วันที่ต้องเริ่มใช้ชีวิตคนเดียวอีกครั้งในรอบ 51 ปี คุยกับพ่อสมเจตน์ เมฆพายัพ อายุ 73 ปี กับข้อคิดเตือนสติชีวิตและการเตรียมพร้อมก่อนวันสุดท้ายมาถึง

“วันที่แม่เสีย พ่อเพิ่งเข้าใจว่าการใช้ชีวิตคนเดียวมันยากขนาดไหน เราต้องเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตคนเดียวใหม่หมดเลย ตั้งแต่ฝึกทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน แม้กระทั่งกางเกงในที่เป็นของส่วนตัวเรายังหาไม่เจอ เพราะตอนที่แม่ยังอยู่ เขาทำทุกอย่างให้หมด ทำหน้าที่ภรรยาอย่างดีตลอด 51 ปี ที่แต่งงานกันมา”

มนุษย์ต่างวัย พาไปฟังเรื่องราวของพ่อสมเจตน์ เมฆพายัพ อายุ 73 ปี กับ “การจากลาที่ไม่มีวันหวนกลับ” วันที่ต้องสูญเสียภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 51 ปี จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก แม้จะผ่านมากว่า 2 ปี แต่สำหรับพ่อสมเจตน์ ทุกๆ วันยังเป็นช่วงเวลาทำใจ เพราะทุกความทรงจำไม่ได้อยู่แค่ในสมอง แต่ยังจดจำอยู่ในหัวใจ

พรุ่งนี้ที่ไม่มีจริง

“ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ช่วงก่อนที่แม่จะเสียชีวิต พ่อป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล 7 วัน ทุกๆ วัน แม่ก็จะมาเยี่ยม คำที่แม่บอกกับพ่อตลอดคือ ไม่เป็นไรนะพ่อ เดี๋ยวเรากลับบ้านกันนะ เดี๋ยวแม่มารับ มันก็ทำให้พ่อมีกำลังใจ เราคิดว่าทั้งแม่และบ้านรวมถึงลูก รอการกลับไปของเรา พอเช้าวันที่ 7 หมอเดินมาบอกว่าคุณลุงกลับบ้านได้แล้วนะครับ ตอนนั้นพ่อยังคิดดีใจว่า เดี๋ยวสายๆ ลูกก็จะพาแม่มารับกลับบ้าน แต่ปรากฏว่า รอแล้วรออีกก็ไม่มีใครมา มีเพียงโทรศัพท์จากลูก ปลายสายพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ‘พ่อ แม่หมดสติไปแล้ว แล้วสายก็ตัดไป’ ”

ปล่อยมือ

“หลังจากที่แม่หมดสติไป ลูกๆ ก็พาไปโรงพยาบาล เราเห็นแผ่น CT Scan สมอง ปรากฎว่าเส้นเลือดแตกหลายจุด กระจายไปทั่วสมอง อาการในตอนนั้นเหมือนอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ ครอบครัวเราต้องเลือกว่าจะปล่อยให้แม่จากไป หรือยื้อชีวิตต่อ

“หมอบอกว่า ถ้ายื้อแม่ก็ไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม ทำได้ก็แค่กระพริบตา สิ่งที่พ่อกับลูกๆ ตัดสินใจคือ ปล่อยแม่ไป อย่าทำให้แม่เจ็บอีกเลย ตามที่แม่เคยสั่งเสียเอาไว้ เพราะครอบครัวเราคุยกันเรื่องความตายอยู่ตลอดว่าถ้าเป็นอะไรอย่ายื้อ เขาไม่อยากเจ็บปวดอีกแล้ว

