เกิดที่ไทย เกษียณที่ไหนดี?
read : SOCIETY
read : SOCIETY
อยากใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่ไหน?
เมื่อโลกกำลังมุ่งหน้าสู่สังคมสูงวัย หลายประเทศปรับนโยบายให้เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของวัยเก๋า ขณะที่เหล่าผู้เกษียณฝั่งยุโรปและอเมริกามากมายย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตแสนสงบต่างบ้านต่างเมือง และมีผู้สูงวัยชาวไทยไม่มากที่ย้ายไปใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างแดน
เชื่อว่าลึกๆ แล้วผู้สูงวัยหลายคนคงแอบฝันถึงบั้นปลายชีวิตในต่างแดนอยู่ไม่น้อย
ลองมาดูกันว่านอกจากอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ทำธุรกิจพอประมาณ ย้ายไปทำสวนที่ต่างจังหวัดแล้ว การย้ายไปอยู่ต่างประเทศหลังเกษียณเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน และต้องเตรียมตัว เตรียมตังค์อย่างไรถึงจะพอ เพราะตอนนี้มีหลายประเทศที่เปิดทางให้ต่างชาติวัยเกษียณไปใช้ชีวิตด้วย Retirement Visa ไปง่าย ถูกกฎหมาย แถมได้สิทธิประโยชน์เพียบ
ในยุคสมัยที่ Silver Age คือช่วงวัยแห่งอิสระ บางคนฝันว่าอยากลองผจญภัยในต่างแดนสักครั้งในชีวิต แต่ด้วยฟ้าไม่ลิขิต ค่าใช้จ่าย จังหวะชีวิต และภาระที่ไม่ลงตัวทำให้พลาดโอกาส พอใกล้เกษียณ ในโลกปัจจุบันนี้ ดูเหมือนทุกอย่างก็เริ่มเป็นใจ ผู้คนเจ็บป่วยน้อยลง (ไม่นับรวมโรคระบาด) อายุยืนขึ้นเพราะการแพทย์และการดูแลสุขภาพ เงินเก็บหรือเงินบำนาญที่สามารถหล่อเลี้ยงไปได้ทั้งชีวิต รวมถึงเทคโนโลยีก้าวหน้าเอื้อให้ใช้ชีวิตทั่วโลกได้ จะโทรหา ดูแลธุรกิจ หรือรับงานฟรีแลนซ์ข้ามทวีปกลายเป็นเรื่องปรกติ ยิ่งค่าเครื่องบิน low cost ยิ่งทำให้การเดินทางง่ายดาย นี่อาจเป็นจังหวะที่หลายคนรอคอยกับการผจญภัยครั้งใหม่หลังเกษียณ
อากาศดีคือรางวัลของชีวิต อบอุ่นสบายไม่หนาวเกินไป
อากาศหนาวกับความสูงวัยไม่ค่อยถูกกัน ทั้งเสี่ยงเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ปวดไขข้อ อากาศเย็นทำให้หัวใจทำงานมากกว่าปรกติ ทำให้อยากกินอาหารที่มีไขมันสูง และไม่อยากออกจากบ้าน!! ส่วนอากาศอบอุ่นนอกจากดีต่อระบบหมุนเวียนโลหิตยังกระตุ้นให้อยากทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ดีต่อสุขภาพด้วย ไม่น่าแปลกใจว่าประเทศยอดฮิตของเหล่า Silver Age มักอยู่แถวชายฝั่งทะเล ท้องฟ้าสวยแสงแดดอุ่นๆ ตลอดปี และนาทีนี้ถ้าเจอเมืองที่ฝุ่น PM 2.5 น้อยถือว่าดีเลิศ
จ่ายไหว ไม่ร้อนเงิน แม้วัยเกษียณจะมีบำนาญจากภาครัฐแต่ในเมื่อรายได้ไม่เติบโต ทุกการใช้จ่ายต้องคุ้มค่า โดยเฉพาะการย้ายประเทศนั้นมีทั้งค่าใช้จ่ายจริง และค่าใช้จ่ายแฝงเต็มไปหมด ลองเสิร์ชหาประเทศที่ค่าครองชีพไม่สูงและมีสวัสดิการดี อาหารการกินเยี่ยม ค่าเช่าบ้านสบายกระเป๋า เช่น โซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางใต้ของยุโรป หรือแม้แต่เกาะรอบๆ บาฮามาส การเลือกไปอยู่เมืองเล็กๆ ประหยัดรายจ่ายมากกว่าใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ บางประเทศมีนโยบายเก็บภาษีต่ำเพื่อให้ผู้สูงวัยรายได้จำกัดอยู่ได้อย่างสบายใจ
