“หนังสือไม่มีวันตาย” ความเชื่อของนักซ่อมหนังสือแห่งร้าน Book Clinic

ในยุคที่ใครหลายคนบอกว่าหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย ผู้คนหันไปหาความรู้และอ่านทุกสิ่งทุกอย่างจากในโทรศัพท์มือถือและสื่อออนไลน์ ชายคนหนึ่งกลับไม่เชื่อแบบนั้น ตรงกันข้ามเขากลับคิดว่าหนังสือกลับยิ่งมีคุณค่ามากกว่าเดิม

ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล เปิดร้านซ่อมหนังสือมาได้กว่า 20 ปีแล้ว ร้าน Book Clinic ของเขาไม่เพียงแต่ซ่อมแซมหนังสือให้กลับมามีสภาพดีเท่านั้น หากแต่ยังถ่ายทอดวิชาความรู้ดังกล่าวให้กับบุคคลทั่วไปอีกด้วย โดยลูกศิษย์ของภัทรพลล้วนแล้วแต่อยู่ในวัยเกษียณแทบทั้งสิ้น

สำหรับภัทรพลหนังสือและคนสูงวัยนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือยิ่งเก่ายิ่งแก่ก็ยิ่งมากไปด้วยคุณค่า และไม่ว่าจะอย่างไรทั้งสองสิ่งก็ไม่มีวันสูญสลายไปจากโลกใบนี้

คนรักหนังสือ

“ถอยหลังไป 30 ปีก่อน ร้านหนังสือแต่ละร้านนี่มีคนแน่นเลย เราเองมีความฝันว่าอยากจะเปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเองเหมือนกัน”

ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล มีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่ยังเด็ก เขาเกิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่มาเติบโตและใช้ชีวิตในเมืองหลวงย่านลาดพร้าว ด้วยความที่ในยุคสมัยที่เติบโตขึ้นมา โลกโซเชียลยังเป็นวุ้น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ก ยังไม่แจ้งเกิด สาระความรู้ ความบันเทิงเริงใจ รวมทั้งเรื่องราวต่างๆ จึงอยู่ในหนังสือเสียเป็นส่วนใหญ่

“สมัยนั้นความรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ในหนังสือนะ ทีวียังมีอิทธิพลน้อยมาก เปิดดูก็มีไม่กี่ช่องไม่เหมือนสมัยนี้ พ่อเราจะมีหนังสือ encyclopedia อยู่ 2-3 ชุด เราก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก แต่เราเป็นคนชอบหาความรู้เอาไปเถียงกับเพื่อนๆ ซึ่งอย่างที่เราบอกว่าความรู้ของคนในสมัยนั้นก็อยู่ในหนังสือเสียส่วนใหญ่”

ชายวัย 52 ปี เติบโตขึ้นมาในโลกของการอ่าน เขาเสพติดนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง เพชรพระอุมาของพนมเทียน พล นิกร กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต รวมถึงพวกหนังสือแปลต่างๆ ภัทรพลยอมรับว่าเคยอ่านนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง ทังวันทั้งคืน กว่าจะรู้สึกตัวอีกทีพระแถวบ้านก็ออกบิณฑบาต เชื่อว่าหากเอาหนังสือฉีดเข้าเส้นเลือดได้ เขาคงไม่รีรอที่จะทำมัน

ด้วยฐานะที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก ภัทรพลจึงอาศัยหาซื้อหนังสือเก่าตามแผงแบกะดินเสียเป็นส่วนใหญ่ นวนิยายดีๆ หนังสือปรัชญาของนักเขียนชื่อดัง ถูกนำมาเลหลังขายเหลือเล่มละ 10-15 บาท หากเป็นการ์ตูนก็เหลือเพียงเล่มละ 3-5 บาทเท่านั้น ลูกค้าบางรายกว่าจะซื้อก็ยืนแช่แป้งอ่านอยู่เป็นชั่วโมง

“เวลาเรียนพิเศษเสร็จเราจะชอบไปเดินแถวสนามหลวงแล้วก็ซื้อหนังสือแบกะดินหรือบางทีก็หาอ่านตามร้านเช่าหนังสือ ซึ่งสมัยนั้นมีเยอะพอสมควรเลย แต่ตอนนี้หาแทบไม่มีแล้ว พออ่านเสร็จก็เอาไปคืนก่อนวันที่กำหนด ถ้าคืนหลังจากวันที่กำหนดไว้ก็จะโดนปรับเงิน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีร้านหนังสือดอกหญ้าที่อนุสาวรีชัยสมรภูมิที่เราชอบไปหาหนังสืออ่าน

