๆ หน่อยๆ อย่างชื่อ ครูหน่อยเกิดและเติบโตในครอบครัวช่างศิลป์ที่ไม่ได้ร่ำรวย ทำให้พ่อเตือนว่า ‘ทำงานศิลปะมันไส้แห้ง’ แต่ด้วยใจรัก เธอจึงไม่ลังเลที่จะกระโจนลงสู่เส้นทางนี้ตั้งแต่สมัยเรียน จนหล่อหลอมให้เธอเติบโตขึ้นมาเป็นช่างศิลป์ที่มีระเบียบแบบแผน และใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงอย่างที่สุด เพื่อให้งานที่รักหล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างยั่งยืน

“ถ้าเกษียณแล้วค่อยมาคิดหาเงินเป็นกอบเป็นกำจากงานอดิเรก ชีวิตจะลำบาก” คำพูดตรงๆ

ของครูหน่อยอาจแทงจึ๊กที่ใจของใครหลายๆ คน แต่นั่นคือความจริง “ทางที่ดีควรวางแผนการเงินหลังเกษียณให้เรียบร้อย แล้วค่อยให้งานอดิเรกเป็นรายได้เสริมอีกทาง อย่านำงานอดิเรกมาเลี้ยงทั้งชีวิต มันไม่สนุก ลองวางแผนเกษียณ จากนั้นตัดคำว่าได้เท่าไหร่ออกไปก่อน แล้วมองให้ใหญ่ขึ้น เมื่อเราสนุกและเต็มที่กับมัน สุดท้ายพองานอดิเรกแข็งแรงพอ ทีนี้จะเปลี่ยนเป็นเงินเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่กดดันตัวเองด้วย”

ไม่มีวิกฤต มีแต่โอกาส

ถ้าเรียนศิลปะ ต้องหาเงินเรียนเอง’ เมื่อพ่อยื่นคำขาด เพราะไม่อยากให้ลูกสาวมีชะตากรรมเดียวกัน ครูหน่อยซึ่งยืนยันว่าจะเรียนศิลปะให้ได้ จึงต้องทำงานส่งตัวเองเรียน โดยต้องตื่นแต่เช้าไปรับงานพิเศษก่อนไปเรียน หรือเรียนเสร็จแล้วต้องกลับมาทำงานต่อ วนเวียนอยู่อย่างนี้เพื่อให้พอค่าเรียน และค่าใช้จ่ายรายวัน

จนถึงวันที่มีงานประจำทำ ตั้งแต่งานสำนักพิมพ์ ไปจนถึงบริษัทเครื่องสำอางค์ชั้นนำ และพนักงานธนาคารที่มีอนาคตมั่นคง แต่แล้วอยู่ๆ ก็เหมือนสายฟ้าฟาด เมื่อ วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ธนาคารปลดพนักงาน และเธอก็โดนลงดาบเป็นคนแรกๆ “ตอนนั้นเราโดนหัวหน้าบี้บ่อยๆ ว่าทำไมทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับการเข้ามาของคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องเรียนรู้เทคโนโลยีเยอะมาก มันไปไกลและเร็วมาก ส่วนคนเก่งๆ ก็ดันขึ้นมา ทำให้เราต้องอยู่ข้างหน้า และวิ่งตลอดเวลา เหนื่อยสุดๆ แต่ก็ทนทำไป จนวันหนึ่งหัวหน้าเรียกเข้าห้อง แล้วบอกให้เราออก”

ครูหน่อยทำงานมาตั้งแต่เรียน และในวันที่เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของครอบครัว กลับโดนปลดกลางอากาศ ทำให้เคว้งจนจับต้นชนปลายไม่ถูก “ได้เงินจากแบงค์มาสองแสนบาท ตอนนั้นนอนร้องไห้เป็นเดือนๆ กลัวไม่มีเงินให้พ่อแม่ กลัวโดนครหาว่าขอเงินสามีใช้ สามีก็ช่วยหางานกราฟิกมาให้ เราก็พยายามทำเต็มที่ พอทำเสร็จปรากฏเช็คเด้ง ขึ้นเงินไม่ได้อีก มันเหมือนชีวิตไม่สำเร็จสักอย่างจริงๆ ทั้งที่เราเป็นคนมุมานะมาตลอด”

