ทำใจให้นิ่งๆ แล้วออกไปวิ่งแบบลุงอำนาจ

ในวัยกำลังย่างเข้าไปใกล้เลขเจ็ด อำนาจ พรหมภินันท์ คือนักวิ่งแนวดิ่งระดับโลก ตึกสูงที่มีชื่อเสียงในเอเชียไปจนถึงหอไอเฟลที่ฝรั่งเศส ชายผู้นี้พาตัวเองขึ้นไปพิชิตจุดสุดยอดมาหมดแล้ว

เส้นทางการเป็นนักวิ่งของลุงอำนาจไม่ได้หอมหวาน สวยงาม หรือมีกลีบกุหลาบทอดยาวเป็นทาง นี่คือนักวิ่งที่มีอดีตเป็นคนขี้เหล้าและสิงห์อมควัน พูดกันแบบไม่อ้อมค้อม ใครหลายคนที่รู้จักคิดว่าเขาน่าจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดหรือตับมากกว่าจะมาเป็นนักวิ่งระดับโลก เขาดูแลตัวเองอย่างไร ทำไมถึงกลายมาเป็นสุดยอดนักวิ่งได้ แล้วสุดท้ายเส้นชัยที่แท้จริงในการวิ่งของเขาคืออะไร

รบกวนผูกเชือกรองเท้าให้แน่นๆ เราจะพาคุณออกไปวิ่งกับลุงอำนาจ

ทำไมถึงมาวิ่ง

ย้อนกลับไปในช่วงชีวิตก่อนอายุ 40 อำนาจ พรหมภินันท์ คุ้นชินกับการสูบบุหรี่และดื่มสุรามากกว่าการผูกเชือกรองเท้าออกไปวิ่ง ตัวเลขยืนพื้นอย่างต่ำๆ ในการเป็นสิงห์อมควันของอำนาจคือ 2 ซองต่อวัน ขณะที่ปริมาณการดื่มเหล้านั้นไม่ต้องถาม เขาบอกว่าหากการดื่มเหล้ามีการแข่งขันกันเหมือนกีฬา รับรองได้ว่าตัวเองต้องติดทีมชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

“กล้าพูดได้เลยว่าเราติดทีมชาติแน่นอน เช้าก่อนเข้างานถ้ามีเพื่อนชวนก็จัดแล้ว ต้องบอกว่าดื่มทุกวัน บางวันดื่มตั้งแต่เช้ายันเย็น เมาจนไม่กลับบ้านกลับช่อง ส่วนบุหรี่นี่เราสูบจนปากดำ มือดำไปหมด กีฬาไม่ว่าจะเป็นอะไร เราไม่เคยเล่น ยิ่งเรื่องวิ่ง ย้อนหลังไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อนนี่ แทบไม่มีการจัดแข่ง มีก็น้อยมาก ไม่เหมือนปัจจุบันที่มีรายการให้ลงแข่งมากมายไปหมด”

ปัจจุบันลุงอำนาจมีอายุ 68 ปีแล้ว เขาถือเป็นนักวิ่งที่มีชื่อเสียงในวงการพอสมควร โดยเฉพาะกับการวิ่งในแนวดิ่ง วิ่งขึ้นตึก ขึ้นที่สูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ คำถามที่น่าสนใจก็คืออะไรทำให้ปีศาจสุราและสิงห์อมควันอย่างเขาเปลี่ยนใจมาผูกเชือกรองเท้าและก้าวออกไปวิ่ง

“ช่วงประมาณปี 2538-2539 มีเพื่อนผู้หญิงที่ทำงานที่เดียวกันเขาวิ่งเป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งเขาลงแข่งวิ่ง 10 กิโลเมตรไว้แล้วเกิดติดธุระไปไม่ได้ เขาก็เอาบัตรมาให้เราแล้วขอให้เราไปวิ่งแทน เราเห็นเขาขอร้องคิดว่าเอาก็เอาไปวิ่งสนุกๆ”

จากที่คิดว่าวิ่งเอาสนุก ทว่าเมื่อไปวิ่งจริงกลับไม่สนุกอย่างที่คิด เมื่อออกวิ่งไปได้แค่กิโลเดียว อำนาจก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้วิ่งไปหาเส้นชัย แต่น่าจะวิ่งไปหาความตายเสียมากกว่า เจ้าตัวหายใจไม่ทัน หน้าซีด จะเป็นลม ปากที่เคยดำเพราะสูบบุหรี่เปลี่ยนเป็นสีขาวราวกับกระดาษ

