“เราอยากให้สิ่งที่ครอบครัวสร้างไว้ ส่งต่อคุณค่าไปสู่รุ่นถัดไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม” เรียนรู้การดูแลกันของทายาทหลากรุ่นในครอบครัวอดีตช่างทำรองเท้า ผ่าน ‘Shoes Maker Home’ โฮสเทลสุดชิก ที่อยากส่งต่อความมั่นคงสู่ลูกหลาน

ในวันที่ตรอกทองใบ ย่านเจริญรัถ ถิ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องของเครื่องหนังและงานฝีมือ เหลือเพียงไม่กี่บ้านที่ยังคงสืบทอดกิจการกระเป๋าหนัง และรองเท้าหนังของครอบครัว

ครอบครัวจีนแคะ ‘กิจยิ่งโสภณ’ คือหนึ่งในนั้นที่ยังคงพยายามรักษากิจการรองเท้าแฮนด์เมดของบรรพบุรุษให้ยังคงอยู่ต่อไป แต่ด้วยความท้าทายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตต่าง ๆ รวมถึงบริบทของโลกสมัยใหม่ การสืบทอดกิจการในรุ่นถัดมาจึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการเป็นโรงงานทำรองเท้าเหมือนสมัยอากุง อาผ่อ รุ่นบุกเบิก

แต่เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของโฮสเทลสุดชิก ชื่อ ‘Shoes Maker Home’ โดยความร่วมมือ ‘รวมใจ’ กัน ของทายาทรุ่นสอง สาม และสี่ ที่มองเห็นคุณค่าในสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้

แต่การเอาตัวรอด ปรับตัวไปตามโลกอาจไม่ใช่สิ่งเดียวในการก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงเสมอไป สำหรับบ้านนี้ การรับมือกับความหลากหลายของสมาชิกภายในครอบครัว ทั้งวัย ความคิด การใช้ชีวิต ล้วนเป็นสิ่งสำคัญและมีผลต่อการทำธุรกิจครอบครัว

มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านเรื่องราวของการปรับตัว และอยู่ร่วมกันของครอบครัวกงสี ที่อยากรักษามรดกครอบครัวให้ส่งต่อไปถึงคนรุ่นถัดไปอย่างมั่นคง ของครอบครัวอดีตช่างทำรองเท้าเก่าแก่แห่งหนึ่ง สุดตรอกทองใบ

ครอบครัวรองเท้า

ก่อนที่โรงงานทำรองเท้าอายุกว่า 50 ปี จะถูกแปลงโฉมให้กลายมาเป็นโฮสเทล ‘Shoes Maker Home’ สุดชิก ในอดีต อาคารพาณิชย์สุดตรอกทองใบแห่งนี้คือโรงงานทำรองเท้าของอากุง อาผ่อ ที่อพยพมาจากเมืองจีน และช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการทำรองเท้าขาย จนกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูลูก ๆ หลาน ๆ ให้เติบโตและมีอยู่มีกินอย่างไม่ลำบาก

หลังจากที่เตี่ยกับแม่จากไป โกวหวาน-มนเพ็ญ กิจยิ่งโสภณ ลูกสาวคนกลางของบ้าน ปัจจุบัน วัย 67 ปี เล่าว่า ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน เธอเป็นคนเดียวที่เข้ามาสืบทอดกิจการต่อ ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ต่างแต่งงานมีครอบครัว สำหรับคนที่ยังโสดเหมือนโกวหวานก็มีเส้นทางชีวิตของตัวเอง

แต่เส้นทางการสืบทอดกิจการของครอบครัวในมือของโกวหวาน ในฐานะทายาทรุ่นสอง ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทั้งฝีมือที่ไม่เท่าคนรุ่นก่อน พิษเศรษฐกิจหลังปี 2540 มาจนถึงลูกหลานรุ่นต่อจากโกวที่ไม่ได้มีใครมาสืบทอดกิจการต่อ สุดท้ายจึงต้องตัดสินใจปิดกิจการลงในปี 2559

“วันที่โกวหวานตัดสินใจไม่ทำรองเท้าต่อแล้ว แต่โกวก็ยังอยากที่จะเก็บตึกที่เคยเป็นโรงงานทำรองเท้าเอาไว้ โกวบอกเหตุผลว่า มันเป็นสิ่งที่อากุงกับอาผ่อสร้างไว้ให้พวกเรา ถ้าไม่มีโรงงานรองเท้าก็ไม่มีเราในวันนี้ แต่โกวก็ไม่รู้ว่าจะเก็บตึกไว้ทำอะไรต่อ ได้แต่ปิดตายเป็นตึกร้างไป

“ถึงโกวหวานจะมีศักดิ์เป็นป้า แต่พวกเราก็รักเหมือนแม่แท้ ๆ เรากลัวว่าโกวจะเหงาและซึมเศร้า เพราะโกวไม่มีกิจกรรมทำอะไรเหมือนเมื่อก่อน สมาชิกทุกคนในบ้านก็เลยมาหารือกันว่า จะทำให้ตึกนี้กลับมาสร้างประโยชน์และรายได้อีกครั้ง โดยให้โกวได้มีส่วนร่วม”

