Move To Heaven คำขอครั้งสุดท้าย ที่เปลี่ยนความตายให้กลายเป็นเพื่อนร่วมทาง

“ขอต้อนรับสู่การขนย้ายครั้งสุดท้ายของคุณ” 

เราต่างเคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และในวันหนึ่งเราเองก็ต้องกลายเป็นผู้จากไป ไม่ว่าจะบทบาทไหนล้วนแต่สร้างความเจ็บปวด นี่คงเป็นเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมเราถึงอยากให้คุณดู Move To Heaven ซีรีส์เกาหลีแสงอุ่นที่กำลังได้รับความนิยมทาง Netflix นอกจากท่วงท่าและโทนเรื่องพรากน้ำตา วิธีการเล่ายังผลักเราให้ลงไปงมหาความเชื่อมโยงระหว่างการมีชีวิตและความตาย

Move To Heaven คือบริษัทเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุหลังการตายของ ฮันจองอู พ่อแสนดีของลูกชายวัย 20 ปี ฮันกือรู เด็กหนุ่มผู้เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ เขามีปัญหาในการแสดงออกและไม่อาจเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น แต่ข้อดีของอาการคือทำให้เขามีความจำที่แม่นยำ และถ้าได้ลองหมกมุ่นอยู่กับอะไรแล้วฮันกือรูจะพยายามทำจนสำเร็จ ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นในฐานะพนักงาน Move To Heaven เพราะนอกจากการทำความสะอาดพื้นที่เกิดเหตุ อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญคือการส่งข้อความครั้งสุดท้ายของผู้ตาย


ดูของทั้งหมดในกล่องให้ดีๆ จะมีช่วงที่ลูกเริ่มเห็นว่าผู้ตายอยากพูดอะไร และมีความในใจอะไรที่อยากบอก

ฮันจองอูสอนให้ลูกชายสังเกตข้าวของรอบตัวผู้ตาย พิจารณาอย่างไร้อคติ มองด้วยความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เพื่อค้นหาข้อความที่ผู้จากไปอยากบอก ชิ้นส่วนในความทรงจำจะถูกคัดเลือกและบรรจุลงกล่องสีเหลืองรูปทรงเรียบง่าย เพื่อส่งต่อให้กับญาติหรือใครสักคนที่ยังมีชีวิต เรื่องน่าจะจบลงตรงนี้และผู้ตายคงถูกส่งไปสู่สวรรค์ แต่มันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด หลายครั้งที่กล่องใบนี้ถูกโยนทิ้งไม่ต่างจากขยะ เพราะคนใกล้ตัวมองไม่เห็นค่าของเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในสิ่งธรรมดา Move To Heaven จึงต้องคอยไขปริศนาเพื่อเชื่อมโยงความทรงจำขึ้นมาอีกครั้ง   ตามแก้ปมความสัมพันธ์ว่ายากแล้วแต่ฮันกือรูกลับเจอชะตากรรมที่ยากกว่า เมื่อฮันจองอูเสียชีวิตกะทันหัน ทิ้งให้ฮันกือรูผู้ไม่เคยร้องไห้รับช่วงต่อกิจการและทำหน้าที่พูดแทนผู้ตายต่อไป โดยมีผู้ปกครองคนใหม่ โจซังกู น้าชายสายโหดที่เพิ่งออกจากคุก และ ยุนนามู เพื่อนสาวข้างบ้านมาคอยช่วยเหลือ

ก่อนที่ฮันจองอูจะตาย เขาขอกอดลูกชายโดยไม่รู้ว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้าย ในขณะที่ฮันกือรูเองแม้จะสื่อความรู้สึกผ่านคำพูดไม่ได้ แต่การเชื่อฟังและทำตามที่พ่อสอนคือการแสดงความรักในแบบของเขา ฮันกือรูไม่อาจเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อน การสื่อสารระหว่างพ่อลูกจึงเต็มไปด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมา ฮันจองอูปลูกฝังให้ลูกชายใส่ใจผู้คนรอบข้างท่ามกลางสังคมที่มองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางและแกล้งลืมเลือนปัญหา ต่อเมื่อมันบานปลายจนแก้ไม่ทันความรู้สึกผิดค่อยเกิดขึ้นหลังจากนั้น เหมือนกับฮันกือรูที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่อะแควเรียมถึงไม่ช่วยเหลือปลาบาดเจ็บในตู้ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันป่วย หรือเหตุการณ์คุณครูอนุบาลถูกแฟนหนุ่มทำร้ายจนตายคงไม่เกิดขึ้นหากเพื่อนและคนรอบข้างสังเกตเห็นและยื่นมือเข้าช่วย หน้าที่ของ Move To Heaven จึงกลายเป็นเครื่องย้ำเตือนปัญหาความสัมพันธ์ของคนในสังคม

ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเวลานั้นของเรามาถึง อะไรคือสิ่งที่อยากเก็บลงกล่องความทรงจำของตัวเอง ในช่วงวิกฤตที่ความตายเขยิบเข้าใกล้ตัวและเร่งด่วนจนแทบไม่ทันล่ำลา การเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับความตายในทุกวันอาจดีต่อทั้งตัวเราและผู้ที่อยู่ข้างหลัง ในตอนหนึ่ง Move To Heaven ได้รับคำขอให้เข้าไปเก็บกวาดสถานที่เกิดเหตุ พอไปถึงกลับพบศพคู่รักสูงวัยนอนตายเคียงข้างกัน ผู้ที่ส่งคำขอแท้จริงคือคุณตาที่เสียชีวิตไปแล้ว คุณตาคือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหอพักที่โดนปลดออกจากงานก่อนพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ส่วนคุณยายพักรักษาตัวในศูนย์ดูแลผู้ป่วย ทั้งคู่ตัดสินใจใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในสวนดอกไม้เล็กๆ หลังที่พักเพื่อนั่งดูพระอาทิตย์ตกด้วยกันก่อนกินยาฆ่าตัวตาย ในขณะที่สังคมเกาหลีกำลังเปลี่ยนแปลง คนสูงวัยจำนวนมากถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง การเกษียณเร็วกว่ากำหนด สุขภาพที่ย่ำแย่ การใช้ชีวิตบั้นปลายนั้นยากลำบาก แต่คุณตาก็ยังมองเห็นความงดงามของการมีชีวิตและจัดสรรช่วงเวลาสุดท้ายในแบบที่ตัวเองและคนรักต้องการ เมื่อเราตระหนักว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติและอาจเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา การมีชีวิตอยู่เพียงเสี้ยวนาทีจึงมีคุณค่าและควรใช้ให้คุ้มค่าอย่างแท้จริง

แม้ตัวซีรีส์จะใช้วิธีดึงความตายมาชูรสให้ชวนติดตาม แต่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่คือความเจ็บปวดในการดำเนินชีวิต มองเผินๆ การละเลยและถูกทอดทิ้งดูเป็นปัญหาระดับบุคคล แต่ความจริงเกิดจากค่านิยมที่ผิดเพี้ยนและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแตกสลายของระบบครอบครัวและความสัมพันธ์ ไม่เฉพาะผู้สูงวัย แต่คนวัยทำงานเองต่างถูกผลักไสให้รับมือกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตเพียงลำพัง ล้วนเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเล่าตลอดเรื่อง เด็กหนุ่มคนขยันจากบ้านเกิดมาหางานทำในเมืองเพื่อหวังให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นแต่กลับถูกสังคมการทำงานเอารัดเอาเปรียบจนนาทีสุดท้าย หญิงชราถูกทิ้งให้ตายอย่างโดดเดี่ยว ตลอดช่วงสุดท้ายของชีวิตเธอปรารถนาจะมอบของขวัญชิ้นสุดท้ายให้กับลูกชายเพียงคนเดียวที่ทอดทิ้งเธอ หรือเด็กกำพร้าเกาหลีที่ถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวต่างประเทศจนเติบโต เมื่อรู้ว่าอวัยวะภายในไม่สมประกอบกลับถูกเนรเทศกลับมาเกาหลีและใช้ชีวิตเพียงลำพัง ผู้คนเหล่านี้ล้วนถูกทอดทิ้งให้ดิ้นรนด้วยตัวเองจากการพัฒนาประเทศที่ปลูกฝังให้คนมุ่งหวังเพียงความก้าวหน้าและเงินทอง

