ป้าติ๋มลุงจ๊อด – คู่รักนักดนตรี ผู้ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอันหม่นหมองให้กลายเป็นโลกแห่งความสุข

สำหรับใครก็ตามที่มีดนตรีในหัวใจ และร้องเพลงเล่นดนตรีเป็นอาชีพมาเกินกว่าครึ่งชีวิต การต้องหยุดเล่นดนตรี ไม่สามารถทำมาหากินได้ ย่อมไม่ต่างจากการถูกตัดแขนตัดขาออกไปจากร่างกาย และถูกแช่แข็งเอาไว้ในโลกอันหม่นหมอง

ป้าติ๋ม – อรสา ทองทับ และลุงจ๊อด – ปรีดา เมตไตรย์ คู่รักนักดนตรีวัย 68 ปี จมอยู่กับโลกใบดังกล่าวอยู่นานหลายเดือน ทั้งคู่ไม่รู้จะดิ้นรนออกจากความหม่นเศร้าที่กดทับชีวิตอยู่ได้อย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่งลูกชายคนเดียวของทั้งคู่ได้หยิบยื่นเครื่องมือที่โบยบินออกจากโลกใบเก่าไปสู่โลกใบใหม่ที่มีความสุขมากกว่า

ใครหลายคนอาจใช้เทคโนโลยีเพื่อความก้าวหน้า ใครหลายคนอาจใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับความสะดวกสบาย ใครหลายคนอาจใช้เทคโนโลยีเพื่อหารายได้ให้กับตัวเอง

แต่สำหรับป้าติ๋มและลุงจ๊อด ทั้งคู่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นพบในทุกสิ่งที่ว่ามา

หากแต่ใช้มันเพื่อสร้างความสุขให้ชีวิต


โควิดชีวิตเปลี่ยน

นับถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 40 ปีแล้วที่ป้าติ๋ม – อรสา ทองทับ และลุงจ๊อด – ปรีดา เมตไตรย์ ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันและเป็นความรักที่มีดนตรีเป็นสื่อกลางตั้งแต่วันแรกที่รู้จักกันจนถึงวันนี้

“เราเจอกันครั้งแรกที่โรงแรมแมนดารินเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เราทั้งสองคนเป็นนักดนตรีอยู่ที่โรงแรมแห่งนี้ ลุงเขาจะเล่นเป็นวงกับเพื่อนๆ ส่วนป้าไม่มีวง มีกีตาร์ 1 ตัว เล่นโฟล์คซองแล้วก็ร้องคนเดียว พอดีวงของลุงจ๊อดเขาหาคนมาร้องเสริม ก็เลยมีโอกาสได้ร่วมงานกัน ได้รู้จักกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ป้าติ๋มวัย 68 ปีเล่าถึงการพบกันวันแรกของเธอและสามี ก่อนที่หลังจากนั้นทั้งคู่จะมีโอกาสได้ร่วมงานกันอีกเรื่อยๆ กระทั่งกลายมาเป็นคู่เล่นดนตรีและคู่ชีวิต

“วันหนึ่งเรามีงานแถวโรงแรมเอราวัณ เราก็ขึ้นเล่นดนตรีคนเดียวเหมือนเดิมตามปกติ แต่บนเวทีมีอิเล็กโทนว่างอยู่ ลุงเขาก็เลยขึ้นมาเล่นด้วย ปรากฏว่าคนดูชอบ จากนั้นเจ้าของงานก็เลยจ้างงานคู่ แล้วลุงก็ไม่เคยกลับไปเล่นวงเดิมอีกเลย”

ทั้งป้าติ๋มและลุงจ๊อดหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักดนตรีมาตลอด 40 ปี โดยหลังจากทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ สองสามีภรรยาก็ย้ายไปปักหมุดสร้างครอบครัวและเล่นดนตรีอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมีความสุข ทั้งคู่ได้ทำงานในสิ่งที่รักกับคนที่รัก แต่แล้วการเข้ามาของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

“พอโควิดเข้ามาทุกอย่างล็อกดาวน์หมด งานที่เคยมี ดนตรีที่เคยเล่นก็หายหมดไม่เหลือเลย จะออกไปไหนก็ไม่ได้ ชีวิตทุกคนรวมถึงตัวเราเหมือนโดนแช่แข็งเอาไว้ ตอนแรกๆ เรา ยังไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกหดหู่ มันเหงาและห่อเหี่ยว จริงๆ นะ กีต้าร์ก็ไม่ได้จับ เพลงก็ไม่ได้ร้อง เงินเก็บที่เคยมีก็ค่อยๆ ร่อยหรอลงทีละน้อย เป็นช่วงที่รู้สึกย่ำแย่กับชีวิตที่สุดตั้งแต่เกิดมาเลย”

