Ageism ปรากฏการณ์เหยียดวัยทั่วโลก เมื่ออายุไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข

หากพูดถึงการเหยียดเพศหรือเหยียดเชื้อชาติ หลายคนอาจนึกออกทันทีว่าหมายถึงอะไร การเหยียดเพศก็คือการเลือกปฏิบัติกับคนคนหนึ่งด้วย ‘เพศ’ ของคนคนนั้น ส่วนการเหยียดเชื้อชาติคือการเลือกปฏิบัติกับคนคนหนึ่งเพียงเพราะ ‘เชื้อชาติ’ ของคนคนนั้น

การเหยียดเพศหรือเหยียดเชื้อชาติมีอยู่จริงไหม ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องถกเถียงกันอีกต่อไป เพราะไม่ว่าประเด็นไหนล้วนมีประวัติศาสตร์และบทเรียนเป็นรูปธรรมให้พวกเราจับต้องได้ อย่างเรื่องเงินเดือนของผู้หญิงที่น้อยกว่าผู้ชายทั้งที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน หรือการแบ่งแยกบริการสาธารณะสำหรับคนผิวขาวและคนผิวดำที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก็ดี แต่การ ‘เหยียดวัย’ ยังเป็นปัญหาที่ได้รับการพูดถึงน้อยมาก หรืออาจไม่เป็นที่นึกถึงสำหรับหลายๆ คนด้วยซ้ำ

Ageism คืออะไร?

การเหยียดวัย หรือที่เรียกว่า ‘Ageism’ คือการเลือกปฏิบัติ (Discriminate) การเหมารวม (Stereotype) หรือการมีอคติ (Prejudice) ต่อคนคนหนึ่งเพียงเพราะอายุของเขา พูดไปก็อาจจะไม่เห็นภาพ แต่เวลาร่อนใบสมัครงาน พวกเราคงคุ้นเคยกับประโยคเหล่านี้ดี

‘คุณสมบัติผู้สมัครอายุ 2x-3x’

‘รับเฉพาะผู้สมัครอายุไม่เกิน 3x’

ทั้งที่อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่เห็นว่าหน้าที่การงานของตำแหน่งนั้นจะต้องใช้อายุช่วยทำตรงไหน งานบางงานก็เป็นแค่งานออฟฟิศนั่งโต๊ะธรรมดาแท้ๆ ไม่เห็นจะต้องใช้ ‘ความเยาว์วัย’ ของร่างกายและจิตใจมาทำตรงไหนเลย แล้วทำไมต้องกำหนดอายุผู้สมัครด้วย?

หากคำตอบคือ

“ก็คนแก่ไม่มีแรง”

“ก็คนแก่เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ได้”

“ก็คนแก่ตามโลกไม่ทัน”

นั่นคือเราอาจตกหลุมพรางของการเหยียดวัยเข้าให้แล้ว เพราะเรากำลัง ‘เหมารวม’ ว่า “ถ้าคุณอายุ x ปี คุณต้อง… แน่ๆ” ทั้งที่คนคนนั้นอาจยังมีเรี่ยวแรง ทันสมัย หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพราะมีประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชน ทว่าเรากลับเลือกที่จะไม่ให้โอกาสเพราะ ‘อายุ’ ของพวกเขาเท่านั้นเอง

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการเหยียดวัย และการเหยียดวัยไม่ใช่ปัญหาที่เราจะหลับหูหลับตาได้อีกต่อไป

การ ‘เหยียดวัย’ อีกหนึ่งปัญหาการ ‘เหยียด’ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557 พบว่า ในประชากร 83,000 คน จาก 57 ประเทศทั่วโลก จะมีคนราว 1 ใน 2 คนที่มีทัศนคติ ‘เหยียดวัย’ ตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงสูง และเมื่อมองในระดับประเทศ ก็จะพบประเทศที่มีทัศนคติเหยียดวัยปานกลางไปจนถึงสูงคิดเป็น 34 จาก 57 ประเทศเลยทีเดียว

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่พบได้ทั่วโลก แม้กระทั่งในทวีปเอเชียที่มีวัฒนธรรมการเคารพผู้สูงอายุมายาวนาน ก็มีข้อมูลจากงานวิจัยว่ากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของปัญหาการ ‘เหยียดวัย’ เช่นกัน

โดยแบบสำรวจขององค์การอนามัยโลกฉบับเดียวกันระบุว่า กลุ่มประเทศ ‘รายได้น้อย’ ถึง ‘ปานกลางค่อนข้างน้อย’ อย่าง ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ และ ‘แอฟริกา’ มีทัศนคติเหยียดวัยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ขณะเดียวกัน การศึกษาในปี 2558 จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังพบว่า ชาวเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ เอเชียตะวันออก มีทัศนคติต่อผู้สูงอายุในแง่ลบสูงมาก เมื่อเทียบกับชาวตะวันตกในทวีปยุโรปที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก และชาวตะวันตกจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา เป็นต้น