เก๋ – ปาลิณี กิจยิ่งโสภณ ทายาทรุ่นสาม หลานสาวคนโต วัย 39 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียแปลงโฉมอดีตโรงงานรองเท้าเป็นธุรกิจสร้างรายได้และคืนชีวิตให้โกวหวาน

‘Shoes Maker Home’

ก้าวใหม่ของความสุขที่สมาชิกหลากรุ่นมีส่วนร่วม แต่กว่าที่ตึกร้างจะกลายมาเป็นโฮสเทลสุดชิก โกวหวานเล่าว่า แต่ละคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกัน

“ตอนแรก ๆ เราก็คิดว่า ถ้าจะทำเป็นที่พัก ก็อยากจะทำเป็นห้องเช่ารายวัน หรือรายเดือนดีไหม เพราะแถวนี้เป็นชุมชนและเป็นย่านค้าขายมีคนงานจากต่างที่ต่างถิ่นมาอยู่กันเยอะ แต่หลาน ๆ เขามองว่า ทำเป็นลักษณะของที่พักให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักดีกว่า เพราะช่วงนั้นโฮสเทลกำลังเป็นที่นิยม

เมื่อ Shoes Maker Home พร้อมเปิดให้บริการ โกวหวานเล่าว่า เธอรับหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับแขก และดูแลเรื่องจิปาถะต่าง ๆ แต่ถ้ามีลูกค้าฝรั่งมาติดต่อ เก๋หลานสาวคนโตกับชิงหลานสาวคนเล็ก ก็จะเข้ามาช่วยพูดคุย ดูแล ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ก็เข้ามาช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ บางคนช่วยทำเพจเฟซบุ๊ก ช่วยโปรโมตผ่านออนไลน์

“เรามีความสุขทุกครั้งที่เห็นโกวหวาน เด็ก ๆ และสมาชิกคนอื่น ๆ สนุกกับการช่วยกันดูแลโฮสเทล ความตั้งใจของเราไม่ได้หวังว่ามันจะสร้างรายได้ให้ครอบครัวเป็นกอบเป็นกำ เราแค่หวังว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสครอบครัวเราได้กลับมาดูแลกัน ถึงจะต่างวัย ต่างรุ่นก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

“ที่สำคัญคือการที่เราได้ทำให้มรดกที่อากุง อาผ่อสร้างไว้ให้ยังคงอยู่ และอยู่อย่างมีคุณค่าไม่ต่างจากในอดีตที่มันเคยทำหน้าที่เป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงครอบครัวของเรา แล้วเราก็อยากให้คุณค่าและความความภูมิใจนี้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานของเราอีกหลาย ๆ รุ่นต่อจากนี้”

ชิง-อรปวีณ์ กิจยิ่งโสภณ ทายาทรุ่นสาม หลานสาวคนเล็ก วัย 33 ปี อธิบายเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการทำโฮสเทลร่วมกันของคนในครอบครัว

แต่การทำธุรกิจครอบครัวในมือของทายาทรุ่นหลังไม่ได้มีเพียงช่วงที่ต้องปรับตัว ช่วงเอาตัวรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแทบจะทุกเวลา และช่วงที่ต้องเติบโตกว่าอดีตที่ผ่านมา

เก๋เล่าว่า “การสืบทอดธุรกิจครอบครัวการสู้รบกับปัจจัยภายนอกอย่างที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงที่เริ่มเปลี่ยนจากโรงงานรองเท้ามาเป็นโฮสเทล หรือช่วงที่เราเจอกับวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอด พวกนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้โฮสเทลของเราอยู่รอดมาได้ แต่การยอมรับความคิดเห็นต่าง การปรับความเข้าใจกันของคนในครอบครัว และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คือสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวพวกเราและทำให้ธุรกิจที่เราทำร่วมกันอยู่รอด”

เพราะความเข้มแข็งของครอบครัวคือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด

การที่ครอบครัวมีธุรกิจกงสีที่ต้องดูแลร่วมกัน คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่อาจจะทำให้พวกเขาเกิดความบาดหมางใจกัน แต่ถ้าดูแลใจกันให้ดีครอบครัวก็จะเกิดความเข้มแข็งแล้วก็จะส่งผลไปถึงธุรกิจด้วย . ในอดีตโรงงานรองเท้าของอากุง อาผ่อ เป็นความมั่นคงของคนรุ่นก่อน ตอนนี้โฮสเทล Shoes Maker Home ก็กำลังทำหน้าที่เป็นความมั่นคงของบรรดาทายาทรุ่นปัจจุบัน ในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดมรดกครอบครัว เก๋แชร์ว่า

นอกจากดูแลใจแล้ว เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งภายในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่กันแบบเครือญาติ นั่นคือเรื่องของสุขภาพ