คุณภาพชีวิตดี อะไรก็ดี ผู้สูงวัยบางคนผจญมลพิษและความรีบเร่ง หรือเย็นชาของเมืองตลอดชีวิต ก็อาจอยากปลีกวิเวกไปอยู่ชนบทท่ามกลางธรรมชาติ ในขณะที่คนชนบทก็รู้ซึ้งถึงปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานก็อยากเข้าเมือง เมื่อประสบการณ์ที่ผ่านมาต่างกัน วัยเกษียณย่อมมีความต้องการต่างกัน เราอาจคุ้นเคยกับความเหลื่อมล้ำของสังคมเมืองและต่างจังหวัด แต่บางประเทศไม่ว่าอยู่เมือง หรือชนบทคุณภาพชีวิตก็ไม่ต่างกันนัก ถ้าภาครัฐจัดสรรระบบสาธารณสุขและการคมนาคมได้ดี มีพื้นที่เอื้อให้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และถ้าเจอชุมชนชาวเกษียณต่างชาติกระจายตัวอยู่ในเมือง ยิ่งตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ว่า เมืองนั้นอาจเหมาะกับการใช้ชีวิตบั้นปลายจริงๆ
สุขภาพสำคัญที่สุด บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมในราคาสมเหตุสมผลคือสิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึง ไม่ว่าจะดูแลสุขภาพดีแค่ไหนก็ไม่อาจหนีโรคภัยไข้เจ็บได้ เรามักติดกรอบว่าต้องประเทศมหาอำนาจเท่านั้นถึงมีระบบการรักษาและโรงพยาบาลที่ดี แต่ในหลายประเทศมีมาตรฐานการรักษาเทียบเท่าโรงพยาบาลชั้นนำของโลก เหล่าแพทย์และผู้ชำนาญการรวมถึงเทคโนโลยีทันสมัยก็ไม่ได้แตกต่างกัน แถมยังราคาถูกกว่าอีกด้วย
สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งคือระบบการแพทย์มาตรฐานระดับโลกแต่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าอเมริกาถึง 10 เท่า ช่วงก่อนโควิดชาวต่างชาตินับล้านคนเดินทางมารักษาตัวที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ ทุกโรงพยาบาลมีผู้เชี่ยวชาญ คนไข้จึงไม่ต้องรอคิวรักษานานเป็นเดือน แพทย์ส่วนใหญ่ได้รับการอบรมจากอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แม้ว่าค่าบริการจะไม่แพงแต่การดูแลจากเจ้าหน้าที่นั้นยืนหนึ่ง และพร้อมจะให้คำปรึกษาไม่ว่าคุณจะเจ็บป่วยมากหรือน้อยก็ตาม
กว่า 500 ปีที่ผ่านมามาเลเซียมีชาติพันธุ์หลากหลายทั้งมาเลย์ จีน อินเดีย และยุโรป ผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมเราสามารถพบอาหารตั้งแต่สตรี ต ฟู้ดแสนอร่อยยันอาหารนานาชาติในราคาถูกกว่าเมืองไทย และงานเทศกาล งานรื่นเริง กว่า 300 เทศกาลต่อปี
