ยายพิมพร อายุ 82 ปี เจ้าของร้านทำผมราคาไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

ยายพิมพร อายุ 82 ปี เจ้าของร้านทำผมราคาไม่เกินหนึ่งร้อยบาท

ที่ทำทุกวันนี้ก็ไม่ได้หวังรวย แค่อยากแบ่งปันความสวยในราคาประหยัดอีกอย่างคือหาเพื่อนคุยแก้เหงาด้วย ดีกว่าปล่อยให้ชีวิตหมดไปวันๆ   

ยายชอบทำผมตั้งแต่สมัยสาวๆ แต่ตอนนั้นเราเรียนครู ไม่มีโอกาสทำตามฝัน ด้วยความที่เราก็ยังยึดมั่นว่าเรารักในการทำผม พอหลังเรียนจบเลยขอแม่ไปเรียนทำผมและตัดเสื้อที่กรุงเทพ แล้วมาเปิดร้านได้อยู่ 2 ปี ก็เริ่มมีความขัดแย้งจากคนที่ทำงานด้วย เพราะเรายังเด็ก ตอนนั้นอายุ 17 เอง พอเป็นแบบนี้หลายครั้งจึงตัดสินใจสอบบรรจุเพื่อรับราชการครู และได้สอนในวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี สอนชั้น ประถม 1-6

ถึงแม้ยายจะตัดสินใจเข้ารับราชการครู แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งความรักความชอบในเรื่องการทำผม

เพราะยายเปลี่ยนจากการทำผมที่เป็นงานหลักมาเป็นงานเสริมหลังจากสอนเสร็จในแต่ละวัน ก็จะมาตัดผม สำหรับยายเป็นเสมือนช่วงเวลาเริ่มต้นความสุขในชีวิตที่ได้ทำสิ่งที่เรารักอีกครั้ง สมัยนั้นยังสาวก็เปิดร้านตั้งแต่โรงเรียนเลิกยันถึงช่วง 4 ทุ่ม

ด้วยความที่ยายเป็นครู ยายก็จะสรรหาสิ่งต่างๆ มาสอนนักเรียนเสมอ เราเลยใช้เรื่องการตัดผมสอนเด็กๆ เพิ่มเติมเข้าไปจากวิชาเรียนปกติ โดยอาศัยช่วงพักกลางวันเปิดสอนฟรี ใครอยากเป็นช่างทำผม ใครอยากตัดผมฟรี ให้รวมตัวกันมา สมัยนั้นยายก็จะรีบกินข้าวไม่ถึง 5 นาที กินได้ไม่กี่คำ แล้วก็รีบไปรอเด็กๆ เด็กเองแทนที่จะไปวิ่งเล่นสนุกเขารีบกินข้าวเพื่อมารอเรียนกับเราด้วย เขาก็สนุกกันใหญ่ได้ตัดผม โดยเฉพาะเด็กผู้ชายนะ สนใจเรื่องการตัดผมมากกว่าผู้หญิงด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญคือยายไม่เคยดุด่าเด็กเลย เด็กเลยไม่กลัวที่จะเข้าหาเรา ช่วงชีวิตตอนนั้นก็เป็นอะไรที่มีความสุขที่สุดเลยก็ว่าได้

พอเกษียณมาแล้ว ยายก็ยังเปิดร้านทำผมอยู่เหมือนเดิม และยังคงเป็น “ราคาเดิม”

เมื่อ 30 ปีก่อนคิดราคาเท่าไหร่ ตอนนี้ก็เท่าเดิม เพราะว่าลูกค้าส่วนใหญ่ก็มาจากลูกศิษย์ที่เคยมาตัดผม และพาเพื่อน พาครอบครัวมา บางคนเรียนจบไปแล้วก็ยังไปพาเพื่อนกลุ่มใหม่มาอีก เป็นแบบนี้มาหลายปีเราก็ไม่อยากจะขึ้นราคาเลยใช้ราคานี้มาตลอด ตอนนี้ยายก็ปรับเวลามาเปิดเป็นช่วงเช้า ถึงประมาณ 6 โมงเย็น ปรับให้เข้ากับอายุ เพื่อให้งานกับสุขภาพ สอดคล้องกัน

มีคนเคยถามว่า ทำไมยายยังต้องทำผม ลูกหลานไม่เลี้ยงเหรอ?

ยายขอตอบตรงนี้เลยว่าลูกเลี้ยงดีมาโดยตลอด และยายเองก็มีบำนาญข้าราชการ แต่ที่ยังทำเพราะเราไม่อยากปล่อยให้ตัวเองเฉา การได้ทำผมก็เหมือนกับการออกกำลังกาย เพราะใช้แรงเยอะ ร่างกายก็จะได้แข็งแรงไปด้วย เงินทองที่ได้มาคงไม่ได้มากมายอะไร อย่างน้อยก็เอาไปเป็นทุนซื้อหวยบ้างเล็กน้อยให้พอชื่นใจ อีกสิ่งหนึ่งคือเราเหงานะพอเราอายุมากขึ้นแล้วต้องอยู่แต่กับหน้าจอทีวี การที่มีคนมาทำผมมันเหมือนเติมเต็มหัวใจคนแก่ไม่ให้เหงา ได้พูดคุย ได้ทำให้เขาสวย เห็นเขาชอบเราก็มีความสุข เพราะเราเป็นผู้หญิงเรารู้ดีเลยว่า ผู้หญิงทุกคนอยากสวยอยากดูดีกันทั้งนั้น

ทุกวันนี้นอกจากเปิดร้านทำผม สิ่งหนึ่งที่ทำเสมอ คือ เรียนศึกษาเพิ่มเติม

ติดตามเทรนด์การทำผมตลอด เวลามีงานมาจัดแสดงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ยายก็ยังไปดูตลอด เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม จะได้ตามทันโลกด้วย เพราะไม่มีใครแก่เกินเรียน เราก็อยากให้ลูกค้ามั่นใจด้วยว่าถึงราคาทำผมเราจะถูก แต่เราก็มีความรู้ ไม่ได้ทำลวกๆ วัยนี้แล้วความสุขมันไม่ใช่เรื่องของเงิน แต่ความสุขมันคือการส่งต่อความสุขให้คนอื่นสุขเช่นเดียวกัน

สระไดร์ผมสั้น 30 บาท ผมยาว 40 บาท ถึงจะราคาถูก แต่เราต้องทำให้ดีที่สุด ที่ยายทำเพราะอยากแบ่งปันความสวยในราคาประหยัด อีกอย่างคือหาเพื่อนคุยแก้เหงา”

ยายพิมพร คุ้มทอง อายุ 82 ปี

ผู้สร้างค

วามสุขด้วยการส่งต่อความสุขจากสิ่่งที่รัก

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