“เราไปนั่งปลงชีวิตแถวริมน้ำบางลำภู เห็นคุณลุงจับปลาทุกวัน วันหนึ่งตะโกนถามลุงว่าวันนี้จับได้กี่ตัว ลุงบอกยังไม่ได้สักตัว เราก็อ้าว แล้วลุงทำอย่างไร ลุงบอกไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็คงหาได้ เท่านั้นแหละจึงคิดได้ว่ามีคนลำบากกว่าเราเยอะแยะ เรามักมองแต่คนที่ดีกว่าเราเสมอ เลยบอกตัวเองว่าเราต้องมองโลกให้กว้างขึ้นสิ พอกลับมาปุ๊บก็ทำงานกราฟิกต่อ รับงานทุกอย่าง พร้อมกับลองทำอะไรหลายอย่างที่คิดว่าชอบ”

ครูหน่อยเริ่มตั้งหลักว่าคงไม่เป็นลูกจ้างใครแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอะไร เลยทำกราฟิกไปก่อน พอทำงานเครียดๆ ก็ไปหาอะไรเรียนแก้เครียด เรียนทำเบเกอรี่ก็ไม่สำเร็จ เรียนทำอาหาร เรียนจัดดอกไม้ เรียนวาดจานเซรามิก เรียนทุกอย่างโดยใช้ทุนของตัวเอง

“ก็ไม่รู้แหละว่าเรียนออกมาแล้วจะดีไหม คุ้มไหม บางคนอาจคิดว่าเสียดายเงิน ไปเรียนทำไม แต่เราไม่คิดอย่างนั้น ลองไปเรื่อยๆ ก็มาเจอของจิ๋ว ชอบมาก ติดหนักถึงขั้นไปเรียนคอร์สละเป็นหมื่น และฝึกทำมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่านี่แหละสิ่งที่เราชอบ และจะอยู่กับมันไปทั้งชีวิต”

ไม่น่ากิน เราไม่ปั้น

“งานปั้นอาหารของเราต้องน่ากิน เราชอบอาหารมาก พอคนเห็นแล้วบอก โห! น่ากินจัง ทำไมเหมือนของจริง นี่คือคำชมที่ดีที่สุด เวลาถ่ายรูปแล้วเขียนว่าของจิ๋ว บางคนบอกอย่ามาหลอกกันเลย นี่แหละความสุขของเรา”

ในส่วนของเทคนิคการปั้น ครูหน่อยเรียนศิลปะมา ก็พยายามมองสีให้ทะลุ สมมติ ปั้นกุ้ง ปั้นไก่ ก็ต้องศึกษารายละเอียดจากของจริง ปั้นหัวหมูก็ให้หลานไปซื้อหัวหมูจริงจากตลาดมาเลย เพื่อให้เป็นครู เหมือนการเรียนศิลปะก็ต้องมีหุ่น เพื่อจะดูแสงเงา สี รูปทรง หรืออะไรที่ต้นทุนสูงเกินไป ก็ใช้วิธีเปิด Google โดยหาภาพหลายๆ มุม พยายามให้เหมือนสัก 80% ส่วน 20% ให้เป็นความน่ารับประทาน เพื่อให้คนดูแล้วสงสัยว่าของจริงหรือของจิ๋ว

“ตอนปั้นปลาทูก็นำปลาทูจริงๆ มาพลิกหน้าพลิกหลัง ดูแสงเลื่อมของปลา เราทำแบบนี้มาตั้งแต่แรก พยายามเรียนรู้เทคนิคเพื่อนำมาพัฒนาให้เหมือนจริง และน่ากินขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของนั่นนิดนี่หน่อย”