ปานามาเป็นประเทศเล็กๆ ที่เชื่อมต่ออเมริกากลางกับใต้ ด้วยที่อุณหภูมิพอเหมาะแก่การดำรงชีวิต และชิลล์ แถมยังมีสภาพภูมิประเทศและธรรมชาติแปลกตาไม่รู้เบื่อ อย่างเมืองปากปล่องภูเขาไฟ Anton's Valley หรือ El Valle รายล้อมด้วยป่าเขียวชอุ่มห่างจากปานามาซิตี้เพียง 2 - 3 ชม. ชาวต่างชาติวัยเกษียณบ้างมาเปิดธุรกิจเล็กๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ โรงแรม ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมด้วยภูมิอากาศเย็นสบายอยู่ระดับความสูง 2,000 ฟุต เต็มไปด้วยน้ำตก น้ำพุร้อน เส้นทางเดินป่า สระน้ำธรรมชาติ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
กลับมาฝั่งเอเชีย หมุดหมายยอดฮิตของฝรั่งวัยเกษียณที่เว็บไซต์ Internationalliving.com จัดอันดับประเทศน่าใช้ชีวิตหลังเกษียณประจำปี 2022 (International Living’s 2021 Global Retirement Index by the Numbers) โดย ‘มาเลเซีย’ ขึ้นแท่นอันดับ 15 ในชาร์ต ซึ่งในปีนี้อันดับตกลงมาเพราะมีมาตรการจำกัดวีซ่าเข้มข้นจากสถานการณ์โควิด (จากที่เคยเป็นอันดับ 7 ในชาร์ต) แต่ในคะแนนของบริการทางการแพทย์และปัจจัยในการใช้ชีวิตคุณภาพยังคงสูงลิ่วตามเคย
หลังจากเดินทางมากว่า 70 ประเทศ 2 สามีภรรยายูทูปเบอร์ท่องเที่ยววัย 40 ปีตกลงกันว่ามาเลเซียคือที่ที่ทั้งคู่จะย้ายมาอยู่หลังเกษียณ หลังจากใช้ชีวิตในมาเลเซีย 1 ปีเต็ม ไรอันและเอมิลี่ เจ้าของช่องยูทูป Snail Travelers เล่าว่า “เหตุผลแรกที่เราอยากย้ายมาอยู่ที่นี่คือผู้คน ชาวมาเลเซียใจดีและเป็นมิตร อาจเพราะคนที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษกันในชีวิตประจำวันจึงทักทายและพูดคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ” ป้ายบอกทางมีทั้งอังกฤษและมาเลย์ กฎหมายก็ใช้ระบบอังกฤษ ที่สำคัญชาวมาเลย์ในเมืองท่องเที่ยวยังพอพูดภาษาไทยได้ด้วย “จากการย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ปีนังคือเมืองที่มีชุมชนชาวต่างชาติวัยเกษียณเยอะที่สุด และสิ่งสำคัญคือที่มาเลเซียค่าครองชีพถูก” ค่าใช้จ่ายของทั้งคู่อยู่ที่ประมาณเดือนละ 46,000 บาท ส่วนระบบขนส่งคมนาคมนั้นดีกว่าบ้านเราหลายเท่า เทียบชั้นได้กับอเมริกาในราคาที่ถูกกว่าเยอะ
ด้วยภูมิประเทศเป็นป่าฝนเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธรรมชาติในมาเลเซียอุดมสมบูรณ์ อากาศร้อนชื้นคล้ายคลึงกับไทย แต่หากอยากหนาวขึ้นมา Cameron Highland เมืองพักตากอากาศเย็นสบายบนที่สูงก็พร้อมสำหรับการพักผ่อน ถ้าอยากผจญภัย อุทยานแห่งชาติคินาบาลู (Kinabalu Park) ได้รับยกย่องว่าเป็นมรดกโลกจาก UNESCO พร้อมให้คุณปีนเขาที่สูงสุดในมาเลย์ แถมรายล้อมด้วยอุทยานทางทะเลอุดมสมบูรณ์ และหากลองเปรียบเทียบค่ามลพิษทางอากาศ ก็จะพบว่ามาเลเซียมีค่าเฉลี่ยอากาศปลอดโปร่งและฝุ่นน้อยกว่าที่ไทยเสียอีก
มาเลเซียมีวีซ่าที่เหมาะกับผู้เกษียณคือ ‘Malaysia My Second Home’ (MM2H) เป็นวีซ่า 10 ปีให้กับชาวต่างชาติและจะต่ออายุอัตโนมัติเมื่อวีซ่าหมด ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะต้องฝากเงินในธนาคารมาเลเซียประมาณ 1,170,000 บาท หรือมีรายได้จากเงินบำนาญภาครัฐหรือจากธุรกิจส่วนตัวเดือนละ 80,000 บาท เงินที่นำเข้ามาในมาเลย์ไม่ต้องเสียภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอวีซ่า และมาเลเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ แถมถูกกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 10 เท่า
