เพราะ LGBT ในต่างจังหวัด คือความแปลกและผิดบาป คุยกับ “โอวา” ธนาวัฒน์ จันนิม กะเทยขายข้าว

“ย้อนไป 30 ปีที่แล้วในต่างจังหวัดไม่มีพื้นที่สำหรับเพศแบบเรา เราแทบจะเป็นกะเทยคนแรกที่พ่อแม่รู้จัก แน่นอนว่าเราถูกตัดสินมาตั้งแต่เด็กว่าการเป็นกะเทยคือความผิดบาปเป็นคนมีกรรม ต้องไปเข้าค่ายดัดสันดานเหมือนกำลังทำความผิดร้ายแรง นั่นคือเหตุผลที่เราไม่กล้าจะยอมรับตัวเองด้วยซ้ำว่าเราเป็นกะเทย”

ในเดือน Pride Month มนุษย์ต่างวัย ขอนำเสนอเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันบนความต่าง เราคุยกับ “โอวา” ธนาวัฒน์ จันนิม อายุ 35 ปี เจ้าของเพจ “โอวาข้าวหอมมะลิแท้สุรินทร์ 100 เปอร์เซ็นต์” หรือ “โอวากะเทยขายข้าว” ที่สามารถสร้างรายได้จากการขายข้าวได้ถึงปีละ 3 ล้านบาท แต่ก่อนที่มีความมั่นใจและกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ชีวิตของ “โอวา” ต้องฝ่าฟันกับการอยู่ในโลกที่เขาถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดมาตั้งแต่วัยเด็ก

กะเทยคนเดียวในชั้นเรียน

“โอวา เกิดและเติบโตที่จังหวัดสุรินทร์ พ่อแม่เป็นเกษตรกร ความเป็นอยู่ในวัยเด็กไม่ได้ร่ำรวย และที่หมู่บ้นตอนนั้นยังห่างจากความเจริญหลายๆ อย่างไม่มีไฟฟ้า ถนนหาทางก็ไม่ดี การเป็นกะเทยในหมู่ที่ห่างไกลแบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผิดแปลก มองเราว่าเป็นคนมีจิตใจไม่ปกติ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะผลจากเวรกรรมในอดีตที่ไปพรากลูกพรากเมียคนอื่นไว้

“ไม่ใช่แค่เพื่อนๆ ที่ชอบล้อ ครูก็ไม่เข้าใจ ถึงขั้นต้องให้ไปเข้าค่ายดัดสันดานรักษาความเป็นกะเทย โดนประจานหน้าเสาธงทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่แย่ที่สุดคือเราตัวเราเอง พอถูกมองว่าประหลาดเราก็ต้องพยายามบังคับตัวเองให้กลับไปเป็นผู้ชายให้ได้ ต้องไปตีไก่ ยิงแย้ ต่อยมวย ดูหนัง AV เล่นเหมือนเด็กผู้ชาย เพราะสังคมโดยรอบบีบให้เราไม่กล้ายอมรับความเป็นตัวเอง”

ลูกเป็นกะเทยเหรอ? คำถามที่ไม่อยากได้ยิน

“คนกรุงเทพฯ จะมีแค่ป้าข้างบ้าน แต่สำหรับคนต่างจังหวัดจะรู้กันดีว่าเราแทบจะมีป้าทั้งหมู่บ้าน ลูกบ้านไหนทำอะไร คนทั้งหมู่บ้านจะรู้หมด หนึ่งในนั้นคือการออกสาวของเราก็ไม่พ้นสายตาป้าทั้งหมู่บ้าน ช่วงวัยเด็กนอกจากเราจะถูกแรงปะทะทางสายตาและคำพูดจากคนนอกครอบครัวแล้ว คนที่ต้องแบกรับเรื่องนี้ไม่ต่างกันคือ พ่อ กับ แม่ แม้กะเทยจะมีมาบนโลกนานแล้ว แต่มันยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนแก่โดยเฉพาะคนแก่ต่างจังหวัดในยุคนั้น

“คำถามจากคนในหมู่บ้านที่ทำให้เขาลำบากใจที่จะตอบที่สุดก็คือลูกเป็นกะเทยเหรอ เขาทำได้ก็แค่ยิ้มเจื่อนๆ เราเข้าใจแม่นะเขาเกิดมาจนอายุ 40 เพิ่งเคยเห็นกะเทย และคนนั้นก็คือลูกตัวเอง เขายอมรับมันไม่ได้หรอก”

พ่อแม่ไม่ใช่เซฟโซน 100% แต่เขายังเป็นคนที่เรากลับไปหาได้เสมอ

“ต้องบอกเลยว่าพ่อแม่ไม่ใช่เซฟโซนที่จะรับเราได้ในเรื่องเพศ แต่เขาก็มองว่าเราคือลูก ตั้งแต่เด็กจนโตเราเห็นความพยายามของเขามาโดยตลอดตั้งแต่ พยายามให้เรากลับไปเป็นผู้ชาย จนค่อยๆ ทำใจยอมรับว่าเปลี่ยนเราไม่ได้ เราเห็นความเข้มแข็งของพ่อกับแม่มากๆ ที่พยายามทำความเข้าใจในตัวลูก ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ง่ายสำหรับสังคมต่างจังหวัด และคนมีอายุ อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เรายังอยู่ได้ก็คือการสร้าง สร้างเซฟโซนในใจเราเอง เราพยายามที่จะมีชีวิตให้มีความสุขให้ได้”