“สุขภาพของทุกคนสำคัญมาก เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนในบ้านเข้าใจกัน หรือสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้เลย อธิบายง่าย ๆ ว่า ถ้าทุกคนในบ้านมีการวางแผนเรื่องสุขภาพ เวลาที่เจ็บป่วยขึ้นมาก็ไม่ต้องมีอะไรให้น่าเป็นห่วงมาก เพราะเรารู้ว่าเราจะได้รับการช่วยเหลืออะไรบ้าง แต่ถ้าไม่มีการวางแผนไว้เลย สิ่งที่ตามมาคือภาระค่าใช้จ่าย เผลอ ๆ กระทบกับพี่น้องคนอื่น ๆ ที่ต้องมาช่วยดูแล ในขณะที่ทุกคนต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

“อย่างบ้านเรามีทั้งผู้สูงอายุ มีทั้งเด็ก ๆ และตัวเราเองที่อยู่ในวัยทำงาน กับสมาชิกคนอื่น ๆ อีกกว่า 10 ชีวิต ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ คือทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วย หรืออาจจะเจ็บป่วยขึ้นมาพร้อมกัน เช่น ในช่วงที่โควิด 19 ระบาดหนัก ถ้าเราติดกันทั้งบ้าน สิ่งที่ตามมาคือ เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการดูแลรักษา

“ถ้ามีประกันก็โชคดีไป แต่ถ้าญาติผู้ใหญ่ในบ้านไม่มีประกันเราก็ต้องมาช่วยดูแล หรือถ้าเกิดว่าโรคที่เขาเป็นมันต้องใช้เงินมาก ใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน เราจะดูแลไหวหรือเปล่า สุดท้ายมันก็อาจจะไปกระทบกับความสัมพันธ์ของเราก็ได้ การวางแผนชีวิตของคนในครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้

“ในวันที่ทุกคนในบ้านกลับมาทำงานร่วมกัน เราจึงคิดหาหลักประกันบางอย่างมาช่วยคุ้มครอง เพราะเราสามารถใช้เงินกองกลางมาบริหารในส่วนนี้ได้ โดยที่ทุกคนได้รับความสบายใจเท่ากัน แต่ก็ต้องศึกษาให้ดีด้วย เพราะการทำประกันชีวิตมีหลายรูปแบบ ต้องเลือกที่ตอบโจทย์กับทุกคนในบ้านจริง ๆ

“อย่างบ้านเรา ต้องตอบโจทย์เรื่องอายุของสมาชิกในครอบครัว คือต้องคุ้มครองได้ทั้งเด็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ และต้องตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะความเสี่ยงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็จะมีความแตกต่างกันไปด้วย ค่าใช้จ่ายที่ตามมาก็จะแตกต่างกัน ถ้าประกันชีวิตช่วยบริหารความเสี่ยงตรงนี้ ทุกคนก็จะสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง”

ส่วนโกวหวานบอกว่า “ทุกวันนี้โกวยังแข็งแรง ยังทำงานได้ ยังไม่เป็นภาระของใคร เราก็พยายามที่จะดูแลตัวเองให้ดีที่สุด แต่อนาคตเราก็กลัวเหมือนกันว่าจะกลายเป็นภาระของหลาน ๆ เพราะเราเป็นคนโสดไม่มีลูก คนที่จะอยู่ดูแลเราคือหลาน ๆ ถ้าวันหนึ่งโกวป่วยจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เงินที่เก็บไว้จะพอหรือเปล่า หรือถ้าเราตายไปเขาจะเดือดร้อนไหม

“แต่ถ้าเราได้เตรียมความพร้อมไว้ การทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพก็ทำให้เราใช้ชีวิตแบบสบายใจมากขึ้น และไม่ใช่เป็นการทำเพื่อดูแลแค่ตัวเอง แต่มันคือการทำเพื่อดูแลลูกหลานของเราด้วย โกวจะบอกกับหลานตลอด ถ้าวันหนึ่งที่โกวไม่อยู่ สิ่งที่โกวทิ้งไว้ให้คือมรดกให้ลูกหลานเอาไว้เป็นเงินเก็บ หรือเป็นทุนต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้ยังอยู่กับพวกเขาต่อไป”

โกวหวานกล่าวทิ้งท้าย

พรูเด็นเชียล ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ครอบครัวกงสี พร้อมดูแลและสนับสนุนให้ทุกครอบครัวได้ใช้ชีวิตอย่างมั่นใจไปพร้อม ๆ กับการมีสุขภาพที่ดี ผู้รับประโยชน์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สืบสายโลหิตเท่านั้น สามารถเป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกัน บุตรบุญธรรม หรือ บิดามารดาบุญธรรม โดยพิจารณาจากเอกสารแถลงความสัมพันธ์เป็นสำคัญ

เพราะเราเชื่อว่า ความแข็งแรงทั้งร่างกายและภายในหัวใจ ส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงภายในครอบครัว พรูเด็นเชียลขอเป็นอีกแรงที่พร้อมสนับสนุนในทุกก้าวที่เดินไปสู่ความเข้าใจของทุกคนในครอบครัว อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.prudential.co.th

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