ในวัยปลาย 60 ป้าติ๋มและลุงจ๊อดตัดสินใจขายรถเพื่อนำเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต แน่นอนว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นทรัพย์สินอย่างอื่นก็คงต้องถูกเร่ขายออกไปในไม่ช้า อย่างไรก็ตามทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ป้าและลุงจะไม่มีทางขายเด็ดขาดก็คือ เครื่องดนตรี

“เครื่องดนตรีคือสิ่งที่เราใช้เลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือทำมาหากิน เราต้องเก็บเอาไว้ ทั้งตัวป้าและลุงเองยังหวังว่าจะได้กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะเล่นให้ใครฟัง” ลุงจ๊อดกล่าว

ท่ามกลางความเหงาเศร้าและไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปดีกับชีวิต เดียว – ดนัย เมตไตรย์ ลูกชายคนเดียวของป้าติ๋มและลุงจ๊อดรู้สึกว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปสถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม แล้วเขาจึงชักชวนพ่อและแม่ให้กลับมาร้องเพลงและเล่นดนตรีที่รักอีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่และเวทีใหม่

ไม่ใช่ในร้านอาหาร คลับเฮ้าส์ หรือโรงแรมที่ไหน หากแต่เป็นใน YouTube และโลกออนไลน์

เวทีที่ทั้งป้าติ๋มและลุงจ๊อดไม่เคยทำการแสดงมาก่อนเลยในชีวิต


เสียงเพลงในโลกออนไลน์

“ตอนที่ลูกชายมาแนะนำให้ทำเพลงลง YouTube บอกตามตรงว่าเราไม่มั่นใจเลยว่าจะมีคนดู ป้ายังคิดเลยว่าแก่ปูนนี้แล้ว ใครจะดู คนเขาก็อยากจะดูวัยรุ่น ดูหนุ่มๆ สาวๆ มากกว่า แต่อีกใจก็คิดว่า ลองดู อย่างน้อยก็ดีกว่าอยู่เปล่า จะได้ลับฝีมือและฝึกซ้อมดนตรีไปในตัวด้วย”

ป้าติ๋มบอกเล่าถึงความรู้สึกเมื่อรู้ว่าต้องทำเพลงลง YouTube แม้เธอกับสามีจะร้องเพลงและเล่นดนตรีมาเกินกว่าครึ่งชีวิต แต่ก็คิดว่าตัวเองยังเป็นแค่เด็กใหม่ไร้ประสบการณ์สำหรับเวทีในโลกออนไลน์

“อันดับแรกที่ลุงและป้าต้องทำก็คือ การฟังและเลือกเพลง เนื่องจากเพลงที่เราเลือกเล่นลงใน YouTube จะต้องเป็นเพลงที่คุ้นหู หรือกำลังฮิตในตอนนี้ ซึ่งไม่ใช่เพลงในยุคสมัยเรา บางเพลงเราเคยฟังผ่านหูไม่กี่ครั้ง เมื่อฟังแล้วลุงกับป้าก็จะมาตกลงกันว่าจะเลือกเล่นเพลงดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากเราต้องนำมาคัฟเวอร์ (Cover) และปรับให้เป็นแบบของเรา

“อย่างบางเพลงที่เลือกมาต้นฉบับเขาเล่นด้วยจังหวะที่ค่อนข้างเร็ว เราก็จะเล่นแนวโซลดึงให้ช้าลง หรือบางเพลงมีท่อน แรป (Rap)   จังหวะ แรป ของเราก็จะอาจจะไม่ได้เร็วเหมือนกับของต้นฉบับ เขา แรป มาเร็ว 100 ความเร็วในการแร็ปของเราก็อาจจะเหลือสัก 50 สรุปก็คือเราจะเลือกเพลงที่เรารับได้ ร้องได้ และมั่นใจว่าสามารถนำมาปรับเป็นแบบของเราได้”

แม้จะอายุเฉียด 70 แต่ทั้งป้าติ๋มและลุงจ๊อดก็ สามารถ คัฟเวอร์เพลงของศิลปินยุคใหม่ ได้ หลายคน ไม่ว่าจะเป็น Tilly Birds, No One Else, อิงค์ วรันธร, ลิปตา, นนท์ ธนนท์ ฯลฯ

