‘ทฤษฎีความรัก’ แห่งประเทศนอร์ดิกกับรูปโฉมใหม่ของ ‘ครอบครัว’

เวลาพูดถึงรัฐสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้คน ประเทศแรกๆ ที่เราจะนึกถึง แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่มีชื่อของกลุ่มประเทศ ‘นอร์ดิก’ หรือบรรดาประเทศยุโรปเหนืออันประกอบด้วยเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์และไอซ์แลนด์ รวมอยู่ด้วย ประเทศเหล่านี้ขึ้นชื่อทั้งเรื่องความสุขของประชาชน และรัฐสวัสดิการที่ใจป้ำแบบดูแลกันตั้งแต่วัยแบเบาะไปจนแก่เฒ่า

แต่ขณะที่มีคนชื่นชมระบบรัฐสวัสดิการอันพร้อมโอบอุ้มทุกคนไปตลอดชีวิตของประเทศเหล่านี้ ก็ยังมีคนที่อดจะตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า “ถ้ารัฐส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตรให้ทั้งหมด ครอบครัวจะยังมีความหมายอะไร?” หรือ “ถ้ารัฐจ่ายเบี้ยคนชราให้ผู้สูงอายุทั้งหมด แบบนี้ครอบครัวจะยังมีความหมายอะไร? ลูกก็ไม่ต้องดูแลพ่อแม่แล้วสิ!”

ความกังวลเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่ามาจากการที่รัฐเข้ามาแบกรับ ‘ภาระหน้าที่’ ซึ่งแต่เดิมเป็นของ ‘สมาชิกครอบครัว’ มาก่อน จนสิ่งที่ยึดโยงครอบครัวไว้ด้วยกันดูจะลดน้อยลงไป ในสหรัฐอเมริกา (ประเทศที่รัฐแจกจ่ายสวัสดิการให้ประชาชนน้อยมาก และมีกระแสเรียกร้องสวัสดิการจากทางฝั่งประชาชนอย่างต่อเนื่อง) ก็มีการออกมาตั้งคำถามว่า ถ้ารัฐมาช่วยแบกรับหน้าที่ของคนในครอบครัวแบบนี้ อย่างนี้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวจะเปลี่ยนไปไหม?

ซึ่งนักเขียนชาวฟินแลนด์ท่านหนึ่ง เคยให้คำอธิบายกับข้อสงสัยนี้ไว้แล้ว ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีความรักแห่งประเทศนอร์ดิก’

เรามาดูกันว่า ‘ทฤษฎีความรักแห่งประเทศนอร์ดิก’ นี้ จะส่งผลต่อรูปแบบ ‘ครอบครัว’ ที่พวกเราคุ้นเคยกันอย่างไรบ้าง

รักแท้คืออะไร? ทฤษฎี ‘ความรัก’ แห่งประเทศนอร์ดิก

ทฤษฎีความรักแห่งประเทศนอร์ดิก หรือ ‘Nordic Theory of Love’ เป็นแนวคิดที่ถูกเสนอขึ้นมาในหนังสือของนักเขียนชาวฟินแลนด์ ชื่อคุณ Anu Partanen

Anu Partanen ผู้เขียน “The Nordic Theory of Everything: In Search of a Better Life”

คุณ Anu ย้ายไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลังแต่งงานกับสามีของเธอ และไม่เพียงต้องประหลาดใจกับรัฐสวัสดิการที่มีอยู่น้อยนิดของที่นั่น แต่เธอยังเจอกับคำถามที่แสดงถึง ‘ความคลางแคลงใจ’ ที่ชาวอเมริกันมีต่อระบบรัฐสวัสดิการของประเทศฟินแลนด์อีกด้วย

“ถ้าพ่อแม่ไม่ต้องส่งเสียลูกแล้ว ครอบครัวจะยังมีความสำคัญอะไร”

“ถ้าลูกไม่ต้องดูแลพ่อแม่แล้ว ครอบครัวจะยังมีความสำคัญอะไร”