วิ่งไปกิโลฯ เดียว จะตาย ทั้งหอบ ทั้งหน้าซีด สุดท้ายวิ่งต่อไม่ไหวต้องเดินอีกร่วม 9 กิโลฯ ที่เหลือเข้าเส้นชัย แล้วเช้ามานี่ตึงไปหมดทั้งขา คิดในใจว่ากูไม่น่าไปวิ่งเลย” 

ในใจคิดว่าจะไม่วิ่งอีกแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเพื่อนคนเดิมไปสมัครลงรายการวิ่งให้อำนาจแล้วมาชวนไปวิ่งด้วยกัน ด้วยความเกรงใจอำนาจจึงลงวิ่งอีกเป็นครั้งที่สอง

“ครั้งนี้วิ่งไม่จบอีกเหมือนเดิม แต่วิ่งได้มากขึ้นเป็น 5-6 กิโลฯ เดินน้อยลง พอวิ่งเสร็จ เพื่อนเขาก็แนะนำว่าพี่ต้องซ้อม แล้วบอกว่าคราวต่อไปจะไม่ซื้อบัตรให้แล้ว คราวต่อมาเราก็ซื้อเอง จำได้ว่าราคา 100 บาท แต่ก็ยังไม่ได้ซ้อมอะไรมากคราวนี้จาก 5-6 กิโลฯ เราวิ่งเพิ่มขึ้นได้เป็น 7-8 กิโลฯ แต่ก็ยังไม่เข้าเส้นชัยเหมือนเดิม แต่คราวนี้พอวิ่งจบเราก็เริ่มมีเพื่อนมากขึ้น เขาก็แนะนำว่าคุณต้องจัดระเบียบชีวิตให้ดีถ้าอยากจะวิ่ง ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้พอ เข้านอน ตื่นนอนต้องเป็นเวลา แล้วที่สำคัญเหล้าบุหรี่ต้องเลิกเด็ดขาด พอฟังแบบนี้ เราก็ลองทำตาม แล้วดูว่ามันจะได้ผลไหม”

ก่อนลงวิ่ง 10 กิโลเมตรเป็นครั้งที่ 4 อำนาจตัดสินใจเลิกเหล้าและบุหรี่โดยเด็ดขาด จากนั้นเริ่มหันมาฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ชายวัยกลางคนตื่นนอนตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ออกวิ่งไปตามทางในหมู่บ้าน รับประทานอาหารเป็นเวลา รวมทั้งเข้านอนแต่หัวค่ำ ชีวิตวนเวียนเช่นนี้วันแล้ววันเล่า จนในที่สุดวันแข่งขันก็มาถึง

“เราจบ 10 กิโลเมตรครั้งแรกในเวลา 2 ชั่วโมงกว่าๆ เวลามันอาจจะไม่ดีหรอก แต่มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่เราเอาชนะตัวเองได้ เรารู้สึกว่าการซ้อมและดูแลตัวเอง มันเห็นผลจริงๆ หลังจากนั้นเราก็เลยเริ่มซ้อมเป็นเรื่องเป็นราวเริ่มมีชมรม มีสังคมวิ่ง เพื่อนก๊วนที่เคยตั้งวงเหล้าด้วยกันก็เริ่มหายไปจากชีวิต เราเริ่มลงงานวิ่งบ่อยขึ้น เริ่มออกต่างจังหวัด ซึ่งแต่ละงานเขาก็จะเริ่มมีการแบ่งรุ่นอายุ”

หลังจากวิ่ง 10 กิโลเมตรจนเป็นที่พอใจ อำนาจเริ่มท้าทายตัวเองมากขึ้นโดยเริ่มขยับขึ้นไปวิ่งฮาล์ฟมาราธอนในระยะทาง 21 กิโลเมตร ก่อนที่หลังจากนั้นจะคว้าถ้วยรางวัลเป็นครั้งแรกในการวิ่งที่เกาะช้าง เป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในรุ่น 50 ปีชาย