ที่นี่ยังเป็นฮับของสายการบินโลว์คอร์สที่มีเที่ยวบินนานาชาติ การเดินทางไปต่างประเทศจึงเป็นเรื่องง่ายและราคาไม่แพง ถ้าคิดถึงเมืองไทยเมื่อไหร่ ทั้งเครื่องบินและรถไฟเชื่อมต่อ เดินทางไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงบ้าน
นอกจากวีซ่าลดแลกแจกแถมจะดึงดูดชาวเกษียณทั่วโลกให้เหลียวมองปานามาแล้ว เสน่ห์ของปานามานั้นครบองค์ทั้งวิวภูเขาป่าดิบชื้น มหาสมุทร วัฒนธรรมที่ผสานจากทั้งอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ และสเปนพร้อมระบบสาธารณะสุขและการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า จนตอนนี้ถูกปักหมุดให้กลายเป็นสวรรค์ชีวิตในปลายอันดับต้นๆ
ส่วนเมืองในฝันของปานามาที่ชาวต่างชาติย้ายมาเกษียณเยอะที่สุดคือ Boquete เมืองบนภูเขาสูง 4,000 ฟุต ที่มีอากาศเหมือนอยู่ในฤดูใบไม้ผลิตลอดเวลา เพชรเม็ดงามของผู้รักการสังสรรค์และกิจกรรมกลางแจ้ง มีตั้งแต่ขี่ม้า เต้นรำ ตีกอล์ฟ มีเทศกาลแจ๊สและบลูส์ประจำปี โดดเด่นเรื่องกาแฟและกล้วยไม้ แถมยังมีอุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่ง ที่นี่ผู้คนมักใช้เวลานอกบ้าน ทั้งเดินตลาด เที่ยวเล่น และดื่มด่ำกับ Slow Food
เมื่อพูดถึงอเมริกากลางหลายคนอาจตั้งคำถามถึงความปลอดภัย แต่จากข้อมูลพบว่านอกจากปานามาจะแทบไม่พบภัยธรรมชาติแล้ว ยังเป็นประเทศที่ปลอดภัยสูงพอสมควร ชาวต่างชาติและนักธุรกิจมากมายมาปักหลักอยู่ที่นี่ และไม่มีปัญหาเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม
น้ำประปาปานามาดื่มได้ ด้วยเป็นเมืองเศรษฐกิจและมีชื่อเสียงระดับโลก ปานามามีระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัย โดยเฉพาะระบบขนส่งที่ดีที่สุดในโซนอเมริกากลาง เราสามารถนั่งรถไฟใต้ดินในราคาต่ำกว่า 15 บาทต่อเที่ยว ดื่มเบียร์ในราคา 66 บาท และเอร็ดอร่อยกับซีฟู้ดได้ในราคาไม่เกิน 400 บาท ส่วนแพทย์ที่นี่ส่วนใหญ่เทรนด์จากสหรัฐและพูดภาษาอังกฤษปร๋อ มากกว่านั้น อุปกรณ์การแพทย์ ยา และเทคโนโลยีในโรงพยาบาลได้มาตรฐานพอๆ กับอเมริกาเหนือและยุโรป และแน่นอนว่าค่าบริการถูกกว่า 50%
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 รัฐบาลปานามามีโครงการ ‘Panama Pensionado Program’ โปรแกรมที่พักอาศัยวัยเกษียณที่เปิดรับผู้คนจาก 50 ประเทศทั่วโลกให้มาใช้ชีวิตหลังเกษียณได้นานเท่าที่ต้องการ พร้อมมอบสิทธิประโยชน์เทียบเท่าผู้เกษียณชาวปานามา เช่น ดูหนัง ชมคอนเสิร์ต ลด 50% และค่าโดยสารต่างๆ ลดเพิ่ม 30% ค่าที่พักในโรงแรมลด 30 - 