กรุงเทพคือโลกใหม่ที่ทำให้รู้ว่าเราไม่ใช่คนแปลก

“จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตกะเทยต่างจังหวัดที่ต้องเก็บความช้ำอกช้ำใจมานานกว่า 18 ปี ก็ได้เวลาปลดปล่อย เมื่อเราเข้ากรุงเทพฯ กะเทยไม่จำเป็นต้องแต่งหญิง มีนม สวยเหมือนผู้หญิง จะไว้หนวดไว้เครา จะ แซ่บๆ ปังๆ หรือจะเรียบร้อย คือมีทุกรูปแบบ เป็นช่วงชีวิตที่เราได้เป็นตัวเองมากที่สุด เพื่อน อาจารย์ คนที่ทำงาน ทุกคนมีความสุขในความเป็นกะเทยของเรา และเราไม่ใช่ตัวประหลาดในสายตาใครอีกต่อไป นั่นทำให้เราใช้ชีวิต อยู่ที่กรุงเทพฯ เกือบ 10 ปี มันคือพื้นที่ของเรา ก่อนจะกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่บ้านเกิด”

ไม่ผิดที่เมื่อก่อนยังไม่ค่อยมีคนยอมรับเพศที่หลากหลาย

“พอมองย้อนกลับไปสิ่งที่เราได้เรียนรู้ และตกผลึกจากการเป็นทั้งกะเทยเก็บกด และกะเทยเจิดจรัสบนคันนาคือ มันไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่ตอนเด็กๆ เราจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะสมัยก่อนมันไม่ได้ถูกเปิดเผยกันออกมา ใครเป็นก็จะเก็บซ่อน ปิดบังเอาไว้ ยิ่งในพื้นที่ห่างไกลแบบจังหวัดที่เราอยู่คือสุรินทร์ สนามเด็กเล่นคือท้องนา น้ำบาดาลคือน้ำที่ใช้ในการอาบและกิน ไฟฟ้าก็เริ่มมีมาได้แค่ 10 กว่าปี ความเจริญทุกอย่างเราตามหลังกรุงเทพหมด

“จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะยึดถือสิ่งที่เป็นขนบเดิม สิ่งที่เคยเจอ สิ่งที่เป็นแบบแผนมาว่าชายต้องคู่หญิง หญิงต้องคู่ชาย ผู้ชายต้องเตะบอล ผู้หญิงต้องเล่นขายของ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เขาเกิดมาไม่ได้เกิดมาพร้อมกับโลกแฟนซีที่มีเพศหลากหลายเหมือนทุกวันนี้ โลกของเขาก็จะแคบอยู่ในมุมที่เขารู้จัก

“สิ่งเดียวที่ทำได้คือเวลา ให้เวลาเขาได้ปรับตัว และเปิดใจ กว่ากะเทยจะถูกยอมรับในต่างประเทศใช้เวลาเป็นร้อยปี ประเทศไทยก็พึ่งจะเริ่มพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ทุกอย่างต้องเป็นสเต็ปไป แต่การก้าวผ่านแต่ละสเต็ปในการอยู่ร่วมกันมากกว่าคือโจทย์สำคัญ”

เราจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

“เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าเราไม่ต้องเริ่ดกว่าใครก็ได้ แค่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ทำมาหากินสุจริตในแบบที่เราทำได้ ไม่เป็นภาระใครสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพไหนก็ตาม

“ทุกวันนี้เรากลายเป็นกะเทยบ้านทุ่ง กลับมาทำนา ทำคอนเทนต์ขายข้าวในบ้านเกิด จ.สุรินทร์ ในพื้นที่ที่เราคิดว่าไม่ใช่เซฟโซน แต่การยอมรับมันต่างกันออกไปจาก 30 ปีที่แล้ว เพราะเราสามารถหาเงิน สร้างรายได้ พึ่งตัวเองได้

“วันนี้ทุกคนยิ้มให้เรา ชื่นชมเรา ยอมรับเราที่เราทำมาหากินได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าดีซะอีก เราเป็นทั้่งชาวนาแล้วก็เป็นทั้งกะเทย เรากล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าเราภูมิใจที่เป็นกะเทย และเป็นกะเทยบ้านๆ จากสุรินทร์ ตอนนี้น้องๆ แถวบ้านที่เป็น LGBT ก็ไม่ต้องซ่อนตัวเองเหมือนรุ่นเรา เวลาเปลี่ยน การรับรู้ของคนเปลี่ยน เพศสภาพจะไม่ใช่ตัวตัดสินดีชั่ว หรือความผิดปกติอีกแล้ว

“ท้ายที่สุด เราอาจเรียกร้องขอเซฟโซนจากทุกคนไม่ได้ในเร็ววันนี้ แต่สิ่งที่ต้องสร้างคือเซฟโซนในใจตัวเองเพื่อให้เราสามารถรักษาความสุข ให้ชีวิตเราได้”

Credits

Author

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