“ถอยหลังไป 30 ปีก่อน ร้านหนังสือแต่ะละร้านนี่มีคนแน่นเลย เราเองมีความฝันว่าอยากจะเปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเองเหมือนกัน แต่เมื่อมาดูทุนทรัพย์แล้วคิดว่าน่าจะเปิดได้เพียงร้านหนังสือเก่า เพราะถ้าจะเปิดร้านหนังสือใหม่เลยต้องใช้ทุนสูง”

มนุษย์แต่ละคนล้วนมีความฝันเป็นของตัวเอง เล็กบ้างใหญ่บ้าง ล้มเหลวบ้างเป็นจริงบ้าง ก็สุดแท้แต่เส้นทางชีวิตของใครของมัน สำหรับชายหนุ่มอย่างภัทรพลในตอนนั้น เขาใฝ่ฝันว่าอยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือเก่า ทว่าด้วยหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตทำให้สิ่งที่วาดหวังไว้ไม่เป็นจริง

โลกใบนี้เลือกที่จะให้เขาเป็นนักซ่อมหนังสือแทน


   จากคนรักสู่นักซ่อมหนังสือ

“หลังจากซ่อมหนังสือให้เขา เราก็เกิดไอเดียว่าน่าจะทำธุรกิจด้านนี้ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนอะไรมาก”

หลังจากเรียนจบ ภัทรพลไปช่วยงานที่ร้านถ่ายเอกสารของญาติเพื่อนที่อยู่ละแวกใกล้บ้าน ที่นั่นเขาได้ฝึกวิชาที่เป็นพื้นฐานของการซ่อมหนังสือไม่ว่าจะเป็นการเย็บเล่ม เข้าเล่ม ถ่ายพิมพ์เขียว ทากาว จนในที่สุดก็เกิดความชำนาญ จนเป็นทักษะส่วนตัว

“ตอนไปทำงานที่ร้านถ่ายเอกสารจะมีลูกค้ามาให้เข้าเล่มวิทยานิพนธ์ ซึ่งเราต้องส่งต่อไปทำที่ร้านที่เขารับเข้าเล่ม หนังสือพวกนี้โดยเฉพาะระหว่างรอเราก็นั่งดู แล้วก็คิดในใจว่าจริงๆ มันก็ทำไม่ยาก พอมาทำดูเราก็ทำได้

“วันหนึ่งลูกค้าประจำที่ร้านเขาเห็นว่าเราทำเป็นหลายอย่าง เขาก็คิดว่าเราน่าจะซ่อมหนังสือเป็นด้วย ก็เลยเอาหนังสือมาให้เราซ่อมดู”

หนังสือเล่มแรกที่ภัทรพลซ่อมเป็นหนังสือของลูกค้าประจำร้านถ่ายเอกสาร ที่ปกหลุดออกจากไส้หนังสือ ซึ่งเขาก็ใช้เวลาทำเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก เมื่อได้รับหนังสือลูกค้ายังออกปากชมว่าผลงานของชายหนุ่มทำให้หนังสือดูดีขึ้นเป็นกอง

“หลังจากซ่อมหนังสือให้เขา เราก็เกิดไอเดียว่าน่าจะทำธุรกิจด้านนี้ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนอะไรมาก”

ภัทรพลเปิดร้านซ่อมหนังสือ Book Clinic เมื่อปี 2543 แรกๆ ร้านทำท่าจะอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยเงินที่ได้จากการทำงานอย่างอื่นเล็กๆ น้อยๆ ประคองชีวิตไปก่อน หลังจากใช้เวลาสะสมลูกค้าอยู่เป็นปี ประกอบกับในช่วงเวลานั้น เริ่มมีคนแนะนำร้านซ่อมหนังสือของเขาผ่านเว็บบอร์ด จึงทำให้มีลูกค้านำหนังสือมาให้ซ่อมมากขึ้น ลูกค้าบางรายไม่มาด้วยตัวเอง ก็จะส่งไปรษณีย์มาให้