 ไม่จำเป็นต้องดีที่สุด แค่เต็มที่ที่สุด

แนวคิดในการทำงานปั้นจิ๋ว และวิธีการสอนของครูหน่อย จะไม่เน้นว่าต้องดีที่สุด เพราะสิ่งนี้มักมาพร้อมความคาดหวังเสมอ “เราไม่อยากคาดหวังอะไรมาก ตั้งแต่สมัยเรียน เราเป็นเด็กกลางๆ ไม่ใช่เด็กเรียนดี แต่ต้องไปนั่งหน้า เพราะสายตาสั้น ทำงานก็กลางๆ ไม่ได้โดดเด่นเป็นตัวเต็งอะไร แต่เราก็ทำเต็มที่ทุกงาน ถ้าวันไหนรู้สึกเหนื่อย หรือท้อก็หย่อนได้ สำคัญว่าเราต้องยืดหยุ่นกับชีวิตให้เป็น ถ้าถามถึงความสำเร็จ เราว่ามันคือระหว่างทาง แค่เริ่มทำก็สำเร็จแล้ว ส่วนจะเต็มสิบหรือไม่เต็มสิบ ไม่ต้องไปสนใจขนาดนั้น สนใจว่าระหว่างทาง แค่ตอบความตั้งใจของตัวเองให้ได้สัก 1 หรือ 2 ข้อ ก็พอใจแล้ว เราเป็นคนทำอะไรไปเรื่อยๆ แต่ไม่หยุด เพราะเชื่อว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น”

“คนที่มาเรียนกับเรา เราไม่เคยสอนว่าต้องปั้นให้เหมือนเราที่สุด หรือต้องใช้เทคนิควิธีการเดียวกับเรา แต่ปั้นในแบบที่คุณอยากปั้นที่สุด เป็นสไตล์ที่คุณชอบมากที่สุด เราให้อิสระในการเรียน ผลงานของนักเรียนเลยออกมาเป็นตัวของเขาเอง ไม่เหมือนกันสักชิ้น และเราจะไม่แสดงความเห็นต่องานในทางลบ มีแต่จะแนะนำให้ดีขึ้น เราไม่ชอบให้คนอื่นทำกับเราแบบไหน เราก็ไม่ทำแบบนั้น”

 ชีวิต “ฟรีแลนซ์” ในยุคที่คนไม่รู้จัก

นอกจากจะกดดันตัวเองในช่วงแรกของการว่างงาน ครูหน่อยยังต้องฝ่าด่านกดดันจากครอบครัวสามี ในยุคที่ยังไม่มีใครเข้าใจคำว่า “ฟรีแลนซ์” ด้วย “ช่วงแรกที่ไม่ได้ทำงานประจำ มีแต่คนอยากรู้ว่าเรากินเราอยู่อย่างไร ทำไมไม่ไปทำงาน โดยเฉพาะที่บ้านสามี คิดว่ามาเกาะลูกชายเขากิน เขามองว่าเราตกงาน จะหาเงินจากที่ไหน เห็นอยู่บ้านทั้งวัน แต่เขาไม่รู้นะว่าเราทำกราฟิกจากที่บ้าน ไม่รู้ว่าเราปั้นจิ๋วแล้วขายได้ ช่วงปั้นงานใหม่ๆ ก็กดดันมาก เราก็พยายามพิสูจน์ให้เห็นว่ามันไม่ใช่อย่างที่เขาคิด อยู่บ้านเราก็หาเงินได้ มันแค่ไม่เหมือนอย่างที่เขาคุ้นเคย พูดเลยว่าเป็นนักปั้นจิ๋วได้ เพราะแรงดูถูกของคนรอบข้าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคนที่อยู่ข้างๆ ถ้าเขาเข้าใจและสนับสนุนเราก็ถึงไหนถึงกัน”