“ตอนได้ถ้วยครั้งแรกนี่รู้สึกดีใจมากๆ โดยถ้วยเป็นรูปกรมหลวงชุมพรฯ ผมเองก็เป็นคนชุมพรด้วย ผมเอาถ้วยนี้ขึ้นหิ้งบูชาที่บ้านเลย ไหว้ก่อนออกจากบ้านทุกเช้า”

อำนาจบอกเล่าถึงความรู้สึกของการได้รางวัลครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน โดยในปัจจุบันถ้วยรางวัลจากการวิ่งของเขามีกองเต็มบ้านถึงเกือบ 300 ใบ อย่างไรก็ตามเส้นทางการวิ่งของอำนาจไม่ได้จบลงตรงแค่การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนหรือฟูลมาราธอนเท่านั้น

สิ่งที่มนุษย์สูงวัยอย่างอำนาจรู้สึกท้าทายตัวเองมากกว่า ไม่ใช่การวิ่งไปข้างหน้าบนทางราบทั่วไป หากแต่คือการวิ่งแนวดิ่งให้สูงขึ้นไปบนยอดฟ้า

เป็นเส้นทางการวิ่งที่ไม่ง่ายเลยในการจะพาตัวเองไปให้ถึงเส้นชัย

วิ่งแนวดิ่ง วิ่งแบบลุงอำนาจ

ปัจจุบันในวัย 68 ปี ลุงอำนาจทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยทำงานในที่แห่งนี้มาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว หน้าที่อย่างหนึ่งของคุณลุงก็คือการเดินตรวจความปลอดภัยในโรงแรมที่มีความสูงถึง 30 กว่าชั้น ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องเดินทางเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นโลกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“แรกๆ เราก็ใช้ลิฟท์ แต่สักพักลองเปลี่ยนหันมาเดินแทน จนตอนหลังรู้สึกว่าวิ่งขึ้นแทนดีกว่าจะได้ออกกำลังกายไปในตัว จากนั้นเวลาไปตรวจงานเราก็วิ่งมาเรื่อย สมัยนั้นการแข่งขันวิ่งขึ้นตึกนี่ยังไม่มีการจัดในประเทศไทยเลยนะ แต่เรานี่เริ่มซ้อมวิ่งขึ้นตึกด้วยตัวเองมาก่อนแล้ว ” ลุงอำนาจกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

ลุงอำนาจยังตรวจงานด้วยการวิ่งขึ้น – ลงตึกโรงแรมของตัวเองอยู่เรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งประเทศไทยมีการจัดการแข่งขันวิ่งขึ้นตึกใบหยก ซึ่งถือเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้น ลุงอำนาจจึงเข้าร่วมทำการแข่งขันเช่นเดียวกับนักวิ่งคนอื่นๆ ด้วย ผลปรากฏว่าได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

“การแข่งขันรายการนี้เป็นรายการใหญ่ ผู้คนให้ความสนใจกันมาก พอเราได้รางวัลมา ผู้คนก็เริ่มพูดถึง ต่อมามีการจัดการแข่งขันวิ่งขึ้นตึกบันยันทรี ตรงสาทรอีก ปรากฏว่าเราไปได้แชมป์ที่นั่นได้เงินรางวัล เราก็ยิ่งมีแรงจูงใจ ต่อมามีการวิ่งแข่งขันวิ่งขึ้นตึก KL Tower ที่มาเลเซีย เราก็ทำผลงานดีไปคว้าถ้วยรางวัลมาอีก หลังจากนั้นเราก็หันมาซ้อมวิ่งขึ้นตึกเป็นประจำ แล้วก็ลงแข่งขันวิ่งแนวดิ่งทั้งในและต่างประเทศ โดยเริ่มจากในทวีปเอเชียก่อน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ซึ่งก็ได้ถ้วยรางวัลมาพอสมควร”

หลังจากออกวิ่งขึ้นตึกไปทั่วทวีปเอเชีย ลุงอำนาจก็เริ่มออกเดินสายแข่งขันวิ่งแนวดิ่งไปทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงการแข่งขันในรายการระดับโลกอย่างการวิ่งขึ้นหอไอเฟลที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย

“เราได้รับเชิญไปวิ่งที่หอไอเฟล ซึ่งเป็นรายการที่ยากมากๆ กว่าจะไปถึงเส้นชัย เนื่องจากเป็นการวิ่งฝ่าหิมะขึ้นไป แล้วสภาพอากาศก็แปรปรวนตลอดทาง มีทั้งลมทั้งฝน ซึ่งเมื่อเราไปถึงยอดได้มันก็ภูมิใจ และคุ้มที่จะเหนื่อย”

ลุงอำนาจบอกว่าการวิ่งในแนวดิ่งนั้น เมื่อนักวิ่งพาตัวเองขึ้นไปถึงเส้นชัยที่สูงเสียดฟ้าได้จะรู้สึกเป็นอิสระ โปร่งโล่ง เบาสบาย และมีอารมณ์คล้ายกับนักปีนเขาที่ขึ้นไปปักธงบนจุดสุดยอด

“ถ้าถามว่าเสน่ห์ของการวิ่งแนวดิ่งอยู่ตรงไหน เราว่ามันอยู่ตรงเส้นชัยเลย คุณจะได้อันดับที่เท่าไหร่ไม่เกี่ยว แต่เมื่อคุณไปถึงเส้นชัยแล้วมองลงมา คุณจะมีความรู้สึกของผู้พิชิตอยู่ในนั้น แล้วคุณจะรู้สึกอิสระ รู้สึกเหมือนตัวเองบินได้ ซึ่งมันเป็นคนละอารมณ์กับตอนที่คุณเหนื่อยปางตายหรือหายใจไม่ทันตอนที่กำลังวิ่งขึ้นมา”

ในการวิ่งแนวดิ่งหรือวิ่งขึ้นตึกหลายๆ รายการ ลุงอำนาจมักจะเป็นนักวิ่งที่มีอายุมากที่สุดในการแข่งขัน และบ่อยครั้งที่เป็นนักวิ่งไทยเพียงคนเดียวในรายการ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชายวัยเฉียด 70 ยังคงคุณภาพการเป็นนักวิ่งที่ดีเอาไว้ได้ คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เขาทำมันซ้ำไปซ้ำมาอยู่ทุกวัน

สิ่งนั้นมีชื่อว่า ’ การฝึกซ้อม’

การฝึกซ้อม

ชีวิตของลุงอำนาจผูกติดกับการวิ่งมาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว เป็น 20 กว่าปีที่เขาทำทุกอย่างด้วยความสม่ำเสมอไม่ขาดตกบกพร่อง ตื่นนอนเวลาเดิม ออกวิ่งเวลาเดิม พักผ่อนเวลาเดิม ทำอะไรแบบเดิมๆ ฟังดูอาจน่าเบื่อ ทว่าหากมองอีกมุมนี่คือการสร้างมาตรฐานให้กับตัวเอง ชนิดที่นักวิ่งหนุ่มๆ หลายคนยังทำไม่ได้

“เราฝึกซ้อมแบบเดิมๆ ทุกวันมาเป็นเวลา 20 กว่าปี โดยทุกวันอังคารถึงศุกร์เราจะตื่นนอนออกมาวิ่งทุกเช้าตั้งแต่ตี 3:30 ถึงตี 5 จากนั้นวันเสาร์เราจะพักเพื่อเตรียมลงแข่งวิ่งในวันอาทิตย์ ซึ่งเราจะสมัครแข่งขันทุกสัปดาห์ ขณะที่วันจันทร์เราจะไม่พร้อมตอนเช้า แต่จะซ้อมวิ่งขึ้นตึกที่ทำงานในช่วงเย็น โดยเราจะซ้อมทั้งหมด 100 ชั้น ตึกที่ทำงานมี 30 กว่าชั้นก็วิ่งขึ้นแล้วเดินลงประมาณ 4 เที่ยว แต่หากมีแข่งรายการใหญ่ในต่างประเทศก็จะเพิ่มการฝึกซ้อมให้หนักขึ้นเป็น 1,000 ชั้น”

ปัจจัยสำคัญของการฝึกซ้อมคือความสม่ำเสมอ สาเหตุที่ลุงอำนาจต้องซ้อมเช่นนี้ทุกวันก็เพื่อให้กล้ามเนื้อและระบบต่างๆ ในร่างกายคุ้นเคยกับการวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิ่งจากพื้นขึ้นไปสู่ที่สูง