“การซ่อมหนังสือจะมีทั้งหมด 3 ระดับ คือ 1.ซ่อมแบบธรรมดา เหมือนที่ร้าน Book Clinic ของเราทำอยู่ 2.ซ่อมแบบฟื้นฟู และ 3.ซ่อมแบบอนุรักษ์ ซึ่งการซ่อมในสองแบบหลังนี้มีค่าซ่อมเป็นหลักหมื่น ในเมืองนอกจะมีการซ่อมในสองประเภทหลังนี้มาก เรียกว่าร่ำรวยจากธรุกิจนี้ได้เลย แต่ในเมืองไทยก็ไม่ได้แย่นะ มันก็มีกลุ่มลูกค้าของมันอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องอาศัยเวลาในช่วงเริ่มต้นหน่อย กว่าที่ลูกค้าจะรู้จัก ซึ่งทุกวันนี้เราก็ประกอบกิจการมาได้ 20 ปีแล้ว และก็อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งลูกค้าของเรานอกจากคนไทยแล้ว หลังๆ ก็จะมีลูกค้าต่างชาติ อย่างอังกฤษ อินเดีย หรือ อเมริกา ที่เอาหนังสือมาซ่อมกับเรา ก็จะรับส่งสินค้ากันทาง airmail บ้าง บางคนมาเที่ยวไทยพอดีก็จะฝากเพื่อนชาวไทยมา หรือบางคนถ้าอยู่ในไทยอยู่แล้วก็จะนำหนังสือมาที่ร้าน”

หลังจากประกอบธุรกิจไปได้ประมาณ 7 ปี ก็เริ่มมีสื่อต่างๆ มาถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการร้านซ่อมหนังสือของภัทรพล ทำให้ร้านของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเริ่มมีคนโทรเข้ามาเรื่อยๆ ในจำนวนคนที่โทรมาทั้งหมดไม่ใช่แค่ติดต่อเอาหนังสือมาซ่อมเพียงอย่างเดียว หากแต่มีจำนวนไม่น้อยที่สนใจอยากจะมาเรียนวิชาซ่อมหนังสือกับเขา

“มีคนโทรเข้ามาถามพอสมควรว่าสนใจที่จะสอนไหม เขาอยากเรียน เราก็เลยลองเปิดสอนดู โดยเปิดเป็นคอร์สให้เรียน 4 วัน แต่หลังจากนั้นก็หยุดไป กระทั่ง 5 ปีที่แล้ว ก็มีคนเริ่มติดต่อเข้ามาอีก ก็เลยตัดสินใจเปิดสอนอีกครั้ง ซึ่งปรากฏว่ามีคนเข้ามาเรียนอยู่เรื่อยๆ”

จากธุรกิจที่ทำท่าว่าจะไปไม่รอดในช่วงแรก มาวันนี้ไม่เพียงแต่เลี้ยงชีพได้ แต่เจ้าของ Book Clinic อย่างภัทรพล ยังมีบทบาทเป็นอาจารย์สอนซ่อมหนังสือเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

เพียงแต่ลูกศิษย์ของเขาแทบไม่มีใครอยู่ในวัยเดียวกันเลยสักคน


นักเรียนวัยเกษียณ

“งานซ่อมหนังสือเป็นงานที่ต้องใจเย็น ค่อยๆ ทำบางทีมันมีหลายกระบวนการให้ต้องรอคอย ซึ่งถ้าเป็นวัยรุ่นหรือคนที่ใจร้อนจะทำงานแบบนี้ไม่ได้”

นักเรียนที่มาเรียนซ่อมหนังสือกับภัทรพลแทบไม่มีใครอายุต่ำกว่า 60 ปี แถมบางคนตัวเลขยังเข้าใกล้หลักเจ็ดเสียด้วยซ้ำ

“กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มาเรียนซ่อมหนังสือกับเราคือคนสูงวัย จะมีคนหนุ่มหรือคนอายุน้อยกว่าเราน้อยมากๆ ซึ่งตอนแรกก็งงเหมือนกันไม่คิดว่าคนสูงวัยจะสนใจซ่อมหนังสือกันขนาดนี้”