โกด็อกซา (Godoksa) ความตายอย่างเดียวดายในเกาหลีใต้เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนปัญหาโครงสร้างความสัมพันธ์ สังคม และเศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วและเป็นสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ นอกจากวัยชราและวัยกลางคนที่เสียชีวิตเพียงลำพังในเกาหลี วัยรุ่นอายุ 20-30 ปีที่แยกมาอยู่เองก็มีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น เพราะต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ตัดขาดความสัมพันธ์กับญาติมิตรและผู้คนรอบข้าง นอกจากนี้การเกษียณอายุก่อนกำหนด การหย่าร้าง และการว่างงานของคนรุ่นใหม่ล้วนสร้างความเครียดและโดดเดี่ยวมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มสูงวัยได้รับการดูแลจากภาครัฐบ้าง แต่ในกลุ่มอื่นๆ กลับไม่ได้รับการเหลียวแล

แม้ในความเป็นจริงจะไม่มีฮันกือรูมาคอยส่งสารจากผู้ตาย และบริษัทจัดเก็บสัมภาระของผู้ตายยังไม่มีในเมืองไทย แต่เราก็พอมีตัวช่วยให้การจัดการครั้งสุดท้ายง่ายดายขึ้น

เพจ Peaceful Death คือชุมชนออนไลน์ของกลุ่มเพื่อนกิจกรรมที่แลกเปลี่ยนแนวคิดการอยู่ดีและจากไปด้วยดี โดยไม่หลีกเลี่ยงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย และยังพัฒนาเครื่องมือสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจรวมทั้งเยาวชนได้ทบทวนเรื่องราวของความตาย เพื่อใช้ชีวิตปัจจุบันกันอย่างเกื้อกูล ‘สมุดเบาใจ ’ เป็นเครื่องมือวางแผนการจัดการสุขภาพล่วงหน้าเมื่อถึงช่วงเวลาสุดท้าย เป็นสารที่มีไว้สื่อกับครอบครัว คนใกล้ตัว และทีมแพทย์ ช่วยลดความขัดแย้งและบอกเล่าความต้องการของตัวเราเอง ‘ เกมไพ่ไขชีวิต ’ เกมไพ่คำถามเรื่องชีวิตและความตายที่ช่วยสร้างบทสนทนาพาเราสู่กระบวนการคิดและพัฒนาความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว นอกจากนี้ยังมีบทความน่าสนใจ หนังสือชวนอ่าน และกิจกรรมชวนฟังทยอยจัดตลอดเวลา นอกจากเรื่องราวความตาย การใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายก็สำคัญไม่แพ้กัน เพจชีวามิตร Cheevamitr Social Enterprise นั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีประโยชน์กับผู้ป่วยเองและคนที่ดูแลผู้ป่วย ทั้งการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในผู้ป่วยระยะท้าย วิธีสื่อสารกับผู้ป่วย การจัดการเรื่องมรดกทรัพย์สิน ฯลฯ เมื่อถูกสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเป็นมิตร การเผชิญหน้ากับความตายคงไม่น่ากลัวเท่ากับที่เราจินตนาการไปเอง

เรื่องราวของความตายสัมพันธ์กับการมีชีวิตอย่างแยกไม่ได้ แท้จริงแล้วความตายอาจไม่น่ากลัวหรือซับซ้อนเท่าที่เราคิด แต่สิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดคือความไม่เข้าใจ ไม่ได้เตรียมใจ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตแบบหลงลืมตัว ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นมิติความตายที่หลากหลายมากกว่าความโศกเศร้าหรือการสูญเสีย อย่างน้อยที่สุดมันทำให้เราได้กลับมาทบทวนคุณค่าของช่วงเวลาปัจจุบัน กลับมาสำรวจว่าใครบ้างที่เราทิ้งไว้ระหว่างทาง หรือเราเองต่างหากที่กำลังถูกทอดทิ้ง แม้จะอยู่ในบทบาทไหน แต่สิ่งที่เราทุกคนทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนวันเดินทาง ถึงความกลัวจะไม่ได้ลดลงนัก แต่อาจทำให้เราก้าวผ่านช่วงเวลานั้นด้วยหัวใจที่สงบในแบบที่เราต้องการ

ภาพ :  www.netflix.com

ที่มาข้อมูล : www.koreaherald.com

Credits

Author

  • สุธิดา บุบผากลิ่น

    Authorนักเขียน ยืนหนึ่งเรื่องเขียนงานช้า เพราะมัวกินราเมงและเดินป่า หลงรักการฝึกหายใจ สูดกลิ่นชา โยคะ และบำบัด ฟังเหมือนชีวิตแสนเก๋ แต่เปล่าค่ะ ฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