50% เมื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลลดเพิ่มอีก 15 - 20% และหากจองตั๋วเครื่องบินกลับบ้านก็ได้รับส่วนลด 25 % ส่วนเงื่อนไขการรับวีซ่าคือ ต้องมีเงินบำนาญประมาณ 34,000 บาท ต่อเดือน หรือถ้ามีไม่ถึงก็สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในปานามามูลค่า 3,400,000 บาท เพื่อให้ได้วีซ่ามาครอง ส่วนการใช้ชีวิตอยู่ที่ประมาณ 45,000 บาทต่อเดือนรวมทุกอย่าง บ้านพักอยู่สบายในราคาจับต้องได้
นอกจากเป็นบ้านเกิดของ คริสเตียโน โรนัลโด คุณรู้จักอะไรในโปรตุเกสอีกบ้าง?
ถ้ายุโรปคือที่ที่อยากปักหมุดแต่กลัวงบจะบานปลาย โปรตุเกสนับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะนอกจากอากาศอบอุ่นแล้วความปลอดภัยยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่นี่มีตั้งแต่หมู่บ้านเงียบสงบในชนบทจนถึงเมืองพลุกพล่านริมทะเล ชายฝั่งยาวเหยียดติดมหาสมุทรแอตแลนติกทำให้โปรตุเกสกลายเป็นเมืองพักร้อนยอดฮิต เช่น ภูมิภาค Algarve ที่ CNN และ Forbes ยกให้เป็นโซนเมืองเกษียณที่ดีที่สุดในโลก มีเมืองประมงเล็กๆ ตอนใต้ที่มีเอกลักษณ์และเสน่ห์เฉพาะตัวสูง พื้นถนนปูด้วยอิฐก้อนเล็กเรียงตามตรอกซอกซอย ขนาบข้างด้วยตึกขาวโพลนเคียงกับหาดทรายสีทองทอดยาวสุดสายตา บรรยากาศรื่นรมย์โรแมนติก
ขณะที่ลิสบอนเมืองหลวงแห่งแสงแดดของโปรตุเกสตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแอตแลนติก นอกจากความงามทางธรรมชาติโปรตุเกสก็มีบทบาททั้งในด้านธุรกิจ ศิลปะ ความบันเทิง รวมถึงอารยธรรมโบราณที่ยังมีให้เห็นตลอดเมือง สถาปัตยกรรมเก่าแก่ผสานกับตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในเมืองงดงามด้วยกระเบื้องหลากสีสัน พิพิธภัณฑ์ พระราชวัง ระบบรถรางมีประสิทธิภาพ บริการสุขภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก ที่เจ๋งสุดคือผู้คนอัธยาศัยดี แถมยังติดอันดับประชากรที่มีความสุขที่สุด มั่งคั่ง และสุขภาพดีที่สุดเมืองหนึ่งอีกด้วย
ชาวยุโรปส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่โปรตุเกสหลังเกษียณเพราะค่าครองชีพต่ำกว่าที่อื่น โครงสร้างพื้นฐานเมืองดีเยี่ยม ส่วนวีซ่าสำหรับคนวัยเกษียณที่ขอไม่ยากคือ Golden Visa เป็นวีซ่าที่เกิดมาเพื่อดึงดูดผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติใน EU แต่สามารถลงทุนซื้อสินทรัพย์ในโปรตุเกสประมาณ 18,850,000 บาท ขึ้นไปในเมืองหลัก และประมาณ 13,195,000 บาท ในเมืองรอง และคาดว่าจะได้ผลตอบแทน 3 - 7% ต่อปี ซึ่งวีซ่าประเภทนี้ขอได้ง่ายกว่า Retirement Visa ส่วนรายจ่ายต่อเดือนคนละ 49,000 – 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าใช้ชีวิตในเมืองหรือต่างจังหวัด ส่วนอาหารมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ทั้งหมดมีแบบส่งตรงจากฟาร์มในราคาไม่แพง ไม่ต้องพึ่งพาอาหารแปรรูป