“ตรงนี้ก็เป็นปมในใจที่ทำให้เราไม่ค่อยถามคนอื่นว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ เพราะเราคยตกอยู่ในสถานการณ์นั้น ที่มันเคยจี้ใจตัวเอง เราว่าทุกคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ว่าจะทำงานที่บ้าน จะเป็นแม่บ้าน ทุกคนก็มีหน้าที่ของตัวเองทั้งนั้น แต่ยุคนี้ดี กลายเป็นว่าคนทำงานที่บ้านเยอะ เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของธุรกิจ เด็กสมัยนี้เก่ง สามารถจัดสมดุลชีวิตได้ ดังนั้น คนรุ่นก่อนหน้าอย่าได้ตัดสินเขาจากความเคยชินของเราเอง เพราะประสบการณ์ ความรู้ โอกาส และช่องทางต่างๆ ในแต่ละยุคสมัยมันต่างกัน เป็นเพื่อนกันไว้จะดีกว่า เราได้เรียนจากคนรุ่นใหม่ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตจากเรา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน”

ไปให้สุด แล้วหยุดในสิ่งที่ชอบ

นักเรียนของครูหน่อยไม่ได้มีเฉพาะเด็ก และคนที่อยากทำปั้นจิ๋วเป็นอาชีพ แต่ยังมีคนสูงวัยที่กลายเป็นแฟนคลับปั้นจิ๋ว และเป็นเพื่อนใหม่ที่แบ่งกันให้แบ่งกันรับด้วย “คนสูงวัยมาเรียนเยอะมาก ก็วัยเดียวกันกับเรานี่แหละ (หัวเราะ) เริ่มจากเจอกันในออนไลน์ก่อน คุยกันถูกคอ แล้วก็สานสัมพันธ์กันต่อ ไม่ใช่เฉพาะเขามาเรียนกับเรานะ เราไปเรียนกับเขาด้วย ยิ่งคนไหนที่เราชอบวิธีคิด และการใช้ชีวิต ยิ่งชอบใหญ่ ยกให้เป็นไอดอล แค่ได้แวะไปหา ไปพูดคุย กลับมาก็ใจฟู กำลังใจเต็มเปี่ยม เราว่าสำคัญนะที่มีไอดอล มันทำให้เราเห็นเป้าหมายชีวิตชัดขึ้น ยิ่งคนสูงวัยผ่านอะไรมาเยอะ ตกตะกอนมาแยะ พอได้คุย เราก็ได้รับพลังบวก และสิ่งดีๆ ไปด้วยกัน”

ถ้าใครเป็นเพื่อนครูหน่อยในแฟนเพจ จะรู้ว่าเธอมีเพื่อนในโลกออนไลน์เยอะมาก “เริ่มจากออนไลน์แล้วกลายมาเป็นเพื่อนจริงๆ บางคนมาโพธาราม ราชบุรี บ้านเราเอง เราก็พาเขาเที่ยว เวลาเราไปเที่ยวจังหวัดบ้านเขา เขาก็พาเราเที่ยว เที่ยวแบบคนคอเดียวกัน สนุกดี จริงๆ แล้วออนไลน์เป็นประตูเปิดทางนะ ถ้าใช้ให้เหมาะสม   เราใช้ออนไลน์ทำการตลาดให้ตัวเอง จนกลายเป็นของจิ๋วสะสม และมีฐานลูกค้าต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เราใช้เชื่อมต่อกับคนที่เราชอบ และบางคนที่ชอบผลงานของเรา เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นคนคุ้นเคย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลายเป็นว่าเรามีเพื่อนจากทั่วประเทศ ทั้งวัยเดียวกันและวัยรุ่น”