แต่เห็นอย่างนี้ ผลการศึกษาเมื่อปี 2562 ของ มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต พบว่า ประชาชนในประเทศที่มีความปัจเจกนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา หรือเยอรมนี ก็มีการเหยียดวัยไม่แพ้ประชาชนในประเทศสังคมรวมหมู่ (Collectivist) อย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และบราซิล เช่นกัน

แม้อัตราการ ‘เหยียดวัย’ ของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไปในงานวิจัยแต่ละชิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การเหยียดวัย’ ของพวกเรากำลังปรากฏออกมาให้เห็นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้มีการรวบรวมให้เห็นว่า การ ‘เหยียดวัย’ ของเรากำลังเผยตัวออกมาในแวดวงใดได้บ้าง

การเหยียดวัยที่แฝงตัวอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม

เช่นเดียวกับการเหยียดเพศหรือเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดวัยไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างบุคคลกับบุคคลเท่านั้น แต่ยังแฝงตัวอยู่ในระบบและภาคส่วนต่างๆ ของสังคมที่อาจมองเห็นได้ยากกว่า อย่างเช่นการเลือกรับคนเข้าทำงานที่เราได้ยกตัวอย่างไปในช่วงต้น

สอดคล้องกับผลการศึกษาของประเทศสเปนที่มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในการรับคนเข้าทำงานของตลาดแรงงานในกรุงมาดริด พบว่าอายุมีผลต่อโอกาสที่ผู้สมัครจะได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทอย่างมาก โดยผู้สมัครที่อายุ 28 ปี มีโอกาสได้รับการติดต่อกลับมากกว่าผู้สมัครที่อายุมากกว่า 38 ปี ถึง 77 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่พบว่า แม้พนักงานส่วนใหญ่ในบริษัทที่ทำการศึกษาจะมีทัศนคติที่ดีต่อพนักงานที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่พนักงานเกินครึ่งก็ยังเชื่อว่าพนักงานที่อายุ 50 ปีขึ้นไป “ไม่สนใจงานที่มีความท้าทาย” หรือ “สามารถรับการฝึกฝนได้ยากกว่า”

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ในแวดวงสาธารณสุขที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ ก็ยังมีปรากฏการณ์ของการเหยียดวัยเกิดขึ้นให้เห็นเช่นกัน

จากการตรวจสอบงานวิจัย 149 ชิ้น โดยองค์การอนามัยโลก พบว่ากว่า 85% ของงานวิจัยระบุว่า ‘อายุ’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ตัดสินว่าคนไข้จะได้รับการรักษาอย่างไร เช่น การหยุดการรักษาหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อยื้อชีวิต นอกจากนี้ผลการตรวจสอบงานวิจัย 49 ชิ้นที่ศึกษาเรื่องอายุกับการถูกกีดกันจากงานวิจัยทางการแพทย์ในด้านต่างๆ ยังพบหลักฐานของการ ‘เหยียดวัย’ และการกีดกันคนกลุ่มหนึ่งออกจากงานวิจัยทางการแพทย์ด้วย

โดยการศึกษาทั้ง 49 ชิ้นนี้พบว่า ผู้สูงอายุมักถูกกีดกันออกจากงานวิจัยทางการแพทย์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านอายุรกรรม ประสาทวิทยา หทัยวิทยา มะเร็งวิทยา จิตวิทยา ฯลฯ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนไข้ส่วนใหญ่ของโรคที่อยู่ในการวิจัยเหล่านั้น ทำให้ยาหรือวิธีรักษาที่ถูกทดลองอาจไม่มีประสิทธิภาพต่อผู้สูงอายุเท่าที่ควร รวมทั้งขาดข้อบ่งชี้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการใช้กับคนไข้สูงอายุไปด้วย

จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าหลายๆ ประเทศมีมาตรการไม่ให้ผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงออกจากที่พัก หรือไม่ให้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คนแออัด

แต่แทบไม่มีใครนึกถึงว่ามาตรการดังกล่าวก็อาจแฝงการเหยียดวัยไว้เช่นกัน เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ออกแบบมาตรการนั้น มักจะอาศัยอายุทางปฏิทิน (Chronological Age) เพียงอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงอายุทางชีวภาพ หรือความต้องการของผู้สูงอายุที่หลากหลาย ทำให้เกิดการ ‘เหมารวม’ ว่าผู้สูงอายุทุกคนมีความเปราะบางแบบเดียวกัน เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้ว ผู้สูงอายุเองก็มีความต้องการและมีความเปราะบางที่หลากหลาย การกำหนดมาตรการด้วยการมองว่าพวกเขา ‘สูงอายุ’ เหมือนกัน จึงอาจถือเป็นการกีดกันและบั่นทอนการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุบางส่วนด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น การนำเสนอว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคของ ‘ผู้สูงอายุ’ และมาตรการกักตัวต่างๆ ที่พุ่งเป้าไปยัง ‘ผู้สูงอายุ’ แต่เพียงกลุ่มเดียว ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมด้วยว่า