เมื่อฟังและเลือกเพลงที่จะเล่นได้แล้ว จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการอัดและถ่ายทำ โดยในขั้นแรกป้าติ๋มและลุงจ๊อดจะอัดเสียงร้องส่งไปให้ลูกชายฟังก่อน เมื่อลูกชายซึ่งทำหน้าที่ประหนึ่งโปรดิวเซอร์เห็นชอบว่าดีจึงจะเข้าสู่กระบวนการถ่ายทำจริง

“ลูกชายจะเป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ ทุกๆ ขั้นตอนเขาจะคอยตรวจสอบความเรียบร้อยให้ เมื่อเราเลือกเพลงก็จะอัดเสียงส่งไปว่าเราจะร้องแบบนี้ ประมาณนี้นะ ท่อนนี้จะเป็นแบบนี้ พอลูกชายฟังแล้วโอเค เราก็จะถ่ายทำกันสองคน จัดมุมกันเอง

“เรื่องการถ่ายทำ ลูกชายก็จะสอนให้ใช้โทรศัพท์มือถือในการถ่าย เขาจะสอนให้หาที่สว่างๆ จะได้เห็นได้ง่าย เวลาถ่ายเพลงหนึ่งเราจะถ่ายหลายรอบจนกว่าจะรู้สึกพอใจ จากนั้นก็จะส่งไฟล์ไปให้ลูกชายตัดต่อแล้วก็อัปลง YouTube แต่ถ้าหากเขามองว่าเรายังร้องไม่ดี เขาก็จะบอกให้เราอัดใหม่ คืองานของเราจะต้องผ่านและได้มาตรฐานจริงๆ ถึงจะได้อัปลง YouTube ทุกกระบวนการทุกขั้นตอนไม่ใช่ว่าจะทำกันง่ายๆ”

ถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 3 ปีแล้วที่ป้าติ๋มและลุงจ๊อดทำเพลงในช่อง YouTube และ Facebook ในชื่อว่า ‘Patimloongjod’ โดยบทเพลงแรกที่ขับร้องในโลกออนไลน์ก็คือ เพลงบัลลังก์เมฆของมาลีวัลย์ เจมีน่า

“จำได้ว่าตอนที่เพลงแรกอัปลง YouTube ไปมียอดวิวขึ้นหลักร้อย เราก็ตื่นเต้นดีใจแล้ว จากนั้นเราก็มีกำลังใจทำต่อไปเรื่อยๆ แต่ด้วยกระบวนการผลิตที่ละเอียดและค่อนข้างใช้เวลา ทำให้เราอาจจะไม่ได้อัปคลิปวิดีโอลงถี่มาก ยิ่งอายุเรามากขึ้นก็จะใช้พลังในการทำงานเยอะ เมื่อก่อนเพลงหนึ่งจะใช้เวลาอยู่ 2 อาทิตย์ แต่ตอนนี้จะใช้ เวลา อยู่ที่ 1 เดือนกว่าจะ สามารถ เอาลง YouTube และ Facebook ได้”

ปัจจุบันยอดผู้ติดตามใน YouTube อยู่ที่ราว 4,000 คน ขณะที่ใน Facebook อยู่ที่ 2,000 กว่าๆ แน่นอนว่าด้วยจำนวนผู้ติดตามดังกล่าวอาจไม่ได้มากมาย จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหรือสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ตาม คู่รักนักดนตรีวัย 68 กลับไม่ได้รู้สึกวิตกกังวล หรือซีเรียสมากมายนัก เนื่องจากเทคโนโลยีและการทำเพลงในโลกออนไลน์ได้มอบบางสิ่งที่มีค่าให้กับทั้งคู่มากกว่านั้น

มันเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ และพวกเขาเรียกมันว่า ‘ความสุข’

ความสุขของคนทำเพลง

ความสุขที่ป้าติ๋มและลุงจ๊อดได้รับจากการเล่นดนตรีและร้องเพลงในโลกออนไลน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีชื่อเสียงโด่งดังหรือการสร้างรายได้ หากแต่อยู่ที่การได้ขับไล่ความเงียบเหงาออกจากชีวิต

“พอลุงกับป้าได้ทำเพลงลง YouTube และ Facebook จากที่ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีและมีคนดูไหม กลับกลายเป็นว่าเราสองคนมีความสุขมากๆ