นั่นคือบรรดาคำถามที่เธอได้รับ เมื่อพูดถึงระบบรัฐสวัสดิการอันแสนเอาใจใส่ของประเทศของเธอ และเธอก็ให้คำตอบกับชาวอเมริกันที่คลางแคลงใจเหล่านี้ด้วย ‘ทฤษฎีความรักของประเทศนอร์ดิก’ หรือ ‘Nordic Theory of Love’ ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘The Nordic Theory of Everything: In Search of a Better Life’ ของเธอ

ทฤษฎีความรักแห่งประเทศนอร์ดิกนี้ เดิมทีมีที่มาจากนักประวัติศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อคุณ Lars Trägårdh ในชื่อ ‘ทฤษฎีความรักของชาวสวีเดน’ (The Swedish Theory of Love) ที่ตั้งใจนำมาอธิบายว่าเหตุใดรัฐ ‘สังคมนิยม’ อย่างประเทศสวีเดนจึงต้องการผลักดันให้ประชาชนทุกคน ‘เป็นอิสระ’ จากกันและกัน และเมื่อคุณ Anu นำทฤษฎีนี้มาอธิบายถึงระบบรัฐสวัสดิการของประเทศนอร์ดิกทั้งหลาย (ที่ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกัน) เธอจึงขอรีแบรนด์มันใหม่ในชื่อ ‘ทฤษฎีความรักแห่งประเทศนอร์ดิก’

และด้วย ‘ทฤษฎีความรักของประเทศนอร์ดิก’ นี้ เธออธิบายว่า การที่รัฐเข้ามารับภาระหน้าที่ของคนในครอบครัว (อย่างเช่นการส่งเสียค่าเล่าเรียน หรือเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อเข้าสู่วัยชรา) ไม่ใช่เพราะพวกเขาอยากแยกสมาชิกครอบครัวออกจากกัน หรือทำให้ครอบครัวหมดความสำคัญแต่อย่างใด แต่เพราะพวกเขามองว่า ‘ความรักที่แท้จริง’ จะเกิดขึ้นระหว่าง ‘บุคคลที่เป็นอิสระจากกัน’ เท่านั้นต่างหาก

‘บุคคลที่เป็นอิสระจากกัน’ คือ บุคคลที่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน นั่นคือ เมื่อพวกเขามาอยู่ด้วยกัน พวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกันเพราะ “ถ้าไม่มีเธอ ฉันไม่มีคนช่วยดูแลตอนแก่แน่ๆ” “ถ้าไม่มีเธอ ฉันเลี้ยงลูกไม่ไหวแน่ๆ” “ถ้าไม่มีเธอ ฉันจะหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนลูก มาจ่ายค่ารักษาพยาบาล มาช่วยแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ในชีวิตไม่ได้แน่

จุดประสงค์ของรัฐสวัสดิการ คือการเข้ามาปลดเปลื้องภาระต่างๆ ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาเกิดขึ้นและคงอยู่ด้วย ‘ความสมัครใจ’ และด้วย ‘ความรักอย่างแท้จริง’ ไม่ใช่เพราะความจำเป็นทางการเงิน หรือเพราะความเสี่ยงอื่นๆ ในชีวิต

แต่ว่า… เมื่อไม่มีพันธะอื่นใดมาผูกพันกัน นอกจาก ‘ความรู้สึก’ แล้ว ครอบครัวของชาวนอร์ดิกจะยังมั่นคงแข็งแรงเหมือนเดิมหรือเปล่า?

นิยามของ ‘ครอบครัว’ ที่เปลี่ยนไป

จากการศึกษาของ Institute for the Study of Labor เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี พบว่า ยิ่งรัฐ ‘ใจป้ำ’ กับสวัสดิการที่มีให้กับประชาชนของตัวเอง อัตราการ ‘สมรส’ ของประชาชนก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งในยามที่โลกกำลังขาดแคลนประชากรเกิดใหม่เช่นนี้ นี่ดูจะเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศต่างต้องการเป็นอย่างยิ่ง แต่ผลจากการศึกษาพบว่า ไม่ใช่แค่อัตราการ ‘สมรส’ เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราการ ‘หย่า’ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่า รัฐสวัสดิการที่ทำให้คนไม่มีอะไรผูกพันกันมากไปกว่า ‘ความรู้สึก’ ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดจริงหรือ?

