Shoes Maker Home แห่งฝั่งธน จากโรงงานผลิตรองเท้าสู่โฮสเทลสุดชิค

หญิงวัย 66 ปี ที่เกิดและใช้ชีวิตมากับการทำรองเท้า แม้เมื่อโรงงานที่เปิดมากว่าครึ่งศตวรรษมีอันต้องปิดตัวลง แต่ความสุขของเธอก็ไม่ได้หายไป โรงงานรองเท้าแฮนด์เมด กลายมาเป็นโฮสเทลสุดชิค และเรื่องราวชีวิตจากยุคเสื่อผืนหมอนใบ  งานที่ทำด้วยความใส่ใจของผู้คนหลายวัยก็ยังคงดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวาในพื้นที่ใหม่ ‘Shoes Maker Home’

จุดเริ่มต้น

“เตี่ยของเราอพยพนั่งเรือมาจากเมืองจีน มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ ก่อนได้งานเป็นลูกจ้างร้านทำรองเท้า จากนั้นเมื่อเริ่มมีประสบการณ์ พอเก็บเงินได้มาเช่าบ้านแล้วก็เปิดเป็นร้านขายรองเท้า แรกๆ เตี่ยกับแม่ก็ทำกันสองคน ต่อมาก็เริ่มมีลูกน้อง 1-2 คนมาช่วยกัน แล้วก็ค่อยๆ ขยับขยายกิจการไปเรื่อยจนเติบโตเลี้ยงดูลูกๆ ทุกคนในครอบครัวได้”

มนเพ็ญ กิจยิ่งโสภณ บอกเล่าถึงธุรกิจแรกเริ่มของครอบครัวซึ่งต้องย้อนอดีตไปเมื่อราว 50 ปีก่อน หญิงร่างเล็กวัย 66 ปี เล่าว่าในสมัยก่อนการจะทำรองเท้าออกมาวางขายแต่ละคู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทุกขั้นตอนล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทำมือ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรเหมือนในสมัยนี้

“การทำรองเท้าในสมัยก่อนเริ่มต้นจากการออกแบบ ต้องคิดว่าจะทำออกมาหน้าตาเป็นอย่างไรแบบไหน จากนั้นก็วาดมือใส่กระดาษแข็ง โดยต้องวาดทั้งในส่วนด้านล่างที่เป็นพื้นรองเท้า และส่วนด้านบนที่เป็นตัวรองเท้าเมื่อออกแบบแล้วก็หาซื้อวัตถุดิบ นำยางมาตัดทำพื้น นำผ้าหนังมาปูทำพื้นด้านในซึ่งระหว่างพื้นด้านในกับด้านนอกจะต้องกั้นด้วยฟองน้ำที่นิ่มกำลังดี หากน้อยไปพื้นจะแข็งสวมใส่ไม่สบายเท้า มากไปก็จะทำให้เท้าพลิกได้

“ส่วนชั้นบนก็แล้วแต่แบบที่เราออกไว้เลยว่าจะทำแบบไหน มีประดับอะไรบ้าง เมื่อได้อุปกรณ์ก็นำมาตัดตามแบบ ทดลองใส่กับหุ่นรองเท้าแต่ละเบอร์ตั้งแต่ไซซ์เล็กอย่างเบอร์ 38-39 ใส่ไปจนถึงไซซ์ใหญ่อย่างเบอร์ 44-45 แล้วก็นำส่วนบน ส่วนล่างมาประกบเข้าด้วยกันด้วยการเย็บและทากาว ทุกกระบวนการเราใช้แรงคนทำทั้งหมด”

ร้านรองเท้าของครอบครัวกิจยิ่งโสภณมีชื่อว่าร้านสินฟ้า มนเพ็ญเล่าว่าแรกๆ เตี่ยและแม่เน้นขายปลีกเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยความที่มีกำไรไม่มากนักจึงหันมาทำเป็นโรงงานผลิตรองเท้าสำหรับขายส่งแทน

“เมื่อทำขายเองรองเท้าแต่ละรุ่นจะขายดีเฉพาะขนาดกลางๆ ประมาณเบอร์ 40-43 เพราะเป็นขนาดเท้าส่วนใหญ่ของคนทั่วไป ไซซ์เล็ก 38-39 หรือไซซ์ใหญ่ 44-45 จะขายไม่ค่อยได้ พอเหลือเราก็ต้องมาแบกรับต้นทุน แต่ถ้าเราทำส่งให้กับร้านค้าเจ้าใหญ่ ไม่ว่าจะผลิตไซซ์ไหน กี่คู่ กี่แบบ เขาก็รับหมด ขอแค่เราทำตามออร์เดอร์และสิ่งที่เขาต้องการให้ได้ก็พอ”