“ยังเด็กอยู่ถึงติดไปก็ไม่เป็นไรหรอก”

“ยังเด็กอยู่คงไม่ติดหรอก”

“ยังเด็กอยู่ไม่ต้องระวังมากก็ได้”

ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการควบคุมการระบาดโดยรวม อย่างที่พวกเราอาจได้เห็นกันบ้างตามข่าวจากประเทศต่างๆ

ทางออกที่ควรได้รับความสนใจจากปัญหา ‘เหยียดวัย’

เนื่องจากปัญหาการเหยียดวัยกำลังปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ องค์การอนามัยโลกจึงได้นำเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเฉพาะเจาะจง

โดยมาตรการที่องค์การอนามัยโลกนำเสนอ แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

1. การกำหนดนโยบายและกฎหมาย

สามารถเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาปรากฏการณ์เหยียดวัยได้ ด้วยการกำหนดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ประชาชนเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะผ่านการลงโทษ หรือผ่านข้อกำหนดและระเบียบการต่างๆ นอกจากนี้การมีนโยบายและกฎหมายยังเป็นการ ‘เซตระบบ’ ให้ผู้คนมีที่พึ่งพาเวลาพบเห็นหรือประสบปัญหาการถูก ‘เหยียดวัย’ ด้วยตัวเอง

2. การจัดกิจกรรมในระบบการศึกษา 

คือการทำให้ความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในหลักสูตร อย่างเช่นในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการผสานกิจกรรมเรียนรู้และทำความรู้จักกับผู้สูงวัย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิชาสังคมและสุขศึกษาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเด็กๆ จะได้พูดคุย เล่นเกม ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อนๆ และผู้สูงอายุ ถือเป็นการท้าทายแนวคิดและเปิดมุมมองของตัวเองต่อผู้สูงอายุ

การบ้านหนึ่งของกิจกรรมนี้ คือการที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หนึ่งอย่างจากผู้สูงอายุที่แวดล้อมอยู่ในชีวิตของตัวเอง ซึ่งหลักสูตรนี้จะนำไปสู่การแก้ไขอคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้น้อยลง และช่วยให้เด็กๆ มีมุมมองต่อผู้สูงอายุดีขึ้นอีกด้วย

3. การเพิ่มกิจกรรมของคนระหว่างวัย 

คือการให้คนแต่ละวัยได้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัย โดยกิจกรรมอาจมีทั้งการให้เด็กๆ ได้ไปเป็นอาสาสมัครในบ้านพักผู้สูงอายุ หรือการที่ผู้สูงอายุแชร์ที่อยู่อาศัย (Home-Sharing) ร่วมกับคนหนุ่มสาว ซึ่งจากการศึกษาโดยองค์การอนามัยโลกพบว่า

‘การเพิ่มกิจกรรมของคนระหว่างวัย’ และ ‘การจัดกิจกรรมในระบบการศึกษา’ เป็นมาตรการที่ได้ผลอย่างยิ่งในการลดทัศนคติเหยียดวัยต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำมาตรการทั้งสองอย่างมาใช้ร่วมกัน

ยกตัวอย่างในฮ่องกง ได้มีกิจกรรมให้นักศึกษาแพทย์และพยาบาลเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และพบปะพูดคุยกับผู้สูงอายุเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวม 10 สัปดาห์ เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจปัญหาของการเป็น ‘ผู้สูงวัย’ ตามความเป็นจริง

ซึ่งภายหลังกิจกรรม นักศึกษาแพทย์และพยาบาลได้แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของผู้สูงอายุมากขึ้น อีกทั้งยังมีทัศนคติแง่ลบต่อผู้สูงอายุน้อยลงอีกด้วย

ด้วยอัตราการเกิดที่น้อยลงอย่างรวดเร็วของประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาการ ‘เหยียดวัย’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราอีกต่อไป ไม่เพียงเท่านั้น การเหยียดวัยไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุแต่เพียงฝ่ายเดียว เด็กและคนหนุ่มสาวก็สามารถประสบปัญหาถูกเหยียดวัยได้เช่นกัน

ฉะนั้นการตระหนักถึงปัญหาการเหยียดวัย และเร่งหาวิธีป้องกันทัศนคติดังกล่าว จึงเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ และเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำพวกเราไปสู่สังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกวัยได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

ภาพจาก : www.pexels.com

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