เจ้าของร้าน Book Clinic วัย 52 ปี บอกว่านักเรียนของเขาโดยมากจะเป็นคนสูงวัยที่เตรียมตัวหากิจกรรมอะไรสักอย่างทำเพื่อที่จะได้ไม่ต้องนั่งเหงาอยู่บ้านเฉยๆ หลังเกษียณอายุจากการทำงาน ซึ่งการซ่อมหนังสือก็ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เหมาะกับพวกเขา เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป ที่ผ่านมาลูกศิษย์ทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี จะมีปัญหาอยู่บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“งานซ่อมหนังสือเป็นงานที่ต้องใจเย็น ค่อยๆ ทำ บางทีมันมีหลายกระบวนการให้ต้องรอคอย เช่น เมื่อทากาวเสร็จแล้วต้องทิ้งไว้ รออีกหนึ่งชั่วโมงกว่าจะแห้ง ในระหว่างที่รอก็อาจจะไปทำงานตัวอื่น หลังจากนั้นค่อยกลับมาทำงานตัวเดิมต่อ คือมันจะไม่เสร็จในทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นวัยรุ่นหรือคนที่ใจร้อนจะทำงานแบบนี้ไม่ได้

“เราว่างานใจเย็นแบบนี้เหมาะสำหรับคนสูงวัยนะ นั่งทำไปเรื่อยๆ ฆ่าเวลา แต่มันก็จะมีที่ต้องระวังอยู่บ้าง เช่น ต้องคอยดูให้เย็บหนังสือให้ตรง หรือเจาะรูไม่เบี้ยว เนื่องจากสายตาของพวกเขาอาจไม่ดีเท่ากับตอนยังหนุ่มๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไร”

ภัทรพลถ่ายทอดวิชาทุกอย่างให้กับนักเรียนทุกคนของเขา เท่าที่แต่ละคนจะเรียนรู้ได้หากแต่จะกำหนดนักเรียนในแต่ละคอร์สให้มีจำนวนไม่เกิน 5 คน เพื่อที่จะดูงานได้อย่างทั่วถึงไม่เกิดความผิดพลาด

“เคยมีสถานที่แห่งหนึ่งให้เราไปสอน แล้วมีคนมาเรียนทั้งหมด 30 คน จากที่จะได้ความรู้ กลายเป็นว่ามันวุ่นวายเละเทะไปหมด คือเราไม่มีเวลาดูอย่างละเอียด พอมาเปิดสอนเอง เราเลยสอนแค่ทีละ 5 คน มันดูได้ง่าย มีเวลาที่จะสอนเขาได้เต็มที่ ซึ่งแต่ละคนเขาก็รับฟังนะ บางคนเป็นระดับอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหาในชีวิตจริงมากมาย แต่พอต้องมาเรียนเขาก็วางตัวดี อีกอย่างเราก็สอนเขาแบบใจเย็นด้วย ค่อยๆ บอกเขา เขาทำพลาดบ้างก็ไม่หงุดหงิด ส่วนหนึ่งก็เพราะตอนเด็กๆ เราโตมากับยาย เลยไม่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับผู้สูงอายุ”

ความเพลิดเพลิน ทำให้ภัทรพลรู้สึกว่าเวลาในการสอนผ่านไปเร็วมาก เช่นเดียวกับนักเรียนบางคนที่รู้สึกว่าการได้มาเรียนซ่อมหนังสือที่ Book Clinic ก็เหมือนกับการเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไปในวัยเกษียณ

“พอเกษียณเราตั้งใจว่าจะเดินทางไปเที่ยว ทีนี้ถ้าเกิดในระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวแล้วเราก็สามารถทำอะไรได้สักอย่างที่มันเป็นประโยชน์ก็คงจะดี ก็เลยมาเรียนซ่อมหนังสือ เพื่อที่ว่าถ้าเกิดเราซ่อมหนังสือเป็น เราก็จะได้เดินทางไปเที่ยวด้วย แล้วก็ซ่อมหนังสือให้เด็ก ๆ ด้วย เราก็ได้เติมเต็มชีวิตด้วยการทำประโยชน์ให้คนอื่น เด็กก็ได้อ่านหนังสือสภาพดีๆ”

หากสิ่งที่นักเรียนวัยเกษียณแห่งโรงเรียน Book Clinic กล่าวไว้เป็นความจริงนั่นย่อมหมายความว่าการเรียนซ่อมหนังสือย่อมมีอะไรมากไปกว่าการได้หนังสือที่มีคุณภาพกลับมาอีกครั้ง