“เราได้กลับมาเล่นดนตรี ได้ร้องเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หยุดหายไปนาน แล้วไม่ใช่แค่กลับมาเล่น แต่เพลงที่เราร้องดนตรีที่เราเล่นออกไปยังมีคนชอบฟัง ทั้งๆ ที่ตอนแรกเราสองคนยังคิดเลยว่าใครจะมาดูคนแก่อย่างเรา”

ไม่ใช่แค่ดู แต่หลายคนยังเข้ามาแสดงความชื่นชม พูดคุย นำความชื่นใจมาให้กับป้าติ๋มและลุงจ๊อดอย่างล้นเหลือ

“หลายๆ คนก็จะเข้ามาชมว่าชอบน้ำเสียง เสียงเป็นเอกลักษณ์มาก บางคนก็บอกว่าหาฟังเวอร์ชันที่แตกต่างจากต้นฉบับแบบนี้มานานแล้ว หรือบางคนก็จะเข้ามาขอเพลง ผมอยากฟังเพลงนั้น หนูอยากฟังเพลงนี้ อย่างล่าสุดมีคนที่ไปดูหนังเรื่องบุพเพสันนิวาส 2 มา ก็ขอเพลงถ้าเธอรักใครคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ กลายเป็นว่าเราก็ได้เพลงที่จะทำต่อไม่ต้องมานั่งเสียเวลาเลือกเพลง

“สำหรับคนเล่นดนตรีและทำเพลงอย่างพวกเรา การที่คนฟังเพลงของเราแล้วเข้ามาชื่นชมแบบนี้ ทำให้เรามีกำลังใจมากเลยนะ มันปลื้มและชื่นใจ เรารู้สึกว่าเราอยากที่จะทำเพลงให้พวกเขาได้ฟังต่อไปเรื่อยๆ”

นับเป็นความสุขของทั้งคนฟังและคนทำเพลงอย่างแท้จริง


เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำให้จินตนาการกลายเป็นความจริง

ถ้าไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยให้ได้ทำเพลงลง YouTube และ Facebook ป้าติ๋มและลุงจ๊อดบอกว่าตัวเองคงจะอยู่กับความเหงาเศร้าไปอีกนาน

“เราว่าเราคงเป็นบ้าตายแน่ๆ เพราะคิดไม่ออกเลยนะว่าจะทำอะไร ออกไปไหนก็ไม่ได้ ต้องจมอยู่กับความเหงาไปอีกนานแน่ๆ แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามาได้ทำเพลง ทำให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ขยับ มีกิจกรรมทำ ก็เลยไม่ต้องอยู่กับความเศร้า มันเหมือนกับว่าชีวิตของเราสองคนไม่ต้องถูกแช่แข็งอีกต่อไปแล้ว”

สำหรับป้าติ๋มและลุงจ๊อด เทคโนโลยีไม่ใช่แค่เครื่องมือที่พาผู้สูงวัยอย่างพวกเขาก้าวออกจากโลกแห่งความหมองหม่นไปสู่โลกแห่งความสุขเท่านั้น แต่เทคโนโลยียังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนในโลกนี้ได้พัฒนาตัวเองและก้าวไปข้างหน้า รวมทั้งเป็นสิ่งที่ทำให้จินตนาการกลายเป็นความจริง

“คนรุ่นใหม่เขาเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีกันอยู่แล้ว แต่สำหรับเรา เราว่าผู้สูงวัยก็ควรเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีด้วย จริงอยู่ว่าการเรียนรู้ของเราอาจจะช้าหน่อย แต่มันก็ทำให้เราไม่ตกขอบโลก ทำให้เราได้อยู่กับสิ่งที่เรารักอย่างสะดวกสบายขึ้น

“สำหรับเราเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญนะ มันทำให้โลกใบนี้ก้าวหน้าและทำให้เราเชื่อว่าจินตนาการสามารถกลายเป็นความจริงได้ เมื่อก่อนตอนโทรศัพท์คุยกันเราสองคนยังเคยคิดเลยว่าถ้าเราคุยกันแล้วสามารถเห็นหน้ากันได้ก็คงจะดี ใครจะคิดว่าวันนี้สิ่งที่เราจินตนาการไว้มันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้

“เทคโนโลยีจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย แต่เป็นสิ่งที่ทำให้จินตนาการกลายเป็นความจริง”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