“ตอนนั้นพ่อก็ช็อกนะ ตัวชาทำอะไรไม่ถูก สมองมันตื้อไปหมด ไม่รู้ว่าต้องรู้สึกยังไง ถึงแม้เราเตรียมใจแล้วว่าอายุขนาดนี้สักวันเราก็ต้องตายจากกัน แต่พอถึงเวลาจริงๆ สมองกับหัวใจมันคนละส่วนกัน จำได้ว่าคนในครอบครัวมากันเยอะ เราก็ยังเข้มแข็งปลอบคนอื่นว่าให้ทำใจ แม่ไปสบายแล้ว ตอนนั้นเราก็คิดว่าเราเข้มแข็งนะ แต่หลังจากลอยอังคารเสร็จ ญาติทุกคนกลับไป ช่วงเวลาที่อยู่คนดียวนั่นแหละคือการเผชิญหน้ากับความสูญเสียที่แท้จริง”

เริ่มต้นใช้ชีวิตเองอีกครั้งในรอบ 51 ปี

“สิ่งที่ไม่น่ายากอย่างการแต่งตัวหรือหาเสื้อผ้า เรายังต้องใช้เวลาสักพัก กว่าจะเตรียมเสื้อผ้า หากางเกงใน หาเครื่องใช้ส่วนตัวเจอ เพราะแม่ทำให้พ่อทุกอย่างในชีวิตจริงๆ

“ความยากเรื่องที่สองคือ พ่อเป็นคนเรื่องมากเรื่องการกิน แกงส้มก็ต้องกินคู่กับไข่เจียว ทุกอย่างต้องเข้าคู่กันได้เป็นอย่างดี และไม่ชอบกินข้าวนอกบ้าน ไม่มีใครรับมือกับพ่อได้นอกจากแม่ ขนาดลูกยังกังวลเลยว่าจะดูแลพ่อแทนแม่ได้ไหม สุดท้ายพอเราต้องมาเตรียมอาหารกินเองมันยากนะ ทุกวันนี้กลายเป็นคนกินเมนูที่ไม่มีชื่อ มีอะไรก็ใส่รวมกันไป ปรุงนิดหน่อยพอให้กินได้ สำหรับพ่อชีวิตที่มีแม่เป็นชีวิตที่โชคดีมาก”

เปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้ลืม เมื่อลูกอยากให้พ่อ Move on

“ตอนนั้นมีแต่คนบอกให้พ่อเปลี่ยนห้องนอน ทิ้งทุกอย่าง จะได้ลืม แม้กระทั่งลูกก็พยายามจะเปลี่ยนเตียงนอนซึ่งเป็นเตียงแต่งงานของเราสองคน ตอนนั้นพ่อน้อยใจนะ พ่อบอกลูกว่าทำแบบนี้ไม่ถูก ความทรงจำอยู่ในใจ อยู่กับตัวพ่อ ไม่ใช่สิ่งของ ต่อให้ทิ้งของจนหมดบ้านแต่ก็ไม่ได้ทำให้แม่หายไปหรอก เพราะแม่ยังอยู่กับพ่อตลอด ในนี้ ในหัวใจ

“พ่อยังเก็บทุกอย่างไว้เหมือนตอนแม่ยังอยู่ ผ้าห่ม หมอนที่นอนข้างกันก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่วันนี้จะต้องนอนคนเดียว ใช้ชีวิตคนเดียวให้ได้ เมื่อก่อนขับรถไกลๆ เราก็ไม่กล้าขับคนเดียว เพราะภาพแม่จะย้อนกลับมาตลอด พอหันไปแล้วไม่เจอใจมันโหวงมาก

“ตอนนี้ก็พยายามนะ ไม่ใช่พยายามลืม แต่พยายามอยู่ให้ได้ เริ่มฝึกไปเดินห้างที่แม่ชอบไป อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้ตัวเองดีขึ้นให้ได้ เพราะพ่อก็ไม่อยากให้คนที่ยังอยู่อย่างลูกๆ เป็นห่วงที่เราเป็นแบบนี้”