หรือแท้จริงแล้วการซ่อมหนังสือในอีกมิติหนึ่ง อาจหมายถึงการที่เรากำลังได้ซ่อมแซมชีวิตของตัวเองไปด้วย

อ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อวัน มันไม่ใช่เรื่องจริง

“เท่าที่สัมผัสจริงๆ ผมว่าคนไทยก็เป็นคนรักการอ่านอยู่นะ ถ้าเกิดเขาไม่รักการอ่านจริง อาชีพอย่างเราก็คงอยู่ไม่ได้มาถึงตอนนี้หรอก”

ภัทรพลไม่เคยเห็นด้วยกับค่าเฉลี่ยที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด ในทางตรงกันข้ามเขากลับเชื่อว่าคนไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้คนยังมีนิสัยรักการอ่าน

“สำหรับเรา ค่าเฉลี่ยที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด นี่ไม่เป็นความจริง คือเขาคิดเอาจากยอดขายหนังสือเฉลี่ยกับจำนวนคนในประเทศและเวลาต่อปี แต่เขาไม่ได้คิดรวมหนังสือมือสอง หรือหนังสือเล่มเก่าที่มีอยู่เข้าไปด้วย หรือบางวันที่คุณอ่านนวนิยายเล่มเก่าที่เคยอ่านนานแล้วซ้ำอีกรอบ ตรงนี้เขาก็ไม่เอามาคิด

“เท่าที่สัมผัสจริงๆ ผมว่าคนไทยก็เป็นคนรักการอ่านอยู่นะ ถ้าเกิดเขาไม่รักการอ่านจริง อาชีพอย่างเราก็คงอยู่ไม่ได้มาถึงตอนนี้หรอก”

เจ้าของร้าน Book Clinic ให้ความเห็นว่าจริงๆ แล้ว นิสัยรักการอ่านของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนไป หากแต่พฤติกรรมการอ่านต่างหากที่ไม่เหมือนเดิม พูดง่ายๆ ก็คือผู้คนส่วนใหญ่อ่านหนังสือกันน้อยลง แต่จะเสพความรู้จากสื่อออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากโทรศัพท์มือถือ เฟซบุ๊ก หรือ เพจต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมุนไปตามโลกที่มันเป็น

“ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นแม้แต่ตัวผมเองยังหาความรู้จากสิ่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือเลย คือตอนนี้ความรู้มันกระจายไปทั่ว มันไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือหรือโทรทัศน์เหมือนเดิมแล้ว แต่มันอยู่ในเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ของเราไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ ไอแพด โน้ตบุ๊ก

“แต่ถ้าถามว่าระหว่างการอ่านจากหนังสือจริงๆ กับการอ่านจากเครื่องมือเหล่านี้ เราก็ยังชอบการได้อ่านหนังสือมากกว่าอยู่ดีนะ เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์กว่า มันมีกลิ่นกระดาษลอยขึ้นมาเวลาอ่าน ที่สำคัญเลยคือมันดูเป็นจริงและจับต้องได้ มันรู้สึกมีความลึกซึ้งกว่าเวลาที่อ่านหนังสือ”

นอกจากจะรู้สึกดีกับการอ่านหนังสือมากกว่า ภัทรพลยังมองว่าต่อให้พฤติกรรมการอ่านของคนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่หนังสือก็ไม่ได้มีคุณค่าน้อยลง และอย่างไรก็ไม่มีวันตายไปจากโลกนี้แน่นอน

“จริงอยู่ที่ผู้คนในปัจจุบันนิยมเสพสื่อออนไลน์กันมากขึ้น แต่เราก็คิดว่าคุณค่าของหนังสือไม่ได้ถูกลดทอนลงนะ จำนวนพิมพ์หนังสือที่น้อยลง จะทำให้หนังสือกลายเป็นของหายาก และมีคุณค่ามากขึ้น หนังสือหลายเล่มเริ่มกลายเป็นสิ่งที่คนหาเก็บสะสม ทั้งที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาได้ไม่นาน

“เชื่อผมเถอะ ไม่ว่าจะยังไง หนังสือก็เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตายไปจากโลกใบนี้แน่นอน”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