เมื่อตัดสินใจปรับกลยุทธ์มาเป็นการขายส่งกิจการก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นจากที่เคยเช่าบ้านอยู่ก็มีบ้านเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกันเตี่ยกับแม่ก็ซื้อตึกแถวสามชั้น 1 คูหา ในย่านฝั่งธน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านมากนัก สำหรับเป็นโรงงานผลิตรองเท้า ลูกน้องจากที่เคยมีแค่ 1-2 คนก็เพิ่มจำนวนเป็นกว่า 20 ชีวิต

“ในช่วงที่กิจการทำรองเท้าของเรารุ่งเรืองก็ไม่ได้ถึงกับร่ำรวยอะไรมากนะ แต่เตี่ยกับแม่ก็สามารถเลี้ยงดูลูกทั้ง 6 คน และลูกน้องทั้งหมดได้โดยไม่เดือดร้อน ลูกน้องทุกคนก็กินอยู่กับเรานี่แหละ ผู้ชายก็นอนที่โรงงาน ส่วนผู้หญิงก็มานอนที่บ้านเราที่อยู่ไม่ห่างกัน หากจะบอกว่าทุกชีวิตที่ว่ามารวมทั้งครอบครัวของเรา เติบโต มีอยู่มีกินได้จากอาชีพทำรองเท้าก็คงไม่ผิดนัก”

ในจำนวนลูกๆ ทั้งหมด มนเพ็ญถือเป็นคนเดียวที่สืบทอดกิจการทำรองเท้าต่อจากเตี่ยและแม่ โดยเธอทำหน้าที่เป็นเซลส์ไปเสนอสินค้าและติดต่อกับห้างร้านต่างๆ เพื่อหางานมาป้อนเข้าสู่โรงงาน กระทั่งต่อมาเมื่อเตี่ยและแม่จากไป ลูกสาวอย่างเธอจึงขึ้นมาบริหารงานทุกอย่างเต็มตัว เป็นทั้งคนออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งเซลส์คอยดีลงานกับลูกค้าและคอยดูแลคนงาน

“พี่น้องคนอื่นเขาแต่งงานมีครอบครัว ส่วนคนที่ยังโสดเหมือนเราเขาก็มีงานอย่างอื่นทำกันหมด ก็เหลือแต่เราคนเดียวที่ช่วยงานเตี่ยกับแม่ เราก็ได้วิชาทำรองเท้าจากเตี่ยมาบ้าง แต่พูดตรงๆ ว่าเราเก่งไม่เท่าเขาหรอก เราจะทำแบบที่เราถนัด แล้วก็มีรายละเอียดไม่จุกจิกมาก อย่างพวกรองเท้าที่มีรัดส้น มีหู ต้องร้อยเข็มขัด พวกนี้เราไม่ถนัดเลย

“หลังจากเตี่ยกับแม่จากไป ด้วยความที่เรามีความสามารถในการผลิตไม่เท่าเขาก็ทำให้เราเริ่มรับงานได้ไม่มากเท่าเดิม กิจการก็ค่อยๆ ซบเซาลง”

เมฆหมอกแห่งความดำดิ่งเริ่มตั้งเค้าและส่งสัญญาณเตือนว่าการสืบทอดกิจการต่อจากเตี่ยและแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย มนเพ็ญจะประคับประคองมันต่อไปได้หรือไม่ หรือที่สุดแล้วทุกอย่างที่สร้างมาอาจถึงคราวต้องจบลงในมือของเธอ

จุดสิ้นสุด

หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยก็ตกต่ำดำดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ไม่มีธุรกิจใดที่ไม่โดนผลกระทบ โรงงานรองเท้าของมนเพ็ญก็เช่นเดียวกัน

“หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งโรงงานของเรายังไม่ได้ปิดตัวแต่ก็เริ่มแย่ งานไม่ได้มีเข้ามามากเหมือนเมื่อก่อน การที่เราผลิตและออกแบบรองเท้าได้ไม่หลากหลายเท่าเตี่ยนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญเลยก็คือการตัดราคาสู้กันของเซลส์แต่ละเจ้า อย่างเจ้าอื่นเขาเสนอราคาให้ทางร้านถูกกว่าเราแค่คู่ละ 50 สตางค์ ร้านเขาก็เอาของเจ้าอื่นแล้ว งานก็ไม่เข้ามาหาเรา ยิ่งอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเขาก็ต้องเลือกเจ้าที่ถูกกว่าไว้ก่อน

“เมื่องานเริ่มน้อย คนงานก็เริ่มทยอยลาออกทีละคน สองคน ไปขับวินบ้าง กลับบ้านที่ต่างจังหวัดบ้าง ฯลฯ จากเคยมีลูกน้อง 20 กว่าคน หลังปี 40 นี่เหลือไม่ถึง 10 คราวนี้เมื่อมีงานเข้ามากำลังคนน้อย เราก็ทำให้ลูกค้าไม่ทัน บางครั้งไปเจรจากันเขาชอบแบบของเรา แต่กำลังการผลิตไม่พอ ไม่สามารถผลิตออร์เดอร์ตามที่ลูกค้าต้องการได้ เขาก็ไม่สั่งเราแล้ว”

หลังปี 2540 คนงานเหลือไม่ถึง 10 คนพอหลังปี 2550 มนเพ็ญเหลือลูกน้องที่ทำงานด้วยอยู่เพียงแค่ 2-3 คนเท่านั้น งานที่เข้ามาก็ยิ่งมีน้อยลงทุกวัน สวนทางกับอายุที่มีแต่จะมากขึ้น ที่สุดหลังจากยื้อมาจนสุดทาง หญิงวัยกลาง 60 ก็ถอดเครื่องช่วยหายใจ โรงงานรองเท้าที่รับไม้ต่อมาจากเตี่ยและแม่ก็ถึงคราวปิดตัวลงในปี 2560

“เราพยายามประคับประคองมาเรื่อยๆ มีคนน้อย ก็ทำออร์เดอร์น้อยๆ ที่ไม่ต้องใช้คนมาก แต่พอช่วงปลายปี 2559 นี่ไม่มีงานเข้ามาเลยสักงานเดียว ไม่มีลูกค้า แล้วประกอบกับว่าการทำรองเท้าในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเขาใช้เครื่องจักรในการผลิตแล้ว ไม่ได้ทำมือนั่งเย็บทากาวแบบของเรา

“ลูกหลานรุ่นต่อจากเราเขาก็มีงานทำกันหมดแล้ว ไม่ได้มีใครจะมาสืบทอดต่อ เราเลยคิดว่ามันไม่จบวันนี้ เราทำต่อจนตายไปยังไงก็จบอยู่ดี เมื่อไปต่อไม่ไหวก็พอดีกว่า

“ถามว่าเสียใจหรือเสียดายไหม มันก็มีบ้าง แต่เราไม่ได้คิดหรือยึดติดอะไรมาก คิดเสียว่าทุกอย่างมันมีช่วงเวลาของมัน ถึงเวลามามันก็มา ถึงเวลาไปมันก็ไป”

หลังจากกิจการปิดตัวลง วิถีชีวิตของมนเพ็ญก็เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเข้าโรงงานทำงานทุกวันก็ได้แต่อยู่เฉยๆ ผ่านเวลาไปวันๆ โดยแทบไม่ได้ทำอะไร หากวันไหนเบื่อๆ ก็ไปยืมหนังสือที่ห้องสมุดตรงสี่แยกบ้านแขกมาอ่านเพื่อฆ่าเวลา เงินทองก็อาศัยจากที่พอมีเก็บหอมรอมริบเอาไว้เมื่อครั้งยังทำงาน หากแต่ก็ไม่ได้มากนักต้องใช้อย่างประหยัดไม่สิ้นเปลือง

“หลังจากปิดตัวลงไปก็มีคนมาติดต่อขอซื้อตึกแถวที่เป็นโรงงานหลายรายเลยนะ ถามว่าจะขายทิ้งไหม แต่เราก็ปฏิเสธไป คิดว่าไหนๆ เราก็ไม่ได้ทำโรงงานแล้วขอเก็บตึกเอาไว้ก็แล้วกัน เตี่ยกับแม่เขาอุตส่าห์สร้างไว้ให้เรา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อได้แต่ปิดร้างเอาไว้อยู่แบบนั้น”