สิ่งที่ค้างคาใจ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้

“พ่อคิดว่ามันเป็นค่านิยมของผู้ชายไทยสมัยก่อนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เราเป็นคนปากหนักไม่บอกรัก ไม่บอกคิดถึง ตรงไปตรงมา ไม่มีของขวัญ ไม่มีดอกไม้วันสำคัญ ขณะที่แม่เขาใส่ใจพ่อทุกอย่าง เราไม่คิดว่าผู้หญิงต้องการ เราคิดว่าเราเป็นหัวหน้าครอบครัว เรายิ่งใหญ่ที่สุดในบ้าน คนในครอบครัวต้องฟังเรา เราคือคนตัดสินใจเด็ดขาด อย่างเช่นเกษียณ พ่ออยากไปทำสวน พ่อก็ไปซื้อที่แล้วพาแม่ไปอยู่เลย ทั้งๆ ที่เขาไม่ชอบชีวิตแบบนี้ เขาชอบเดินตลาด เดินห้างดูผู้คน พ่อไปทำสวน 7 ปี แม่ไม่เคยลงมาเดินที่สวนพ่อเลย แต่เขายอมไปใช้ชีวิตกับเรา เพราะถ้าพ่ออยู่ที่ไหนแม่ก็ขออยู่ที่นั่นด้วย

“สิ่งเหล่านี้ที่ค้างคาใจ อยากย้อนกลับไปทำอะไรเพื่อเขาอีกสักครั้ง มันก็สายเกินไป เพิ่งเห็นค่าคำบอกรัก คำบอกคิดถึง เห็นค่าการฟัง ในวันที่คนที่อยากได้ยินมากที่สุดไม่อยู่ฟังแล้ว”

ใช้ธรรมนำใจ

“สำหรับพ่อ พ่อเลือกใช้ธรรมนำใจเพื่อเยียวยา มันไม่ใช่วิธีทำใจที่ดีที่สุด แต่มันทำให้เรามองเห็นสัจธรรมอีกด้านของชีวิต เครื่องทำใจที่ดีที่สุดคือเวลาและตัวเราเอง ทุกวันนี้นอกจากธรรมะ อีกอย่างหนึ่งที่พ่อทำก็คือ พ่อเป็นคนคล่องเรื่องเทคโนโลยี และเริ่มเรียนรู้เรื่องการตัดต่อด้วยมือถือ พ่อก็ใช้ตัวเองเป็นครู สอนฟรีให้กับผู้สูงอายุ เพื่อที่จะได้เป็นการทำบุญไปด้วยในตัว

“ถ้าถามว่าทุกวันนี้พ่อทำใจได้หรือยัง พ่อก็ยังทำใจไม่ได้นะ ยังคิดถึงเหมือนเดิม แต่ก็เริ่มอยู่ได้ด้วยตัวเอง ลูกไม่ต้องมาเฝ้าตลอดเวลาเหมือนช่วงแรกแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างคือครอบครัวควรคุยกันเรื่องความตาย และวางแผนความต้องการก่อนตายของตัวเองให้ทุกคนในครอบครัวได้รับรู้ พ่อคิดว่าส่วนหนึ่งคือพ่อกับแม่คุยกันเรื่องความตายบ่อยมาก อาจเป็นตัวช่วยให้พ่อฟื้นตัวได้ ถ้าไม่เคยคุยกันเรื่องการจากลาเลยคงทำใจยากกว่านี้”

“สิ่งที่พ่ออยากฝากถึงทุกคนก็คือ เมื่อยามที่ยังอยู่ดูแลกันให้ดี เมื่อสิ้นชีวีจะได้ไม่ต้องมานั่งเศร้าเสียใจ เรื่องที่คิดถึงเขามากๆ คือเรื่องที่เราเคยทำให้เขาเสียใจ ถึงจะกรวดน้ำทำบุญให้ ก็ไม่เท่ากับได้ทำตอนที่ยังมีชีวิตอยู่”

Credits

Authors

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