“ด้วยวัยของเราที่ไม่ได้ถนัดออนไลน์อยู่แล้ว แต่ก็ต้องพยายาม ตอนแรกๆ ไม่เข้าใจ เลยศึกษาเอง แล้วถามคนที่เขาทำได้ โดนวีนโดนเหวี่ยงมาไม่รู้เท่าไหร่ เราก็ทำนิ่งๆ ยอมรับไป เพราะอยากได้ความรู้จากเขา เราอยากพัฒนาตัวเอง เพราะรู้ว่าช่องทางนี้สร้างโอกาสให้เราได้ เราตั้งเป้าไว้ว่าจะศึกษาออนไลน์วันละ 1 ชั่วโมง อย่างการทำเพจ และ IG ก็ทำเองหมด พอได้ลองทำตอนแรก ก็ขาดๆ เกินๆ ถ่ายรูปไม่สวย สื่อสารไม่ดี แล้วก็พัฒนาขึ้นได้จริงๆ ตอนนี้ก็ไป Lazada แล้ว แต่เชื่อไหมว่าวันแรกกับวันนี้ มันต่างกันคนละเรื่องเลย (ยิ้ม) เพราะเราไม่หยุดทำ ขนาดเพจล่มคนติดตามหายไป 6,000+ คน เราเบลออยู่พักนึง พอตั้งสติได้ ไม่ท้อ ทำใหม่ขึ้นมาอีก อย่าไปยอมมัน”

เมื่องานศิลป์อยู่ในดีเอ็นเอของครูหน่อย แล้วคนที่ยังหาดีเอ็นเอ หรือความชอบของตัวเองไม่เจอ ควรทำอย่างไร? “ลองไปเรื่อยๆ เรียนสะเปะสะปะไปสิ อยากเรียนอะไรก็เรียนเลย อย่างเราตอนที่ออกจากงานก็เรียนทุกอย่าง แล้วตอนนี้มีเรียนออนไลน์ง่ายกว่าเดิมอีก พอถึงจุดหนึ่งที่เราคลิกกับบางอย่าง และรู้สึกว่ามันพัฒนาต่อได้ พอทำไปแล้วสนุก อยากทำไม่อยากหยุด เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ได้เจอสิ่งที่เราชอบเอง เหมือนเป็นเป็ดไง ทำทุกอย่าง ไม่ต้องเสียใจ หรืออายหรอกที่เราเป็นเป็ด ดีจะตายได้รู้ทุกอย่าง สิ่งที่เรียนรู้มันได้ประโยชน์ทั้งนั้นแหละ สุดท้ายเราจะค่อยๆ หยิบมันออกมา อย่างละนิดอย่างละหน่อย แล้วลองหากลุ่ม เพราะอยู่คนเดียวมันไม่สนุกไง เราจะวนอยู่กับมัน พอมีกลุ่ม เราจะได้เห็นผลงานของคนอื่นด้วย เห็นว่าโลกไปถึงไหนกันแล้ว”

สุขภาพดีไม่ได้ขึ้นกับอายุ แต่อยู่ที่การใช้ชีวิต

เมื่อเห็นครูหน่อยเพ่งแล้วเพ่งอีกกับของจิ๋ว เราอดสงสัยไม่ได้ว่ายิ่งอายุมากจะเกิดปัญหาสุขภาพกับนักปั้นของจิ๋วบ้างหรือเปล่า “แปลกที่ว่ายิ่งอายุมาก ยิ่งไม่ค่อยป่วย ถ้าเทียบกับตอนสาวๆ อายุ 35-36 ปี ที่ทำงาน ทำกราฟิก ช่วงนั้นเราเข้าโรงพยาบาลบ่อย เพราะเครียดสะสม ปวดท้องจากอาหารเป็นพิษ เดี๋ยวก็เป็นไข้หวัดใหญ่ ภายในระยะเวลา 3 ปี ป่วยบ่อยมาก ตอนนั้น การปั้น ของจิ๋วคือการคลายเครียดด้วยซ้ำ แล้วพอช่วงที่ส่งงานให้จตุจักร มาบุญครอง ทำซ้ำๆ เหมือนเดิมหลักร้อยหลักพันชิ้น ช่วงนั้นเครียดอีกแล้ว เพราะจัดการไม่ได้ หาคนมาช่วย ก็มีปัญหาตลอด ตอนนั้นเป็นทั้งกล้ามเนื้ออักเสบ คอติด นิ้วล็อค เพราะต้องอยู่ท่าเดิมๆ แถมกังวลกลัวทำไม่ทันกำหนด เลยคิดทบทวนว่าจะแก้ไขอย่างไรดี ก็เริ่มเห็นช่องทางตอนมาเข้าโอท็อปสามดาว แล้วพัฒนาฝีมือ และเทคนิคจนได้ห้าดาว ในเมื่อเราชอบเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่แล้ว จึงหันไปจดจ่อกับการทำของจิ๋วสะสมแทน”