ว่ากันว่าจุดสิ้นสุดจะมาพร้อมกับการเริ่มต้นใหม่เสมอ โรงงานรองเท้าของมนเพ็ญก็เช่นกัน จริงอยู่ที่มันได้ปิดตัวลง หากแต่การเข้ามาของใครคนหนึ่งก็ทำให้ตึกร้างแห่งนี้ได้ฟื้นคืนชีวิตกลับมาอีกครั้ง

จุดเปลี่ยน

“หลังจากโกวตัดสินใจปิดโรงงาน ทุกคนในบ้านก็มาหารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ตึกนี้กลับมามีประโยชน์และสร้างรายได้อีกครั้ง โดยที่ให้โกวได้มีส่วนร่วมด้วยดีกว่าการที่จะปิดตึกเอาไว้เฉยๆ บังเอิญว่าช่วงนั้นโฮสเทลกำลังบูม เราก็เลยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเอาโรงงานรองเท้าที่ปิดตัวลงไปมาทำเป็นโฮสเทล”

ปาลิณี กิจยิ่งโสภณ หลานสาววัย 38 ปีของมนเพ็ญบอกเล่าถึงที่มาของ ‘Shoes Maker Home’ โฮสเทลที่กิ๊บเก๋ เท่ และมีสไตล์ในย่านฝั่งธน แม้ในทางสายเลือดโกวหรือมนเพ็ญจะเป็นป้าของเธอ แต่ปาลิณียืนยันว่าสำหรับหลานๆ ทุกคน ผู้หญิงคนนี้ไม่ต่างอะไรจากแม่คนที่สองในชีวิต

เป้าหมายต่อไปของปาลิณีคือการติดต่อหาสถาปนิก ก่อนจะได้นักออกแบบที่อยู่อาศัยมากฝีมือมาทำงานให้ในเวลาต่อมา สถาปนิกคนดังกล่าวได้เดินทางมาดูตัวโรงงานด้วยตัวเอง แล้วสรุปไอเดียว่าควรเก็บเรื่องราว ความทรงจำ และวัตถุสิ่งของเมื่อครั้งอดีตเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

“แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนโรงงานรองเท้ามาเป็นโฮสเทลมันต้องมีการตกแต่งเพิ่มเติมอะไรใหม่ๆ เข้าไปอยู่แล้ว แต่สถาปนิกเขาก็ต้องการที่จะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาด้วยว่าที่นี่เคยเป็นอะไรมาก่อน เพราะฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่ Shoes maker home เราเลยยังคงของเก่าเอาไว้

“อย่างเลขห้องก็ทำเป็นรูปรองเท้า เอาหุ่นรองเท้ามาทำเป็นโคมไฟ ชั้นลอยที่เป็นที่นอนสำหรับคนงานผู้ชายก็ยังเก็บเอาไว้ หรือกำแพงที่เต็มไปด้วยรอยกาวทำรองเท้า เราก็ไม่ทาสีทับหรือหาอะไรมาลบออก เวลาใครถามว่ารอยอะไรเราก็จะเล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อนเวลาที่ช่างเขาทากาวรองเท้าแล้วไม่รู้ว่าจะทิ้งที่ไหน เขาก็จะป้ายไว้ตามกำแพงจนเป็นรอยอย่างที่เห็น นอกจากนั้นทางสถาปนิกก็ยังเก็บบานหน้าต่างโบราณมาไว้ตามจุดต่างๆ ของตึก รวมทั้งตู้ไม้ตั้งแต่ยุคอากง อาม่า เราก็นำมาเป็นตู้ใส่ของในห้องพัก”

โฮสเทลของ Shoes Maker Home จะมีด้วยกันทั้งหมด 3 ห้องนอน หากแต่โดยมากจะเน้นให้เช่าแบบเหมาทั้งตึกให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวในราคา 2,500 บาทต่อคืน มากกว่าจะขายแบบแยกห้อง แยกกลุ่ม เนื่องจากแขกที่มาพักจะได้รู้สึกเป็นส่วนตัวและสบายใจมากกว่า

ถึงวันนี้ Shoes Maker Home เปิดให้บริการมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว หากไม่นับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้โลกใบนี้เกิดการล็อกดาวน์ก็นับได้ว่าโฮสเทลเล็กๆ แห่งนี้มีผลประกอบการที่ดีทีเดียว