นอกจาก 3 ประเทศ 3 ทวีปที่ยกตัวอย่าง ยังมีอีกหลายประเทศที่เหมาะกับชาวเกษียณอย่าง เวียดนามที่กำลังพัฒนาขนส่งสาธารณะให้แข็งแกร่งขึ้น ค่าครองชีพต่ำ และโดดเด่นเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ คอสตาริก้าผู้ถูกขนานนามว่าสวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกากลาง นอกจากระบบดูแลสุขภาพยอดเยี่ยมที่นี่ยังเงียบสงบและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ เม็กซิโกเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและกิจกรรมสำหรับวัยเกษียณ ทั้งงานอาสาสมัคร ดนตรีสด ปาร์ตี้ท้องถิ่น ฯลฯ สเปนมีระบบสาธารณสุขดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมโครงสร้างพื้นฐานทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า ขนส่ง ยังสะอาดสะดวกสบายในค่าครองชีพที่เอื้อมถึง ส่วนไทยเองในปี 2022 ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 11 โดยทางผู้จัดประเมินจากที่อยู่อาศัย ความยากง่ายของการให้วีซ่า สิทธิประโยชน์ของสูงวัย ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ภูมิอากาศ ระบบสาธารณสุข และบริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่าย โดยจังหวัดท็อปลิสต์ คือ เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต
แม้การย้ายประเทศจะเต็มไปด้วยเรื่องตื่นเต้นและมีชีวิตชีวา แต่บางครั้งอุปสรรคที่ตามมาก็ไม่ใช่น้อย อุปสรรคแรกที่ต้องก้าวข้ามคือ การตัดสินใจของตัวเองและเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การเผชิญความโดดเดี่ยวเมื่อย้ายไปอยู่ในที่ใหม่ๆ อาหารการกินต่างไป อาจต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ ศึกษาวัฒนธรรมและนิสัยคนท้องถิ่น รัฐบาลและระบบดูแลสุขภาพอาจแตกต่างออกไปจากที่คุ้นเคย ค่าเงินที่เปลี่ยนไป สถานภาพที่แตกต่าง บางเมืองอาจมีมิจฉาชีพหรือนักธุรกิจที่จ้องจะเอาเปรียบคนต่างชาติ แต่ทั้งหมดต้องนำกลับมาชั่งน้ำหนักว่าการย้ายไปอยู่ต่างเมืองคือความต้องการแท้จริงของเราหรือไม่
ถ้ายังรู้สึกค้างคาใจ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติม ถามคนที่เคยมีประสบการณ์ หากมีโอกาสลองเดินทางไปสำรวจ ลองใช้ชีวิตในประเทศนั้นๆ อาจทำให้พบสถานที่ตรงใจแม้ไม่ได้อยู่ในท็อปลิสต์ที่หลายสำนักแนะนำ
ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ คงจะมีความท้าทายใหม่ มีปัญหาใหม่ๆ รอให้เราแก้ไข ปรับตัว ก้าวข้าม แต่นี่อาจจะเป็นชีวิตใหม่ที่หลายคนมองหา ชีวิตเกษียณที่ยังคงมีชีวิตชีวา และสนุกกับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เสมอ
อ้างอิงจาก
https://www.springnews.co.th
https://web.facebook.com
https://www.liveandinvestoverseas.com
https://internationalliving.com
https://www.panama-offshore-services.com
https://mikecoady.com
Youtube Channel : Snail Travelers