คิดว่าเราไม่ต้องทำเยอะเท่าเดิม แต่งานละเอียดกว่าเดิม แล้วคนสั่งงานสะสม เขาเข้าใจว่าถ้าอยากได้งานดี งานสวย ต้องใช้เวลา เขาก็จะไม่มาบี้กับเรา เราเองก็ไม่กดดัน แต่ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า พยายามทำให้เต็มที่ จะคอยอัพเดทว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว อันไหนทำไม่ได้ ก็บอกไปตามตรง ส่งงานตามกำหนดการเป๊ะ หีบห่อสวย และจัดส่งให้อย่างดี พวกอาการปวดต่างๆ ก็ไม่ค่อยเป็นแล้ว เราว่ามันตรงกับจริตเรา บวกกับเริ่มมีคนสนใจเรียนปั้นจิ๋วเยอะ เราก็ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้ที่เรามี ซึ่งเป็นความฝันอยู่แล้ว เพราะเราเรียนสายครูมาโดยตรง ก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ใช้วิชาที่เรียนมา พอเป็นแบบนี้มันก็เลยลงตัว ยิ่งอายุมากยิ่งสะสมความรู้ไว้เยอะ เห็นไหม พอเรารู้จักตัวเอง เราก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อายุเลยไม่ใช่อุปสรรค สำคัญคือเราทำแล้วสบายใจ มีความสุขกับมัน”

 ความฝัน และบั้นปลายของนักปั้นจิ๋ว

“เราจะปั้นจนกว่าจะตามองไม่เห็น” ครูหน่อยยืนกราน “ถ้าถึงวันที่ทำไม่ไหวหรือไม่มีใครมาสั่งชิ้นงานเราแล้ว เราจะสร้างบ้านสักหลัง ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เป็น ‘บ้านปั้นจิ๋ว’ ใครสนใจก็มาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยนกัน งานปั้นจิ๋วเป็นทั้งงานวาดรูป งานระบายสี   และคล้ายงานสถาปัตยกรรม 3 มิติ ซึ่งรวมหลายศาสตร์ไว้ด้วยกัน แล้วทุกสี ทุกพู่กัน ทุกดินที่ได้ลองมา เรามีวิธีการของเรา ก็อยากให้คนที่สนใจมาศึกษา มากินหมูกระทะ มากินผลไม้ในสวน กลายเป็นความสัมพันธ์ใหม่ๆ เรายินดีบอกหมด แล้วอยากให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วที่มีร้านกาแฟเล็กๆ มีอาหารแบบทำเองที่อร่อยเหาะจากเครือข่ายของเรา นำสินค้าชุมชนอร่อยๆ ปลอดสารพิษมานำเสนอ”

ส่วนความฝันอันสูงสุดของครูหน่อยก็คือ อยากให้ปั้นจิ๋วไทยมีการจัดตั้งกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศ ไปออกบูธ ไปจัดแสดงงานตามพิพิธภัณฑ์ และที่สำคัญไปแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์กับเซียนปั้นจิ๋วต่างชาติ อย่างที่มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เซียนเยอะมาก จะได้พัฒนางานปั้นจิ๋วให้กลายเป็นงานศิลปะในวงกว้าง “นี่เป็นความฝันนะ แต่จะเป็นจริงได้ไหมก็อีกเรื่อง” ครูหน่อยนักปั้นจิ๋ววัย 59 บอก

Credits

Authors

  • สุธิดา บุบผากลิ่น

    Authorนักเขียน ยืนหนึ่งเรื่องเขียนงานช้า เพราะมัวกินราเมงและเดินป่า หลงรักการฝึกหายใจ สูดกลิ่นชา โยคะ และบำบัด ฟังเหมือนชีวิตแสนเก๋ แต่เปล่าค่ะ ฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