“ในช่วงเวลาปกติต้องถือว่ามีนักท่องเที่ยวมาพักที่โฮสเทลของเราค่อนข้างมากเลย ง่ายๆ ว่าเดือนหนึ่งมีว่างไม่ถึง 10 วัน นอกนั้นเต็มทุกวัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแขกชาวต่างชาติ ก็มีทั้งจีนและฝรั่ง บางคนเคยพักแล้วก็ยังกลับมาพักอีก”

จากโรงงานที่ปิดกิจการกลายเป็นโฮสเทลสุดชิคที่แสนอบอุ่น ปาลิณีทำให้ตึกเก่าหลังหนึ่งได้ฟื้นคืนชีวิตกลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในอีกมุมหนึ่ง การถือกำเนิดของ Shoes Maker Home ได้ทำให้หญิงสูงวัยคนหนึ่ง กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเช่นเดียวกัน

จุดที่มีความสุข

หลังเปิดโฮสเทลเมื่อปี 2562 ชีวิตของมนเพ็ญก็ไม่ต้องอยู่กับความเงียบเหงาเหมือนเดิมอีกต่อไป

หญิงวัย 66 ปี กลายเป็นพนักงานต้อนรับอารมณ์ดีที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม จนนักท่องเที่ยวหลายคนจดจำเธอได้ไม่ต่างจากความเก๋ เท่ และคลาสสิกของที่พัก

“แขกที่มาเข้าพักจะเข้ามาพูดชมในเพจบ่อยๆ ว่าอาโกวน่ารัก พูดคุยเป็นกันเอง ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี หลายๆ คนเวลามาก็จะถามถึงโกว พวกเขาจำได้ เหมือนกับว่าโกวเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่อย่างหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องราวของโฮสเทล”

ด้วยความที่พูดภาษาจีนได้ทำให้มนเพ็ญจะคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ หากหลงลืมศัพท์คำไหนก็จะถามเอาจากหลานที่เรียนภาษาจีนอยู่ หญิงวัย 66 บอกว่าในตอนนี้เธอมีความสุขอย่างมาก ตื่นเช้าก็เดินมาทำงานที่โฮสเทลเหมือนกับเมื่อก่อนที่เดินมาทำงานที่ตึกเดียวกันนี้ในฐานะเจ้าของโรงงานรองเท้า

“เรารู้สึกว่าการได้กลับมาทำงานอีกครั้ง ถึงจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า อย่างน้อยเรายังได้ทำประโยชน์ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วงานที่เราทำอยู่ตอนนี้ที่โฮสเทลเราก็มีความสนุกกับมันมาก เราได้เจอผู้คนที่หลากหลายได้เจอคนใหม่ๆ ที่มาจากอีกซีกโลกหนึ่ง เราไม่เคยรู้สึกเหงาเลยตั้งแต่เปิดโฮสเทลมา

“อีกอย่างเราได้กลับมาทำงานที่ตึกซึ่งเป็นที่ที่เราผูกพัน ได้เห็นร่องรอยเก่าๆ เห็นเรื่องราวในอดีตมันก็ทำให้เรามีความสุขและรู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจได้ถูกต้องแล้วที่เก็บตึกนี้เอาไว้”

ไม่ใช่แค่มนเพ็ญหรอกที่รู้สึกเช่นนั้น หากแต่หลานสาวอย่างปาลิณีรวมถึงทุกคนในตระกูลกิจยิ่งโสภณก็ล้วนแล้วแต่ดีใจที่ได้เห็นว่ามรดกที่อากงกับอาม่ามอบให้ไว้ยังคงอยู่ ไม่ได้สูญสลายหรือกลายเป็นของคนอื่น

“การที่ครอบครัวของเราตัดสินใจมาทำ Shoes Maker Home ทางรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเราก็ดีใจที่ได้เห็นว่ากิจการที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตคนในตระกูลของเรายังคงอยู่ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของโรงงานทำรองเท้าเหมือนในอดีต แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นที่พักของนักท่องเที่ยวแค่นั้นเอง

“ขณะเดียวกันก็ยังเป็นโอกาสดีของคนรุ่นเก่าอย่างอาโกวที่แม้จะไม่ได้ทำรองเท้าแล้วแต่ก็สามารถที่จะใช้โฮสเทลนี้เป็นพื้นที่ในการทำงานและพิสูจน์ว่าตัวเองยังมีคุณค่าในทุกๆ วันของชีวิต”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