“การวิ่งแนวดิ่งมันไม่เหมือนกับการวิ่งในทางราบปกติ นักวิ่งจะต้องมีหัวเข่าและระบบการหายใจที่ดีมากๆ เนื่องจากการวิ่งขึ้นที่สูงต่อเนื่องกันต้องใช้หัวเข่ามากกว่าการวิ่งปกติ และเมื่อวิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อากาศจะยิ่งเบาบาง การหายใจจะไม่สะดวก ยิ่งถ้าวิ่งในตึกอากาศจะไม่ปลอดโปร่ง เรียกว่าทั้งอากาศน้อยและร้อนอึดอัดจะยิ่งเหนื่อยมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางอื่นเลย นอกจากคุณต้องฝึกซ้อมให้ดี เพื่อให้ร่างกายคุณมีสมรรถภาพที่จะไปถึงยอดตึกให้ได้ ไม่ใช่เครื่องดับระหว่างทาง

“ถ้าเป็นการวิ่งทางราบเครื่องดับระหว่างทางคุณยังเดินได้ แต่การวิ่งแนวดิ่งคุณเดินพักหายใจแทบไม่ได้ เพราะมันแทบไม่มีอากาศให้คุณหายใจ มันลำบากมาก อย่างที่บอกคุณต้องซ้อมให้ถึง และคุณต้องมั่นใจว่าคุณจะขึ้นไปถึงเส้นชัยได้ในวันแข่งขัน”

แม้จะอยู่ในวัยเข้าใกล้เลขเจ็ด แต่ลุงอำนาจมั่นใจในตัวเองเสมอว่าจะพาตัวเองไปถึงเส้นชัยได้ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งในรูปแบบใด ทว่าในชีวิตจริงแล้วคุณลุงมักจะบอกกับคนรู้จักอยู่เสมอว่าเส้นชัยที่แท้จริงของเขาไม่ได้อยู่ที่จุด Finish หรือบนยอดตึก มันมีเส้นชัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นรอเขาอยู่ในสนามชีวิต

เส้นชัยไม่ใช่ยอดตึก

ไอดอลในการวิ่งของลุงอำนาจไม่ใช่เอเลียด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) ยอดนักวิ่งชาวเคนย่าผู้ทำเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในการวิ่งมาราธอน หรือพี่ตูน บอดี้สแลม หากแต่เป็นบรรดาปู่ย่าตายาย วัย 80-90 ที่วิ่งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกเช้าตามสวนสาธารณะ

“เส้นชัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราไม่ได้อยู่บนยอดตึก แต่มันคือการมีสุขภาพที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าแบบอย่างหรือไอดอลในการวิ่งของเราคือใคร ก็คือพวกคนแก่ๆ รุ่นปู่รุ่นย่าที่วิ่งทุกเช้าตามสวนสาธารณะ เราอยากเป็นแบบพวกเขาที่อายุ 80-90 แล้วยังวิ่งได้ แล้ววิ่งได้ดีด้วย บางคนที่เราเห็นมีอายุเกือบร้อยแต่ตื่นมาวิ่งทุกเช้าแบบที่วัยรุ่นยังอาย บางคนนี่วิ่งไปยิ้มไป เป็นการวิ่งที่ออกมาจากใจที่มีความสุข

“ถ้าจะให้เลือกเป็น เราอยากเป็นแบบปู่ย่าตายายเหล่านี้ ไม่ได้อยากเป็นแบบคิปโชเก ไม่ได้อยากเป็นแบบพี่ตูน ไม่ได้บอกว่าพวกเขาไม่เก่งนะ ทั้งคิปโชเก ทั้งพี่ตูน การวิ่งของพวกเขามันเลยระดับอย่างเราไปแล้ว แต่เราอยากเป็นคนที่อายุ 90 แล้วยังตื่นมาวิ่งได้อย่างมีความสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องหาหมอมากกว่า

“มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราพิชิตหอไอเฟลเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง แล้วต้องมาล้มหมอนนอนเสื่อเป็นภาระให้ลูกหลานในตอนแก่”

เส้นชัยบนยอดตึกคงไม่มีความหมาย ถ้าวิ่งแล้วไม่ได้มาซึ่งสุขภาพที่ดี

Credits

Author

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