ในแง่หนึ่ง การศึกษาดังกล่าวมองว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่เข้ามาปลดเปลื้องภาระของแต่ละคนในครอบครัว ทำให้การ ‘หย่า’ กลายเป็นการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น เพราะไม่ว่าจะความเป็นอยู่ของตัวเอง หรือความเป็นอยู่ของสมาชิกครอบครัวที่ขึ้นอยู่กับเรา (ลูกหรือพ่อแม่ที่แก่ชรา) ล้วนได้รับการดูแลโดยรัฐบาล แม้จะหย่าจากคู่ครองแล้ว ค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าสถานเลี้ยงเด็กก็ยังมีรัฐสนับสนุน ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศรัฐสวัสดิการอย่างกลุ่มประเทศนอร์ดิก ยังมีสวัสดิการสำหรับสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยเฉพาะ ฉะนั้น ‘ความเสี่ยง’ ที่มากับการ ‘หย่า’ จึงเสมือนได้รับการบรรเทาลงแล้วส่วนหนึ่งโดยรัฐ การหย่าจึงอาจเป็นการตัดสินใจที่ง่ายขึ้นอีกเล็กน้อย

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐสวัสดิการที่เข้ามาทำให้การมีครอบครัวเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาอีกนิด ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนแต่งงานมากขึ้นเช่นกัน อย่างสวัสดิการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรที่กล่าวไปข้างต้น แม้จะทำให้การเลี้ยงดูบุตรหลังจากหย่าเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ทำให้คู่สมรสที่อยากมีบุตร มีลูกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ฉะนั้น บทบาทของรัฐสวัสดิการอาจทำให้การสร้างครอบครัว หรือออกจากครอบครัว ‘มีความเสี่ยง’ น้อยลง ทำให้ผู้คนในประเทศมีความคล่องตัวในการ ‘สร้างครอบครัว’ หรือ ‘ออกจากครอบครัว’ ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานและมีลูกก็ดี หรือการหย่าก็ดี

และในบางประเทศ รัฐสวัสดิการ ก็เข้ามาช่วยให้การสร้างครอบครัวมีความ ‘คล่องตัว’ และ ‘ยืดหยุ่น’ ถึงขีดสุด ในระดับที่ว่า ‘ครอบครัว’ อาจไม่ใช่ ‘พ่อ แม่ ลูก’ เสมอไป

ดินแดนแห่ง ‘ซิงเกิลมัม’

ประเทศเดนมาร์ก ถือเป็นประเทศที่มี ‘ซิงเกิลมัม’ (‘โซโลมอร์’ อย่างที่เรียกกันในเดนมาร์ก) เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี 2558 มีเด็กที่ เกิดจากการผสมเทียมของคุณแม่ที่ไม่มีคู่ครอง หรือผู้หญิงที่เลือกจะเป็น ‘ซิงเกิลมัม’ โดยสมัครใจ ถึง 1 ใน 10 คนทีเดียว

ปัจจัยที่ผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยสมัครใจแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็ประกอบไปด้วยปัจจัยส่วนตัว อย่างเช่น “แฟนไม่อยากมีลูก” หรือ “ไม่พบผู้ชายที่อยากสร้างครอบครัวด้วยสักที” ทำให้พวกเธอตัดสินใจฉายเดี่ยว มีลูกโดยไม่ต้องรอคู่ครองเสียเลย แต่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้หญิงสามารถเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้เช่นนี้ อาจจะเป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ใจป้ำไม่มีใครเกินของเดนมาร์ก

ประการหนึ่ง การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ ‘IVF’ (In-vitro Fertilization) ซึ่งไม่ครอบคลุมโดยรัฐสวัสดิการของหลายๆ ประเทศ ถือเป็นการรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่งในเดนมาร์ก โดยในปี 2549 รัฐบาลเดนมาร์ก ได้ผ่านร่างกฎหมายให้ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปีทุกคนสามารถเข้ารับการทำเด็กหลอดแก้วได้ฟรี ไม่ว่าคุณจะโสดหรือแต่งงานแล้ว หรือมีคนรักเพศไหนก็ตาม ทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำ IVF ได้ง่ายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นอกจากนี้ ประเทศเดนมาร์กยังมีเงินสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรมอบให้เด็กเกิดใหม่ทุกคน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินก้อนนี้ให้ทุกๆ 3 เดือน จนกว่าเด็กจะมีอายุ 18 ปี และหากนั่นยังไม่พอ สำหรับครอบครัวที่เป็นคุณแม่หรือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว รัฐบาลเดนมาร์กยังมีเงินสนับสนุนคุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวออนท็อปเพิ่มให้อีก โดยคุณพ่อหรือคุณแม่จะได้รับเงินก้อนนี้ทุกๆ 3 เดือน จนกว่าลูกจะมีอายุครบ 18 ปีเช่นกัน แล้วประเทศเดนมาร์ก ยังเป็นประเทศที่มีสวัสดิการลาคลอดให้คุณพ่อคุณแม่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยคุณพ่อคุณแม่ชาวเดนมาร์กสามารถลาหยุดได้เกือบ 1 ปีภายหลังการคลอดบุตร และแน่นอนว่าใน 1 ปีนี้ พวกเขายังคงได้รับเงินเดือนด้วย

มีสวัสดิการของรัฐมาช่วยดูแลขนาดนี้ ‘ความเสี่ยง’ ของการเป็นคุณแม่หรือคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็ดูจะน้อยลงมาก จนไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้หญิงเลือกเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวไปเลยแล้วกัน ไหนๆ ‘คนที่ใช่’ ก็ไม่ผ่านมาเสียที ซึ่งในการศึกษาของ Institute for the Study of Labor เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ก็พบว่า รัฐสวัสดิการที่ ‘ใจป้ำ’ ก็ส่งผลให้ ‘บุตรนอกสมรส’ ที่เกิดจากคุณแม่ที่ไม่มีคู่สมรส ‘เพิ่มขึ้น’ อย่างในกรณีของประเทศเดนมาร์กจริงๆ ด้วย

แต่แบบนี้หมายความว่า พอรัฐสวัสดิการเข้ามาช่วยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเลี้ยงลูกแบบนี้ ผู้ชายก็ไม่มีความหมายแล้วสินะ? สามีหรือคุณพ่อก็หมดความสำคัญแล้วสินะ?

ความจริง… ก็ยังไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว

จากการศึกษาโดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน พบว่ากว่า 90% ของผู้หญิงที่ใช้บริการคลินิกผู้มีบุตรยากของรัฐ 9 แห่ง ยังมองการเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ‘เป็นตัวเลือกที่ 2’ และในจำนวนกว่า 2 ใน 3 นั้น ก็ยังอยากสร้างครอบครัวกับคนที่ใช่มากกว่าเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว นั่นหมายความว่า ผู้หญิงเดนมาร์กที่เลือกเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ใช่ว่าไม่เห็นความสำคัญของสามีหรือคุณพ่อของลูกเสียทีเดียว แต่เพราะคนที่ใช่ไม่ผ่านมาเสียที หรือบางทีคนที่ใช่ก็ไม่อยากมีลูก พวกเขาเลยไม่ขอรออีกต่อไป และขอฉายเดี่ยวมากกว่า

จากกรณีของประเทศเดนมาร์ก เราจะเห็นได้ว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่เข้ามา ‘ทำลาย’ ครอบครัว แต่เป็นการเข้ามา ‘เปิดทาง’ ให้เกิดครอบครัวในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจไม่ตรงกับภาพจำของ ‘ครอบครัว’ ในความคิดแบบเดิมๆ ของเราเท่านั้น เมื่อความเสี่ยงทุกอย่างในการสร้างครอบครัว มีรัฐเข้ามาช่วยดูแล การจะแต่งงานก็เป็นเรื่องง่าย การจะหย่า หรือการจะมีลูกก็เป็นเรื่องง่ายเช่นกัน ฉะนั้น จากครอบครัวที่เป็น ‘พ่อ แม่ ลูก’ เราก็อาจได้เห็นครอบครัวที่มีแค่ ‘คุณแม่กับคุณลูก’ หรือครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ผ่านการหย่าร้างมาก่อนมากขึ้น

ครอบครัว ‘แบบใหม่’ ในวันที่สังคมสูงอายุ

เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในโลก ประเทศเดนมาร์กเองก็กำลังหวาดหวั่นถึงอนาคตที่ประชากรวัยทำงานลดน้อยลง และประชากรวัยเกษียณกำลังเพิ่มมากขึ้น อัตราการเกิดในประเทศ แม้จะไม่ได้ต่ำจนวิกฤตอย่างเกาหลีใต้ ที่ผู้หญิงแต่ละคนมีบุตรโดยเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งคน แต่อัตราการเกิดของประเทศเดนมาร์กก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสมดุลจำนวนประชากรในประเทศอยู่ดี ทำให้เดนมาร์กต้องเร่งคิดหาวิธีในการทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้น และอีกหนึ่งแนวคิดที่รัฐบาลเดนมาร์กนำมาใช้เพื่อขจัดอุปสรรคในการมีลูกของคนในประเทศยิ่งทำให้เราต้องทึ่ง

อุปสรรคหนึ่งที่ว่าคือ ผู้หญิงจำนวนมากของเดนมาร์ก ใช้เวลาไม่น้อยไปกับการเรียนหนังสือในระดับอุดมศึกษา ซึ่งกว่าจะเรียนจบ กว่าจะทำงานสร้างตัว ผู้หญิงหลายคน ก็อายุ 30 กว่าๆ เข้าไปแล้ว (อย่างเช่นผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก) การเริ่มออกมาทำงาน สร้างเนื้อสร้างตัว หรือสร้างครอบครัวช้าลงของผู้หญิง ส่งผลให้อัตราการเกิดต่ำลงไปด้วย

แน่นอนการแก้ปัญหาไม่ใช่บอกให้ทุกคน ‘เลิกเรียน’ แล้วหันมาสร้างครอบครัว แต่เป็น

“เราจะทำให้คนสร้างครอบครัวขณะที่ยังเรียนได้หรือไม่?”

แน่นอนว่านี่ต้องไม่ใช่แนวคิดที่เราจะได้ยินในประเทศไทยแน่ๆ

แต่เนื่องจากประเทศเดนมาร์กมีระบบรัฐสวัสดิการที่พร้อมสนับสนุนบรรดาคุณแม่อยู่แล้ว และอัตราคุณแม่ที่กลับไปทำงานหลังมีลูกก็สูงถึง 80% ทำให้เดนมาร์กมองว่าการทำให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มสวัสดิการที่จะช่วยสนับสนุนคุณแม่ในวัยเรียนมากขึ้น ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำให้คนมีลูกมากขึ้น (หรือเร็วขึ้น) ก็ได้ และไม่อยากจะบอกว่า ความจริงแล้ว… เดนมาร์กก็มีเงินสนับสนุนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ยังอยู่ในวัยเรียนด้วยสิ…

จากแนวคิดไปจนถึงรัฐสวัสดิการในแบบ ‘นอร์ดิก’ ทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่า แค่เพราะระบบรัฐสวัสดิการเข้ามารับภาระหน้าที่หลายอย่างแทนสมาชิกครอบครัว ก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัว ‘แตกแยก’ หรือ ‘ห่างเหิน’ เสมอไป เพียงแต่เข้ามาช่วยให้ผู้คนมีความคล่องตัวในการสร้างครอบครัวของตัวเองมากขึ้น สามีภรรยาอยากมีลูกก็ง่ายขึ้น ผู้หญิงอยากเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ทำได้ง่ายขึ้น และทำให้ภาพจำของ ‘ครอบครัว’ และการ ‘สร้างครอบครัว’ ยืดหยุ่นกว่าที่เราเคยรู้จักไปบ้างเท่านั้นเอง

อ้างอิง

  • The Nordic Theory of Everything: In Search of a Better Life (Anu Partanen)
  • ‘There’s no stigma’: why so many Danish women are opting to become single mothers: www.theguardian.com
  • Why is IVF so popular in Denmark?: www.bbc.com
  • Does the Welfare State Destroy the Family? Evidence from OECD Member Countries: ftp.iza.org/dp7210.pdf
  • Child and youth benefits: lifeindenmark.borger.dk

ขอบคุณภาพจาก

  • Pexels 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